“ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะเต็มไปด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี แต่ในทางกลับกันความเจริญทางด้านจิตใจของคนไทยกับถอยร่นลงทุกวัน ดังจะเห็นได้จากปัญหาสังคมมากมายที่ต้องเผชิญ

อีกด้านหนึ่ง แม้สังคมจะเต็มไปด้วยสิ่งที่ล่อลวงให้หลงใหล ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟื่อยเพื่อซื้อหาสิ่งของที่ทำให้ตนดูเหมือนว่าทันสมัย ไปจนถึงการหมกหมุ่นกับเพศสัมพันธ์และการรื่นเริงบันเทิงใจในรูปแบบต่าง ๆ นานา ก็ยังมีเยาวชน นิสิตนักศึกษา คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่สนใจปัญหาสังคม พยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจ และรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมตามความสนใจและกำลังความสามารถที่ตนมี

อย่างไรก็ตาม ด้วยวุฒิภาวะและประสบการณ์ที่ยังน้อย ประกอบกับสภาพเงื่อนไขแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยมากนัก แม้จะมี ใจ ที่จะทำประโยชน์ให้สังคม บ่อยครั้งที่พวกเขาขาดข้อมูลและความสามารถในการวิเคราะห์ การกำหนดทางเลือกกับวิธีการ และการสรุปบทเรียนเพื่อยกระดับการทำงานของตนให้เกิดผลมากขึ้นและดีขึ้น พวกเขาจะทำได้ดีขึ้น หากมีผู้ช่วยพัฒนาศักยภาพของพวกเขา ให้ข้อมูลพวกเขา และนำพาพวกเขาไปยังส่วนของสังคมที่ต้องการความช่วยเหลือที่เยาวชนเหล่านี้สามารถให้ได้

สิ่งหนึ่งที่เยาวชนนิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการศึกษาสูง และกำลังจะออกมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด ก็คือแรงกายและสติปัญญาของพวกเขานั่นเอง เยาวชนเป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่สามารถเป็น อาสาสมัคร ที่ทรงพลังมากที่สุด หากพวกเขาได้รับข้อมูล การชี้แนะ และการช่วยเสริมศักยภาพ มีองค์กรสาธารณประโยชน์มากมายในสังคมที่ต้องการการอุทิศตนสนับสนุนช่วยงานจากอาสาสมัครเหล่านี้”

นั้นคือข้อความ (บางส่วน) ในเอกสาร โครงการค่ายอาสาเพื่อเด็กด้อยโอกาส ที่ผมเขียนขึ้นเพื่อขอทุนทำกิจกรรมค่ายอาสา ที่ทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานในพื้นที่ที่มีประเด็นปัญหาทางสังคมต่าง ๆ

ด้วยความร่วมมือ ช่วยเหลือ จากพี่ ๆ เพื่อน ๆ ทั้งในองค์กรที่ผมทำงานอยู่ และองค์กรในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ “ค่ายอาสาในฝัน” เกิดขึ้นได้ ค่ายที่ไม่มีความเป็น “สถาบัน” กำกับ ค่ายที่ลงไปทำกิจกรรมในพื้นที่ที่ประสบปัญหาจริง มีประเด็นปัญหาให้เรียนรู้ ต้องการความช่วยเหลือจริง โดยทำงานร่วมกับ นักพัฒนา หรือ องค์กรชาวบ้าน ที่ทำงานในพื้นที่มานาน

บ่อยครั้งคนทำค่ายถูกตั้งคำถาม ถูกท้าทายมากมาย ในเรื่องของวัตถุประสงค์และปรัชญาการทำค่าย เช่น สิ่งที่เราทำให้เขา เขาต้องการจริง ๆ หรือ การออกค่ายคือการช่วยเหลือ หรือเพิ่มภาระให้ชุมชนกันแน่ ๆ ฯลฯ

เรา (กลุ่มรองเท้าแตะ) ขอตอบคำถามมากมายเหล่านี้ ด้วยค่าย 3 ค่าย

ค่ายอาสาเพื่อเด็กไร้สัญชาติ

14-19 ตุลาคม 2548
บ้านแม่ดึ๊ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

“สาละวิน มีทั้งสิ้นกี่หยดน้ำ มนุษย์ตาดำ ๆ มีทั้งสิ้นกี่ผู้คน
หยดน้ำแห่งสาละวิน รวมกันทั้งสิ้นเป็นหนึ่งสายชล
แต่มนุษย์ผู้น่าฉงน มีไม่กี่คนกลับไม่เคยรวมกัน”

