เสียงดนตรีสำเนียงแปลกหูดังขึ้น ณ ลานโตคิว ห้างมาบุญครอง ในงาน ActArt Festival เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวให้หันมาสนใจในทันที ประกอบกับการแสดงจินตลีลาบนเวทีก็มีความแตกต่างไปจากนาฏศิลป์ที่คุ้นเคยกันในภาคกลาง ดนตรีชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า “ตอ-ยอ-ฮอร์น” ที่คนไทยภาคกลางอาจไม่มีโอกาสได้ฟังบ่อยนัก แต่ที่แม่ฮ่องสอน เขามีการรวมตัวกันเล่นดนตรีแนวนี้อย่างจริงจัง

ตอ-ยอ-ฮอร์น คืออะไร

ด้วยชื่อที่เป็นภาษาแปลกประหลาด จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ดนตรีชนิดนี้ไม่ใช่ดนตรีไทยที่คนไทยคุ้นหู และไม่มีความใกล้เคียงแม้กับดนตรีไทยสากล ที่มีการผสมผสานเครื่องดนตรีสมัยใหม่ แต่เป็นดนตรีที่นำเข้ามาจากประเทศพม่าเต็มรูปแบบ

“ตอ-ยอ-ฮอร์น จริง ๆ แล้วมันเป็นดนตรีพื้นเมืองของพม่า คนที่อยู่ในพม่าก็เล่นกันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นไทใหญ่ มอญ หรือคนพม่าเอง โดยเครื่องดนตรีทั้งหมดเป็นของยุโรป แต่เนื้อเพลง ทำนองต่าง ๆ จะเป็นของพม่าทั้งหมด ด้วยความที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ จึงรับเอาดนตรีชนิดนี้มาเต็ม ๆ โดยมีการปรับบ้าง เช่น การนำเอาไวโอลินมาเล่น แต่เดิมจะไม่มีไฟฟ้า เป็นการเล่นแบบอะคูสติกอย่างเดียว แต่ก่อนจะมีหีบเพลงชัก แต่ต่อมาก็ปรับเป็นแอคคอเดียน เพราะหีบเพลงชักมันเล่นยาก เข้าเสียง ออกเสียง คนเล่นได้จริง ๆ ก็จะน้อยกว่า”

ตอ-ยอ-ฮอร์น (ตะยอฮอร์น หรือ ตอลอฮอร์น) จึงเป็นการเล่นดนตรีของชาวยุโรป โดยเฉพาะเจ้าอาณานิคมอย่างประเทศอังกฤษซึ่งเข้ามาทำไม้ในประเทศพม่า นำเอามาเล่นในยามว่าง และชาวพม่าพื้นเมืองก็หัดเล่นสืบต่อกันมา จากนั้นก็เผยแพร่เข้ามายังประเทศไทย โดยมีหลักฐานว่ามีการเล่นรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2523 ประกอบกับมีการคิดท่ารำที่เอามาจากไทใหญ่ด้วย

หลังจากนั้นมีหลักฐานว่ามีการเล่นตอ-ยอ-ฮอร์นใน “หอเจ้าฟ้า” หรือเป็นการเล่นให้เจ้าเมืองได้รับฟัง พัฒนามาสู่การเล่นให้เจ้านายชั้นสูงและผู้ว่าราชการจังหวัดตามลำดับ จึงเป็นดนตรีที่มักใช้ในการต้อนรับแขกผู้ใหญ่ หรือบรรเลงพื่อความผ่อนคลายให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เป็นดนตรีสำหรับต้อนรับ เปิดงาน หรือใช้ในงานมงคลต่าง ๆ ตามโอกาสสมควร

