ในบ่ายวันหนึ่ง หลังจากคร่ำเคร่งกับการทำงานมาตั้งแต่เช้า ผมตัดสินใจเปลี่ยนอิริยาบถโดยการเดินไปชงกาแฟในห้องครัวของบริษัท ระหว่างนั้นผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าเราจำลองชีวิตของเราเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่มีสมการทางคณิตศาสตร์เท่ากับ AxB
A แทนค่าด้วยห้วงเวลาตั้งแต่แรกเกิดจนสิ้นลม ส่วนเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตเท่ากับ B เมื่อมองจากจุดที่ผมยืนอยู่ ณ ตึกสูงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯลงไปข้างล่าง
ผมมองเห็นรูปสี่เหลี่ยมมากมายเคลื่อนที่ไปมา สี่เหลี่ยมแต่ละอันแตกต่างกันทั้งส่วนกว้างและส่วนยาว ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า สี่เหลี่ยมอันไหนสมบูรณ์และสวยงามที่สุด ในระหว่างคิดหาคำตอบนั้น ผมเกิดนึกไปถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ชื่อ “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด”
หนังเรื่องนี้เป็นหนังปี 2536 กำกับการแสดงโดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ (นี่เป็นงานเรื่องแรกของเขาและทำให้เขาได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิงในปีนั้นไปครอง และตัวหนังเองก็แซงหนังเต็งของปีคือ ‘สาละวิน’ ของท่านมุ้ยคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง) หนังเป็นเรื่องราวของพนักงานฝ่ายออกแบบของบริษัทผลิตอาหารกระป๋องแห่งหนึ่งที่ชื่อ นพ (สัญญา คุณากร) นพก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เราพบเห็นอยู่ทุกวัน เขาไม่ได้วาดหวังอะไรไว้ใหญ่โตกับชีวิต คิดเพียงทำงานเก็บเงินสร้างเนื้อสร้างตัว หวังที่จะได้มีครอบครัวที่อบอุ่นในปั่นปลายของชีวิต เมื่อพบเจอพฤติกรรมการทุจริตของเจ้านายตนเองก็หลีกเลี่ยงที่จะขัดเขืนหรือเผชิญหน้า ได้แต่ทำตัวตามน้ำไป ไม่ใช่ว่าเห็นพ้องหรือยอมรับในสิ่งที่เป็นไป หากแต่เขาไม่กล้าที่จะลุกขึ้นต่อสู้เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกระเทือนความมั่นคงในหน้าที่การงานของตน นพแอบรักอรินทร์ซึ่งเป็นเลขาฯในแผนกเดียวกันแต่ก็ไม่กล้าเอยปากพูดคุยกับเธอ
ในบ่ายวันหนึ่งนพเป็นลมหมดสติไป เขาได้พบกับ ยมบาล ซึ่งมารับตัวเขาเนื่องจากอายุขัยของเขาหมดลงแล้ว นพได้แต่ร้องไห้คร่ำครวญและขอร้องยมบาลให้ยึดอายุขัยของเขาออกไปอีก เนื่องจากเขายังหนุ่มแน่นอยู่และยังมีอีกหลายอย่างที่เขาอยากทำแต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ เขาทำงานเก็บเงินมาตั้งหลายปีแต่ยังไม่มีโอกาสได้ใช้เงินเหล่านั้น กับคนที่เขาหลงรักเขาก็ยังไม่มีโอกาสได้เปิดเผยความรู้สึกของเขาที่มีต่อเธอ แต่แล้วก็เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ยมบาลมารับวิญญาณของเขาเร็วเกินไป จริง ๆ แล้ว นพ จะต้องตายในวันรุ่งขึ้นตอนบ่าย 2 โมง!!
