
ถ้าจะพูดถึงเรื่องราวในแวดวงวรรณกรรมไทย นักคิดนักเขียนที่เริ่มปรากฏแนวทางในการพยายามค้นหา คำตอบเกี่ยวกับศิลปะเพื่อมหาชนนั้น คงต้องจดจำและจารึกชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ว่าเป็นท่านหนึ่งที่บุกเบิกกรุยทางไว้เป็นเบื้องต้น งานประพันธ์เรื่อง “สงครามชีวิต” ของ ศรีบูรพา ได้เปิดมิติใหม่แห่งพรมแดนวรรณกรรมไทยให้กว้างไกลออกไป ถือได้ว่าเป็นปฐมบทแห่งงานวรรณกรรมจรรโลงสังคมที่ยั่งยืนยงเป็นอมตะเรื่อยมา
สถานการณ์ในช่วงระยะต่อมาของสังคมไทย เป็นตัวเอื้อให้เกิดนักคิดนักเขียนที่ขานรับแนวทางศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชนอย่างเป็นระลอกคลื่น ไม่ว่าจะเป็น ศรีอินทรายุทธ, โยธิน มหายุทธนา, ประไพ วิเศษธานี, นายผี อัศนี พลจันทร์, นายสาง เปลื้อง วรรณศรี, อิศรา อมันตกุล, ศรีรัตน์ สถาปวัฒน์
“ความรักของวัลยา” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เสนอความรักใหม่ที่ไม่คับแคบ คือ ความรักที่มอบให้แก่มหาชนผู้ทุกข์ยากของแผ่นดิน
สุภา ศิริมานนท์ นักคิด นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญ ผู้แปลผลงาน “แคปปิตอลลิซม์” ของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เป็นผู้หนึ่งที่ยืนยันตอกย้ำให้แนวทางศิลปะสร้างสรรค์เพื่อสังคม ได้ยืนเด่นในบรรณพิภพของวงการน้ำหมึกไทยอย่างมั่นคงยิ่ง
โดยเฉพาะ “ชีวิตกับความใฝ่ฝัน” ของ บรรจง บรรเจิดศิลป์ นับเป็นงานประพันธ์ชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่มีผลกระทบกับความคิดของปัญญาชนอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ บรรจง บรรเจิดศิลป์ ยังได้เสนอบทความวิเคราะห์วรรณกรรม ซึ่งนับเป็นแนวคิดสำคัญ ซึ่งว่าด้วยการที่จะเป็นนักประพันธ์ที่ดีของประชาชนได้นั้น จะต้องมีนักวิจารณ์วรรณกรรมที่สามารถชี้แนะปกป้องการสะท้อนอารมณ์ และความคิดที่เป็นจริงของประชาชนทางศิลปะการประพันธ์ได้อย่างถูกต้องและก้าวหน้า
จะเห็นได้ว่าระลอกคลื่นความคิดที่เกี่ยวข้องกับศิลปะเพื่อมหาชนนั้น ในวงวรรณกรรมได้เกิด นักคิด นักเขียนที่ยึดมั่นกับทัศนะใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็หยุดอยู่เพียงประตูแห่งงานประพันธ์ เท่านั้น ความคิดเรื่องศิลปะเพื่อคนส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถฝ่าพรมแดนเข้าไปสู่สำนึกของผู้คนที่อยู่ในวงการศิลปกรรมไทยได้
ตราบจนปี พ.ศ.2498 นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของวงการศิลปะสร้างสรรค์ของไทย เมื่อบทวิเคราะห์วรรณกรรมที่ บรรจง บรรเจิดศิลป์ เคยเสนอไว้ ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา ได้เกิดนักวิจารณ์ การประพันธ์ นักศิลปวัฒนธรรม นักประพันธ์ และกวี คนสำคัญของแนวทางศิลปะสร้างสรรค์ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ทรงอานุภาพยิ่ง เขาคนนั้นคือ จิตร ภูมิศักดิ์
ระยะนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาษาอังกฤษให้นักศึกษา คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จิตร ภูมิศักดิ์ ได้นำความคิดเข้าไปสะกิดอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในนั้นด้วย ทัศนะที่ว่าด้วยศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชนจึงได้รับการเผยแพร่เข้าสู่นักศึกษาคณะ สถาปัตยกรรม และกระจายสู่นักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นับได้ว่าแนวคิดเรื่อง ศิลปะทั้งผองต้องเพื่อผองชน ได้พุ่งสู่วงการศิลปกรรมโดยตรงในช่วงนี้เอง
เป็นประเพณีของนักศึกษาศิลปากร ที่นักศึกษาปีที่สอง จะต้องมีหน้าที่รับน้องใหม่ และจัดทำหนังสือศิลปะฉบับรับน้อง เวลานั้นหนังสือศิลปะของนักศึกษาศิลปากรจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากบุคคลทั่วไป เพราะมักมีสิ่งแปลกใหม่มานำเสนออยู่ทุกปี ไม่ซ้ำซากจำเจ และแล้วหนังสือที่ทุกคนรอคอยก็สำเร็จเป็นรูปเล่ม แน่ละ มันเป็นความแปลกใหม่ที่ฉีกตัวเองออกไปจนบุคคลทั่วไปไม่สามารถคาดเดาได้ หนังสือศิลปะฉบับรับน้องใหม่เล่มนั้นหน้าปกเขียนว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต” ภายในเล่มมีบทความของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในนามปากกา ทีปกร และมีบทความของ เสฐียรโกเศศ หรือ พระยาอนุมานราชธน ซึ่งเสนอความเห็นว่า “ศิลปะนั้นควรจะเพื่อชีวิต” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขององค์การยูเนสโกในช่วงนั้นพอดี ที่ประกาศให้ศิลปะมีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์โดยตรง แต่หนังสือศิลปะฉบับรับน้องใหม่เล่มนี้ยังไม่ทันได้เผยแพร่ ก็ถูกกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยนำไปทำลายจนเป็นข่าวครึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์ นับเป็นครั้งแรกที่แนวทางศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชน ก่อให้เกิดกระแสเคลื่อนไหวในหมู่นักศึกษาศิลปากร ซึ่งเท่ากับว่าแนวทางศิลปะแบบก้าวหน้าสามารถแทรก ตัวเองเข้าไปในวงการศิลปกรรมแล้ว ความคิดที่ จิตร ภูมิศักดิ์ นำไปหว่านกล้าลงในหมู่นักศึกษาศิลปากรได้ฝังตัวรอคอยการเจริญเติบโตในเวลาต่อมา
ปี พ.ศ. 2500 สถานการณ์ทางการเมืองไทยพลิกผันปรวนแปรไป จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาศัยจังหวะที่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ใช้เล่ห์กลจัดให้มีการเลือกตั้งสกปรกขึ้นจนเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาว กระทำรัฐประหารนำกำลังทหารยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุบสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอ้างว่าฉบับเดิมไม่ เหมาะสม ตั้งคณะปกครองเผด็จการสมบูรณ์แบบขึ้นแทน ออกคำสั่งบังคับใช้ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ประกาศใช้กฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจตนเองและบริวารอย่างกว้างขวางที่สุดพร้อมกับตั้งรัฐบาลหุ่นเอาไว้
ครั้นถึงปี พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารซ้อนอีกครั้งและคราวนี้อำนาจเบ็ดเสร็จได้ตกอยู่ในมือตนเองอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ต้องผ่านมือผู้อื่นเหมือนการทำรัฐประหารคราวก่อน ความเป็นผู้เผด็จการสำแดงออกชัดเจนเมื่อมีการประกาศใช้คำสั่งของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17 เปรียบเสมือนอาวุธร้ายซึ่งอยู่ในมือมารที่ใช้เป็นเครื่องมือประหัตประหารกวาดล้างทำลาย ปัญญาชน นักคิด นักเขียน นักการเมือง และผู้รักประชาธิปไตย ที่มีบทบาทรับใช้ประชาชนอย่างรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ยังผลให้ปัญญาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยก้าวหน้าถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก ที่หนีรอดก็หลบเร้นซ่อนตัวลี้ภัยในต่างแดน ในจำนวนนี้นักคิด นักเขียน แนวศิลปะเพื่อมหาชนย่อมไม่พ้นชะตากรรมเช่นกัน กุหลาบ สายประดิษฐ์ ต้องลี้ภัยอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เปลื้อง วรรณศรี, อิศรา อมันตกุล, จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์พร้อมผู้อื่นจำนวนมาก สภาพการที่มืดมนเช่นนี้ทำให้แนวทางศิลปะเพื่อผองชน ต้องสะดุดหยุดชะงักลง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาเน้นนโยบายความเป็นจักรพรรดินิยมแผ่ขยาย อิทธิพลเข้าครอบงำประเทศต่างๆ ที่อ่อนแอกว่า โดยใช้กำลังทหารและความทันสมัยเรื่องพัฒนากำลังรบเป็นเครื่องมือสำคัญในการรุกราน เพื่อที่จะตักตวงเอาทรัพยากรและผลประโยชน์ไปสู่ประเทศของตน เริ่มด้วยการแผ่อำนาจส่งเจ้าหน้าที่และทหารเข้าไปรบในคาบสมุทรเกาหลี ผู้นำรัฐบาลไทยก็เริ่มผูกติดพัวพันกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น ถึงกับส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเกาหลีด้วย การพัฒนาประเทศไทยได้รับการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการเงินจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยผู้นำไทยนำงบประมาณและความช่วยเหลือเหล่านั้นเข้ากระเป๋าตนเองและพวกผองกันอย่างถ้วนหน้า ขณะที่ผู้ให้การช่วยเหลือจะได้อภิสิทธิตอบแทนต่างๆ ทัศนะการมองประชาชนที่ร้องหาความเป็นธรรมในชนบทว่าก่อความวุ่นวายกระด้างกระเดื้อง และจบลงด้วยมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ คือ การประทับตราที่รัฐบาลเผด็จการในช่วงนั้นมอบให้กับประชาชน
เกิดสงครามเวียดนาม ประมาณปี พ.ศ.2504 สหรัฐอเมริกาแสดงตนเป็นจักรพรรดินิยมส่งกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากเข้ามาในประเทศไทย กระจายอยู่ตามฐานทัพต่างๆ ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่นที่ อู่ตะเภา สัตหีบ นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี การส่งทหารอาวุธยุทโธปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญทางทหารเข้ามาในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายก็เพื่อใช้ฐานทัพในประเทศไทยบางส่วน เป็นขุมกำลังปราบปรามการต่อสู้เรียกร้องเอกราช และความเป็นธรรมของประชาชนในอินโดจีน รัฐบาลเผด็จการทหารไทยยินยอมพร้อมใจให้สหรัฐอเมริกาใช้ดินแดนภายในประเทศไทย เป็นแหล่งพักพิงเพื่อที่จะเข้าไปรุกราน เข่นฆ่าประชาชนประเทศเพื่อนบ้าน นโยบายที่สอดรับกันระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารไทยกับสหรัฐอเมริกา คือ การปลุกกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ และความคิดสังคมนิยม ใช้การโฆษณาชวนเชื่อสร้างภาพการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช และความเป็นธรรมของเพื่อนบ้านให้กลายเป็นเรื่องคอมมิวนิสต์จะเข้ามารุกรานเขมือบกลืนประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลเผด็จการทหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สนองตอบพร้อมยอมศิโรราบให้สหรัฐอเมริกามากเท่าใด การปราบปรามผู้รักชาติรักประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้าย่อมมีมากขึ้นเท่านั้นเป็นเงาตามตัว
ในด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประชาชนไทย การเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาได้ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน ปัญหาเมียเช่า โสเภณี ปัญหาเด็กลูกครึ่งไทยอเมริกา แหล่งเริงรมย์มั่วสุมจำนวนมากตามวิถีวัฒนธรรมฉาบฉวยแพร่ระบาด สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง
การได้รับสิทธิพิเศษของทหารและเจ้าหน้าที่อเมริกันบนผืนแผ่นดินไทย นานวันเข้าย่อมเกิดคำถามขึ้นในใจประชาชนเจ้าของประเทศที่รู้เห็นพฤติกรรมอันไม่ชอบธรรมว่า ระหว่างสหรัฐอเมริกาที่ส่งกำลังมาตั้งฐานทัพกับประชาชนที่เรียกร้องเอกราชในอินโดจีน ใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายรุกราน?