แม่น้ำสาละวิน… จากท่าเรือบ้านแม่สามแลบ นั่งเรือทวนน้ำขึ้นไปยังเขตพม่า ใช้ประมาณ 3 ชั่วโมง ก็จะถึง “บ้านแม่ดึ๊” หรือแปลเป็นไทยว่า “บ้านน้ำขุ่น” ที่ตั้งชื่อตามลักษณะน้ำในลำห้วยกลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็น “หมู่บ้านตกสำรวจ หมู่บ้านนอกแผนที่ประเทศไทย” มีประชากร 90 คน จาก 20 ครัวเรือน มีคนพูดและฟังภาษาไทยออก (อย่างกระท่อนกระแท่น) เพียงคนเดียว คือ โซมุ ครูชาวกระเหรี่ยง เมื่อ 17 ปี ก่อน คนแถบนี้ตั้งรกรากทำมาหากินข้ามไปข้ามไม่มีหลักเขตแดน ไม่มีคนไทย ไม่มีคนกะเหรี่ยง ไม่มีคนพม่า หากสภาพวันนี้ คนแม่ดึ๊ไม่มีสิทธิ์ในผืนดินตนเอง หรือหากจะข้ามไปทำมาหากินฝั่งโน้นก็ไม่มีความปลอดภัย สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดก็คือ “สัญชาติไทย” พวกเราจึงอาสามาเก็บและบันทึกข้อมูลบุคคลเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานราชการต่อไป

โรงเรียนบ้านแม่ดึ๊ เดิมมีเพียงเพิงไม้ไผ่ ขนาด 2×3 เมตร อับชื้นขมุกขมัว โต๊ะ-เก้าอี้เป็นไม้ซีกตอกติดกันหยาบ ๆ เปื้อนฝุ่นโคลน ชาวบ้านร่วมแรงสร้างขึ้นรองรับเด็กนักเรียนจำนวน 20 คน ทุกวัน ครูและศิษย์จะตั้งใจอ่าน-เขียน ภาษาไทย ร้องเพลงชาติไทยเป็นเบื้องต้น ส่วนสื่อการเรียนการสอนเพียงชนิดเดียวที่มองเห็น คือ แบบอ่าน-เขียน ก.ไก่ ซึ่งมันจำเป็นต่อวิถีชีวิตของเขาแค่ไหนกัน? เราสร้างอาคารเรียนที่แข็งแรง กันแดดกันฝนให้ด้วยอีก 1 หลัง และนำสมุดดินสอมาให้เด็ก ๆ แม้จะรู้แก่ใจว่า นี่เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาของพวกเขาในระยะสั้น ๆ เท่านั้น

“บ้านแม่ดึ๊ ดินแดนนอกแผนที่ของคนไม่มีสัญชาติสงัดอยู่ในม่านฝนและป่าเขา ดินแดนที่ดูเสมือนว่าถูกทอดทิ้ง ตกสำรวจจากหน่วยงานราชการไทย ทำไมและอะไร ลึกลงไปในหัวใจคนที่ถูกตราหน้าว่า “ไร้สัญชาติ” ผลเนื่องมาจากความอ่อนไหวทางการเมือง แบ่งเส้นเขตแดน “เป็นเรา-เป็นเขา” สร้างความเป็นอื่นให้แก่คน คน ที่มีชีวิต ความคิด ความรู้สึกเหมือนอย่างพวกเราทุกคน

แม่น้ำสาละวิน นั่งเรือบรรทุกควาย ทวนน้ำไป 3 ชั่วโมง
เก็บข้อมูลประชากรในหมู่บ้าน
สมาชิกค่ายอาสาเพื่อเด็กไร้สัญชาติ

ค่ายร้อยหวัน…พันธุ์ป่า

22-29 เมษายน 2549
บ้านบางเหรียง อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง

“เกิดเป็นร้อยหวัน พันธุ์ป่า สอนวิชาไล่จับปลาในน้ำ
เขียนหินกินผักรักษ์บ้าน มีอาจารย์คือแมลงแตงกวา
กำเนิดเป็นร้อยหวันพันธุ์ป่า สอนวิชารักษาป่าเขา
ขับร้องเพลงเพราะกล่อมดาว สอนน้องสาวให้ร้อยมาลัย”

