เมื่อวานนี้ผมไปซื้อรองเท้าหนังคู่ใหม่ เพราะว่าของเดิมที่ใช้อยู่มันสึกจนกินขึ้นมาถึงพื้นรองเท้าแล้ว ทั้ง ๆ ที่เพิ่งใช้มาได้ราว 8-9 เดือนเท่านั้น คงเป็นเพราะว่าแต่ละวันผมเดินต้องเดินไปโน่นมานี่ทั้งวัน โดยส่วนตัวผมชอบใส่รองเท้าผ้าใบมากว่ารองเท้าหนัง ทุกครั้งที่เดินผมจะรู้สึกสบายและคล่องตัวมากกว่าถ้าใส่รองเท้าผ้าใบ แต่ด้วยบทบาทและสถานภาพในชีวิตการงาน ความต้องการส่วนตัวของผมต้องเก็บตัวอยู่ในฐานที่มั่นของมัน

“รองเท้า” ก็เป็นเหมือนเกราะชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันเราจากอันตรายภายนอก จากอดีตจนถึงปัจจุบันอันตรายมีวิวัฒนาการจากที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมเช่นอันตรายจากธรรมชาติ มาเป็นอันตรายที่เป็นนามธรรมเช่นกรอบค่านิยมในสังคม เราจึงต้องเปลื่ยนเกราะใหม่อยู่เสมอเพื่อรองรับอันตรายรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น

ในระยะหลังมีคนบางกลุ่มเริ่มมีความรู้สึกว่า เกราะเหล่านี้ทำให้เขารู้สึกเทอะทะไม่เป็นอิสระ มากกว่าที่จะรู้สึกปลอดภัย คนเหล่านี้รู้สึกว่าชีวิตภายใต้เกราะกำบังนั้นเปรียบเหมือนคนขี้โรคที่อ่อนแอ อีกทั้งวิถีชีวิตก็แห้งแล้งไร้สีสัน พวกเขาจะพยายามดิ้นรนหาทางถอดเกราะต่าง ๆ ที่พันธนาการตัวเขาออก เพื่อเปิดโอกาสให้ชีวิตได้สัมผัสโลกภายนอกด้วยตัวเอง บางคนเริ่มปฎิเสธการเดินทางบนถนนคอนกรีตที่ราบรื่นสะดวกสบายเพราะรู้สึกว่ามันจืดชืด แล้วหันไปสัญจรบนทางเกวียนแทน แม้ว่ามันจะขรุขระและยากลำบาก แต่ก็ให้รสชาติของทางเดินทางที่จัดจ้านสะใจมากกว่า หรือบางคนที่หันหลังให้กับวิถีชีวิตสำเร็จรูปประเภท “เปิดซอง – เติมน้ำ – รอ 3 นาที” แล้วหันไปเข้าครัวเพื่อค้นหาสูตรเฉพาะของชีวิตตนเอง

โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกดีใจที่ได้เห็นการขยายตัวของคนกลุ่มนี้ เพราะนั่นหมายความว่าพวกเขาเริ่มตั้งคำถามต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งดีกว่าการก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามโดยไม่สนใจที่มาที่ไปแน่นอน แต่แล้วความยินดีของผมก็เริ่มกลายเป็นความกังวลใจ หลายครั้งหลายหนที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับคนเหล่านี้ ผมพบว่าคำตอบของหลาย ๆ คนคือ ต้องการแค่ชีวิตที่มีสีสันลวดลายมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น ดังนั้นสิ่งต่าง ๆ กระทำจึงมุ่งหวังเพียงเพื่อเติมเต็มส่วนที่ตนเองคิดว่ายังขาดพร่องอยู่ โดยไม่ได้สนใจที่จะหันไปเผื่อแผ่แก่ผู้ที่มีน้อยกว่า พวกเขาต้องการเพียงเก็บเกื่ยวส่วนที่งดงามของโลกเพื่อใช้เป็นที่ทางให้ด้านที่รื่นรมย์ของตนเองได้วิ่งเล่น โดยไม่สนใจที่จะแผ่วถางส่วนที่ยังรกร้างอยู่

เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ “รูปแบบ” สำคัญกว่า “เนื้อหา” ยุคสมัยที่ “ความสวยงาม (ของภาชนะ)” สำคัญกว่า “รสชาติ (ของอาหาร)” และนี่คือวิวัฒนาการล่าสุดของมันกระทั่ง “วิญญาณขบถ” ก็กลายเป็น “แฟชั่น”

ม้าก้านกล้วย
จุลสารปลาเป็น ปลาตาย ฉบับที่ 4 / ตุลาคม 2544 (ค่ายอุบล)
ชื่อบทความเดิม คือ ‘ปลาที่ตายทั้งเป็น’ มีการเปลี่ยนชื่อและเนื้อหาช่วงท้ายให้สมบูรณ์มากขึ้น