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้คุมอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จอยู่ในตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง การทหารถึงแก่กรรมคาตำแหน่ง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2506 อำนาจเผด็จการตกไปอยู่ในมือของ พลเอกถนอม กิตติขจร และคณะ ซึ่งอยู่ในโครงสร้างที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำหนดไว้ให้เป็นทายาทสืบต่อเต็มรูปแบบ การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับทัศนะของคณะเผด็จการทหารซึ่งเห็นชอบและแต่งตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อครั้งยึดอำนาจใหม่ๆ และใช้เป็นข้ออ้างประการหนึ่งในการล้มรัฐธรรมนูญฉบับเก่าว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมไม่สอดคล้องกับประเทศไทยนั้นยังคงดำเนินต่อไป นับเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ยาวนานฉบับหนึ่งของโลก
กระแสของศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชนที่หยุดชะงักตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เริ่มปรากฏให้เห็นประปราย เช่น งานประพันธ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ส่งออกมาจากคุกลาดยาวและลงตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์รายวันในนามปากกาของ กวีศรีสยาม, กวีศรีประชา เป็นต้น ได้เสนอบทกวีการเมืองที่เปรียบเทียบ เสียดสี กระชากหน้ากากนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้ยืนเคียงข้างประชาชนผู้ทุกข์ยาก ยอมตกเป็นเครื่องมือให้อำนาจเผด็จการ พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของผู้คนในชนบทโดยเฉพาะชาวนา ซึ่งทำหน้าที่ปลูกข้าวให้คนทั้งแผ่นดินบริโภค แต่ตัวเองกลับไม่ได้รับการเหลียวแลมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างพลเมืองชั้นสอง เช่น ตอนหนึ่งของบทกวีที่กลายเป็นอมตะลือลั่นในเวลาต่อมา
“เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้นะมีรส ให้คนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน”
หลังจากถูกสกัดกั้นมาเป็นเวลานาน แนวทางศิลปะเพื่อมหาชนได้รับการจุดประกายอีกครั้ง เมื่อปัญญาชน นักคิด นักเขียน ที่ถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ได้รับการปล่อยและยกฟ้องเพราะไม่มีความผิด
ในวงการศิลปะกรรมเริ่มมีการพูดถึงแนวทางศิลปะสร้างสรรค์จากปากต่อปากสู่วงสนทนาเป็นกลุ่มย่อย ศิลปินอิสระบางท่านที่มีพื้นฐานครอบครัวจากชาวชนบทและสนใจปัญหาบ้านเมือง ซึมซับแนวทางศิลปะก้าวหน้ามากขึ้น
หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากคุกลาดยาวโดยปราศจากความผิดแล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ได้นำผลงานชิ้นสำคัญทางวิชาการที่ค้นคว้าในเรือนจำระหว่างถูกจับคุมไปฝากไว้ที่ สุภา ศิริมานนท์ เพื่อหาโอกาสเผยแพร่ต่อไป ส่วนตัวของ จิตร ภูมิศักดิ์ ตัดสินใจเดินทางสู่ชนบท ผลงานสำคัญชิ้นนั้นคือ “ความเป็นมาของคำว่า สยาม ไทย ลาว และลักษณะของชนชาติ”
ฝ่ายรัฐบาลเผด็จการได้เพิ่มงบประมาณในการปราบปรามคอมมิวนิสต์และเพิ่มกำลังการกวาดล้างผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับตนสูงขึ้น โดยอ้างสถานการณ์ที่ทหารปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ ตำรวจครั้งแรกเมื่อ “วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ที่บ้านนาบัว อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม” เป็นเงื่อนไขอันชอบธรรม เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2509 จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้จุดประกายไฟศิลปะเพื่อชีวิต ถูกยิงเสียชีวิตทางภาคอีสานของประเทศไทย ภายใต้การปกครองที่เผด็จการของ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ประชาชนไม่สามารถเรียกร้องหาประชาธิปไตยหรือความเป็นธรรมให้กับสังคมและตัวเองได้ การถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ พร้อมการสวมปลอกคอให้เป็นผู้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันกระแสใต้ดินทั่วไปได้วิพากษ์วิจารณ์การเป็นเผด็จการของรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างเผ็ดร้อน กระบอกเสียงที่ทิ่มแทงรัฐบาลโดยตรงก็คือ “วิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย” ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เปิดโปงพฤติกรรมอันไม่ชอบมาพากลต่างๆ ของผู้ครองอำนาจอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตรึงเครียด รัฐธรรมนูญที่คณะเผด็จการตั้งกรรมาธิการขึ้นร่างก็ประกาศใช้โดยใช้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511” รัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากจะใช้เวลาในการร่างยาวนานแล้ว ยังขาดความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งอีกด้วย เพราะได้คงบัญญัติมาตรา 17 แห่งคณะปฏิวัติที่ให้อำนาจหัวหน้ารัฐบาลตัดสินปัญหาด้วยวิธีเผด็จการแต่ผู้เดียว นำมาใส่ไว้ในมาตรา 183 ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างเสร็จและประกาศใช้
หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 กระแสทางการเมืองที่เคยปิดได้เปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ปัญญาชน นักคิด นักเขียน แนวศิลปะสร้างสรรค์สังคมก็เริ่มเปิดตัวสู่สังคมสู่ประชาชน การห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ปัญหาคอรัปชั่นโกงกินอย่างมหาศาลในวงการข้าราชการ การยินยอมให้ต่างชาติ คือ สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศรุกรานเพื่อนบ้านชาวอินโดจีน รวมไปจนถึงการส่งททหารไทยเข้าไปร่วมรบทำสงครามเวียดนาม เหล่านี้เป็นเนื้อหาที่ผู้รักความเป็นธรรมรักประชาธิปไตยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหนักขึ้นยิ่งเมื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และคณะกลับมาเป็นรัฐบาลเลือกตั้งผู้แทนราษฎร คำครหาติเตียนถึงความไม่ชอบมาพากลก็เพิ่มเป็นเท่าทวี
ในสถานการณ์ขณะนั้น วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ นับว่ามีบทบาทชี้นำความคิดของผู้รักความเป็นธรรมได้ดียิ่งจนเกิดปรากฏการณ์ขึ้น สำหรับหมู่ปัญญาชนรุ่นใหม่ คือการเกิดกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่ถกกันถึงสาระว่าด้วยปัญหาสังคมและมูลเหตุแห่งความไม่เป็นธรรม กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเหล่านี้ได้แก่ กลุ่มสภาหน้าโดมของนักศึกษาธรรมศาสตร์ กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มวลัญชทัศน์ของนักศึกษาเชียงใหม่ กลุ่มกิจกรรมในรามคำแหง กลุ่มสภากาแฟของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สำคัญคือการจัดตั้ง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศที่ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมในส่วนกลางเพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมทางสังคม
วรรณกรรมสร้างสรรค์ของนักคิกนักเขียนคนสำคัญในอดีตได้ถูกนำพิมพ์เผยแพร่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
และแล้ว จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ก็ทำในสิ่งที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยทำมาก่อน นั่นคือการทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎร ประกาศใช้กฎอัยการศึก คณะทหารเข้าคุมชะตากรรมบ้านเมืองสมบูรณ์แบบ จะแตกต่างกันก็ตรงที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารกับผู้อื่น แต่ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ทำรัฐประหารกับรัฐบาลที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลอยู่ บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความมืดมนทางสิทธิเสรีภาพอีก ขณะเดียวกัน การเรียนรู้บ่มเพาะตนเองของขบวนการศึกษา ได้เติบโตพร้อมที่จะเป็นพลังเข้าตรวจสอบปัญหาในสังคมมากขึ้น
หลังจากมรณกรรม งานประพันธ์ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้รับการพิมพ์เผยแพร่อีกใน ปี พ.ศ. 2515 และครั้งนี้มีผลกระทบอย่างยิ่งกับความคิดอารมณ์ความรู้สึกบางส่วนของผู้ที่อยู่ในแวดวงศิลปกรรมโดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เทคนิคโคราช และที่เพาะช่าง ในวงวรรณกรรมเกิดการรวมตัวของนักเขียนรุ่นใหม่ ใช้ชื่อว่า “กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว” รวมตัวกันหลวมๆ ถกปัญหาการสร้างงาน การคลี่คลายงานวรรณกรรมพร้อมกับวิจารณ์บ้านเมืองไปด้วยเป็นการภายใน