โครงการเล็ก ๆ ที่ชื่อ “ร้อยหวัน พันธุ์ป่า” ซึ่งมีความหมายว่า ร้อยดวงใจ ร่วมร้อยแรง ร้อยตะวัน ดาวเดือน สายน้ำ ผูกร้อยก้อนหินดินแก่ง ต้นไม้ใบไม้ กล้าใหม่-กล้าเก่าเข้าด้วยกัน ร้อยป่าผืนใหญ่ที่หลากหลายร้อยเข้ากับหัวใจของผู้คน ร้อยรวมดวงจิตของเด็ก ๆ ตัวเล็กเป็นดวงเดียวกับของผู้ใหญ่เข้าด้วยกัน ให้เป็นหนึ่งเดียวอย่างมั่นคง เราอยากให้ทุกคนเกิดความหวงแหน และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดเป็นศูนย์รวมให้หลายฝ่ายเห็นความสำคัญของเด็ก ๆ มีกิจกรรมการเรียนรู้นอกระบบที่มุ่งเน้นไปที่การใช้จิตสำนึก จินตนาการ นี้เองคือที่มาของโรงเรียนร้อยหวันพันธุ์ป่าอย่างเรียบง่าย

ค่ายเรียนรู้ศิลปะและธรรมชาติ ค่ายที่สอนพวกเราว่า การมาเรียนที่นี่ต่างกับการเรียนในห้องเรียน ที่ไม่มีการเอาคะแนนมาตีตราความคิด จินตนาการ ความรู้สึกของพวกเรา ร้อยหวันมีแต่สิ่งที่ถูกต้อง เราจะวาด จะปั้น อะไรก็แล้วแต่จินตนาการ ความฝันของเรา มันไม่มีขอบเขตของความคิด ไม่มีความว่าถูกผิด ไม่มีแต้ม ไม่มีคะแนน

ความเป็น “ร้อยหวัน พันธุ์ป่า” ประกอบสร้างขึ้นมาจาก สิ่งที่เรียกว่า “หัวใจ” เป็นหัวใจของคนเพียงไม่กี่คน ที่พยายามจะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับชุมชน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น สายธาร สายลม แสงแดด ธรรมชาติที่นี้ยังได้รับการเติมเต็มด้วยเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ รอยยิ้มที่ทำให้ผู้พบเห็นมีกำลังใจ มีความสุข หรือยิ้มตามได้เลยทีเดียว

พาเด็ก ๆ วาดรูป เดินป่า เขียนเพลง ตามแต่จินตนาการ
เสน่ห์ที่งดงามที่สุดของค่ายร้อยหวัน พันธุ์ป่า คือ ธรรมชาติ และรอยยิ้มของเด็ก ๆ
สมาชิกค่ายร้อยหวัน พันธุ์ป่า

ค่ายรวมพล…ฅนรัก ‘เล

20-27 พฤษภาคม 2549
บ้านบางลา และ บ้านเกาะนาคา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

“เกาะนาคา สัญญาที่อันดามัน
ภูเก็ตสวรรค์ ยืนยันจดจำแสนนาน
กุ้งหอย ปู ปลา ท้องฟ้า เป็นพยาน
เมื่อเรารักกัน อีกไม่นาน ฉันจะกลับมา”

ทรัพยากรทางทะเลใน จ.ภูเก็ต และอ่าวพังงา เมื่อควันไฟแห่งการล้างผลาญจางไปจากภัยธรรมชาติ Tsunami ป่าชายเลนได้หายใจ ทะเลทำท่าจะฟื้นตัว ปู ปลา กุ้ง หอย เริ่มแพร่พันธุ์ กระแสธุรกิจท่องเที่ยว ก็กระโจนเข้ามาจัดระเบียบผลประโยชน์เสียใหม่ แม้ไม่ได้กระทบโดยตรง แต่ก็มีผลไม่น้อย ว่าชุมชนชายฝั่งนั้นถูกลืมจากนโยบายภาครัฐ ที่ซึ่งก็ยังให้ความสำคัญ กับผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ อาทิ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว

วิถีชุมชน หันหน้าสู่ทะเลอีกครั้ง หวังฟื้นฟูฐานะเศรษฐกิจครอบครัว ภาคธุรกิจก็เช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่นโยบายรัฐบาล และกลไกรัฐ ที่เลือกเปิดโอกาสให้กลุ่มนายทุน มีสิทธิเข้าถึงและครอบครองทรัพยากรได้ก่อน หรือได้มากกว่า

หมู่บ้านบางลา มีปัญหาที่ใหญ่พอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนาดใหญ่ เมื่อ โครงการมารีน่า สามารถนำเรือแบ็คโฮ ลงไปขุดแนวรื้อปะการัง เพื่อทำท่าเทียบเรือยอร์ช ท่ามสายตาชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาหากินกับ กุ้ง หอย ปู ปลา จากอ่าว บริเวณที่มีแนวปะการัง ปะการังที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลาย ชุมชน จนเมื่อความอดทนถึงที่สุด วิถีชุมชนเล็ก ๆ ที่เคยอยู่อย่างสงบ ก็ลุกขึ้นเรียกร้องต่อสู้ เคลื่อนไหว ปฏิบัติการยุติเครื่องจักรแบ็คโฮ

