เมื่อถูกร้องขอ (แกมบังคับ) ให้เขียนบทความลงเว็บไซต์ ซึ่ง (น่าจะ) มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผมค่อนข้างหนักใจเล็กน้อย ไม่ได้เป็นเพราะ เขียนฟรีไม่มีค่าตอบแทน หรือไม่อยากเขียน หรือขี้เกียจอะไร แต่เป็นเพราะตัวผมเองไม่ใช่ “นักอนุรักษ์” หรือสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่ “อิน” กับกิจกรรมด้านอนุรักษ์ต่าง ๆ สักเท่าไร (ไม่ต้องกังวลครับ อย่างน้อยผมก็ไม่ใช่พวกตัดป่าทำลายป่า) แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกท้าทายตัวเองเช่นกัน ว่าตัวเองจะค้นหามุมมองหรือเรื่องราวด้านนี้มานำเสนออย่างไร
ผมจึงตัดสินใจรับปากและจะลองดูสักตั้ง โดยจะให้สิ่งที่ผมถนัดและชอบ นั่นก็คือเรื่อง “ศิลปวัฒนธรรม” มาเป็น “สะพาน” เชื่อมโยงไปหา ต้นไม้ ใบหญ้า ป่าเขา เงาไม้ สายลม แสงแดด สายรุ้ง ชั้นบรรยากาศ ดวงดาว หรืออะไรก็ตามที่เป็น “ธรรมชาติ”
เวลาพูดถึง “นักอนุรักษ์” เรามักจะนึกถึงภาพผู้ชายร่างกำยำ ใส่ชุดเดินป่าสีน้ำตาล รองเท้าบูท แบกเป้สนาม ในมือมีสมุดบันทึก สมัยนี้อาจจะเป็นเครื่อง GPS ความละเอียดสูง – ดูน่าอบอุ่น รักธรรมชาติ รักป่า รักต้นป่า พร้อมจะต่อสู้กับมารร้ายทำลายป่า แม้จะแลกมาด้วยชีวิต
แต่ในโลกแห่งความจริงมิได้งดงามตามจินตนาการวาดฝัน ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาเรื่องป่าไม้สิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มากมายกว่าที่เรารับรู้เป็นร้อยเท่าพันทวี และหลายๆ ครั้ง นักอนุรักษ์ เองก็หวงป่ารักต้นไม้มากกว่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะชาวบ้านคนสามัญที่ไร้อำนาจต่อรอง ยิ่งไปกว่านั้นตัวเจ้าหน้าที่หรือนักอนุรักษ์เอง ก็ไม่ใช่เทวดาจากสรวงสวรรค์ ยังคงเป็นคนธรรมดาที่มิอาจหลุดพ้นจากความละโมบ ในแง่ดีจะเรียกว่าต้องเอาตัวให้รอดก็ได้ ในเมื่อสถานการณ์จริงอำนาจเงินและปืนสามารถควบคุมทุกสิ่งอย่างได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ในภาวะเช่นนี้ “ตัวจริง” จึงอยู่ยาก เพราะจะให้ละทิ้งความถูกต้องเพื่ออามิสสินจ้าง ความละอายกับตัวเองดูจะเกินรับมือได้ และเมื่อถูกบีบก็จะสูญเสียสติในการสร้างสมดุลย์ (Balance) หรือการจัดการความขัดแย้ง ระหว่าง “ความจริง อุดมการณ์ และสถานการณ์”
มาถึงตรงนี้ ผมหวนนึกถึงหญิงสาวนาม ไดแอน ฟอสซีย์ (Dian Fossey) ในภาพยนตร์เรื่อง Gorillas in the Mist ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและน่าศึกษาที่สุดคนหนึ่งในโลกนี้
Gorillas in the Mist: The Adventure of Dian Fossey (1988) ของผู้กำกับ ไมเคิล แอ๊พเต็ด (Michael Apted) โดยมี ซิกอร์นีย์ วีเวอร์ (Sigourney Weaver) แสดงเป็น ไดแอน ฟอสซีย์ นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของสาวอเมริกันที่เรียนจบสัตวแพทย์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และได้ทำโครงการศึกษากอริลลา บริเวณอุทยานแห่งชาติโวลแคโน (Volcanoes National Park) ภูเขาไฟวีรุงกา (Virunga Mountains) ในประเทศรวันดา (Rwanda) โดยได้รับความสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก (National Geographic Society) และในปี 1967 เธอก่อตั้งศูนย์วิจัยคารีโซเก (Karisoke Research Center) เพื่อทำการศึกษาพฤติกรรมของกอริลลาเป็นเวลาถึง 18 ปี จนได้ฉายาว่า “สาวน้อยกอริลลา”
ชีวิตสาววัยรุ่นที่ตกหลุมรัก “ลิงยักษ์” ถึงขนาดอุทิศตัวทำงานศึกษา และแน่นอน…ปกป้องและอนุรักษ์กอริลลา จากการล่าตัดหัวและมือกอริลลาไปขาย ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของนายทุน สภาวะที่ถูกบีบและกดดันจากรอบข้าง ทำให้ “นักอนุรักษ์”อย่างเธอ “เพี้ยน” กระทั่งสร้างศัตรูไปทั่ว
นิสัยโผงผางและไม่แคร์สังคม เธอไม่ประสงค์จะหาเงินจากกอริลลาภูเขา โดยการทำธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กับนักทัศนาจร เธอยังมีข้อมูลด้านร้ายของชาวรวันดาที่ชอบฆ่าสัตว์ เธอมีปัญหากับชาวรวันดาเป็นจำนวนมาก เธอเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า เธออนุรักษ์กอริลลาภูเขาเพื่อคนขาวเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อคนดำเพราะคนดำชอบลอบฆ่ามัน และเวลาเธอที่จับคนผิวดำที่ถูกจ้างมาเพื่อล่ากอริลลาได้ เธอเรียกคนเหล่านั้นว่า “ฆาตกร” และจะสั่งให้โบยเพื่อให้เข็ดหลาบ บางครั้งเธอจะสั่งเผาบ้านหรือจับลูกของชาวบ้านนักล่าเป็นค่าไถ่ การลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้ทำให้หลายคนสงสัยว่า เธอคงเป็นโรคจิต เพราะเธอชอบเหยียดผิว ขี้เมา และเห็นกอริลลาภูเขาสำคัญกว่าคน
เธอได้กลายเป็น “ลิงยักษ์” ท่ามกลางสังคม “มนุษย์” ไปเสียแล้ว!