ที่เพาะช่าง ก่อนปี พ.ศ.2516 การกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของ กมล ทัศนาญชลี นักศึกษารุ่นพี่ที่ไปอยู่อเมริกา ได้นำผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะของเขากลับมาแสดงที่เพาะช่าง มีส่วนสร้างมิติแห่งความหลากหลายต่อวงการศิลปะสากลบ้านเราในสังคมยุคนั้นไว้พอสมควร เช่น ปัญหาสงครามอินโดจีน ปัญหาของประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา เมื่อไปใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาสภาพสังคมใหม่ที่พบเห็น ผนวกความรับรู้การสร้างเทคนิคเพิ่มเติม กมล ทัศนาญชลี ได้ทดลองงานศิลปะแนวใหม่อย่างไม่ย่ำอยู่กับที่ เช่น เทคนิคสื่อผสม งานเหล่านี้นักศึกษาเพาะช่างได้ซึมซับเอาไว้บ้างไม่มากก็น้อย
ในเวลาต่อมานักศึกษาเพาะช่างถูกปลุกสำนึกไปสู่ทางเดียวกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ข่าวลือสะพัดที่ว่า พันเอกณรงค์ กิตติขจร เลขาธิการ กตป. ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผู้มีพ่อเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการพื้นที่อาคารโรงเรียนเพาะช่างทำเป็นสมาคมศิษย์เก่านักเรียนสวนกุหลาบฯ ย้ายโรงเรียนเพาะช่างไปอยู่แหล่งอื่นซึ่งห่างไกล การรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างคณาจารย์ นักศึกษาศิษย์เก่าเพาะช่างจึงเกิดขึ้นอย่างเหนียวแน่น โดยมีสภานักศึกษาเพาะช่างยุคของ ผดุง พรหมมูล เป็นประธานรับบทแกนนำด้วยสำนึกร่วมกันเพื่อรณรงค์คัดค้านกรณีจะถูกยึดเอาที่ตั้งสถาบันการศึกษาศิลปะอันยาวนาน นั่นเป็นกรณีหนึ่งที่ไปกระตุ้นให้นักศึกษาศิลปะหวนเข้าตรวจสอบปัญหาภายในสถานการศึกษา พร้อมกับเปิดโลกทัศน์มองปัญหาสังคมภายนอกด้วย
ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ความคิดก้าวหน้าและเรื่องเกี่ยวข้องกับปัญหาบ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สำนึกของคณาจารย์และนักศึกษาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความขัดแย้งในเวทีการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งให้คณาจารย์และนักศึกษาศิลปกรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มจับตาตรวจสอบกระบวนความคิดทางศิลปะเพิ่มขึ้น ช่วงนี้ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินนอกระบบ ผู้ศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองซึ่งเป็นผู้ที่ดีดตัวเองอยู่นอกการประชันขันแข่ง ได้สร้างผลงานศิลปกรรมและวรรณกรรมที่มีสาระสะท้อนปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์สังคม นับเป็นศิลปินที่บุกเบิกงานแนวทางศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชนอย่างต่อเนื่องท่านหนึ่ง รวมถึงงานของ สมชัย หัตถกิจโกศล ที่แสดงออกด้วยการกระทบกระเทียบสังคมบ้านเมืองโดยซ่อนเร้นเนื้อหาแห่งการวิจารณ์ไว้ในเชิงสัญญลักษณ์
ระยะเวลานั้นขบวนการนักศึกษาได้เติบโตขึ้น การตรวจสอบปัญหาในสังคมมุ่งไปสู่ภัยร้ายที่เข้ามาครอบงำชาติทางด้านเศรษฐกิจทุกรูปแบบ กระแสการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นโดยการนำของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งมี ธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการเริ่มอย่างกว้างขวางนับเป็นปรากฏการณ์ที่พัฒนาไปสู่คุณภาพของขบวนการนักศึกษา คำขวัญที่ว่า “งดใช้สินค้าญี่ปุ่น หันกลับมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย” ขจรขจายไป แฟชั่นนำผ้าดิบไม่ฟอกมาตัดเสื้อแทนผ้าโทเรฯ ซึ่งเป็นของนายทุนญี่ปุ่นเริ่มแพร่เข้ามาในรั้วสถาบันศิลปะแล้ว
ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเทคนิคโคราช นครราชสีมา การตื่นตัวต่อปัญหาบ้านเมืองมีมากขึ้น โดยเฉพาะอาจารย์และนักศึกษาศิลปะ หันมาให้ความสนใจแนวทางศิลปะสร้างสรรค์เพื่อสังคม มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นต่อเหตุการณ์ทางสังคมจากบุคคลหลากหลายวิชาชีพ เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการเกิดศิลปะเพื่อชีวิตของศิลปินสาย อิสานโคราช
ที่เพาะช่าง แนวความคิดใหม่ที่แพร่กระจายทำให้นักศึกษาผู้สนใจแสวงหา เปิดโลกทัศน์กว้างรับทัศนะของศิลปินนอกระบบ บ้านของ จ่าง แซ่ตั้ง ที่ถนนตากสิน บ้านของ ประเทือง เอมเจริญ ที่บางแค เกาะเสม็ด ที่ ชาญ อาศรม อาศัยศึกษาจากธรรมชาติรวมถึงศิลปินอิสระอื่นๆ อีกมากมาย เป็นแหล่งต้อนรับนักศึกษาเพาะช่างส่วนหนึ่ง พร้อมกันนั้นการศึกษาปรัชญาชีวิต ปรัชญาสร้างงานศิลปะก็มีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น
ขณะที่แนวคิดต่อระบบสังคมของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยขยายขอบเขตก้าวไกลไปสู่ปัญหาการเมืองการปกครองที่ปราศจากประชาธิปไตย นักศึกษาศิลปะส่วนหนึ่งได้ก้าวขานรับความคิดนั้นอย่างมีพัฒนาการ
การเคลื่อนไหวเรื่องทุ่งใหญ่นเรศวร ที่มีข้าราชการผู้ใหญ่บางคนนำเฮลิคอปเตอร์พานักแสดงไปล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนจนเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเป็นเรื่องอื้อฉาว การเคลื่อนไหวของขบวนการ นักศึกษากรณีลบชื่อนักศึกษารามคำแหง โดย ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดีฯ จนเกิดการชุมนุมยืดเยื้อที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และยุติลงด้วยการที่ขวนการนักศึกษา ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จและประกาศใช้ในหกเดือน เมื่อเดือนมิถุนายน 2516 เหล่านี้นับเป็นจังหวะก้าวให้นักศึกษาได้รับรู้ปัญหาและก้าวเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น
จนถึง ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 นักศึกษา ประชาชน กลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้าสนใจปัญหาบ้านเมือง จำนวน 100 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยจากรัฐบาลเผด็จการทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร เพราะไม่มีทีท่าว่าประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จัดให้มีการเลือกตั้ง นักศึกษาประชาชนได้ออกแจงแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่อนุสาวรีย์ทหารอาสาฯ มุมสนามหลวงตรงข้ามโรงละครแห่งชาติ ไปบางลำภู ประตูน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลเผด็จการถนอม ได้จับกุมตัวผู้แจกแถลงการณ์จำนวน 11 คน ในข้อหา “มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน” เวลาต่อมาได้จับกุมผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 คน รวมเป็น 13 คน นำไปควบคุมตัวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน โดยนำไปรวมกับผู้ต้องหาคดีคอมมิวนิสต์ และผู้ต้องหาเนรเทศ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านการจับกุมจากนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศในเวลาต่อมา การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คน ก่อตัวขึ้นทีละน้อยที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการนำของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่งมี พีระพล ตริยะเกษม เป็นนายกองค์การฯ, ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เข้ารับบทบาทการนำชุมนุมในเวลาถัดมาที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน จากทั่วทุกสารทิศร่วมชุมนุมสนับสนุน จากจำนวนพันเป็นหมื่นคน, หลายหมื่นคน และเป็นแสนคน นักศึกษาศิลปะเพาะช่างโดยการนำของสภานักศึกษามี ไชยยันต์ ศรีประทักษ์ เป็นประธานฯ ได้ประกาศจุดยืนเด่นชัดนำนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุมให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมให้ปล่อยตัวผู้จับกุมทั้ง 13 คน และเรียกร้องให้รัฐบาลคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน จัดให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยเร็ว
สโมสรนักศึกษาศิลปากรได้ประกาศตัวเข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการด้วยการ์ตูนการเมืองเสียดสีผู้นำเผด็จการถูกนำไปติดรอบกำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากรด้านถนนมหาราช
เวลาเที่ยงวันของวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2516 สมบัติ ธำรงธัญญาวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ภายในเวลา 24 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะใช้มาตรการขั้น เด็ดขาด เมื่อครบเวลาตามกำหนดไม่มีคำตอบจากรัฐบาล การเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ดำเนินขึ้น
