เมื่อลมหนาวมาเยือน คนบ้านน้อกบ้านนอก…ของผมก็เริ่มเสาะหาลำไม้ไผ่อายุ 1 ปี เนื่องจากกำลังเหมาะที่จะมาทำเป็นตอกมัดข้าว ตัดมากองไว้และเริ่มจักตอก เนื่องด้วยรวงข้าวเริ่มสุกเป็นสีทองทั่วท้องทุ่งแล้ว ใกล้ได้เวลาเก็บเกี่ยวเข้ายุ้งฉางเสียที ตอกที่จักก็วัดความยาวประมาณจากอกถึงปลายมือ เฉลี่ยว่ายาวประมาณ 1 เมตร เอาไว้มัดข้าวที่เกี่ยวกองไว้รอแล้ว
การมัดข้าวจะเริ่มตั้งแต่ตีนฟ้ายังไม่เปิดดีนัก ลมหนาวที่โชยมากระทบกายจนทำให้ความง่วงมลายหายไป รวมถึงได้กรึ๊บยาดองพอให้ท้องร้อนฉ่า และทำงานด้วยความกระฉับกระเฉงไล่ความหนาว คนมัดก็มัดกองไว้ คนหาบไปรวมลานก็หาบไป จนแดดสายขับไล่ความหนาวจนสิ้นแล้วก็ได้เวลากินข้าวงาย (อาหารเช้า)
ก่อกองไฟรอไว้ ปูปลาก็หาตกคลั่กในนานั่นแหละ ปลาเข็ง (ปลาหมอ), ปลาค่อ (ปลาช่อน), ปลาดุก, ปลาขาว และสารพัดปลา ที่แอบหลบอยู่ตามกอข้าว ได้มาแล้วเอาใส่ตับไม้ไผ่ ปิ้งไฟโชยกลิ่นหอมกรุ่น ยาดองก่อนอาหารสักกรึ๊บ บิปลาจ้ำ (จิ้ม) แจ่วปลาแดก หักยอดสะเดามาเผาไฟเป็นผักแกล้ม ได้เหล้าได้ข้าวเข้าท้อง ความเหนื่อยล้าก็มลายไป เตรียมตัวลงไปทำงานกันต่อ
เด็ก ๆ นอนคลุมโปงจนแดดสายตะวันส่องตูดโน่นแหละ จึงจะได้เวลาปฏิบัติภารกิจ ส่วยหน้า (ล้างหน้า) เสร็จแล้วก็คว้าเสียม, ข้อง, สวิง, กระป๋อง เดินตามไปนา กินข้าวงายเสร็จก็ลงไปจับปูปลาที่ตกคลั่ก ตรงไหนน้ำยังเหลือเยอะก็ยังไม่ต้องทำอะไร รอไว้มาวิดพร้อมพ่อแม่อีกครั้ง เพราะแค่เก็บตามบวก (แอ่ง)ก็เล่นเอาหลังแอ่นแล้ว ได้ปลามาก็เอามาเทให้ผู้ใหญ่ที่ว่างรอจัดการกันไป ปลาขาวก็แยกไว้ทำปลาส้ม ปลาเล็กปลาน้อยก็เอาไว้ทำปลาจ่อม ปลาค่อ ปลาเข็ง ปลาดุกที่ยังไม่ตายก็ขังโอ่งแยกไว้ ปลารวมอื่น ๆ ก็หมักไว้ทำปลาร้า ส่วนปูก็ใส่ข้องไว้ แยกไปดองน้ำปลาและเผื่อไว้ลาบในมื้อเย็น หอยโข่งก็ใส่กระป๋องแช่น้ำไว้ ตำพริกสดใส่สักเม็ดเพื่อให้คายดินคายขี้เสียหน่อย ค่ำนี้แหละ จะก้อยหอยกินให้เพลินพุงไปเลย
ในช่วงนี้ดินยังนุ่ม การขุดกบก็เป็นเรื่องไม่เหลือบ่ากว่าแรงนัก ลงเสียมไม่กี่สิบครั้งก็จะถึงก้นหลุมแล้ว ซึ่งระยะตรงนี้จะต้องมีประสบการณ์พอสมควร เนื่องจากก่อนถึงตัวกบ จะต้องผ่านด่านปูซึ่งคอยชูก้ามไว้รอก่อนแล้ว จับปูออกมาจึงจะได้สัมผัสเจ้ากบตัวเหลืองอวบ กว่าแดดบ่ายจะมาเยือน จำนวนกบในข้องก็มีเพียงพอสำหรับอาหารอีกหลายมื้อแล้ว
มัดข้าวที่กองรวมในลาน มองไกล ๆ ประดุจภูเขาสีทองลูกย่อม แสงแดดบ่ายในฤดูตะวันอ้อมข้าวยิ่งฉายชัดในสีทองอร่ามนั้น นี่เองหนอรวงทองแห่งพระแม่โพสพ เป็นชีวิตและวิญญาณของมวลมนุษย์ เป็นแสงฉายเรื่อเรืองแห่งความสุข สมหวังยิ่งนัก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจะมลายไป เรี่ยวแรงที่ลงไปในระยะเวลาหนึ่ง ก่อเกิดผลอันน่าปีติยิ่งนัก ข้าวอยู่ในผืนนาปลาก็ยังอยู่ในผืนนา ผู้คนก็วนเวียนมีชีวิตอยู่บนผืนนานั่นเอง
