เคยมีหลายคนถามผมว่า “ค่ายฯ เราเกิดครั้งแรกที่ไหน? เกิดได้อย่างไร?”

ผมมักจะตอบว่า “เกิดในร้านเหล้า…”

เพราะมันเป็นเรื่องจริง…. ผมจึงเริ่มจากตรงนี้….

เมื่อหลาย 10 ปีก่อน…ถ้าคุณขับรถจากสี่แยกวังหิน ซอยหมู่บ้านเสนาฯ มุ่งหน้าไปทางวัดลาดปลาเค้า ไปสักประมาณ 2-3 กิโลเมตร ก็มีทางโค้งขวาที่ด้านซ้ายมือจะมีร้านเหล้าร้านหนึ่งตั้งอยู่ คุณจะสังเกตได้ไม่ยากเพราะแสงไฟจากป้ายร้านสามารถเห็นได้ชัดเจน ว่า “พรรคกระยาจก” ซึ่งเป็นผับเพลงเพื่อชีวิตแห่งแรกของเมืองไทย แต่สาขาที่ลาดปลาเค้าเป็นสาขาล่าสุด (ในตอนนั้น) ไม่ใช่สาขาแรก

“มีแต่คนหิวเท่านั้น ที่จะรู้จักคนหิวด้วยกัน” สโลแกนแปะหน้าร้าน ที่ครั้งนั้นผมไม่ค่อยใส่ใจและเข้าใจมัน เดินเข้าไปก็จะเห็นโหลยาดอง หลายสิบสูตรวางเรียงราย ในร้านที่ไม่ได้ติดแอร์ แต่มีพัดลมติดเพดาน โต๊ะเก้าอี้ประกอบขึ้นด้วยไม้เก่า ๆ หยาบ ๆ วางเป็นแถว 2-3 แถว กำแพงก่อด้วยอิฐแซงด้วยล้อเกวียนที่ฝังเป็นส่วนหนึ่ง พร้อมรูปภาพศิลปินเพื่อชีวิตมากมาย

นักดนตรีที่นี่หน้าตาโหด ไว้หนวดเครา ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท่าแตะ ร้องแต่เพลงเพื่อชีวิต แต่เสียงร้องนั้นช่างฟังสนองหู เพียงกีตาร์ตัวเดียว ทำไมบรรยากาศมันงดงาม และมีความหมายมากกว่าเสียงเพลง Dance ห่วยๆ จากเครื่องเสียงมูลค่านับล้านในเทค ในผับ อย่างเทียบไม่ได้

พวกเรา 3 คน (สมรักษ์, เอบ่าย และผม) ชอบไปนั่งที่นั้น

เรา 3 คนเรียนมัธยมปลายที่เดียวกัน คือ..ที่ โรงเรียนเซนต์จอห์น ปากทางลาดพร้าว เรารู้จักกันตั้งแต่เรียนมัธยม 4 แต่มาสนิทกันจริง ๆ เมื่อตอนปลาย ๆ ม.6 ด้วยความที่แต่ละคนต่างก็ชอบเพลงเพื่อชีวิตเหมือนกัน เป็นนักกิจกรรมและก็ชอบทำตัวเป็น “กบฏทางแนวคิด” ในโรงเรียน จึงไม่ค่อยมีใครสนใจสุงสิงด้วย ก็เลยต้องมาสนิทกันเอง… และด้วยความสามารถในทางการเรียนที่ดูจะมีพอ ๆ กันทั้ง 3 คน ทำให้เราทั้งสามคน Ent’ ไม่ติด

เมื่อปี พ.ศ. 2535 เรา 3 คนก็เกือบจะได้ผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬด้วยกัน คือด้วยความสนใจเหตุบ้านการเมืองกันอยู่แล้ว ผมเองไปร่วมชุมนุมขับไล่ พลเอกสุจินดา กับเค้า ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม แล้วเค้าก็หยุดพักการชุมนุมชั่วคราว โดยจะเริ่มอีกทีวันที่ 17 เราก็นัดกันว่าจะไปร่วมชุมนุมกับเค้า ในเช้าของวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 วันที่เค้ายิงกันนั้นแหละ แต่ไม่ได้ไปเพราะนอนตื่นสาย…เลยเวลานัด (เมื่อคืนก่อนต้องซ้อมดนตรีดึก) ประวัติศาสตร์ชาติไทยช่วงนั้นเลยไม่มีชื่อพวกเรา 3 คนอยู่ด้วย จริงๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าควรจะดีใจหรือเสียใจดี

จากนั้น…ต่างคนก็ไปขวนขวายหาที่เรียนต่อกัน

ในพวกเรา 3 คน สมรักษ์มักจะเป็นคนเริ่มต้นอะไร ๆ ในชีวิตเสมอ ๆ จากนั้นถึงตามด้วยเอ ส่วนผมมักจะล้าหลังเพื่อน

สมรักษ์ ใยบัว หนุ่มร้อยเอ็ดสอบเข้าเรียนได้ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เขาหาที่เรียนได้คนแรก เรียนจบคนแรก ได้งานทำคนแรก ออกจากงานคนแรก แต่งงานคนแรก แล้วตอนนี้เมียก็ท้องลูกคนแรก… รอเวลาที่จะเป็นพ่อคนคนแรกอีกด้วย..