“ลักษณะจะเป็นดนตรีของเจ้านาย แต่มันก็มีการเล่นโดยทั่วไป คนทำไร่ไถนาก็เล่น เพียงแต่มันเล่นแบบฟังกันเอง หัดกันเอง เล่นกันเอง ในงานวัด งานมงคลหรืองานพิธีต่าง ๆ แต่จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการเรียนรู้อย่างเป็นกิจจะลักษณะคือพวกที่ไปเรียนบนหอเจ้าฟ้า เหลือคนสุดท้าย เขาจะตายแล้ว ชื่อ ครูทองคำ วงศ์โปตา พวกนี้ก็ตัดสินใจไปเรียน แล้วเขียนโน้ตมา (พ่อครูตายไปแล้วเมื่อปีที่แล้ว) แล้วมาซ้อมเกลาสำนวน โอ้ยอีกนานกว่าจะได้สำนวนแท้ ๆ คนที่จะได้สำนวนแท้ ๆ ก็ครูลับนี่ อันนั้นจะเรียนเป็นโน้ต ผิดกับพวกที่ฟังสำเนียงแล้วหัดเล่นกันเองตามพื้นบ้าน ก็จะมี 2 ลักษณะแบบนี้”

เครื่องดนตรีในวงตอ-ยอ-ฮอร์นประกอบด้วยแบนโจ แมนโดลิน กีต้าร์ กลอง ไวโอลิน ตอยอฮอร์น โดยสำเนียงเพลงจากวงตอ-ยอ-ฮอร์นจะมี 2 ลักษณะ คือเป็นดนตรีภาษาสำเนียงแบบไทใหญ่ และเป็นสำเนียงแบบพม่า เนื้อเพลงพม่าซึ่งทั้ง 2 แบบจะมีภาษและสำเนียงที่แตกต่างกัน

มองเห็นคุณค่า หาทางสืบทอด

ด้วยความที่มีการเรียนรู้จากผู้รู้ และได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ ให้เกิดความสนใจที่จะสืบทอดดนตรีประเภทนี้ เพราะนับวันคนที่รู้จักและเข้าใจที่มาที่ไปของดนตรีชนิดนี้จริง ๆ จะเหลือน้อยลงทุกที เนื่องจากสังคมเปลี่ยนแปลงไป ค่านิยมในดนตรีตะวันตกก็แผ่ขยายในหมู่เยาวชนในทุกพื้นที่ เด็กและเยาวชน บ้านจองคำ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน รวมตัวกันไปหาครูเพลงและขอให้มีการสอน และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีตอ-ยอ-ฮอร์นให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีแกนนำเป็นครู 3 คนที่ชักชวนเด็ก ๆ และติดต่อครูเพลงให้ช่วยสอน

“วิธีการก็ไม่มีอะไรเพราะพวกเราเล่นดนตรีไทย ดนตรีพื้นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ก็เหมือนมีพื้นฐานอยู่บ้าง และทุกคนก็เคยได้ยินได้ฟังดนตรีตอ-ยอ-ฮอร์นอยู่แล้วในโอกาสต่าง ๆ เพียงแต่ว่ามีคนที่เล่นได้จริง ๆ ไม่กี่คน มีครูทองคำ ครูสุนทร เราก็พาเด็กไปนั่งเรียนเลย จดเอาทีละวรรค ให้ครูเล่นให้ดูทีละวรรค นักเรียนก็จะจดกัน ซึ่งก็เป็นวิธีสืบทอดการต่อเพลงแบบโบราณที่ผมก็เรียนมาแบบนี้เหมือนกัน”

การรวบรวมบทเพลงจากครูได้ทั้งหมด 15 เพลง ในจำนวนนี้มีการเก็บเป็นโน้ต ซึ่งคณะทำงานได้พยายามแปลงเป็นโน้ตไทยแปดห้อง (โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด)  4 เพลง ส่วนที่เหลือใช้วิธีเก็บเก็บเป็นตัวโน้ต ซึ่งนักเรียนแต่ละคนที่ไปจดจากครูจะจดและทำตามความเข้าใจของแต่ละคน เนื่องจากดนตรีชนิดนี้มีลักษณะเฉพาะตัวของเสียงและการทำจังหวะ ซึ่งพบว่าเคยมีคนจากภาคกลางมาขอทำดนตรี แต่เมื่อเล่นแล้วก็พบว่าเสียงไม่เหมือนกับต้นฉบับ ทำให้คณะทำงานของโครงการฝึกเล่นทุกเพลง ตามความเข้าใจของแต่ละคนที่เรียนรู้จากครู

