ผมได้มีโอกาสเขียนเรื่องที่ตั้งใจจะเขียนไว้แล้ว คือ เรื่องฟังเพลงคาราบาวแล้วได้ข้อคิดในเรื่องใดบ้าง แต่บังเอิญไปเจอนิตยสาร “สีสัน” เล่มเก่าอยู่ในห้องเก็บของ จึงนำเอามานั่งอ่าน แล้วรู้สึกชอบ ผมจึงขอเอาเรื่องราวในนิตยสารสีสัน มาลงให้อ่านกันก่อน แล้วในเรื่องต่อไปจึงจะนำเรื่องที่ผมเขียนมาลงครับ

ผมขออนุญาตบรรณาธิการนิตยสารสีสัน นำเรื่องราวของคาราบาวใน “สีสัน ปีที่ 7 ฉบับที่ 6 2537 10 ปี เมดอิน ไทยแลนด์” ขอบคุณ “น้าทิวา สาระจูฑะ” ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย ครับ

พ.ศ. 2527 มีอัลบั้มชุดหนึ่งออกวางขายและกลายเป็นอัลบั้มที่ได้สร้างปรากฎการณ์หลายอย่าง แม้ผ่านมาถึงวันนี้จะไม่ใช้ผลงานที่ขายได้มากที่สุด (ตามการโปรโมทและประกาศทางธุรกิจ) อีกต่อไป แต่มีอะไรหลายอย่างของอัลบั้มนี้น่านำมากล่าวถึง “10 ปี เมด อิน ไทยแลนด์”

สองอัลบั้มแรก “ลุงขี้เมา” และ “แป๊ะขายขวด” ยังไม่ทำให้ คาราบาว เป็นที่รู้จักกว้างขวางเท่าใดนัก จนกระทั่งอัลบั้มที่ 3 “วณิพก” จึงทำให้พวกเขาเริ่มกลายเป็นวงดังระดับประเทศ แต่นั่นก็ยังไม่พอที่จะวัดอนาคตว่า คาราบาว จะกลายเป็นตำนานของวงดนตรีไทย หรืออย่างน้อยที่สุดเป็นดาวค้างฟ้าที่มีผู้ฟังให้ความสนใจติดตามอยู่เสนอ จนกระทั่งถึงอัลบั้ม “เมด อิน ไทยแลนด์” ในปี 2527 หลายอย่างจึงเกิดขึ้นและดำเนินมา

ก่อนจะเป็น เมด อิน ไทยแลนด์

หลังจากความสำเร็จระดับหนึ่งของ วณิพก คาราบาว เริ่มมีปัญหากับ อโซน่า ด้านสังกัดในแง่ธุรกิจบางประการ เมื่อออกอัลบั้มถัดมาคือ “ท.ทหารอดทน” จึงเป็นอัลบั้มสดุท้ายที่วงร่วมงานกับสังกัด จากนั้น ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) ก็หายุทธวิธีที่จะให้เป็นอิสระ ผลคือการผลิตงานที่ใช้ชื่อเดี่ยวแทนซื่อวงในชุด กัมพูชา โดยนำเสนอกับ ไนท์สป็อท และ แกรมมี่ แต่ได้รับการปฏิเสธ เขาจังตัดสินใจให้ อามีโก้ เป็นผู้จัดจำหน่าย โดยการประชาสัมพันธ์ทั้งหมดเป็นหน้าที่ของเขาและ บี๋ เดล โรซาริโอ เพื่อนครีเอทีฟที่ลาออกจากบริษัทโฆษณามารับหน้าที่ผู้จัดการวงให้

แม้อัลบั้มนี้จะเป็นผลงานเดี่ยว แต่ผู้ร่วมงานก็คือสมาชิกในคาราบาว สมทบด้วยนักดนตรีในห้องบันทึกเสียงของ อโซน่า ได้แก่ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, อำนาจ ลูกจันทร์, เทียรี่ เมฆวัฒนา และ ไพรัช เพิ่มฉลาด ซึ่งต่อมาทั้งหมดได้กลายเป็นสมาชิกคาราบาว