เมื่อเวลาหลังเที่ยงของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 ขบวนการนักศึกษาประชาชนหลายแสนคน เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทางประตูท่าพระอาทิตย์ มุ่งสู่ถนนราชดำเนินกลาง นักศึกษาศิลปะได้เกาะติดรถบัญชาการของขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยไปอย่างกระตือรือร้น จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ขบวนหยุดเพื่อฟังคำตอบจากรัฐบาลและจากตัวแทนนักศึกษาที่ไปเจรจากับทางฝ่ายรัฐบาล จนเวลาประมาณ 17.00 น. เมื่อยังไม่ได้รับการติดต่อกับตัวแทนนักศึกษาที่ไปเจรจากับฝ่ายรัฐบาล เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงตัดสินใจเคลื่อนขบวนต่อ มุ่งไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า ช่วง กลางดึก เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคลื่อนขบวนไปสู่ถนนหน้าสวนจิตรลดาด้านตรงข้ามสวนสัตว์ดุสิตเขาดินวนาเพื่อเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง เมื่อ ธีรยุทธ บุญมี หนึ่งใน 13 คน ที่ถูกทางรัฐบาลจับตัวไป ได้ฝ่าฝูงชนเข้าไปยังรถบัญชาการเพื่อพบ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ชี้แจงให้เข้าใจว่าตนและพวกที่ถูกจับทั้ง 13 คน ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ทั้งหมดเดินทางเข้าเฝ้าในสวนจิตรฯ และออกมาประกาศเลิกชุมนุมในเวลาเช้ามืดของวันใหม่
รุ่งอรุณของวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่กำลังสลายตัว บางส่วนเดินทางกลับทางด้านสี่แยกราชวิถี บางส่วนยังวิพากษ์วิจารณ์การยอมสลายการชุมนุมอย่างง่ายดาย โดยไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า ทางรัฐบาลจะทำตามคำขอให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง นักศึกษาศิลปะ ส่วนหนึ่งที่เกาะติดรถบัญชาการนำขบวนมาตั้งแต่ต้น ยังถกเถียงและไม่เห็นด้วยกับการรีบสลายขบวนชุมนุมอยู่นั้นเอง เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ตำรวจคอมมานโด ภายใต้การนำของ พลตำรวจโทมนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ได้ปิดกั้นสี่แยกราชวิถี ไม่ให้ผู้คนผ่านอย่างเด็ดขาด ความตึงเครียดจึงเกิดขึ้น เมื่อมีคำสั่งให้ลงมือปราบอย่างรุนแรง ตำรวจหน่วยคอมมานโดได้ลงมือบุกตะลุยฟาดด้วยกระบองและยิงด้วยแก๊สน้ำตา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ซึ่งมีแต่สองมือเปล่าก็ถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด เด็กนักเรียนหญิงโรงเรียนพาณิชย์นักศึกษาประชาชนถูกตีตกคูน้ำข้างสวนจิตรฯ และเขาดิน พวกนักเรียนอาชีวะและนักศึกษาศิลปะได้กรูกันสกัดด้วยก้อนหิน อิฐ ไม้ ขวดแก้ว เพื่อช่วยเด็กและผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บออกมา ผู้บาดเจ็บเลือดแดงฉานถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยนำเข้าทางสวนสัตว์ดุสิตฯ ไปออกประตูด้านรัฐสภา นักเรียนอาชีวะ-นักศึกษา-ประชาชนได้ออกกระจายข่าวไปทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปากคลองตลาด ท้องสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วงเวียนใหญ่ ศิริราช สี่แยกบ้านแขก ฯลฯ
หน้าประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึก การลุกขึ้นสู้ต่อต้านการกระทำอันป่าเถื่อนของรัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาส นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ได้สวมจิตใจสู้อย่างไม่กลัวตายโดยปราศจากอาวุธ ในขณะที่ฝ่ายปราบปรามได้ใช้กำลังอาวุธทุกรูปแบบ นำทหารตำรวจเคลื่อนรถถังเฮลิคอปเตอร์ อาวุธสงครามสาดกระสุนเข้าสังหารประชาชน หนำซ้ำยังออกข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงทางกรมประชาสัมพันธ์ ยิ่งทำให้นักศึกษา-ประชาชนทั่วไปเคียดแค้นชิงชังรัฐบาลมากขึ้นเป็นลำดับ ได้รวมตัวกันบุกพยายามเผากรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงบิดเบือนให้กับรัฐบาลและสามารถเผาสำนักงานสลากกินแบ่ง เผาตึกสำนักงาน กตป. (กองติดตามผลการปฏิบัติราชการ ซึ่งมีพันเอกณรงค์ กิตติขจร) เป็นเลขาธิการได้สำเร็จ ทั่วท้องถนนราชดำเนินกลางหนุนเนื่องไปด้วยนักเรียน นักศึกษา ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ทั้งที่ทางอำนาจรัฐเผด็จการได้ประกาศให้สลายการชุมนุมมิฉะนั้นจะปราบรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ไม่มีผู้ใดถอย มีแต่พร้อมใจกันเดินหน้า จุดมุ่งหมายของทุกคนอยู่ที่ประชาธิปไตย และต้องการทำลายกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นจุดสำคัญของฝ่ายปราบปรามที่ใช้เป็นแหล่งลอบทำลายประชาชนด้วยอาวุธปืนสงคราม “ศูนย์ปวงชนชาวไทย” ถูกจัดตั้งขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมี จีรนันท์ พิตรปรีชา นิสิตจุฬาเป็นแกนนำปราศรัยเพื่อเป็นที่รวมตัวเฉพาะหน้าของฝ่ายนักศึกษาประชาชน ช่วงเวลาเย็นของวันนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ลาออกจากผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด นายสัญญา ธรรมศักดิ์อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรี ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่การปราบปรามของฝ่ายเผด็จการยังดำเนินต่อไป เสียงกระสุนดังเป็นระยะบริเวณสะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน ซึ่งมาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล
วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2516 ด้วยความขัดแย้งของขั้วอำนาจซึ่งกันและกันของฝ่ายปกครอง ในขณะนั้นเมื่ออีกฝ่ายคุมสถานการณ์ได้เหนือกว่าทำให้คณะเผด็จการต้องแตกแยก ฝ่ายนักศึกษาประชาชนสามารถบุกเผาอาคารตึกกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ต้องเดินทางลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งรัฐบาล มีหน้าที่หลักในการจัดร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็วและประกาศใช้ พร้อมจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร
ในช่วงเวลาที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทุกคนเชื่อในความซื่อสัตย์และความจริงใจ รัฐบาลชุดนี้พยายามประนีประนอมกับทุกฝ่าย หลายเดือนผ่านไป มีการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านการตรวจร่างแปรญัตติ และแก้ไขขึ้นมาเพื่อบังคับใช้ ขณะเดียวกันบรรดาลูกน้องของรัฐบาลชุดเก่ายังมีชีวิตปกติสุขเช่นเดิม
ในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 นั้นศิลปินอิสระ คณาจารย์ทางศิลปกรรมและนักศึกษาศิลปะ และผู้ที่อยู่ในวงการโฆษณาจำนวนมากจากทั่วทุกสารทิศ ได้พร้อมใจเป็นหนึ่งเดียวร่วมต่อสู้ทรราชย์ ระดมสรรพกำลังความถนัดสร้างงานสื่อ เขียนคำขวัญ ผลิตโปสเตอร์ เขียนภาพล้อทางการเมือง นับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่ร้อยความคิดมุ่งหวังให้ประชาธิปไตย ได้กลับมาสู่ประเทศไทย
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ปัญหาที่ถูกกดทับไว้ในสังคมก็ปะทุขึ้นมา ปัญหาการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาการเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวนาชาวไร่ องค์กรฝ่ายต่างๆ เกิดขึ้นมากมายตามปัญหาที่ดำรงอยู่ เช่น “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวนาท้องถิ่นพื้นบ้านในภาคเหนือ และภาคกลางตอนเหนือ จุดประสงค์ขององค์กรคือต้องการให้มีการปฏิรูปที่ดิน เก็บค่าเช่านาในราคาต่ำลงให้สินเชื่อทางเกษตรมากขึ้น เก็บภาษีให้เป็นธรรม ชาวนาต้องเดินขบวนมาที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง และได้ประท้วงรัฐบาลที่เฉยเมยต่อการปฏิรูปที่ดิน ละเลยปัญหาขูดรีดดอกเบี้ยของนายทุนเงินกู้
นักศึกษาจากวิทยาลัยครูจากที่ต่างๆ ได้จัดตั้ง “ศุนย์พิทักษ์สิทธิครู” และ “ศูนย์กลางนักศึกษาครูแห่งประเทศไทย” ส่วน “ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย” นั้นเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคมฯ นอกจากนี้ยังมีสหภาพแรงงานต่างๆ สภาแรงงานแห่งประเทศไทย เป็นปากเสียงให้กับกรรมกร “แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” เป็นองค์กรสำหรับต้านรัฐประหาร ความขัดแย้งในขบวนการนักศึกษามีมากขึ้นซึ่งเกี่ยวกับปัญหาการทำงานและปัญหาตัวบุคคล “สหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย” เกิดจากการแยกตัวออกมาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ของนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของ ศูนย์ฯ ฝ่ายนักเรียนอาชีวะดูจะมีปัญหาค่อนข้างรุนแรง จนเกิดความขัดแย้งก่อนจัดตั้งเป็น “ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทย” คอยเป็นปฏิปักษ์กับขบวนการของนักศึกษา ประชาชน นักเรียนอาชีวะส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือจากการยั่วยุให้เกิดการอิจฉาและพร้อมกับถูกปลุกระดมให้เกิดการักชาติอย่างรุนแรง และในที่สุดถูกจัดตั้งเป็น “ขบวนการกระทิงแดง” มีหน้าที่ขัดขวางการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนอย่างรุนแรงทุกรูปแบบ โดยการหนุนหลังของกลุ่มข้าราชการระดับสูงในกองทัพ กอ.รมน.และจากตำรวจบางส่วนด้วย
