วันเสาร์ที่ผ่านมา ได้อ่านบทสัมภาษณ์น่าสนใจ หัวข้อ “ถังแดง” บทเรียนจากความตาย จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” โดย วจนา วรรลยางกูร ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

จึงอยากขออนุญาตสรุปความและนำเนื้อหาบางส่วนของบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาเผยแพร่ซ้ำอีกหน

เผื่อใครยังไม่ได้อ่านกัน

ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเย็น ทศวรรษ 2510 เหตุการณ์ “ถังแดง” ได้ถือกำเนิดขึ้น ท่ามกลางการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง-ตรัง-นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่รัฐได้คิดค้นโมเดลการปราบปรามแนวร่วม พคท.ขึ้นมา

หนึ่ง รู้จักกันในนาม “ถีบลงเขา” หมายถึง การถีบเหยื่อลงมาจากเฮลิคอปเตอร์

อีกหนึ่ง คือ “เผาลงถังแดง” หมายถึง การนำร่างคนยัดใส่ถังน้ำมันพร้อมเชื้อเพลิง จากนั้นจึงเผาเหยื่อทั้งที่เสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งวิธีนี้จะทิ้งร่องรอยไว้น้อยมาก

ล่าสุด สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพิ่งตีพิมพ์หนังสือชื่อ “ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย” ดัดแปลงจากวิทยานิพนธ์ของ จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม อดีตนักศึกษาปริญญาโทภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จุฬารัตน์ เลือกศึกษาความทรงจำกรณี “ถังแดง” ใน ชุมชนลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ที่ชาวบ้านในชุมชนบันทึกหลักฐานเอาไว้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามด้วยวิธีดังกล่าวกว่า 200 คน

ตรงกันข้ามกับการไม่มีที่ทางใน “ประวัติศาสตร์ฉบับทางการ” เหตุการณ์ลักษณะนี้กลับกลายเป็น “บทเรียน” สำหรับคนในชุมชน ซึ่งมีการถ่ายทอด “ความทรงจำบาดแผล” จากรุ่นสู่รุ่น

จุฬารัตน์ชี้ว่า ชาวบ้านได้หยิบยกกรณี “ถังแดง” มาเป็นข้อคิดเตือนใจว่า รัฐไม่ได้น่าไว้ใจเสมอไป เพราะฉะนั้นประชาชนต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐเพียงอย่างเดียว

ทว่า วิธีจัดการความทรงจำของชาวบ้านในชุมชนก็มีความซับซ้อนอยู่มิใช่น้อย

ประการแรก แทนที่จะสร้างอนุสาวรีย์เป็น “รูปเคารพ” เพื่อรำลึกถึงความทรงจำบาดแผล ชาวบ้านกลับนำ “อุปกรณ์สังหาร” มาเป็นอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ในชุมชน

ด้านหนึ่ง นี่คล้ายจะเป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงสิ่งที่รัฐเคยทำไว้ แต่อีกด้าน ชาวบ้านก็พยายามอธิบายกับเจ้าหน้าที่ว่านี่ไม่ใช่อาวุธทิ่มแทงรัฐ แต่เป็นสถานที่ให้เกียรติกับผู้เสียชีวิตมากกว่า

ประการต่อมา สำหรับผู้เป็นเครือญาติของแนวร่วม พคท.ในพื้นที่ พวกเขาอาจมองเห็นความสำคัญของอนุสาวรีย์นี้ แต่สำหรับคนอีกส่วนหนึ่งที่มีญาติเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถูกสังหารโดยกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ คนกลุ่มหลังนี้กลับไม่ค่อยเห็นด้วยกับการมีอยู่ของอนุสรณ์สถาน และเริ่มกลายเป็น “เสียงส่วนน้อย” ของชุมชน

สิ่งที่จุฬารัตน์ให้ความสนใจ คือ ภาวะที่ความทรงจำหลายแบบ ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้

ประการสุดท้าย อย่างไรก็ดี ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติในช่วงหลายปีหลังหรือการต่อสู้ระหว่างสีเสื้อ ได้ทำลายสายสัมพันธ์ในชุมชนไปไม่น้อย เห็นได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมงานรำลึกถังแดงประจำปี ซึ่งเริ่มถดถอยลง

ยังมี “สาร” สำคัญอีกสองข้อ ที่น่าคิดต่อจากบทสัมภาษณ์

หนึ่ง จุฬารัตน์ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่า เหตุการณ์ “ถังแดง” นั้นเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงสั้น ๆ ระหว่างปี 2514 ถึงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ก่อนที่รัฐจะเปลี่ยนไปใช้วิธีการปราบปรามชนิดอื่น ๆ เมื่อมีผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มมากขึ้น

เพราะ “การเผาจะไม่มีประสิทธิภาพในการปราบปรามคนจำนวนมาก”

สอง ขณะที่คนในชุมชนมีการเรียนรู้และมีการจัดการความทรงจำบาดแผลอย่างสลับซับซ้อน จุฬารัตน์ กลับคิดว่าภาครัฐไม่ค่อยพยายามเรียนรู้กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพราะถ้าเรียนรู้ ก็คงไม่มีเหตุการณ์อื่น ๆ ทำนองเดียวกันปะทุขึ้นตามมาอีกเป็นระลอก ๆ

เหมือนกับที่ จุฬารัตน์ ตั้งข้อสังเกตง่าย ๆ คม ๆ เอาไว้ว่า “รัฐก็คือรัฐ” นั่นเอง

ปราปต์ บุนปาน
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
มติชนรายวัน, 25 กรกฎาคม 2559