สำหรับฉบับนี้การที่ผมเลือกที่จะเขียนเรื่องหนัง ก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรนอกจากความรู้สึก “โดน” เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบลง ผมเองได้ทราบข่าวการนำประวัติของ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” และ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” มาสร้างเป็นภาพยนตร์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ยิ่งได้ทราบว่า อาจารย์เสกสรรค์ ลงมือเขียนบทหนังเรื่องนี้เอง ทำให้ผมรอคอยอย่างใจจดใจจ่อว่าเมื่อไหร่จะเข้าโรงซักที เพราะความที่ผมเองเป็นแฟนหนังสือที่ติดตามงานเขียนของท่านมานาน และพอจะทราบท่วงทำนองของชีวิตของท่านทั้งสองในช่วงนั้นอยู่บ้าง
หนังที่ผมจะหยิบยกมาพูดถึงคือ “14 ตุลา สงครามประชาชน”
หนังเรื่องนี้นำเสนอชีวิตของท่านทั้งสองในช่วงเวลา 8 ปี ตั้งแต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนตัดสินใจเข้าป่ารบกับทางการ และสุดท้ายเข้ามามอบตัวกับทางการ ระหว่างนั้นทั้งสองต้องประสพชะตากรรมต่างๆ ที่โลดโผนไม่น้อยไปกว่าที่สังคมไทยในขณะนั้นต้องประสพเลย ดังที่บอกไว้ในคำโปรยของหนังที่ว่า “ในชะตากรรมของประเทศ มีชะตากรรมของบุคคล”
สภาพสังคมไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีสภาพเหมือนโซดาที่ถูกเขย่าอัดแน่นอยู่ในขวด เมื่อเปิดฝาออกก็ระเบิดออกมาอย่างไร้ทิศทาง กล่าวคือเมื่อกลุ่มอำนาจเก่าโดนเชิญออกนอกประเทศ กลุ่มผู้ใช้แรงงานและชาวนาที่โดนกดขี่มานาน ก็ลุกขึ้นเกิดขึ้นทั่วประเทศ เพื่อชุมนุมเรียกร้องสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยความสนับสนุนของขบวนการนักศึกษา จึงทำให้มีผู้นำกรรมกรและผู้นำนักศึกษาถูกลอบฆ่าเกือบทุกวัน เสกสรรค์ เองก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกหมายหัว ประกอบกับการที่เขาเห็นว่าการต่อสู้โดยสันติวิธีอย่างที่ใช้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม แม้จะได้รับชัยชนะ แต่ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทยก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจเข้าป่าจับปืนเพื่อรบกับทางการ ในฐานะนักรบของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะเห็นว่าคงจะมีแต่แนวทางนี้เท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศไทยได้ โดยมีแฟนสาวของเขาคือ จิระนันท์ ร่วมเดินทางไปด้วย
แต่แล้วเมื่อได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งพรรค เขาพบว่าในหมู่สหายร่วมพรรคที่ได้ชื่อว่า ยึดมั่นในแนวความคิดเรื่องความเสมอภาคระหว่างบุคคลนั้น ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่เหล่าสหายกินฟักทองต่างข้าวมาเป็นเดือน ๆ “สหายผู้นำ” บางคนกำลังเอร็ดอร่อยการกินเนื้อหมูแกล้มเหล้า หรือการที่สหายผู้นำบางคนฝักใฝ่กับการที่จะเป็นมือเป็นเท้าให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนในการยึดครองประเทศไทย มากกว่าที่จะทุ่มเทกายใจเพื่อสร้างชาติไทยให้มีความเท่าเทียมกัน
สำหรับคนที่เสียค่าสมัครเป็นการละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งครอบครัว สถานภาพต่าง ๆ ในสังคม เพื่อขอโอกาสในการเข้าเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนนำพาเพื่อนร่วมชาติไปถึง “ดินแดนที่พระเจ้าสัญญาไว้” เมื่อพบเจออุปสรรคเช่นนี้ มีแต่ต้องลุกขึ้นต่อสู้