พ่อผู้ใหญ่ บอกว่าเป็นการสร้างท่าเทียบเรือยอร์ชของนายทุน ซึ่งจะทำลายสภาพป่าชายเลนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกำแพงกั้นสึนามิ ให้กับชาวบ้านอีกทั้งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์อ่อน แหล่งทำมาหากินของชาวบ้านรวมถึงทำลายป่าชุมชนอีกหนึ่งป่าชุมชมของประเทศไทย และ จะต้องถูกทำลายอีกสักกี่ป่าเพียงแค่ราคาเงิน

ค่ายฯ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านในการปกป้องแผ่นดินเกิด ให้รอดพ้นจากการแย่งชิง รุกล้ำของนายทุน ดินแดนแห่งบรรพบุรุษ วิถีชีวิตดั้งเดิมที่มียางพาราและท้องทะเลเป็นพื้นฐาน ปัจจุบันนี้หายากเต็มที.. อีกไม่นานรัฐคงประกาศให้ที่นี่ หมู่บ้านแห่งนี้ที่ยังมีวิถีดั้งเดิมกลายเป็นเขตวัฒนธรรมเกาะโบราณ สงวนไว้ให้ชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเป็นแน่.. คงไม่ต่างจากสวนสัตว์ที่จำลองป่ามาไว้ในเมืองให้สัตว์สารพัดชนิดอยู่ สัตว์มันจะเหลือวิญญาณแห่งป่าได้อย่างไรในเมื่อมันเคยอยู่ในวิถีแห่งการล่าเหยื่อที่แตกต่างไปจากนี้

ส่วนที่ หมู่บ้านเกาะนาคา พ่อผู้ใหญ่บอกด้วยเสียงเรียบว่า “อีกหน่อยคงจะไม่มีเกาะนาคาแล้ว” มีพวกนายทุนมากว้านซื้อที่ดินบนเกาะ ทั้งทำรีสอร์ท ทำสัมปทานหอยมุข ชาวบ้านบางส่วนขายที่ดินไปอยู่บนแผ่นดินใหญ่ เหลือชาวบ้านอยู่ที่เกาะนี้ประมาณ 40 คนเท่านั้น และกลุ่มที่มีการคัดค้านการขายที่ดินมีเพียง 4 คน ที่ยืนยันจะไม่ยอมขายที่ดิน และอีกหน่อยคงจะไม่มีเกาะนาคาอีกแล้ว

ความศิวิไลซ์ กำลังจะมา สัตว์น้ำกำลังจะหมดด้วยนโยบายแบ่งเขตทะเล หรือ Sea Food Bank ไว้ให้นายทุนเพาะเลี้ยงกุ้งหอยปลาปูขายชีวิตชาวเลกำลังถูกทุนกินชีวิต ไปทีละคน…ทีละคน

ขึ้นฝั่งบนชายหาดเกาะนาคา จ.ภูเก็ต
เดินสำรวจเกาะ

1 ปีที่ผ่านมา …..นี่คือ เรื่องราวที่พวกเราในนาม กลุ่มรองเท้าแตะ ออกมา “โบกโบยบิน” นอกสถาบัน เราโตขึ้น… มีทักษะมากขึ้น… แต่เราก็เหงามากขึ้น เราคิดถึงเพื่อน คิดถึงพี่น้องตลอดเวลาในค่าย บ่อยครั้งที่ผมต้องลุกขึ้นสลัดความฟุ้งซ่านเหล่านี้ออกจากหัว แล้วหันกลับมาตั้งหน้าตั้งตาทำงานในค่ายปัจจุบัน นี่คือ…ปัจจุบัน

“จะไปค่ายเหรอ ค่ายอะไรน่ะ” คำถามจากเพื่อนที่ได้รับรู้ว่าเราจะไปค่าย คำถามนั้นเคยถูกถามมานานแล้ว แต่คำตอบที่ได้มักต่างกันออกไปทุกครั้ง

บางครั้งเราก็ถามตัวเองบ่อย ๆ ว่า คิดอย่างไรกับค่าย? ค่ายให้อะไรกับเราบ้าง? เราให้อะไรกับค่ายกับชาวบ้านที่เป็นหัวข้อหลัก ที่ทำให้ชาวค่ายได้เรียนรู้ความเป็นค่ายบ้าง? หลายคนมีถ้อยประโยคที่ตอบคำถามแตกต่างกันและไม่มีคำตอบไหนที่ผิด และคำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้านเหมือนครั้งที่ผ่าน ๆ มา คำตอบอยู่ที่เพื่อนร่วมค่ายทุกคนต่างหาก

อรรณพ นิพิทเมธาวี