
เมื่อฝนโบกมืออำลาฟากฟ้า ลมหนาวเริ่มแผ่วโชยเข้ามาให้เรารู้สึกได้ หมู่เมฆลอยกระจุกเหมือนดอกเห็ด ยามบ่ายตะวันจะอ้อมฟ้าไกล ยายบอกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” เพราะไม่กล้าข้ามตรง ๆ จึงต้องอ้อมไปไกล น้ำที่ขังอยู่ในนาเริ่มงวดแห้งขอด เป็นความสุขของนกกินปลาอย่างยิ่ง
ช่วงนี้เรื่องสนุกก็แวะเวียนมาหาอีกแล้ว ตาให้เราเก็บรวบรวมขี้วัวขี้ควายมาเทกองรวมกันไว้ที่ลานหน้าบ้าน เมื่อได้ดินเหนียวมาพอเหมาะแล้ว เด็ก ๆ ก็จะมีหน้าที่ “ย่ำโคลน” โดยเอาดินเหนียวผสมกับขี้วัวขี้ควาย เติมน้ำให้เป็นโคลนด้วย จะได้จับตัวกันดี พอผสมกันเข้าที่ก็เริ่มขนไปละเลงบนลาน เสมือนฉาบปูนกระไรเช่นนั้น ฉาบให้เสมอกันทั่วลาน รอจนแห้งแข็งได้ที่จึงเริ่มขนข้าวมากองรวมกัน ขั้นตอนนี้จะเรียกว่า “รวมลาน”
ตรงกลางลาน เราจะปักเสาไม้รวกขนาดเท่าแขนไว้หนึ่งหลัก สูงเท่าช่วงคอของวัวหรือควาย และหากระบอกไม้ไผ่มาครอบให้หมุนได้ จากนั้นประกอบคานด้านหนึ่ง ให้ยาวรัศมีเกือบคลุมทั่วลาน ตรงนี้เป็น “ขาวงเวียน”
พอเย็นย่ำหลังจากได้น้ำได้ท่ากันทั้งวัวควายและคนแล้ว ผู้ใหญ่ก็จะเริ่มเอามัดข้าวมาวางเรียงกันไปให้เป็นวงกลม โดยยึดหลักเสาวงเวียนเป็นศูนย์กลาง จากนั้นนำวัวควายที่เตรียมไว้มาเข้าหลัก เหล่าทะโมนก็เริ่มงานกันตรงนี้แหละ เราต่างจับจองเป็นจ๊อกกี้วัวและควายกันตัวใครตัวมัน เมื่อเด็ก ๆ ขึ้นขี่เจ้าเพื่อนยากผู้มีเขาก็เริ่มเดินไป เดินกันเป็นวงกลมตามบังคับของวงเวียนนั่นแหละ
พอได้สักครู่ เหล่าผู้ใหญ่ที่อยู่นอกวงก็เริ่มใช้ “ไม้ขอ” ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ป่า เล็กแต่เหนียว ตัดมาทั้งลำ ลิดกิ่งก้านออกเกือบหมด เหลือไว้เพียงกิ่งเดียว ตัดแต่งให้ดี ลักษณะก็คือ สระอา (-า) นั่นเอง ยกฟางทางด้านล่างขึ้นมา เพื่อให้การนวดข้าวหลุดจากรวงให้ได้มากที่สุด
ช่วงนี้ คนที่ยังว่างก็จะเริ่มกอดไหกันบ้างแล้ว กองไฟที่ก่อไว้นั้น ทั้งปลา มัน เผือก ต่างเอามาเผากินกัน ส่วนผมไม่ชอบเลย เพราะ “กินเผือกก็ติดฟัน จะกินมันก็ติดเหงือก” จึงต้องเล่นปลาเผาจิ้มแจ่วอย่าวเดียว บางครั้งที่ผู้ใหญ่เผลอ เราก็แอบตักน้ำหวานในไหมาลองกันบ้าง แหม ช่างหวานชุ่มคอดีแท้ ชักติดใจแฮะเรา
เมื่อนวดจนข้าวหลุดจากกอหมดแล้ว ก็เริ่มสางฟางออก โดยใช้ไม้ขอเกี่ยวออกไป ซึ่งตาจะเอาเสาไม้ไผ่มาปักไว้ เราก็หอบฟางไปกองรวมกันไว้ จากล่างขึ้นบนไปเรื่อยจนเป็นกองใหญ่ โดยมีเสากลางเป็นตัวช่วยยึด เราเรียกกันว่า “ลอมฟาง” นั่นเอง
ข้าวที่แยกฟางออกไปแล้ว ก็จะนำไปกองรวมกันเพื่อรอ ฝัด อีกต่อไปที่ข้างลาน ชุดนวดชุดใหม่ก็จะวนเวียนกันอยู่เช่นนี้ จนข้าวแยกจากฟางจนหมด ซึ่งพอถึงตอนนั้นก็จะได้ข้าวกองเบ้อเริ่ม แต่เราไม่สนใจหรอก ลอมฟางที่อยู่ข้าง ๆ ต่างหากคือสิ่งดึงดูดใจ