ในที่สุด ไดแอน ฟอสซีย์ ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2528 กลุ่มผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าลอบเข้าไปในกระท่อมที่พักของเธอ แล้วใช้มีดขนาดใหญ่ฟันที่ศีรษะจนเสียชีวิต
ศพของเธอถูกฝังไว้ข้างกับหลุมฝังศพ ดิจิต (กอริลลาตัวโปรดของเธอที่ถูกล่าสังหารเช่นกัน) และกอริลลาตัวอื่น ๆ ที่ถูกล่า ภายหลังการเสียชีวิตของเธอ กองทุน Digit Fund ที่เธอตั้งขึ้นเพื่อหาทุนต่อสู้พวกลอบฆ่า ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น The Dian Fossey Gorilla Fund International (DFGDI)
หลายต่อหลายครั้งเรา “ผลัก” มิตรไปเป็นศัตรูด้วยเงื่อนไขที่เราสร้างขึ้นเอง และหลายครั้งที่เราสร้าง “ความเกลียดชัง” โดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เมินเฉยอย่างจงใจต่อความหลายหลากของเพื่อนมิตร และในที่สุดต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความสำเร็จที่น่าอัศจรรย์จึงมักกลายเป็นโศกนาฎกรรมเสมอ เพราะแม้จุดหมายจะงามงด แต่วิธีการกลับไม่ชอบธรรม
จริงหรือไม่ ในม่านหมอกแห่งความเกลียดชังนั้น หาก “หลุด” จนขาดสมดุลย์ ที่สุดแล้วต้องสังเวยร่างและวิญญาณของผู้คนที่ทุ่มกายเทใจทำในสิ่งที่เชื่อให้เป็นจริง แพ้ในเกม และราคาที่จ่ายคือความตาย แม้ดอกผลของงานที่ทำก็ยังเติบโตหลังจากนั้น เช่น กรณีชีวิต ไดแอน ฟอสซีย์ ที่ท้ายสุดกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ต่อโลกในการอนุรักษ์กอริลลา หรือกรณีการทำอัตวินิบาตกรรมของข้าราชการไทยนักอนุรักษ์ ที่ท้ายสุดก็สร้างกระแสการอนุรักษ์ในสังคมไทย ไม่นับคนนิรนามทั่วโลกที่สังกัดอาณาจักรแห่งการต่อสู้เช่นนี้ ทั้งต่อสู้กับตัวเองและต่อสู้กับอุปสรรคเพื่อไปสู่ความฝัน
ฉะนั้น นักอนุรักษ์รุ่นใหม่จึงมีบทเรียนและต้นแบบในการก้าวย่างบนเส้นทางนี้ การแปลกแยกจากสังคม ลงหลักปักหมุดความเชื่อแน่นิ่ง โดยไม่สนใจความเป็นไปและเป็นจริงของสังคม แม้จะชูธงอุดมการณ์จึงอาจจะไม่ใช่คำตอบ มันดูเท่ห์…แต่ไม่ Work
อย่างไรก็ตาม ไม่มีมนุษย์ปุถุชนคนใดสมบูรณ์แบบ นั้นทำให้เรามิอาจจะปฏิเสธคุณค่าของคนในลักษณะนี้ได้ และไม่ใช่ใครก็ได้ที่สามารถเป็นคนในลักษณะแบบนั้น ตราบใดมนุษย์ยังไม่สมบูรณ์ (ซึ่งคงไม่มีวันนั้น) ปุถุชนย่อมมีถูกผิดดีชั่วมั่วนิ่ม ต่างกันตรงที่ใครเสียสละเพื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อมากกว่ากันต่างหาก
อรรณพ นิพิทเมธาวี
20 มีนาคม 2557
This is great blog, I will certainly be back.