“โหมโรง” เป็นผลงานลำดับที่สองของ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ซึ่งทิ้งช่วงจากงานชิ้นแรกคือ “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” นานถึง 10 ปีเต็ม ผมยังจำบทส่งท้ายของบทความชิ้นนั้นได้ดีว่า นี่คือหนังที่สามารถผสมสาระและมุขตลกได้อย่างกลมกล่อมที่สุดเรื่องหนึ่ง น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ล้มเหลวในเรื่องรายได้อย่างสิ้นเชิง นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังเรื่องนี้ยังคงเป็นลูกบ้าเทื่ยวล่าสุดของ อิทธิสุนทร จนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามผมก็ยังคงรอคอยที่จะได้ชมลูกบ้าเทื่ยวต่อไปของเขาอยู่ตลอดมา
เรื่องราวโดยย่อของ โหมโรง เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของ ท่านหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ผู้ได้รับการยกย่องจากคนรุ่นหลังในฐานะของ “มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์” ตั้งแต่ยังเป็น นายศร ศิลปบรรเลง (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) หนุ่มน้อยจากลุ่มน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม ศร เริ่มฉายแววดาวรุ่งให้เห็นในการประชันฝีมือกับวงดนตรีในละแวกบ้าน (ดูท่าย่านนี้จะเป็นชุมทางศิลปิน เพราะตัวผมเองก็ได้มีโอกาสรู้จักกับกระทาชายนายหนึ่งซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในแถบแม่กลองเช่นกัน เพียงแต่เครื่องดนตรีที่เขาถนัดคือ เป่าสาก หาใช่ ระนาดเอก ไม่ – ฮา) จนกระทั่งมีโอกาสสร้างชื่อให้ขจรขจายในระดับประเทศ เมื่อได้รับชัยชนะในการประชันฝีมือกับ “ขุนอิน” (อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นยอดมือระนาดแห่งยุค
หากเลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเพียงเท่านี้ เพียงเพื่อคารวะต่ออัจฉรียภาพทางดนตรีของนักดนตรีท่านหนึ่งของประเทศ โหมโรงก็คงไม่ต่างจากหนัง Hollywood เกี่ยวกับชีวิตจริงของนักดนตรีหลายๆ เรื่องที่มีการสร้างออกมาก่อนหน้านี้ เช่น Amadeus (หนังเกื่ยวกับชีวิตของ Wolfgang Amadeus Mozart ที่คว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมออสการ์ไปครอง) หรือ Shine (เรื่องราวของนักเปียโนอัจฉริยะชื่อ David Holfgott ที่ส่งให้ Geoffrey Rush (เจฟฟรีย์ รัช) คว้ารางวัลดารานำชายของออสการ์) ซึ่งก็ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่า “ขายได้” และตัวหนังก็ทำสำเร็จโดยสมบูรณ์ในส่วนนี้
หนังเรื่องนี้ทำให้คนดูหลายๆ คนรวมทั้งตัวผมเอง “ทึ่ง” และ “ชื่นชม” ในเสน่ห์ของเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “ระนาดเอก”(หากตัดเงื่อนไขของการต่อสู้สู่การเป็นมือระนาดเอกออกไป โหมโรงก็จัดอยู่ในกลุ่มของหนังสูตรสำเร็จจำพวกเดียวกับ Knight’s Tale หรือ Billy Elliot กล่าวคือเป็นเรื่องราวของการต่อสู้และฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อไปให้ถึงปลายสุดของเส้นทางที่ตัวเองเลือก)
แต่ อิทธิสุนทร (ในฐานะของผู้เขียนบทของหนังเรื่องนี้ร่วมกับ ดลกมล ศรัทธาทิพย์, พีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริ) กล้าที่ “แตกต่าง” โดยนำเสนอเรื่องราวตัดสลับไปมาระหว่าง ศร ในวัยหนุ่มกับวัยชรา (อดุลย์ ดุลยรัตน์) ซึ่งสะท้อนให้เห็นห้วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์และร่วงโรยของชีวิตชายผู้นี้และวงการดนตรีไทย วัยชราของ “ท่านครูศร” ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งฝ่ายไทยเริ่มเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ในหนังจะเห็นฉากที่ ประสิทธิ์ บุตรชายของท่านครู (สุเมธ องอาจ) ซึ่งเพิ่งเรียนจบจากประเทศญี่ปุ่น ได้รับการติดต่อให้เป็นล่ามให้กับทางราชการ ขณะนั้นประเทศไทยอยู่ภายใต้ “กรอบ” ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากแต่โดยเนื้อแท้นั้น ดำเนินไปใน “รูปแบบ” ของระบบเผด็จการโดยมี “ท่านผู้นำ” จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้ารัฐบาล เจ้าของสโลแกน “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”
ท่านผู้นำพยายามจะเปลี่ยนประเทศให้เป็น “อารยะ” ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เหมือนกับทางตะวันตกโดยการเปิดรับ “วัฒนธรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่” จากชาติตะวันตกเข้ามา เช่น ชาวบ้านต้องสวมหมวกเมื่อออกนอกบ้าน, การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบตะวันตก นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับมีการออกกฎหมายมา “ควบคุม”วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมดั่งเดิมของไทยที่ดูเหมือนจะขัดขวางวิถีทางไปสู่ความเป็นอารยะนั้น เช่น การห้ามกินหมากเพื่อแก้ไขปัญหาถนนสกปรกเนื่องจากชาวบ้านบ้วนน้ำหมากเรื่อราด การปฏิรูปดั่งกล่าวรุกรามมาถึงวงการดนตรีไทยด้วย โดยมี พันโทวีระ (พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง) เป็นผู้กำกับดูแลนโยบายการ “จัดระเบียบ” วงการดนตรีไทย อันเป็นผลให้วัฒนธรรมไทยตกอยู่ในฐานะที่ไม่ต่างจาก “พลเมืองชั้นสอง” หรือ “คนต่างด้าว” ในบ้านตนเอง!!!