“ครูแอ๊ด ภาณุทัต นี่เอาไปลงใน เขียนเพลงฟ้อนไตแต่เสียงก็เพี้ยนไป แล้วก็มีโรงเรียนนาฏศิลป์เขามาขอจดไป เป็นระดับอาจารย์เขามาฟังดูโน้ต แต่คนที่บันทึกคือคนภาคกลาง ทีนี้พอไปเล่นสำเนียงเลยแปร่งไปหมด แต่ของเรา เราจะเรียนกับครูทองคำ ซึ่งแกแม่นทุกเพลง เราเรียนจนได้สำเนียงแกหมด แต่การทำโน้ตมันก็ยาก ใช้วิธีของใครของมันจะเข้าใจง่ายกว่า”

หลังจากได้เรียนรู้จากต้นฉบับคือคุณลุงทองคำ แกนนำนักดนตรีผู้ใหญ่ในโครงการจึงไปร่วมเล่นกับวงตอ-ยอ-ฮอร์นดั้งเดิม ได้แก่ คุณลุงภพ คุณลุงมานพ ลุงสุนทร และลุงหม่น เป็นรุ่นเก่าที่มีฝีมือระดับลายคราม ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการฝึกรุ่นใหม่ขึ้นมาต่อยอด คือกลุ่มหนุ่มสาวที่ร่วมโครงการ (รุ่นกลาง) และมีรุ่นเยาว์ที่เป็นระดับเยาวชน

“ตอนนี้เล่นร่วมกันได้หมด รุ่นใหญ่แบบรุ่นครูก็จะให้รุ่นกลางมาแจม มาฝึกเล่นแกะโน้ตไปด้วยกันเลย พวกรุ่นกลางจะมี 4-5 คน ที่เล่นได้ค่อนข้างดีแล้ว คือ จัมโบ้ (สาธารณสุขจังหวัด) มีตั้ม (แกนนำเยาวชนของโครงการ) ครูปฐม ทำงานอยู่เทศบาล มีผู้หญิงคนเดียว เป็นเลขานายกเทศมนตรี และอีกคนหนึ่งก็เป็นพนักงานของโรงพยาบาลศรีสังวาลย์พวกนี้แหละ ส่วนรุ่นเล็กก็จะเป็นนักเรียนโรงเรียนเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน”

เด็กที่เป็นรุ่นเล็ก ก็คือเยาวชนที่มาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งกำลังเรียนหนังสือในระดับชั้นมัธยมต้น บางคนเรียนและทำกิจกรรมในชมรมดนตรีไทย จึงมีความสนใจดนตรีตอ-ยอ- ฮอร์น

“อยู่ชมรมดนตรี แล้วมาเห็นอาจารย์สุวัตรเขาเล่นครับ ฟังแล้วมันเพราะครับ บวกกับชอบดนตรีด้วยครับ ก็เลยอยากจะไปฝึกบ้าง ตอนแรกก็ไปเป็นคนตีกรับเฉยๆ ครับ แล้วก็เริ่มฝึกจับเครื่องดนตรีอื่นๆ ตามมาครับ”

เด็ก ๆ ที่มาร่วมโครงการหลายคนบ้านอยู่ไกล แต่ด้วยความสนใจจริงจัง ก็ทำให้มาร่วมซ้อมทุกอาทิตย์ โดยจะมีการซ้อมตอนเย็น ๆ ไปจนถึงหัวค่ำวันอาทิตย์ บางคนอยู่ไกลถึง 10 กว่ากิโล เช่น โอ๋ และแบ๊งค์ ก็จะขี่มอเตอร์ไซค์มาซ้อมที่บ้าน อ.สุวัตร

อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับทุนจากโครงการสานศิลป์ ทำให้พวกเขามีโอกาสซ้อมร่วมกันบ่อยขึ้น และได้ไปแสดงตามงานต่าง ๆ มากขึ้น เป็นโอกาสของการเรียนรู้ ฝึกฝน และออกแสดงไปพร้อมกัน ทำให้เยาวชนเกิดความสนุกสนานและตื่นตัวที่จะมาซ้อมและหัดเล่นเพลงให้ได้แม่นขึ้น เพราะทุกครั้งจะได้เล่นร่วมกับผู้ใหญ่ และครูเพลงที่เล่นดนตรีเก่งอยู่แล้ว การซ้อมจึงสนุกสนานและไม่น่าเบื่อ บรรยากาศของการซ้อมเป็นไปอย่างเป็นกันเอง มีการทานอาหารร่วมกัน พูดคุยหยอกล้อกัน และร่วมเล่นดนตรีด้วยกัน ใครฟังแล้วเป็นอย่างไร คิดอย่างไรก็เสนอแนะและลองเล่นให้ฟังร่วมกันเพื่อให้ดนตรีที่เล่นออกมาไพเราะที่สุด

ปัญหาคือขาดการสนับสนุน ทั้งแหล่งทุนและความสนใจ

แม้ตอ-ยอ-ฮอร์น จะเป็นดนตรีที่มีความพิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ด้วยความที่เป็นดนตรีพื้นบ้าน และต้องใช้ความตั้งใจในการฝึกฝน เรียนรู้ ค่อนข้างมาก ทำให้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากวัยรุ่นเท่าที่ควร สื่อสมัยใหม่ที่ไหลสู่ชุมชนยังเป็นตัวดึงความสนใจของวัยรุ่นให้ออกห่างจากดนตรีพื้นบ้านชนิดนี้มากขึ้นอีกด้วย

การขาดคนสนใจ ส่งผลไปถึงการขาดคนสืบทอด จากการทำงานของโครงการเองก็พบว่า มีเด็กหลายคนที่สนใจมาเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงแรก ๆ แล้วสักพักก็หายไป ซึ่งคณะทำงานก็เข้าใจ และพยายามที่จะหาคนมาทดแทน

“เราอยากได้เด็กที่สมัครใจ มากกว่า ให้เต็มร้อยที่ว่าพร้อมจะทุ่มเทจริง ๆ แต่ว่าที่เข้ามาแล้วประมาณวันสองวันหายมีเยอะแยะ คือเด็กที่ชอบจริง ๆ หายาก จำนวนเราก็ระบุไม่ได้แต่เราก็อยากได้มากที่สุดเท่าที่จะมีให้เรา จะกี่คนก็มาเถอะ ถ้ามเท่าไหร่ก็สอนเท่านั้น แต่จริง ๆ มันไม่ค่อยมาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”

แม้จะเป็นปัญหาที่เตรียมใจรับแล้ว แต่ทีมงานก็ยังคาดหวังจะให้มีการสืบสานดนตรีชนิดนี้ไม่ให้สูญหายไปจากชุมชน มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ เมื่อเด็ก ๆ ต้องโตและไปเรียนที่อื่น จำนวนเยาวชนที่เล่นดนตรีชนิดนี้ได้ก็จะลดลงอีก

“ก็เด็กที่อยู่กับเราอย่างนี้ เขาต้องโต ต้องไปที่อื่น น้อง (หมายถึงตัวคนพูด) นี่ถ้าเรียนจบก็อาจจะไปรับราชการที่อื่น เด็ก ๆ ก็อาจจะไปเรียนต่อที่อื่น อย่างเช่นที่ผ่านมานี่อาจารย์ (ลุงทองคำ) ก็ต้องตีตั๋วไปไม่กลับแล้วหนึ่งท่านอย่างนี้ (หัวเราะ) คือมันก็ต้องมีจากกัน จะมีใครมาอยู่กับเราตลอด เพราะฉะนั้นเราต้องการให้มีการเรียนรู้มากที่สุด มากเท่าที่จะมากได้ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ความสนใจของคนอยากเรียน เพราะคนอยากสอนนี่พร้อมที่จะสอนตลอดเวลา ทำให้เรายังพยายามหาเด็กมาร่วมเรื่อย ๆ รุ่นเด็กรุ่นผู้ใหญ่ได้หมด มองเด็กที่มีแววว่าจะอยู่นาน ๆ จะได้มีคนทำต่อไปให้มันยั่งยืน”