ที่บริษัทโฆษณา ไทยอินเตอร์ฯ พิทักษ์ ปิยะพงษ์ เป็นผู้ริเริ่มนำบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ มาเผยแพร่ในบริษัท นักทำโฆษณาหลายคนที่ร่วมเคลื่อนไหวเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เช่น สถาพร ไชยเศรษฐ ชัชวาล ปทุมวิทย์ ก็จับกลุ่มทุ่มเทให้ต่อปัญหาสังคมของประชาชน
ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เกิดความขัดแย้งในกลุ่มคณาจารย์ซึ่งมีทัศนะไปคนละแบบ ผู้บริหารสถาบันไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ นักศึกษาศิลปากรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเรียนการสอนของอาจารย์บางท่านได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความชอบธรรม คณาจารย์ศิลปากรฝ่ายก้าวหน้า เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของนักศึกษา ขณะที่อาจารย์ผู้สร้างปัญหาและผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับยืนอยู่ฝ่ายตรงกันข้าม เหตุการณ์ลุกลามไปจนกลายเป็นการแบ่งฝ่ายแบ่งพวก คณาจารย์ศิลปากร ฝ่ายก้าวหน้าถูกกดดันอย่างหนัก จนที่สุดได้แสดงเจตจำนงยื่นใบลาออก มีจำนวนทั้งหมด 12 คน และนักศึกษา ศิลปากรฝ่ายไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ลาออกด้วย ขณะที่ฝ่ายบริหารกำลังอนุมัติการลาออกของคณาจารย์ทั้ง 12 คน เรื่องอื้อฉาวนี้ได้เปิดตัวกว้างออกสู่สังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์นำไปลงข่าวและเรื่องทั้งหมด คณะอาจารย์ผู้ใหญ่จากหลายมหาวิทยาลัยให้ความสนใจอย่างมาก มีการจัดประชุมอาจารย์ทุกสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหา ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมด้วยเนื่องจากมีนักศึกษาศิลปากรจำนวนหนึ่งลาออกด้วย การรวมตัวของอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้พัฒนาไปจนจัดตั้งเป็น “สมาคมอาจารย์อุดมศึกษาแห่งประเทศไทย” ในเวลาต่อมาคณาจารย์ศิลปากรทั้ง 12 คน ที่ยื่นใบลาออกได้รับการระงับและให้กลับเข้ารับ ราชการเช่นเดิม ส่วนของนักศึกษาศิลปากรที่ลาออกนั้นหลายคนกลับเข้าเรียนต่อ แต่อีกหลายคนไม่ยอมกลับเข้าเรียนต่ออีก
วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2517 ครบรอบหนึ่งปีของเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชนประชาธิปไตยที่เสียสละชีวิตในเหตุการณ์ พิธีอันยิ่งใหญ่จัดขึ้นที่ ห้องพระเมรุสนามหลวง หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ชื่อ “ขบวนการประชาชน” จัดทำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย มีนักศึกษาและคณาจารย์ มศว.ประสานมิตรหลายคนในยุคนั้นช่วยให้คำแนะนำและร่วมคณะจัดทำ จัดเป็นหนังสือที่ระลึกซึ่งทำได้อย่างมีคุณภาพเล่มหนึ่ง
ความขัดแย้งภายในทางการเมืองเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ลางวิกฤตมีเค้าให้เห็นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมฯ ผ่านไปเพียงปีกว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ก็แอบเดินทางกลับเข้าประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยฐานอำนาจเก่าเป็นผู้สนับสนุน ฝ่ายนักศึกษาประชาชนที่รักประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคมได้รวมตัวกันชุมนุมต่อต้าน และให้จับตัว จอมพลถนอม กิตติขจร หนึ่งในสามทรราชย์มาดำเนินคดีข้อหาออกคำสั่งเข่นฆ่าประชาชน กลุ่มจิตรกรอิสระ ที่มี พิทักษ์ ปิยะพงษ์, สถาพร ไชยเศรษฐ, ชัชวาลย์ ปทุมวิทย์ เป็นแกนได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านทรราชย์แจกจ่ายประชาชนทั่วไป พร้อมกับมอบหมายให้ ชัชวาลย์ ปทุมวิทย์ ขึ้นเวทีไฮด์ปาร์คในนามตัวแทนของกลุ่มจิตรกรอิสระ คณาจารย์ฝ่ายก้าวหน้าของศิลปากร ซึ่งเข้าร่วมเหตุการณ์ตั้งแต่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2513 ร่วมฟังไฮด์ปาร์คอยู่ด้วย คือ ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) สมโภชน์ อุปอินทร์ เศวต เทศน์ธรรม ถกล ปรียาคณิตพงศ์ ซึ่งได้รับสมญานามว่า “ขบถศิลปิน” ครั้นเห็นกลุ่มจิตรกรอิสระประกาศตัวอย่างเปิดเผยก็เกิดความคิดว่า พวกนักศิลปกรรมทั้งหลายควรจะรวมตัวให้เป็นกลุ่มที่มีพลัง จากนั้น ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) เป็นผู้เข้าไปเสนอแนวคิดการสร้างสรรค์งานเป็นองค์กรกับกลุ่มจิตรกรอิสระ ผลที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร จำต้องเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งที่สองเพราะพลังฝ่ายต่อต้านมีมากกว่าที่ประเมินไว้
ฝ่ายคณาจารย์ศิลปากรที่ก้าวหน้าและกลุ่มจิตรกรอิสระ หลังจาก จอมพลถนอม กิตติขจร กลับไปนอกประเทศแล้ว ได้นัดหาลู่ทางรวมตัวให้เกิดรูปการจัดตั้งองค์กรศิลปะสร้างสรรค์เพื่อมหาชนขึ้น โดยมีทั้งนักประพันธ์ นักดนตรี จิตรกร ปฏิมากร และผู้ทำงานศิลปะทุกสาขามารวมกัน เมื่อข่าวแพร่ออกไป ผู้ซึ่งอยู่ในวงการศิลปะก็เริ่มให้ความสนใจต่อแนวคิดนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ นักศึกษาศิลปะ ศิลปินอิสระ นักทำโฆษณา รวมถึงนักวิชาการด้วย หลังจากหารือกันได้ระยะหนึ่ง ได้มีการนัดพบเพื่อร่างโครงการสร้างองค์กรกันที่คณะครุศาสตร์ ภาควิชาศิลปะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือของ กำจร สุนพงษ์ศรี การพบปะแลกเปลี่ยนถึงความเป็นไปได้ในการนำไปสู่การจัดองค์กรดำเนินไปหลายครั้ง โดยเปลี่ยนสถานที่กันไป สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ ท้องพระโรง (หอศิลป์) มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) การรวมตัวครั้งสำคัญเพื่อจัดทำคำประกาศขององค์กร มีผู้มาร่วมมากกว่า 40 คน ประกอบด้วย ศิลปินทุกแขนง พร้อมด้วยนักศึกษาศิลปะ เช่น จ่าง แซ่ตั้ง, ประเทือง เอมเจริญ, ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย), สมโภชน์ อุปอินทร์, ชำเลือง วิเชียรเขตต์, เศวต เทศน์ธรรม, กำจร สุนพงษ์ศรี, พนม สุวรรณนาถ, ถกล ปรียาคณิตพงศ์, เสถียร จันทิมาธร, ทวี หมื่นนิกร, พิทักษ์ ปิยะพงษ์, สถาพร ไชยเศรษฐ,ชัชวาลย์ ปทุมวิทย์, นิวัติ กองเพียร, ล้วน เขจรศาสตร์, ตระกูล พีรพันธ์, ชูเกียรติ เจริญสุข, มนัส เศียรสิงห์, โชคชัย ตักโพธิ์ ฯลฯ เป็นต้น
ที่ประชุมหารือกันถึงชื่อองค์กรและได้ข้อสรุปว่า น่าจะเป็นลักษณะของการรวมตัวอย่างหลวมๆ ทุกคนมีอิสระในการทำงานส่วนตัวของตัวเอง จึงใช้คำว่า “แนวร่วม” หลังจากพิจารณากันจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายในที่ประชุมแล้ว ได้พร้อมใจกันจัดตั้งองค์กรโดยใช้ชื่อว่า“แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” เสมือนหนึ่งการเปิดตัวขององค์กรทางศิลปกรรมแห่งแรกที่ประกาศจุดยืนเด่นชัดในการสร้างสรรค์สังคม โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อตอบสนอง พนม สุวรรณนาถ ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยคนแรก จากนั้นไม่นานได้มีการประชุมใหญ่ครั้งสำคัญครั้งแรกขององค์กร คือการประท้วงกรณีกวีของประชาชนเกาหลี คิม ซี งา ถูกทางการจับตัวไปคุมขัง แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยได้ส่งจดหมายเปิดผนึกประท้วงการกระทำของรัฐบาลเกาหลี เพราะถือว่าเป็นการริดรอนสิทธิในการแสดงออกขั้นพื้นฐานของประชาชน ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ พนม สุวรรณนาถ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งประธาน กำจร สุนพงษ์ศรี คือผู้ได้รับตำแหน่งประธานแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยเป็นคนที่สอง

นักศึกษาทฤษฎีจากรั้วดำแดง มักมีคำถามทุกครั้งที่นำงานบทความศิลปะก้าวหน้าขึ้นมาอภิปราย สนทนา ในหมู่นักศึกษาศิลปะผู้ทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของ ทีปกร หรือ “ศิลปะวรรณคดีเยนอาน” ของ อ.พ. ก็ตาม พวกเขาไม่เชื่อว่างานสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อมนุษยชาติ ไม่ว่าแขนงใดก็ตามจะมีคำจำกัดความ และอธิบายเป็นสูตรตายตัวเพียงเท่านี้ กลุ่มที่เคลือบแคลงสงสัย มีคำถามมากมายยิ่งเป็นกลุ่มของนักศึกษาภาพพิมพ์รุ่นแรก มี โชคชัย ตักโพธิ์, สุทัศน์ เปี่ยมฤทัย, นิคม รัตนคำแปง เป็นผู้นำ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีฝีมือในการสร้างงานระดับคุณภาพและมีความสามารถทางภูมิปัญญาอยู่ในชั้นแนวหน้า กับการไม่หยุดนิ่งต่อการแสวงหาอยู่ตลอดเวลา ทำให้กลุ่มของ โชคชัย ตักโพธิ์ เป็นกลุ่มที่ได้รับการยอมรับ มีอิทธิพลทางความคิดต่อนักศึกษาศิลปะในรั้วดำแดงค่อนข้างสูง ศักดิ์ศิรี มีสมสืบ เจ้าของกวีซีไรต์ “มือนั้นสีขาว” ก็เป็นนักศึกษาศิลปะผู้หนึ่งที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดทางการศึกษาศิลปะจากกลุ่มของโชคชัย แต่งาน “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของ ทีปกร ก็เป็นที่สนใจกล่าวขวัญและยอมรับของนักศึกษาบางกลุ่มในสถาบันเดียวกัน