เรากลับบ้านกันก่อนแดดบ่ายจะลาลับ แต่ละคนพะรุงพะรังด้วยอาหารที่ช่วยกันหอบหิ้วมาจากนา สะเดาที่โพน (จอมปลวก) หัวนากำลังแทงดอก ต้นนี้หากใครได้กินต้องขอกลับบ้านทุกครั้ง เนื่องจากขมน้อยและมีรสมัน กินอร่อยกว่าสะเดาต้นไหน ๆ ยิ่งได้กินร่วมกับย่างปลาดุกอุยน้ำปลาหวาน ก็เล่นเอาข้าวหมดหม้อไม่รู้ตัวเชียวแหละ
มื้อเย็นแม่พาทำลาบปู เนื่องจากรบเร้ามาหลายวันแล้ว แต่แม่ก็ยังบ่ายเบี่ยงเนื่องจากเป็นอาหารที่ต้องใช้เวลาทำพอสมควร เนื่องจากกำลังยุ่งกับงานกับเกี่ยวข้าว จึงยังไม่ได้ทำเสียที ประเหมาะกับวันนี้ได้กลับบ้านไว และส่วนประกอบก็พร้อม แม่ก็เลยจะทำให้กิน
เริ่มจากนำปูมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำปูออกมาให้หมด เตรียมเครื่องลาบให้พร้อมประกอบไปด้วย ข้าวคั่ว พริกป่น หอมแดงซอย น้ำส้มมะขาม (ขูดเอาเนื้อมะขามมาตำรวมก็ได้) ผักชี สะระแหน่ ใบมะกรูด ข่าอ่อน น้ำปลาแดก ผงนัว
หลังจากก่อไฟในเตาได้ที่แล้วก็เอาน้ำปูมาเอาะ (เอาะ คือ การเคี่ยวด้วยไฟแรงพอประมาณจนน้ำงวดได้ที่) โรยหอมแดงซอย ใบมะกรูดซอย ข่าอ่อนซอย ข้าวคั่ว พริกป่น น้ำส้มมะขาม เหยาะน้ำปลาแดก ผงนัว ชิมรสตามชอบ เสร็จแล้วโรยหน้าด้วยผักชี สะระแหน่
ในส่วนก้อยหอยโข่งก็ใช้เครื่องเคราที่ใกล้เคียงกัน เริ่มจากลวกหอยพอฝาเปิด ใช้ไม้จิ้มออกมาใส่ถ้วยรอไว้ โรยหอมแดง ข้าวคั่ว พริกขี้หนูสวนซอย น้ำมะนาว น้ำปลาแดก ผงนัว ชิมรสตามชอบเสร็จแล้วโรยผักแพว (ผักไผ่) และพริกลูกโดด (พริกขี้หนูสวนสด) สำหรับคนชอบรสเผ็ดจี๊ดจ๊าด
อาหารค่ำในคืนนั้น ยังมีสะเดาน้ำปลาหวานย่างปลาดุกอุยนาตัวเขื่อง และต้มส้มปลาค่อไว้ซดคล่องคอชื่นใจดีนัก แม่จะทำอาหารที่ประกอบด้วยหอมแดงเยอะ ๆ ในหน้าหนาว เนื่องจากจะช่วยป้องกันไข้หัวลมสำหรับคนในบ้านได้ชะงัดนัก เนื่องจากหอมแดงช่วยแก้หวัดนั่นเอง นับเป็นภูมิปัญญาที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณแล้ว
เพื่อนบ้านทยอยกันมากินข้าวเย็นร่วมกัน ข้างก็หอบหิ้วอาหารจากบ้านมาเพิ่มเติม บ้างก็อุ้มไหเหล้าโทมาเสริมรสอาหาร เด็ก ๆ ก็แอบตักกินบ้างพอให้อุณหภูมิในท้องอบอุ่นขึ้น รสหวานของสาโท ความอร่อยของลาบปู ก้อยหอย รวมถึงอาหารประกอบสำรับอีกหลายอย่าง ทำเอาหลับคาวงกันไปเลย 5555
ทิดโส โม้ระเบิด
บรรยายเรื่องได้น่ารักมากเลยค่ะ สมัยเด็ก ๆ พี่เคยอยู่บ้านนอกสักพักหนึ่ง แต่ไม่ได้อยู่มาเกือบสามสิบปีแล้วค่ะ ตอนนี้ลูกชายอยากรู้จักกับชีวิตแบบที่น้องเล่ามามากเลยค่ะ น้องได้ 9 ขวบแล้ว อยากเรียนรู้มากเลยค่ะ แต่คุณแม่ไม่มีเวลาเลยค่ะ ว่าจะเอาไปให้เขาอ่านด้วยค่ะ เหมือนได้อ่านเรื่องลูกอีสานเลยค่ะ
ขอบคุณค่ะ