ในหนังมีฉากที่พันโทวีระและลูกน้องไป “สังสรรค์-ดื่มบรั่นดี-ฟังเพลงแจ็ส” ในร้านอาหารหลังเลิกงาน ต่อมาได้ยินเสียงดนตรีไทย เมื่อตามเข้าไปดู จึงพบว่าชาวบ้านในละแวกนั้น (ซึ่งก็คือพวกลูกศิษย์ของท่านครูนั่นเอง) กำลัง “ตั้งวง-กินเหล้าโรง-เล่นดนตรีไทย” จึงสั่งให้เลิกเล่นเสีย มิฉะนั้นจะถูกจับขังคุก (ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกำหนดไว้ว่าคนที่จะเล่นดนตรีไทยต้องมีใบอนุญาต และการบรรเลงต้องแสดงบนเวทีเท่านั้น แม้กระทั่งการบรรเลงเพื่อความบันเทิงในเคหะสถานของตนเองก็ไม่สามารถทำได้ – นับเป็นการลงโทษโดยมูลเหตุอันสุนทรีโดยแท้)
เหตุการณ์ตอนนี้สะท้อนความพยายามอย่างชัดเจนของภาครัฐ ในการเข้าไปปรับเปลี่ยน “รายละเอียดปลีกย่อย” ของชีวิตชาวบ้านให้เป็นไปในแบบแผนที่ตนเองเห็นว่าดีงาม จริงๆแล้ว ทั้ง “สังสรรค์- ดื่มบรั่นดี-ฟังเพลงแจ็ส” กับ “ตั้งวง-กินเหล้าโรง-เล่นดนตรีไทย” ต่างก็ทัดเทียมกันในฐานะ “บริบทในด้านที่รื่นเริงของชีวิต”
ในช่วงท้ายของเรื่อง พันโทวีระ พาพวกไปตรวจค้นบ้านของท่านครูและได้มีโอกาสสนทนากัน ทำให้เรารู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ พันโทวีระ ทำลงไปนั้น ก็ด้วยจิตใจที่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง อยากเห็นประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง มีที่ทางที่มั่นคง และสง่างามในสังคมโลกระดับเดียวกับนานาประเทศ และเขาเชื่อมั่นโดยไม่เคยมีข้อโต้แย้งว่า การเดินตามแนวทางของ “ท่านผู้นำ” จะเป็นหนทางไปสู่จุดหมายนั้น แม้ว่าท่านครูศรจะทัดทานไว้ว่า “ท่ามกลางกระแสลมอันเชี่ยวกรากรอบ ๆ ตัว ต้นใหญ่จะยืนต้นอยู่ได้ก็ด้วยรากฐานที่เข้มแข็งเท่านั้น หากเราถอนรากถอนโคนรากเหง้าของตนเองจนหมดสิ้นแล้ว เราจะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปเช่นไร” อย่างไรก็ตามหลังจากที่ พันโทวีระ ได้มีโอกาสฟังเพลงที่บรรเลงโดยท่านครู ดูเหมือนว่าความรู้สึกบ้างอย่างที่แปลกออกไปกำลังก่อตัวขึ้นกับ พันโทวีระ
หลังจากดูหนังจบ ผมรู้สึกว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ โหมโรง คือการใช้เหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อสะท้อนให้เห็นสภาวการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย เนื่องด้วยความพ้องจองขององค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง อย่างเช่น ผู้นำรัฐบาลที่มีความเด็ดขาดและเชื่อมั่นในตัวเองสูง จนนำไปสู่สไตล์การบริหารประเทศแบบวันแมนโชว์อย่างท่านจอมพล ป.นั้น ไม่ต้องคิดให้ลึกซึ้งก็คงทราบกันอยู่แล้วว่าเหมือนใคร (ถูกต้องแล้วคร็าบบ! ท่านผู้นั่นแหละครับ) แนวความคิดของการเปิดประเทศรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา และดิ้นรนทุกทางเพื่อจะมีพร้อมทุกอย่างที่นานาประเทศเขามีและเป็น เพราะเชื่อว่าเป็นคำตอบสุดท้าย สำหรับวิถีทางในการอยู่รอดของประเทศ ใช่หรือไม่ว่า ยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน หนำซ้ำยังหยั่งรากลงลึกจนไม่อาจทัดทานไว้ได้