ขณะที่ คาราบาว เริ่มขยายขอบเขตผู้ฟังของตน ปัญหาภายในวงก็ก่อตัวขึ้น มีความขัดแย้งในด้ายวิธีการทำงาน บี๋ จึงเสนอให้คลายความตึงเครียดด้วยการยกวงเดินทางไปพักผ่อนที่ฟิลิปปินส์ถิ่นที่ ยืนยง และ กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) เคยร่ำเรียนอยู่ พวกเขาไปประชุมเคลียร์ปัญหากันที่เมืองบาเกียว บ้านแม่ผู้จัดการวง

ปัญหาถูกจัดการไปได้ระดับหนึ่งพวกเขาจึงกลับมาเมืองไทย ประชุมกันอีกครั้งเพื่อเริ่มงานอัลบั้มใหม่ โดยปักหลักทำงานกันที่บ้านของ บี๋ ที่ซอยหลังสวน ยืนยง ตัดสินใจบอกสมาชิกภายในวงว่า “จะขอทำงานพิสูจน์” จัดระบบการเงินให้ทุกคนในวงได้สัดส่วนเท่ากัน ตารางการทำงานจะเริ่มตอน 10 โมงเช้า ทุกคนจะต้องมาถึงและลงเวลาไป-กลับ เป็นระบบที่แน่นอน ผู้จัดการวงเสนอแผนงานที่วางไว้ล่วงหน้าว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีอะไรบ้าง และเมื่อถึงเวลานั้นค่อยมาคุยกันอีกที โดยยืนคอนเส็ปท์ของ คาราบาวไว้ ติดดิน ก้าวร้าว แต่จริงใจ” 

นั่นคือการเริ่มต้นที่ผ่านความขัดแย้งของ เมด อิน ไทยแลนด์

อัลบั้มเมด อิน ไทยแลนด์

คนและการทำงานในอัลบั้ม

ในช่วงของการเริ่ม เมด อิน ไทยแลนด์ ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) และ นุพงษ์ ประถมปัทมะ (อ๊อด) มือกีตาร์และมือเบส ยังติดหน้าที่เล่นใน วงเพรสิเดนท์ และมีภาระต้องเดินไปแสดงที่อเมริกาหลังการออกอัลบั้ม ท.ทหารอดทน จึงเสริมทีมด้วยนักดนตรีมือดีหลายคน แต่ ปรีชา ก็กลับมาทำงานด้านดนตรีก่อน ขณะที่ นุพงษ์ แทนที่โดย ไพรัช เพิ่มฉลาด ตามข้อตกลงที่ว่า เมื่อ นุพงษ์ ปลอดจากการทำงานในเพรสิเดนท์ เมื่อใดก็จะกลับมาอยู่ในตำแหน่งมือเบสของคาราบาว เพราะได้เคยร่วมงานในการบันทึกเสียงมาตั้งแต่ชุดแรก ๆ

การทำงานอัลบั้มนี้เป็นครั้งแรกที่ คาราบาว ทำเดโมเทปและก็เป็นวงดนตรีวงแรกที่มีการใช้กลองโปรแกรม โดยมี กีรติ ร่วมกับ ยืนยง เป็นคนทำส่วนนี้ และได้รับความรู้ความช่วยเหลือจาก เรวัต พุทธินันท์ ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์คนสำคัญของแกรมมี่

บี๋ และ ยืนยง ออกตระเวนไปตามที่ต่างๆ อย่างถี่ยิบเพื่อหาวัตถุดิบในการเขียนบทเพลง หลายเพลงเป็นผลพวงของการออกตระเวนนี้ เช่น นางงามตู้กระจก, ลูกแก้ว , ราชาเงินผ่อน ฯลฯ บางเพลงเกิดขึ้นหลังจากการกลับมาบ้านตอนกลางคืน