ระยะเวลานี้ นักศึกษาศิลปะที่ตื่นตัวทางการเมือง มีความคิดก้าวหน้าได้กระจายไปช่วยงานกิจกรรมตามที่ต่างๆ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้นำเงินบริจาคของประชาชนส่วนหนึ่งมาจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “อธิปัตย์” นักศึกษาเพาะช่างหลายคนได้เข้าไปช่วยงานศิลป์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เช่น วีระชัย วิเศษชัยศรี, ชัยวัฒน์ เจริญศิริ, สุรศักดิ์ คีรีวงศ์ ฯลฯเป็นต้น นักศึกษาเพาะช่างอีกส่วนหนึ่งไปร่วมโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยสู่ชนบท ที่มีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นแกนนำ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในถิ่นห่างไกลเป็นการเตรียมรับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่กำลังจะมีในเร็ววัน ที่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์มี บุญส่ง วัตถกีหัตถกรรม เป็นตัวหลักของเพาะช่างที่ไปช่วยงานออกแบบศิลป์ เขียนผ้า เขียนคัตเอาท์จนเป็นพี่เอื้อยอยู่ใน อมธ. หลายปี ที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ก็มี ชัชวาลย์ ปทุมวิทย์ จากแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับเหมาออกแบบโปสเตอร์เคลื่อนไหวทางการเมืองทุกชิ้นของ ศนท. ในยุคนั้น
ภายในรั้วสถาบันเพาะช่าง ปัญหาที่ทับถมทางระบบการศึกษาเป็นเวลานานถูกเรียกร้องให้ตรวจสอบ รวมไปถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายรับรองสถานภาพของผู้ศึกษาในสถาบันเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นระดับการศึกษาที่ขยายออกไปใหม่ ภายในสถาบันได้เกิดกลุ่มกิจกรรมทางความคิดขึ้นมากมาย ปรากฏออกมาในของกระดานข่าวเผยแพร่แนวคิดของแต่ละกลุ่มอย่างกว้างขวาง มีตั้งแต่แนวศิลปะบริสุทธิ์ ศิลปะเพื่อมวลชน ศิลปะแนวอนุรักษ์ขวาจัด ไปจนถึงงานปรัชญาชีวิตแต่ละบอร์ดกระดานข่าวสะท้อนลักษณะของกลุ่มผู้จัดทำอย่างชัดเจน นอกจากจะมี องค์การนักศึกษาสภา เพาะช่าง เป็นตัวแทนกิจกรรมของนักศึกษาซึ่งนักศึกษาศิลปะฝ่ายก้าวหน้าได้เข้าไปมีบทบาท ก็ยังเกิดกลุ่มอิสระ เช่น “แนวร่วมเพาะช่าง” และ “แนวประสานศิลปกรรม” ขึ้นอีกด้วย
กว่าที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ก็กินเวลาเกือบหนึ่งปีเต็มรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ.2518 เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนเฝ้ารอคอยมาเป็นเวลานาน การรณรงค์หาเสียงมีความรุนแรงบ้างแต่ไม่มากนัก แต่ความวุ่นวายทั้งปวงกำลังก่อเค้าให้เห็น มีพรรค การเมืองประกาศลงเลือกตั้งถึง 42 พรรค นโยบายของพรรคก็ซ้ำซ้อนกันไม่มีอะไรชัดเจน นักศึกษาจำนวนหนึ่งถึงกับสิ้นหวังกับวิถีทางเลือกตั้งในระบบรัฐสภา แต่ก็ยังมีนักศึกษาบางกลุ่มเชื่อมั่นวิถีทางการเลือกตั้งอยู่ พวกเขาสรุปว่าประชาธิปไตยมีแต่ต้องผ่านการเลือกตั้งโดยปวงชนครั้งแล้วครั้งเล่า เท่านั้น จึงจะมีผู้แทนราษฎรที่ดีของประชาชนในสภาผู้แทนฯ ได้
การแตกแยกทางความคิดการเมืองปรากฏชัดเจนขึ้นทุกขณะ จนเกิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกลุ่มก้าวหน้า ไม่มีทางที่แนวความคิดทั้งสองทางจะมาบรรจบกันได้ นอกจากห่างไกลกันออกไปมากขึ้น ภายหลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคได้เสียงมากที่สุดในสภาแต่ไม่ได้เสียงข้างมาก จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้เพียง 8 วัน ก็ต้องพ้นตำแหน่งเมื่อสมาชิกสภาฯ ลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ พรรคกิจสังคมซึ่งมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคได้ดึงพรรคการเมืองฝ่ายขวาเข้ามาร่วม จัดตั้งรัฐบาลคือ พรรคชาติไทย พรรคธรรมสังคม พรรคสังคมชาตินิยม เป็นรัฐบาลผสม รัฐสภาช่วงนี้มีความแข็งแกร่งพอประมาณ แต่ตัวแทนความคิดใหม่ของสังคมซึ่งพัฒนาการจนเป็นหลักในการโค่นล้มเผด็จการได้แก่ นักศึกษาปัญญาชน ตัวแทนแรงงานและตัวแทนชาวนาชาวไร่ยังมีผู้ที่เป็นปากเป็นเสียงให้ใน สภาน้อยมาก แทบหาไม่ได้ ผู้ที่เข้าไปทำหน้าที่ในสภายังเป็นผู้นำทางการเมืองหน้าเก่าๆ บรรดานายทหาร ข้าราชการราชระดับสูง และพ่อค้าบางกลุ่ม ทำให้วิธีคิดในการทำงานยังเป็นแบบเดิม ไม่มีการประนีประนอมของฝ่ายความคิดเก่าที่จะใจกว้างพอเก็บรับทัศนะใหม่ที่สร้างสรรค์ของกลุ่มก้าวหน้า และมีเจตนาบริสุทธิ์ในอันที่ต้องการให้สภาพการเมืองพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า กลุ่มความคิดเก่าก็รวมตัวเป็นขุมกำลัง กลุ่มความคิดใหม่ก็ถูกตีกรอบมากขึ้น รัฐบาลไม่สามารถทำให้เห็นได้ว่าความคิดต่างๆ ที่ถูกแยกเป็นส่วนเก่าส่วนใหม่จะได้รับการสนองตามจากรัฐบาลโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มต่างๆ ที่มีความคิดไม่เหมือนกันทางการเมืองจึงหันมาใช้วิธีดำเนินการนอกสภานอกพรรคการเมืองมากยิ่งขึ้น ความคาดหวังที่ให้ไว้ว่า ถ้ามีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งแล้วอะไรหลายอย่างน่าจะดีขึ้นจึงไม่เป็นเช่นนั้น กลุ่มพลังนอกสภาเกิดขึ้นและมีบทบาทแหลมคม
นอกจาก กลุ่มกระทิงแดง ที่เป็นเครื่องมือของข้าราชการระดับสูงในกองทัพ และ กอ.รมน. แล้ว ก็มี กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ถูกปลุกระดมให้เกลียดชังผู้ที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์ หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล กลุ่มนวพล จัดตั้งโดย กอ.รมน. มีหน้าที่เป็นหน่วยทำงานจิตวิทยาทำงานร่วมกับกลุ่มกระทิงแดง เป็นกลุ่มที่พยายามรวบรวมพ่อค้า, นายทุน, ภิกษุ ที่ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพลังจัดตั้งแฝงเร้นที่ทาง กอ.รมน. และข้าราชการระดับสูงผู้หวงแหนอำนาจได้สร้างขึ้นมาโดยใช้ชื่อให้ต่างกันไป เช่น กลุ่มค้างคาวไทย ชุมนุมแม่บ้าน กลุ่มผู้พิทักษ์ชาติไทย ฯลฯ เป็นต้น มีสิ่งหนึ่งที่กลุ่มเหล่านี้ปฏิบัติเหมือนกันคือ นิยมแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงโดยไม่ใช้เหตุผล เหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองในสังคมได้มีโอกาสเรียนรู้ ยกระดับความคิดไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความรุนแรงทางการเมืองนอกสภามีให้เห็นอยู่ทั่วไป
วันที่ 21 ถึง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชุมนุมวรรณศิลป์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และฝ่ายวัฒนธรรมองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการ “ศิลปวัฒนธรรมทาส” ขึ้นที่ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัตถุประสงค์คือ
- เป็นการวิเคราะห์ศิลปวัฒนธรรมของไทยและสากล ในแง่ที่เป็นประโยชน์และไร้ประโยชน์ต่อสังคม
- ชี้ให้เห็นความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ระหว่างศิลปวัฒนธรรมกับชีวิตสังคม
- วิเคราะห์และเสนอแนะคุณค่าที่ควรจะเป็นของวัฒนธรรมแห่งมนุษยชาติ
นิทรรศการคราวนี้ได้จัดแสดงข้อมูล รูปภาพประกอบ มีผลงานทางศิลปะ มีการจัดอภิปราย จัดประกวดการเขียนภาพ และมีการออกเอกสารประกอบงานด้วย ในส่วนของนิทรรศการได้นำเสนอถึงเกณฑ์ วิวัฒนาการทางชนชั้นโดยเน้นเนื้อหาที่ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ถูกยัดเยียดมอมเมาทางความคิด การถูกกดให้กลายเป็นทาส ชี้ให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองที่พยายามทำให้ชนชั้นที่ถูกปกครองและถูกเอาเปรียบยอมรับ พร้อมกับชี้แนะให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมที่ชนชั้นทาสซึ่งถูกปกครองกดขี่สร้างขึ้น เป็นวัฒนธรรมพื้นฐานในการสร้างอำนาจให้แก่คนส่วนใหญ่ ในงานมีการจัดอภิปรายด้วย บุคคลที่เข้าร่วมอภิปราย มี ระวี ภาวิไล, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และตัวแทนของแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ช่วงนี้สมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยได้เข้าไปช่วยงานกิจกรรมการเคลื่อนไหวในกลุ่มประชาชนโดยใช้งานศิลปะเป็นสื่อมากยิ่งขึ้น