ลมหนาวแม้ว่าจะทารุณเพียงใด แต่เมื่อเราได้เข้าไปมุดใน “บ้านฟาง” ของเราแล้ว ยิ่งรวมไปถึงมีสาโทรสหวานที่แอบตักมาแบ่งกันชิม เจ้าประคุณเอ๊ย!!! สุขใดไหนจะเท่า เราอยู่ในบ้านจินตนาการที่อาศัยอยู่จริง เอาไม้มาทำโครง เอาฟางสุม ๆ ไว้ด้านบนและมุมทุกด้าน เหลือเปิดทางเข้าไว้หน่อยพอ ตอนนั้นคำว่า “คันคะเยอ” ไม่มีในพจนานุกรมฉบับพวกเราเลยจริง ๆ
เมื่อผมยังเล็กอยู่นั้น ชาวนาบ้านผมจะเก็บฟางกองไว้เต็มไปหมด เป็นอาหารวัวควายเมื่อหน้าแล้วบ้าง เป็นบ้านของเด็ก ๆ ในยามหนาวบ้าง เป็นอุปกรณ์การครัวเวลาอบไก่บ้าง แม้กระทั่งเอาไปคลุมแปลงผักเพื่อเก็บความชื้นไว้นาน ๆ แต่ปัจจุบัน ผมผ่านทุ่งนาในอดีตของผมแล้วเศร้าใจ กิจกรรมที่เอ่ยมาทั้งหมดนั้น ไม่มีอีกแล้ว ไม่มีลอมฟางให้ได้ระลึกถึงวัยเยาว์อีกแล้ว
เมื่อรถเกี่ยวข้าวเข้าไปในหมู่บ้านในตอนนี้ มันจะเดินหน้าไปเรื่อย ทิ้งเพียงเศษฟางทิ้งไว้ด้านหลัง คนเพียงรอข้าวเปลือกเต็มกระสอบก็ยกมามัดเท่านั้นเอง ควายแถวบ้านผม ได้พักผ่อนอยู่บนเขียงไปเกือบหมดแล้ว…อนิจจา
ทิดโส โม้ระเบิด
อ่านแล้วคิดถึงเลื่อนควายที่ทำด้วยไม้ไผ่มากเลยพี่ทิด เดี๋ยวนี้พยายามมองหาเวลามีโอกาสไปตามต่างจังหวัดแต่ไม่เคยเห็นเลย อยากได้ภาพมาเก็บไว้จัง เพราะตอนเรียนชั้นประถม เคยเอาต้นโสน (ส-ะ-ห-น-โ) แห้งมาทำเลื่อนควายจำลองส่งครูเป็นงานประดิษฐ์ แต่เดี๋ยวนี้หาภาพเลื่อนควายซักภาพยังไม่มีเลย ถ้าพี่ทิดได้เจอช่วยถ่ายภาพมาฝากบ้างนะครับ
พี่เก๋ครับ….
จริงแล้วก่อนนั้นผมก็เกิดทันนะ
แต่ไม่มีโอกาสบันทึกเป็นภาพถ่ายไว้
จะมีเพียงภาพในความทรงจำอันแหว่งหวิ่นเท่านั้น
เสียดายเนอะ
ส่วนประกอบ (ตามความทรงจำนะ)
ประกอบไปด้วยไม้ไผ่ลำยาว 2 ลำ
ด้านปลายผูกติดกัน ด้านโคนปล่อยให้ถ่าง
และด้านที่ถ่างนั้นจะมีที่นั่งทำด้วยไม้ไผ่คล้าย ๆ แคร่
ด้านปลายที่ผูกติดกันจะมีที่วางพาดคอควาย
เมื่อจัดความเข้าที่ประจำตำแหน่งลาก
จัดข้าวของรวมถึงคนบังคับไว้บนแคร่
ควายก็จะชักลากไป ตามที่เราบังคับ
ไม่มีล้อครับ
อาศัยความลื่นของลำไผ่ ส่วนมากจะลากในหน้านา
มีน้ำขัง ทำให้ไม่กินแรงควายมากนัก
แค่พูดถึงก็สนุกแล้วเนอะ
นี่ขนาดเรายังเป็นวัยรุ่นกันอยู่นะเนี่ย
แล้วคนแก่ ๆ ที่พูดถึงเรื่องนี้ จะขนาดไหน 5555
ใช่ไหม น้าคลำ 555555
ไปละ อิอิอิ

เฒ่าปรอบปุ้นโผล่หม่องหั่นหม่องหนี่ งึดคือกันเด้ออ้ายทิดโส

ทิดโส
เคยสบตากับควายไหมคะ
…
ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นใครตาหวาน
และใสซื่อ จริงใจ เท่าควายเลยจริง ๆ นะ
เรียนทูไนท์…

ใช่ครับ หาใครที่ตาหวานใสซื่อได้เท่าควาย…ไม่มีอีกแล้ว
แต่………
บางสิ่งที่เราคิดว่าไม่มี…อาจยังมีอยู่ก็ได้
ทิดโสคิดว่า เพื่อน ๆ อาจมองว่าทิดโสตาหวานใสซื่อด้วยเช่นกัน
เพราะเห็นเพื่อน ๆ เรียกทิดโสว่า
…..ไอ้ควาย……
5555555555555555555555555555555555
ไปละ อิอิอิ