“บางคืนกลับมา แอ๊ด ลงมือเขียนเพลงทันที เช้าทำดนตรีลงเดโม แต่เพลงตอนนั้นยังมีอารมณ์ค่อนข้างดี อาจจะเป็นเพราะแอ๊ดไม่ได้เข้าไปเคลื่อนไหวข้องเกี่ยวกับการเมืองเต็มตัวอย่างทุกวันนี้” บี๋ เล่า

ระหว่างนี้ยังคงมีความขัดแย้งอยู่บ้างในวง แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องหนักหนาอะไรมาก แกนในการทำงานสร้างดนตรีก็มี ยืนยง, ปรีชา, เทียรี่ และธนิสร์

ความจริงมีเพลงแต่งเสร็จก่อนไปฟิลิปปินส์บ้างแล้ว เมื่อกลับมาก็แก้ไขเก็บรายละเอียดและแต่งส่วนที่เหลือ ในที่สุดผ่านไป 9 เพลง เหลืออีกเพียงเพลงเดียวจะครบอัลบั้ม และเพลงนั้นก็คือ “เมด อิน ไทยแลนด์” ที่กลายมาเป็นชื่อของอัลบั้มนั่นเอง เพลงนี้หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่ามีการเริ่มต้นมาจากคำพูดของ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นายใหญ่ของแกรมมี่

ตอนที่ ยืนยง และ บี๋ ไปคุยธุรกิจกับแกรมมี่ ไพบูลย์ ปรารภว่าตอนนี้มีแต่ของนอกสั่งเข้ามามากมาย ทำไมคนไทยรู้สึกว่าต้องใช้ของนอก น่าจะเขียนเพลงสักเพลงให้คนไทยหันกลับมาใช้ของไทย

ทั้งสองเห็นว่าความคิดนี้เข้าท่า นำกลับมาพูดคุยกันในวงก่อนจะเริ่มลงมือทำงาน บี๋ ได้ฟังอัลบั้มฟวิชั่น แจ็ซซ์ ของศิลปินผิวดำรายหนึ่ง ขึ้นอินโทรฯ ด้วยฟลุ้ท จึงเสนอให้วง และวงก็ลงความเห็นกันว่าการใช้ขลุ่ยไทยก็น่าจะสอดคล้องกับเนื้อหาของเพลง

“ตอนที่ทำเพลงนี้ เราอัดใส่เทป 8 แทร็คยาวไปเลย ผมเคาะกลองโปรแกรม เทียรี่ กับ เล็ก ช่วยกันเล่นกีตาร์และเดินไลน์เบสส์ อาจารย์ธนิสร์ เล่นซอ อัดไปก็แก้กันไปจนลงตัวเนื้อเพลงไปเขียนตอนเช้าหน้าห้องอัด ศรีสยาม แต่ตอนนั้นมีโครงไว้หมดแล้ว” ยืนยง เล่า

คาราบาว ใช้เวลา 1 เดือน เต็ม ๆ ในการบันทึกเสียงและมิกซ์เสียง

สัดส่วนผลประโยชน์

อัลบั้มกัมพูชา เป็นการทดลองทำตลาดเองโดยไม่มีสังกัด ยืนยง ปรึกษากับ บี๋ และ สุนทรสิงห์ วัชรเสถียร (นักแต่งเพลง/ครีเอทีฟ) ในแง่ของการโปรโมทและการออกตัวในนามเดี่ยว