ปัญหาของความสนใจจากผู้เรียนที่มีอยู่น้อย เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการขาดคนสืบทอด ปัญหาอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ การที่หน่วยราชการ หรือองค์กรต่าง ๆ ไม่ได้ให้ความสนใจกับดนตรีชนิดนี้เท่าที่ควร คือคิดถึงเมื่อตอนเรียกใช้เท่านั้น

“เหมือนกันหมด ภาครัฐ หน่วยงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมนี่แหละตัวดี ไม่เคยส่งเสริมสนับสนุนเลย แต่พอจะให้ไปเล่นที่ไหนมาขอนะ ให้ไปช่วยหน่อย แต่ไม่เคยส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือด้านอื่น ๆ เราก็ต้องทำไปตามกำลัง ไปเล่นทุกที่ งานไหนให้ไปก็ไป ส่วนมากจะเล่นให้ฟรี แต่ที่เจ้าภาพเขาให้เงินก็มี ถ้าเจ้าภาพงานไหน ที่เขาพอมีงบประมาณสนับสนุนมาก เขาก็จะถามว่าเท่าไร แต่ว่าผมขอไปช่วยนะงานนี้ วันที่เท่านี้ ๆ ผมขอไปช่วยได้ไหม ก็ได้ ไม่มีปัญหา คือแล้วแต่ทางเจ้าภาพเขามากกว่า ช่วยงานเขามากกว่า”

ดนตรีตอ-ยอ-ฮอร์น รำโหม่งส่วยยี โดย กลุ่มเยาวชนสืบสานดนตรีพื้นบ้าน จ.แม่ฮ่องสอน – ActArt Festival สานศิลป์ สร้างสรรค์ ความฝันยังเป็นของเธอ 15 พฤษภาคม 2554 – ณ ลานกิจกรรมหน้า มาบุญครอง (โตคิว)

อย่างไรก็ตามแม้จะมีอุปสรรคต่าง ๆ มากมายให้คอยแก้ แต่คณะทำงานก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะสืบสานงานศิลปะพื้นบ้านดนตรีตอ-ยอ-ฮอร์นนี้ต่อไป การได้ออกไปแสดงแม้จะเป็นการเล่นฟรี แต่ก็ถือว่าเป็นการเผยแพร่ และอาจจะโดนใจเยาวชนที่มีความสนใจดนตรีให้เข้ามาหัด มาฝึก มาเรียนรู้ก็เป็นได้ กำลังใจของทีมงานคือสิ่งที่สำคัญและเป็นพลังให้ทุกคนยังคงทำงานต่ออย่างต่อเนื่องและไม่หมดกำลังใจ แม้จะเหนื่อย แต่ก็ภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานศิลปะให้คงอยู่คู่สังคม

เสียงดนตรีตอ-ยอ-ฮอร์นบนเวที Act Art Festival จบลงแล้ว พร้อมกับเสียงปรบมือจากผู้ฟังด้านล่าง..แต่สิ่งที่ยังไม่จบและยังคงดำเนินต่อไป คือจังหวะหัวใจที่ตระหนักถึงคุณค่าของดนตรีพื้นบ้านตอ-ยอ-ฮอร์นจากกลุ่มเยาวชนที่รัก และหวงแหนวัฒนธรรมท้องถิ่นของพวกเขา

รายงานการถอดบทเรียนและประเมินผลโครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด 
โดย ผศ.ปรารถนา จันทรุพันธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ, กรกฎาคม 2554

*โครงการสานศิลป์รักถิ่นเกิด ดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 – สิงหาคม 2554 มูลนิธิกองไทย เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีเป้าหมายให้เยาวชน “รู้ และ รัก” ท้องถิ่นบ้านเกิด ด้วยการสืบค้นหาข้อดีของชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจและนำเสนอผ่านงานศิลปะวัฒนธรรม โดยสนับสนุนทุนให้กับ 58 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ – คลิกดูรายละเอียดโครงการ