“ทุกแว่นแคว้นถิ่นฐานล้วนมีคนอยู่ประเภทหนึ่ง ซึ่งนับดูแล้วจำนวนไม่เคยมาก พวกเขาทุ่มเททุกอย่างเพื่อกอบกู้สังคมที่ตนเองสังกัด โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากหรือแม้แต่ภัยอันตราย คนเหล่านั้นไม่ใช่ศาสดา พวกเขาต้องมาใช้ชีวิตไถ่บาปในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ ต้องลำบากตรากตรำ และสละสิ่งต่างๆที่ควรเป็นของเขาเพื่อให้คนอื่นได้พ้นเคราะห์กรรม และได้รับคุณค่าแห่งชีวิตในราคาที่ถูกลง”– การผ่านพ้นของยุคสมัย
เสกสรรค์ ถูกเพ่งเล็งจากเหล่า สหายผู้นำ ภายในพรรคว่าทำตัวแปลกแยกจากแนววิถีทางของพรรค เรียกได้ว่าชีวิตในตอนนั้นโดดเดี่ยวเป็นอย่างยิ่ง เพราะถูกปฏิเสธทั้งจากพวกในเมืองและพวกในป่า โชคดีที่เขายังมี จิระนันท์ที่เข้าใจและเห็นด้วยกับอุดมการณ์ที่เขายึดถือ เธอเป็นเหมือนฐานที่มั่นสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่
คนเราเมื่อได้ “เลือก” ทางของตัวเอง ยิ่งเป็นเส้นทางที่แปลกแยกจากคนส่วนใหญ่ ย่อมพบกับเส้นทางที่รกร้างกว่าปรกติ ยิ่งบุกบั่นฝ่าฟันไปข้างหน้า เนื้อตัวย่อมบังเกิดริ้วรอยบาดแผล แต่ที่สาหัสกว่านั้นคือริ้วรอยบาดแผลในจิตใจ เนื่องจากความโดดเดี่ยวอ้างว้าง, เหนื่อยล้าและท้อแท้ ริ้วรอยภายนอกใช้ยารักษาได้ แต่บาดแผลภายใน เยียวยาได้ด้วยการปลอบประโลม และกำลังใจจากคนที่เข้าใจเท่านั้น กระนั้นก็ตามในความเป็นจริงของชีวิตจะมีซักกี่คนที่ได้รับพรจากฟ้า ให้ได้พบกับเธอคนนั้น
“รักแท้คือวิญญาณเดียวที่สถิตอยู่ในสองร่าง เมื่อพบ ทั้งสองฝ่ายคงจะรู้ มันคงเป็นการเคลื่อนเข้าหากันมากกว่าการติดตามไขว่คว้า หากรักแท้คือวิญญาณเดียวที่สถิตอยู่ในสองร่าง รักแท้ย่อมไม่มีการพลัดพราก เพราะวิญญาณที่ค้นพบส่วนที่หายไปของตนย่อมมิอาจกรีดเฉือนส่วนนั้นออกไปอีก จากนี้ไป มิว่าเรือนร่างนั้นจะอยู่ห่างกันเพียงใด ในใจย่อมมีส่วนที่เหลือผนึกแน่น สำหรับเขา ความรักควรเป็นเช่นนี้ หาไม่แล้ว บางทีอาจต้องเรียกมันด้วยถ้อยคำอื่น” – คนกับเสือ
ในท้ายที่สุด หลังจากเปิดศึกสองด้านกับทางการและพรรคอยู่ 5 ปี เมื่อความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิต เสกสรรค์ เลือกที่รักษาฐานที่มั่นสุดท้ายเข้าไว้ ทั้งสองจึงตัดสินใจเดินทางออกมามอบตัวกับทางการ เสกสรรค์ ตกอยู่ในสภาพผู้พ่ายแพ้จากสงครามศักดิ์สิทธิ์ ถึงขนาดเรียกตัวเองว่าเป็น “ของใช้แล้วทิ้งทางประวัติศาสตร์” แม้จะยังรักษา “ชีวิต” ไว้ได้ แต่ความหมายของคำนั้นขาดพร่องไปหลายส่วน
เมื่อดูหนังจบ ผมเห็นว่าชื่อที่ลงตัวที่สุดสำหรับหนังเรื่องนี้คือ “คนล่าจันทร์” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของหนังที่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งผู้กำกับและคนเขียนบท (ในหนังมีอยู่ตอนหนึ่งเป็นการเดินทางในป่า เสกสรรค์ ตื่นนอนขึ้นมากลางดึก แล้วมองเห็นพระจันทร์ที่กำลังจะลับทิวไม้ เกิดเข้าใจผิดว่าเป็นทหารมาจู่โจมจึงเอาปืนไล่ยิงพระจันทร์ เปรียบเหมือนคนที่ไล่ล่าหาโลกแห่งความฝันที่ไม่มีวันได้พบ เพราะคงไม่มีใครยิงพระจันทร์ตกลงมาได้)
แต่แล้วเมื่อทางฝ่ายการตลาดของบริษัทเห็นว่าหนังได้โปรแกรมฉายในช่วงเดือนตุลาคม ประกอบกับในปีนี้มีการเปิดอนุสรณ์สถานวีรชนประชาธิปไตย จึงเกิดอาการขอติดสอยห้อยตามไปด้วยโดยการเปลี่ยนชื่อหนังเป็น “14 ตุลา สงครามประชาชน” ทำเอาใครหลาย ๆ คนเดินออกจากโรงด้วยความผิดหวัง เพราะคิดว่าจะได้ชมหนังที่ตีแผ่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในขณะที่ใครหลายคน ทั้งชีวิตไม่สามารถเลือกเส้นทางของตนเอง มีอีกหลายคนที่เดินไปบนเส้นทางที่เลือกแล้ว พบว่าปลายทางที่พบไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้ ผมเองไม่แน่ใจว่าบาดแผลแบบไหนสาหัสกว่ากัน ถ้าให้เลือก… ผมคงเลือกที่จะเป็นอย่างหลัง ถ้าทำได้ผมภาวนาให้ทุกคนที่ “เลือก” ได้พบ “ทางที่ใช่”
ม้าก้านกล้วย