ที่สุดแล้วหนังก็ไม่ได้บอกให้เราปฏิเสธ “ผู้มาใหม่” หากแต่เพียงว่าการ “อยู่ร่วมกันโดยสันติ” กับ “เจ้าของพื้นที่เดิม”น่าจะดีกว่าการ “เข้ามาแทนที่” อย่างที่เป็นอยู่
ในหนังมีฉากที่สะท้อนให้เห็นแนวความคิดดังกล่าวในฉากที่ รถบรรทุกขนเปียโนที่ประสิทธิ์สั่งซื้อจากญี่ปุ่นมาส่งที่บ้าน ตอนแรกที่ได้เห็น ศร มีท่าทีไม่ค่อยชอบใจนัก ประมาณว่าตนเองในได้รับการยกย่องในแวดวงดนตรีไทยเดิม แต่ลูกชายกลับไปฝักใฝ่ในเครื่องดนตรีตะวันตก ศร บอกให้ ประสิทธิ์ ลองเล่นให้ฟัง เมื่อ ศร ได้ฟังเสียงที่เปล่งออกมา ศร จึงเริ่มยอมรับในความไพเราะของมัน กระทั่งลงมือตีระนาดเพื่อร่วมบรรเลงไปด้วยกัน
ฉากดังกล่าวเพียงฉากเดียว สามารถสื่อความหมายได้ในหลายระดับ ตั้งแต่การคลี่คลายของความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อกับลูก หากตีความขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ก็อาจหมายความถึง การปรับตัวเข้าหากันของคนสองรุ่นในยุคสมัยของการเปลี่ยนถ่าย โดยที่ ศร เป็นตัวแทนของคนไทยในยุคเก่าที่เติบโตมาภายใต้วิถีชีวิตแบบตะวันออกแท้ๆ ขณะที่ ประสิทธิ์ เป็นตัวแทนของคนสมัยใหม่ที่เติบโตมากับการเปิดประเทศรับวัฒนธรรมตะวันตก (ในตอนแรก ๆ เสียงของระนาดและเปียฟังดูไม่เข้าจังหวะกันซักเท่าไหร่ แต่เมื่อบรรเลงไปซักพักก็กลมกลืนและผสานเป็นท่วงทำนองเดียวกัน) ที่สำคัญที่สุดคือการแสดงให้เห็นว่า ดนตรีทั้งสองสัญชาติ (ใช้สื่อแทนวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก) ต่างก็มีความไพเราะงดงามในตัวของมันเอง และทรงคุณค่าสูงสุดในแนวทางของตัวเอง (ก่อนหน้านั้นไม่นาน มีฉากโชว์การตีระนาดสองรางไปพร้อม ๆ กันโดยคน ๆ เดียว ซึ่งดูแล้วไม่ต่างจากการดูโซ่โล่เครื่องดนตรีสากลอย่างกีตาร์หรือกลองที่เราเห็นจากการแสดงดนตรีสดในปัจจุบัน อันเป็นการสร้างความรู้สึกทึ่งให้กับคนที่ไม่ค่อยรู้จักดนตรีไทยดีนักอย่างผมได้ไม่น้อย ต่อมาก็มีฉากให้ประสิทธิ์เล่นเปียโนให้พ่อฟัง) หากทั้งสองสิ่งได้มีโอกาสบรรเลงร่วมกัน ย่อมบังเกิดท้วงทำนองที่งดงามสำหรับผู้ฟัง