“เหตุที่ไม่ใช่ คาราบาว เพราะตอนนั้นไม่อยากเสี่ยงกับชื่อวง เพราะถ้าเกิดผลไม่ดีขึ้นมาก็ขึ้นอยู่กับชื่อผมคนเดียว แต่ทุกคนในวงก็มีรายได้กันอยู่จากอัลบั้มนี้” ยืนยง เล่าความเป็นมา บี๋ บอกว่า “ถือเป็นอัลบั้มเบรคก็น่าจะได้ คือหลังจากมีเพลงจังหวะสนุก ๆ แล้ว ก็น่าจะมีทางอะคูสติคเบาๆ ที่จะอยู่ได้นาน ๆ มาสลับบ้าง ผมว่าได้ผลนะ ถึงทุกวันนี้ก็ยังขายอยู่”

จากการลองตลาดด้วย กัมพูชา ทำให้ คาราบาว มองเห็นช่องทางที่จะผลิตเอง และติดต่อลงทางธุรกิจ ยืนยง และ บี๋ เลือกที่จะเข้าไปคุยกับแกรมมี่อีกครั้ง โดยเสนอให้ แกรมมี่ ตัดเปอร์เซ็นต์จากยอดขายอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ สำหรับการวางคิวโปรโมททางโทรทัศน์

ส่วนทางสิ่งพิมพ์และวิทยุ คาราบาว จะจัดการเอง ทางด้านวิทยุมอบหน้าที่ให้กับ วาสนา ศิลปิกุล แห่ง แว่วหวาน ไปดำเนินการ ซึ่ง บี๋ เป็นคนแนะนำให้ ยืนยง รู้จัก และตั้งแต่นั้นมาวาสนาก็ได้ร่วมงานกับคาราบาวมาจนถึงทุกวันนี้

คาราบาว นำอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ เสนอให้ อามีโก้ เป็นผู้จัดจำหน่วย ตัดรายได้ให้กับวง 18 บาท (สมาชิก 7 คน และ 1 ผู้จัดการวง) และแกรมมี่ ได้จากอัลบั้มม้วนละ 10 บาท

ทุกคนในวงจะได้คนละ 2 บาท เท่ากันหมด ส่วนที่เหลือ ยืนยง กันไว้เพื่อนำไปทำ ห้องบันทึกเสียง เซ็นเตอร์ สเตจ ดังนั้นสมาชิกแต่ละคนยุคนั้นจึงเป็นหุ้นส่วนบันทึกเสียงด้วย ยกเว้นมือเบส ไพรัช เพิ่มฉลาด ที่ได้รับเงินก้อนไป

นอกเหนือจากนี้ ยืนยง และ บี๋ ยังได้เข้าไปคุยกับ โค้ก เพื่อขอการสนับสนุน

“แอ๊ด ถือกีตาร์โปร่งเข้าไปเล่นให้ฟังเลย” บี๋ เล่าถึงตอนที่นำงานไปเสนอ และปรากฏว่า โค้ก ตอบตกลง ส่วนหนึ่งก็จากนโยบายที่จะบุกตลาดอย่างจริงจังโดยอาศัยดนตรีเป็นสื่อ ประจวบเหมาะกับได้ภาพในฐานะส่งเสริมความเป็นไทยควบคู่ไปด้วย คาราบาว จึงกลายเป็นวงดนตรีวงแรกที่มีสปอนเซอร์เป็นสินค้าสนับสนุน โดยครั้งนั้น โค้ก ให้ค่าสนับสนุนมา 2 ล้านบาท

เพื่อส่งเสริมการขาย คาราบาว ได้จัดตารางทัวร์ทั่วประเทศ พ่วงเอา พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ไปด้วยในฐานะศิลปินรับเชิญ การทัวร์ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกของศิลปินเพลงไทยรุ่นใหม่ที่จัดการทีวร์ของตัวเองอย่างเป็นระบบ และ คาราบาว ก็เป็นวงดนตรีวงแรกที่เปิดคอนเสิร์ทในดิสโก้เธค นั่นคือการเล่นที่ เดอะ พาเลซ ถนนวิภาวดีรังสิต

ตุ๋ย ชมรมฯ