เมื่อย่างเข้าสู่เดือนเมษายน ไล่ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2518 ผู้นำสหพันธุ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ถูกลอบสังหารจนถึงแก่ชีวิตด้วยรูปแบบต่างๆ กัน เป็นจำนวนถึง 21 คน ในจำนวนนี้มี พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ผู้เป็นประธานสหพันธ์ฯ รวมอยู่ด้วย หนำซ้ำทางการโดยอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์ที่แฝงเร้นอยู่ในคณะรัฐบาล ยังได้จับตัวตัวแทนชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ชนบทคุมขังแทนที่จะจับตัวผู้ลอบสังหารมาดำเนินคดี ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ยุคที่มี เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เป็นเลขาธิการ ร่วมกับ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย จึงนำการเคลื่อนไหวชุมนุมนักศึกษา-ประชาชน ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้นำชาว นาชาวไร่ที่ถูกจับกุมโดยไม่ชอบธรรม กับให้รับดำเนินการจับกุมผู้บงการเข่นฆ่าและผู้ลอบสังหารผู้นำชาวนาชาวไร่ให้ได้
สภานักศึกษาเพาะช่างได้ศึกษาเหตุการณ์มาตั้งแต่ต้น และเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จึงมีมติให้นักศึกษาหยุดเรียน ประเสริฐ เทพารักษ์ ผู้มีบทบาทในสภานักศึกษา เป็นแกนนำคนสำคัญร่วมกับ ชาติ กอบจิตติ นักศึกษาภาพพิมพ์ และ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย นำนักศึกษาศิลปะเดินขบวนเข้าร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส “บุญมา ดวงชนะ” ของเหล่านักศึกษาเพาะช่างดังกึกก้องทั่วสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ สำหรับการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกรณีผู้นำชาวนาครั้งนี้ สภานักศึกษา, แนวร่วมเพาะช่าง, แนวประสานศิลปะกรรม ได้พร้อมใจกันเป็นหัวหอกปฏิบัติงานร่วมกับส่วนกลางของการชุมนุม การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่าง แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย และขบวนการนักศึกษาศิลปะกิจกรรมก้าวหน้าเพาะช่างได้ดำเนินไปในบรรยากาศเข้มข้นทางการเมือง ต่อสถานการณ์ขณะนั้นได้ข้อสรุปว่าเราจะร่วมงานครั้งนี้ด้วยกัน แต่ต่างฝ่ายต่างมีอิสระไม่ผูกมัดซึ่งกันและกัน นักศึกษาศิลปะแกนนำบางส่วน สมทบกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นๆ จากส่วนกลางของที่ชุมนุม ออกไปทำหน้าที่ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงข้อเท็จจริงพร้อมแจกแจงแถลงการณ์และเรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ด้วยหลายคนได้ถูกคัดเลือกให้รับผิดชอบนำรถออกไป “ไฮด์ปาร์ค” ตามชุมนุมสำคัญต่างๆ ซึ่งมีทั้งประชาชนผู้สนับสนุนบริจาคเงินและอาหาร ขณะเดียวกันก็มีผู้สวมรอยกลั่นแกล้ง
ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การชุมนุมได้เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อหลายวันติดต่อกัน ปรากฏการณ์ในช่วงกลางวันผู้ชุมนุมค่อนข้างบางตา จะมีเพิ่มขึ้นในช่วงเย็น-ค่ำ จนทำให้แกนนำชุมนุมหลายฝ่ายวิตกกังวลว่า ถ้าสถานการณ์ดำเนินไปอย่างนี้ย่อมไม่เป็นผลดี เพลง “ตายสิบเกิดแสน” ของ สุรชัย จันทิมาธร เกิดขึ้นกลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงนี้ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลคึกฤทธิ์
หากยังนิ่งเฉยไม่ปล่อยตัวผู้นำชาวนาชาวไร่ที่จับกุมไปและดำเนินการจับกุมตัวผู้ลอบสังหารผู้นำชาว นาชาวไร่ทั้ง 21 คน มาลงโทษตามกฎหมาย นักศึกษา-ประชาชนผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างแน่นอน
แกนนำฝ่ายต่างๆ ของทุกองค์กรได้ประชุมกำหนดแผน ประเมินสถานการณ์กันอย่างถึงที่สุด ถ้าถึงกำหนดเวลาแล้วรัฐบาลยังไม่ให้คำตอบเป็นที่พอใจ การเคลื่อนขบวนประชาชนต้องมีแม้จะเป็นเวลากลางคืนก็ตาม ทุกคนรู้ มันเป็นการเสี่ยงต่อความปลอดภัยอย่างยิ่ง เมื่อครั้งที่ จอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศ ในปี พ.ศ.2517 นักศึกษาประชาชนชุมนุมที่สนามฟุตบอลแห่งนี้เวลาค่ำ ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังฟังการไฮด์ปาร์คต่อต้านอย่างดุเดือด ระเบิด และกระสุนปลอมก็ดังกึกก้องข้ามหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์และตึกบัญชี จนผู้ชุมนุมขวัญกระเจิงมาแล้ว แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกคงไม่เพียงเป็นระเบิดหรือกระสุนปลอม แนวร่วมศิลปินฯ แนวร่วมเพาะช่าง ฯลฯ ถูกกำหนดให้วางแผนงานในการจัดรูปขบวนริ้วธงไตรรงค์ เสมาธรรมจักร ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ แผ่นป้ายเรียกร้อง คำขวัญต่างๆ มีการวางแผนปรับขบวนการถ้าถูกก่อกวนจากฝ่ายตรงข้าม
เมื่อถึงกำหนดฟังคำตอบจากรัฐบาลคึกฤทธิ์ รัฐบาลได้แถลงทางวิทยุ-โทรทัศน์ ยินยอมปล่อยตัวผู้นำชาวนาชาวไร่ที่ถูกจับกุม และจะเร่งดำเนินการหาตัวผู้ลอบสังหารผู้นำชาวนาชาวไร่ทั้งหมดมาดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน แกนนำชุมนุมทุกองค์กรประชุมกันอย่างเคร่งเครียด กระแสข่าวที่แน่ชัด ซึ่งตรวจสอบแล้วยืนยันว่า ขบวนการจัดตั้งของฝ่ายอนุรักษ์ขวาจัดจะบุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเร็วๆ นี้ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ขึ้นประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบมติของกลุ่มนำการชุมนุมว่า คำตอบของรัฐบาลเป็นที่ชอบธรรมในระดับหนึ่งเห็นควรให้ยุติการชุมนุม และให้เวลารัฐบาลในอันที่จะติดตามจับกุมผู้กระทำการลอบสังหารมาลงโทษ แล้วจึงสลายการชุมนุม
แล้วเหตุการณ์ก็เป็นจริงตามกระแสข่าวที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ เดือนสิงหาคม พ.ศ.2518 กลุ่มกระทิงแดง จำนวนมากได้ปลุกระดมนักเรียนอาชีวะยึดรถประจำทาง พากันบุกเข้าไปใ นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้อาวุธปืนระเบิดขวดเข้าทำลายข้าวของกระจก เผาหนังสือต่างๆ แต่ก่อนหน้านี้นักศึกษาได้ทราบ ข่าวล่วงหน้าและเคลื่อนย้ายออกไปนอกบริเวณมหาวิทยาลัยหมดแล้ว จึงไม่มีผู้ได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บแต่ประการใด ระยะไล่ๆ กันนั้น ตำรวจอันธพาลกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าบ้านคึกฤทธิ์นายกรัฐมนตรีพังประตูบ้านเสียหาย ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีอะไรเลวร้ายลงไปกว่านี้ เมื่อไม่มีใครตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่นั่นเป็นสัญญาณให้ขบวนการฝ่ายประชาชนผู้รักความเป็นธรรมทั้งปวงต้องเคลื่อนไหวด้วยความรอบคอบยิ่งขึ้น
หลังเหตุการณ์กรณีสังหารและจับกุมผู้นำชาวนาชาวไร่แล้ว ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยกับแนวร่วมเพาะช่างก็มีมากขึ้น การหารือเพื่อจัดกิจกรรมร่วมกันมีเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง โครงการจัดแสดงภาพคัตเอาท์การเมือง ตรงเสาคู่กลางถนนราชดำเนินกลางตลอดสาย เพื่อเตรียมเฉลิมฉลองครบรอบเหตุการณ์ 14 ตุลาคมฯ 2 ปี ถูกเสนอเข้าไปในส่วนของคณะจัดงาน 14 ตุลาฯ พร้อมกับมีการจัดประกวดการออกแบบอนุสรณ์สถาน วีรชน 14 ตุลาฯ ซึ่งกำหนดให้จัดสร้างขึ้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัวตรงตึก กตป. เดิมซึ่งถูกเพลิงไหม้ ถกล ปรียาคณิตพงศ์ อาจารย์จากศิลปากร และ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย นักศึกษากิจกรรมเพาะช่างได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่ประสานงานจากแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย งบประมาณจำนวนหนึ่งได้รับการจัดสรรจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อมเรศ ไชยสะอาด กรรมการฝ่ายการเงิน ศูนย์กลางนิสิตฯ นักศึกษามหิดล ได้ผ่านเงินมาให้แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยดำเนินการ ปัญหาสำคัญคือต้องหาที่ผลิตงานขนาดใหญ่และมีจำนวนมาก
แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ได้รับมอบกุญแจอาคารขนาดยาวอยู่ด้านหลังตึก กตป. หลังเดิมที่ถูกไฟเผาผลาญ ตึกยาวหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงาน กตป. (สำนักงานกองติดตามผลการปฏิบัติ ราชการ) ที่ พันเอกณรงค์ กิตติขจร เป็นเลขาฯ อาคารหลังนี้ถูกปิดร้างตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อ พันเอกณรงค์บินลี้ภัยไปต่างประเทศพร้อมกับ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อเปิดประตูเหล็กดึงเข้าไปสำรวจ ภายในค่อนข้างสกปรกและเหม็นอับ ตัวอาคารสูง 3 ชั้น มีบันไดแคบๆ เป็นทางขึ้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ มีโครงการจะบูรณะอาคารหลังนี้เพื่อใช้เป็นที่ทำการศูนย์ถาวร ที่ดินตรงนี้เป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หลังจากสำรวจแล้วก็ลงความเห็นว่าสามารถใช้เป็นที่สร้างงานคัตเอาท์ขนาดใหญ่ได้ สมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยช่วยกันทำความสะอาด จากนั้นอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตงานก็ถูกระดมซื้อเข้ามา บางอย่างได้รับการสนับสนุนโดยการบริจาคให้บ้าง บางอย่างก็หาซื้อได้ในราคาถูก ไม้อัด ไม้ระแนง สีพลาสติก แปรงพู่กัน ค้อน ตะปู ลวด ฯลฯ ลำเลียงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กำหนดกันไว้ว่า ชั้น 2 และชั้น 3 ของตัวอาคารใช้เป็นที่ผลิตงาน ส่วนชั้น 1 เป็นที่ประกอบงานให้สมบูรณ์เป็นภาพเดียวกันด้วยไม้ระแนง และตะปู
สมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยที่ร่วมกันสร้างสรรค์งานคัตเอาท์การเมืองชุดนี้ประกอบด้วย ตระกูล พีรพันธ์, สถาพร ไชยเศรษฐ,ทันพงษ์ รัศนานันท์, สิงห์น้อย ฟูสวัสดิ์สถาพร, ชูเกียรติ เจริญสุข, ถกล ปรียาคณิตพงศ์, โชคชัย ตักโพธิ์, ประเสริฐ เทพารักษ์, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, มนัส เศียรสิงห์, เกษม เหล่าสืบสกุลไทย, สมบัติ ฤทัยสุข, ศุภกร จินดานนท์, ต้วง นิตยนันทะ, สมชาย วัชรสมบัติ นอกจากนี้ยังมีงานป้ายคำขวัญที่กำหนดติดตั้งสองฝากถนนราชดำเนินกลาง ผู้ที่เป็นหลักในการเขียนผ้า ได้แก่ ลิขิต งานเสน, วีระศักดิ์ ขันแก้ว, พิชัย ฝันเยื้อง เป็นต้น คณาจารย์ก้าวหน้าจากศิลปากรและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาร่วมสนับสนุน ประชาชนจากแนวร่วมประชาชนแห่งประเทศไทย มาร่วมช่วยประกอบภาพที่เสร็จแล้วด้วยค้อน-ตะปู และช่วยติดตั้งงานที่เกาะกลางถนนราชดำเนินกลาง หลายคนที่มาร่วมงานถนัดเขียนภาพล้อการเมือง บางคนได้สร้างนิยายภาพสะท้อนปัญหาสังคม บ้างออกแบบโปสเตอร์งานคัตเอาท์บางชิ้นเป็นผลงานที่ร่วมกันทำจากฝีแปรงของหลายคน นับเป็นการสร้างภาพทางศิลปะรวมเป็นกลุ่มอย่างเป็นเอกภาพ และไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ทางศิลปะของไทย
สมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยทำงานต่อเนื่องพักหลับนอนบนอาคารตึก กตป. ห้องน้ำของอาคารมีเพียงห้องเดียวจึงไม่พอใช้กับคนจำนวนมาก หลายคนจึงต้องไปใช้บริการห้องน้ำห้องส้วมของอาคารสำนักพิมพ์ดาวสยามยุคขวาจัดของ ประสาน มีเฟื่องศาสตร์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ส่วนอาหารการกินนั้นก็จัดหามาเป็นข้าวห่อสำเร็จรูป
ด้าน ลาวัณย์ อุปอินทร์, เศวต เทศธรรม, สมโภชน์ อุปอินทร์ ได้ช่วยกันปั้นอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลาคมฯ ด้วยปูนผสมสดๆ โดยทำกันที่ชั้นล่างของตึก กตป. มีกรรมกรและประชาชนเข้ามาสมทบช่วยด้วยความจริงใจ นับเป็นงานปั้นสดอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลาคมฯ ชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ อนุสาวรีย์นี้เมื่อเสร็จได้นำไปตั้งไว้บนแท่นหน้าบริเวณที่จะทำพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างอาคารอนุสรณ์สถานวีรชน 14 ตุลาคม
เริ่มเดือนตุลาคม พ.ศ.2518 ภาพคัตเอาท์ประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทยก็ค่อยๆ ปรากฏบนถนนราชดำเนินกลางทีละภาพจนครบจำนวน 48 ภาพ นับเป็นครั้งแรกของสังคมไทยที่มีการแสดงภาพนิทรรศการขนาดใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นใจกลางประเทศ
กลางดึกของคืนวันแรกที่ติดตั้งภาพคัตเอาท์ระเบิดก่อกวนลูกแรกถูกโยนใส่ภาพของ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย และของ ตระกูล พีรพันธ์ ตรงบริเวณด้านข้างบริเวณกรมประชาสัมพันธ์และข้าง โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย (เดิม) เช้าวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์พาดข่าวและลงภาพประกอบเกือบทุกฉบับ เสียงวิจารณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบปรากฏทั่วไป ข่าวที่ลงหนังสือพิมพ์เท่ากับเป็นการโหมประชาสัมพันธ์ให้กับงานแสดงภาพคัตเอาท์การเมืองมากขึ้น ประชาชนทั่วไปจึงแวะเวียนมาดูภาพบนกลางถนนราชดำเนินเพิ่มขึ้น
งานฉลองครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคมฯ เมื่อปี พ.ศ.2518 เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ประกาศให้เป็นวันสำคัญพร้อมให้ความร่วมมือในการจัดงานเป็นอย่างดี ท่ามกลางความคิดแตกแยกทางการเมือง ตัวแทนกลุ่มกระทิงแดงและศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทย ขอมีส่วนร่วมงานนี้ด้วย สมศักดิ์ ขวัญมงคล, เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ เข้ามากอดคอตีสนิทกับแนวร่วมศิลปินหลายคน เวทีการแสดงกลางแจ้งขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่บนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หันหน้าสู่ท้องสนามหลวง การแสดงมีต่อเนื่องไม่ขาดระยะ เต็นท์นิยายภาพการ์ตูนการเมืองขนาดใหญ่ มีประชาชนให้ความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ภาพหุ่นจำลองอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลาคมฯ ที่มีผู้ส่งเข้าประกวด
วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2518 เวลาเช้า สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อนุสรณ์สถานวีรชน 14 ตุลาคมฯ บริเวณกึ่งกลางพื้นที่ตึก กตป. เดิม เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ที่การแสดงภาพคัตเอาท์การเมืองได้ปรากฏและเสร็จสิ้นลง ภาพส่วนหนึ่งพรรคพลังใหม่ขอซื้อไปประดับที่ทำการพรรค แต่งานส่วนใหญ่ถูกนำไปแสดงต่อยังสถานศึกษาส่วนภูมิภาค
หลังงานฉลองครบรอบ 2 ปี 14 ตุลาคมฯ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ย้ายที่ทำการจากมหาวิทยาลัยมหิดล (ก่อนหน้านี้อยู่ตึกจักรพงศ์ จุฬาลงกรณ์ฯ) มาอยู่ชั้น 3 ของตึก กตป. หลังยาวใน ที่ใช้ผลิตงานคัตเอาท์การเมือง ชั้น 2 ห้องหน้า ตกลงกันว่าเป็นที่ทำการของแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ส่วนห้องด้านในเป็นที่ทำการของศูนย์กลางนักศึกษาครูแห่งประเทศไทย ความใกล้ชิดระหว่างแนวร่วมศิลปินฯ กับศูนย์กลางนักศึกษาครูฯ จึงมีมาก โดยเฉพาะ ลิขิต บุญปลิว และ ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง แห่งวงคุรุชน
กิตติศัพท์การรวมตัวของผู้ที่อยู่ในวงการศิลปกรรมจนเกิดเป็นแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ได้ขจรขจายไปในต่างประเทศด้วย ช่วงนั้น สันติ อิศโรวุธกุล ซึ่งเดินทางไปศึกษาศิลปะที่นครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางกลับประเทศไทยและได้เข้าร่วมงานเป็นสมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย พร้อมกับเป็นตัวหลักงานด้านวิชาการขององค์กร โดยได้นำความรู้ใหม่ๆ ทางด้านศิลปะจากต่างประเทศมาให้สมาชิกได้รับทราบและเรียนรู้ สมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยได้มีโอกาสเรียนรู้การสร้างงานภาพพิมพ์เพื่อชีวิต ดาวี ซิเกียโรส ศิลปินมหาชนผู้มีรูปแบบวิธีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่มหึมาของเม็กซิโกรวมทั้งศิลปินแนวทางเพื่อชีวิตของอเมริกาใน ทศวรรษนั้น เช่น ศิลปินผิวดำ วิลเลี่ยม วอล์คเกอร์ ศิลปินผิวสีน้ำตาลเชื้อสายเม็กซิกัน เรย์ ปัตลาน ศิลปินผิวขาว จอห์น เวบเบอร์ และ มาร์ค โรโกแวน ซึ่งทั้งหมดเป็นระดับนำของขบวนการศิลปะเพื่อประชาชนในสหรัฐอเมริกา และเป็นหัวขบวนของขบวนการจิตรกรรมฝาผนัง การได้ศึกษาหลักวิชาการเพิ่มพูนทฤษฎีวิชาทางศิลปะ ทำให้โลกทัศน์และความหมายของคำว่า “ศิลปะทั้งผองเพื่อมวลชน” กว้างขึ้นไม่ติดยึดอยู่เพียงแนวคิดของ จิตร ภูมิศักดิ์ อย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้สมาชิกแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยยังได้จัดการยกระดับทางภาคปฏิบัติ เวลาว่างจากกิจกรรมเพื่อสังคมจะมีตารางเวลาฝึกฝนฝีมือ เช่น หัดสเก็ตช์ภาพ ร่างภาพ ฝึกดรออิ้ง แล้วนำมาวิจารณ์กัน ระยะเวลาเดียวกันนั้น ประเสริฐ เทพารักษ์, ชาติ กอบจิตติ, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย, สุริยะ แซ่ห่าน, วันชัย บางสร้อย ได้ร่วมกันเปิดร้านหนังสือแนวสร้างสรรค์ โดยเช่าชั้นล่างของตึกแถวบริเวณถนนมหรรณพ ช่วยกันจัดแต่งร้านและให้ชื่อร้านว่า “มวลชน” พิมพ์โปสเตอร์ ศิลปะการเมืองเองและรับหนังสือก้าวหน้าพ็อคเก็ตบุคมาจำหน่าย ภาพของ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกนำมาดัดแปลงใส่สีเป็นงานศิลปะแนวป๊อปอาร์ตส่งพิมพ์ที่โรงพิมพ์พิฆเณศ แล้ววางจำหน่ายทั่วไป ประวัติย่อของ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกพิมพ์เป็นหนังสือขนาดสมุดโน้ต พกใส่กระเป๋าได้
ร่วมงานกันได้ระยะหนึ่ง ประเสริฐ เทพารักษ์, ชาติ กอบจิตติ, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ได้ถอนตัวออกไปด้วยปัญหาบางประการ หลายปีต่อมา ชาติ กอบจิตติ ประสบความสำเร็จในการเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง ได้รับรางวัลซีไรต์ครั้งแรกจากงานประพันธ์เรื่อง “คำพิพากษา” และในปี พ.ศ.2537 ก็ได้รับรางวัลซีไรต์เป็นครั้งที่สองจากงานประพันธ์เรื่อง “เวลา” นับเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รางวัลซีไรต์ถึงสองครั้งสองคราว
วงศ์ไหม เมืองล้านนา