ชะตากรรมของลูกศิษย์ของท่านครูคนหนึ่งที่ต้องหมดหนทางทำมาหากินจากนโยบายดังกล่าว จึงต้องหันเหชีวิตมาเป็นกรรมกรแบกข้าวสาร ซึ่งหนังได้ให้ข้อมูลไว้แล้วว่าคนตีระนาดเขาห้ามทำงานหนักโดยเฉพาะการยกของหนัก (ตอนที่ ศร ช่วยแบกของไปส่ง แม่โชติ ซึ่งต่อมาก็คือภรรยาของเขานั่นเอง ที่บ้านพอ แม่โชติ รู้ว่า ศร เป็นคนตีระนาด ก็รีบของสัมภาระเหล่านั้นคืน เพราะเกรงว่าข้อมือจะบาดเจ็บ) สุดท้ายก็ประสพอุบัติเหตุจนข้อมือหัก จนที่สุดแล้วขนาดจะยกจานข้าวก็ยังทำไม่ได้ หนำซ้ำยังเป็นคนเดียวกับที่เราได้เห็นฝีมือตีระนาดสองรางนั่นอีก เมื่อชีวิตถึงจุดอับจนทั้งเรื่องของดนตรีที่ตนรักและหนทางในการยังชีพ เรียกว่าขาดทั้งความสุขเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจและอาหารเพื่อเลี้ยงชีวิต บทสรุปที่เขาเลือกนับเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ
นี่คือส่วนที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผมมากที่สุดในหนังเรื่องนี้ เพราะมันคือการทำร้ายกันเองของเพื่อนร่วมชาติ เพียงเพราะการยึดมั่นถือมั่นในแนวทางที่ตนเองเชื่อว่าดีที่สุดเหมาะสมที่สุด จนปิดกั้นโอกาสในการรับรู้และเรียนรู้สิ่งที่แต่ต่างออกไป
เนื้อหาที่เข้มข้นจะเปล่งประกายได้เต็มที่ ก็ด้วยการแสดงที่เข้มแข็ง ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับนักแสดงรุ่นใหญ่หลายท่านที่ฝากการแสดงที่ยอดเยื่ยมไว้ในหนังเรื่องนี้ อย่างเช่น อดุลย์ ดุลย์รัตน์ (ในบทท่านครูศร) และ สมภพ เบญจาธิกุล (ในบทเจ้านายในวังที่รับศรเข้าไปอุ้มชู) ส่วนตัวเห็นว่านี่คือ อีกแง่มุมของการแสดงให้เห็นว่า ถึงจะเก่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง “คร่ำครึ” เสมอไป ที่เป็นประเภทรุ่น “ลายคราม” ก็มีอยู่ไม่น้อย ” ทั้งสองท่านนี้ ปัจจุบันมักจะรับบทประเภทพ่อหรือปูของพระเอกในละครโทรทัศน์ กล่าวคือไม่ได้ใช้ความสามารถที่มีอย่างเต็มที่ เพียงเพราะข้อจำกัดของวัยที่มากขึ้น
จาก “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” มาถึง “โหมโรง” เวลาสิบปีที่ผ่านไป เปลี่ยน อิทธิสุนทร จากนักมวยประเภทดาวรุ่ง Footwork ดี เน้นปล่อยหมัดแย็บเก็บคะแนนไปเรื่อย ๆ มาเป็นนักชกเจนสนามชนิดที่รู้จังหวะเร่งจังหวะผ่อน ไม่ออกหมัดพล้ำเพลื่อ ปล่อยหมัดออกมาแต่ละครั้งเข้าเป้าชัดเจน ที่สำคัญคือ เข้าจุดตายทั้งนั้นครับ
ม้าก้านกล้วย
ติดตามและสนใจมากค่ะ และหนูจะช่วยอนุรักษ์ดนตรีไทยตอไปนะค่ะ
เรี่องนี้ช่วยปลูกจิตสำนึกของคนไทยเป็นอย่างมาก คือ ให้รักในดนตรีไทยและห่วงแหนไม่ให้ใครมากทำลาย
I haven’t seen this movie yet. But anyways I don’t want to see it coz it doesn’t sound interesting to me.
ชอบหนังเรื่องนี้มากครับ ผมยังซื้อ DVD เก็บไว้ดูเองเลย ตอนที่หนังเข้าโรงใหม่ ๆ ตอนนั้นผมดูไตเติ้ลแล้วคิดว่าคงไม่ดี ดูไปอาจจะน่าเบื่อ แต่พอออกแผ่น CD มาแล้ว ตอนนั้นรู้สึกว่าที่วิทยาลัยของผมได้เปิดหนังให้ชม ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร พอลองเข้าไปชมก็รู้ว่าเป็นเรื่องโหมโรง เนื้อหาของเรื่องดีมากครับสนุก และไม่น่าเบื่ออย่างที่ผมคิดเอาไว้เลยครับ