เมื่อ นพ ได้ทราบว่าเขามีเวลาเหลือในโลกนี้อีกเพียง 24 ชั่วโมง ตอนแรกเขาอยู่ในสภาพหมดอาลัยตายอยากในชีวิต สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจว่าเขาจะขอใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ลองทำสิ่งที่ยังไม่เคยทำมาก่อน เริ่มตั้งแต่ให้ โย (อรุณ ภาวิไล) เพื่อนสนิทที่ทำงานด้วยกันพาไปสัมผัสแสงสียามค่ำคืนของกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้เขาได้พบ นุ่น (อังคณา ทิมดี) เธอเป็นนักร้องในบาร์ที่ นพ และ โย ไปเที่ยว นพ ได้รู้ว่า นุ่น ถูกบังคับให้ไปนอนกับเจ้าของบาร์ ด้วยเหตุที่ นพปลงตกแล้วว่าชีวิตของเขาไม่มีอะไรให้กังวลอีกแล้ว อีกไม่นานเขาก็ต้องตาย เขาไม่จำเป็นต้องทนยอมรับสิ่งเลวร้ายที่ได้พบเห็นอีกต่อไป นพ จึงยื่นมือเข้าไปช่วยนุ่นจากเจ้าของบาร์ แล้วเรื่องราวก็เลยเถิดไปจน นพ พลั้งมือฆ่ามือปืนของเจ้าของบาร์ตาย นพ จึงโดนตามล่าจากทั้งตำรวจและมาเฟีย แต่ไม่ว่า นพ จะต้องพบกับสถานการณ์เลวร้ายเพียงใด เขาก็ต้องเอาตัวรอดไปให้ได้ เพราะว่ายังมีสิ่งหนึ่งที่เขาต้องทำก่อนตาย นั่นคือการไปพบ อรินทร์ (ชไมพร สิทธิวรนันท์) แล้วเปิดเผยความรู้สึกของเขาที่มีต่อเธอให้เธอรู้
ที่สุดแล้วสิ่งที่หนังต้องการจะบอกกับคนดูก็คือ “ชีวิตของคนเรานั้นจะสั้นหรือยาวไม่สำคัญ แต่อยู่ที่ว่าในแต่ละนาทีที่ผ่านไปของชีวิตนั้นคุ้มค่าเพียงไร” หนังได้นำเสนอรูปแบบต่างๆ ของ “การใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า” ผ่านตัว นพ และ โยสำหรับ โย ความคุ้มค่าของชีวิต คือ การหาความสุขใส่ตัวให้มากที่สุด ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก มีหญิงให้จีบ มีเงินไปเที่ยว ก็พอแล้ว ส่วน นพ ความคุ้มค่าของชีวิต คือ การได้เห็นและมีส่วนร่วมในการทำให้สังคมที่ตนเองสังกัดสงบสุข ไม่มีใครเอาเปรียบใคร
ด้วยประเด็นของหนังที่ค่อนข้างหนัก ผู้กำกับจึงเลือกที่จะนำเสนอในลีลาขบขันแกมเสียดสีประชดประชันในสไตล์ของตลกแบบพวกซูโม่ฯ ที่เขาถนัด (อิทธิสุนทร เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มซูโม่สำอา งแห่งรายการเพชฌฆาตความเครียดเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว) มุขตลกต่าง ๆ ปล่อยออกมาเป็นระยะๆ ตามจังหวะที่เนื้อเรื่องเอื้อให้ทำได้ ในขณะที่สาระของเรื่องก็มีการเน้นย้ำกับคนดูอยู่ตลอดทั้งเรื่องผ่านสัญลักษณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่อง เช่น เครื่องกดน้ำดื่มของบริษัทที่ นพ ทำงานอยู่เสีย แต่ก็ไม่มีใครสนใจจะเรียกช่างมาซ่อม ได้แต่ทนใช้มันไปเรื่อย ๆ (เหมือนกับที่ทุกคนรู้ถึงสิ่งที่ผู้จัดการทำแตก็ไม่มีใครกล้าออกมาเปิดโปง) สุดท้าย นพ เป็นคนซื้อเครื่องกดน้ำเครื่องใหม่มาให้บริษัท (เหมือนกับที่เขาเป็นคนแรกที่ลุกขึ้นมาแฉพฤติกรรมของผู้จัดการกลางห้องประชุม) หรือ ทุกครั้งที่ นพ สละที่นั่งให้เด็กหรือคนแก่บนรถเมล์ จะมีชายคนหนึ่งมาแย่งที่นั่งนั้นไปเสมอ นพ ไม่พอใจแต่เขาก็ไม่กล้าลงมือทำอะไรลงไป แต่ในตอนท้าย นพ เข้าไปต่อว่าชายคนนั้นและจัดการให้เด็กได้นั่งที่นั่ง
สำหรับผมนี่คือหนังที่สามารถผสมสาระและมุขตลกได้อย่างกลมกล่อมที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับทีมเขียนบทคือตัวผู้กำกับเอง ดวงกมล ศรัทธาทิพย์ และ สรพงษ์ เอื้อชูชัย (พวกเขาคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นไปด้วย) น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ล้มเหลวในเรื่องรายได้อย่างสิ้นเชิง นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังเรื่องนี้ยังคงเป็นลูกบ้าเทื่ยวล่าสุดของอิทธิสุนทรจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามผมก็ยังคงรอคอยที่จะได้ชมลูกบ้าเทื่ยวต่อไปของเขาอยู่ตลอดมา
ม้าก้านกล้วย