เอบ่าย หรือ เอ จักรกฤษณ์ วิทยารัตน์ เป็นคนสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ทั้งที่เจ้าตัวสอบติดคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่ตอนลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยลงชื่อให้ผิดคณะ !! เลยสมใจนายเอที่อยากเรียนวิศวะอยู่แล้ว

ส่วนผมนาย นก ก็ไปเป็นลูกพ่อขุนรามฯ สัก 6 เดือน แล้วจึงตามเพื่อนไปสอบ ABAC เลยโชคดีสอบติด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี – Computer Science ที่สถาบันอุดมศึกษาไฮโซแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง

ผมเข้าเรียนที่ ABAC ด้วยความเฉย ๆ ไม่ได้มีความคิดหรือความอยากอะไร แค่ตามเพื่อนมาสอบ จริง ๆ แล้วส่วนตัวผมไม่อยากเรียนที่นี่ เพราะเหตุผลว่าที่นี่เขาไม่อนุญาตให้ใส่กางเกงยีนส์ การใส่กางเกงซแล็คเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผมตอนนั้น ผมเลยไปซื้อกางเกงทหารมาย้อมดำใส่ไปเรียนแทน ใส่กางเกงทหาร รองเท้าบูธ สะพายย่ามติดเข็มกลัด “ไม่เอานายกคนนอก” ถือหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ฟังเพลงเพื่อชีวิต….นั้นคือภาพพจน์ของผมตอนปี

ชีวิตในมหาวิทยาลัยก็สนุกดี มีอิสระ อยากทำอะไรก็ได้ทำ ผมมีเวลาให้กับการเล่นดนตรีมากขึ้น รู้จักเพื่อนอีกหลายคน แต่ยังไงผมก็ยังคิดถึงเพื่อนเก่ามากกว่า มิตรภาพตรงนั้นให้ความเป็นตัวของตัวเองกับผมมากกว่า บอกตามตรงเราเบื่อที่นี่… ทำไมมันไร้สาระได้ขนาดนี้ วันๆ เรื่องในคณะมีแต่เรื่องหนุ่มจีบสาว-สาวจีบหนุ่ม คนนี้ทะเลาะกับคนนั้นเพราะต่างคนต่างแอบชอบคนโน้น…. ไม่ก็เรื่องเที่ยวไหนดี… เรื่องเรียนบ้างตามช่วงเวลาของการสอบ ไม่มีเรื่องสังคม..ไม่มีเรื่องศิลปะ ไม่มีเรื่องอื่นที่จรรโลงโลกเลย ….ในความรู้สึกผม คือ มันมีแต่เรื่องที่โคตรงี่เง่า

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ที่นี่มีแต่เรื่องพรรค์นี้หรือไงวะ?” ถ้ามันเป็นแบบนี้จริง ผมคงบ้าตายแน่ ๆ

ในช่วงชีวิตการเรียน ปี 1 ของเราสามคน จะได้เจอกันทุกวันเสาร์ ผมกับเอมักจะไปดูหนังหรือไม่ก็ไปเดินตลาดนัดสวนจตุจักร พอเย็นๆ ก็จะมาหาสมรักษ์ที่บ้านแถวซอยโชคชัย 4 นั่งเล่นสักพักก็พากันไป พรรคกระยาจก ไปนั่งฟังเพลงเพื่อชีวิต ที่หาฟังที่อื่นได้ยาก ไปเจอบรรยากาศดิบ ๆ เถื่อน ๆ แต่จริงใจที่แถวๆ มหาลัยเราไม่มี เรามักจะนั่งกันถึงประมาณ ตี 1-2 ผมก็จะขับรถไปส่งสมรักษ์ แล้วเลยไปส่งเอ จากนั้นก็กลับบ้านนอน

แต่ถ้าวันไหนเพื่อนเอ มีภารกิจพิเศษ เช่น ต้องเอาต้นกุหลาบพร้อมกระถาง ที่ซื้อมาจากสวนจตุจักรเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดหญิงสาว ไปวางหน้าบ้านหญิงสาวคนนั้น พร้อมจดหมายบรรยายความเท่ห์ ๆ สัก 1 ฉบับ ผมก็ต้องขับรถพามันไป

อย่างไรก็ตาม พรรคกระยาจกก็กลายเป็นที่นี่เราเอาทุกเรื่องมาคุยกัน เวลา เอบ่าย อกหักก็จะมานั่งร่ำสุราให้อ้วกแตกอ้วกแตนเพื่อจะลืมสาวเจ้า เวลาผมหรือสมรักษ์ ไปก่อวีรกรรมอะไรที่มหาลัยไว้ ก็จะมาเล่าให้อีก 2 คนฟัง

เรื่องการออก “ค่ายฯ” ก็เป็นเรื่องหนึ่ง โดยมันก็เริ่มต้นที่สมรักษ์เช่นเคย

เวลาผ่านไปประมาณ 2-3 เดือน การเจอกันของเรา 3 คน ถูกคั้นกลางด้วยการสอบ แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเอง ผมยังเล่นดนตรีอยู่บ้าง สมรักษ์ก็ไปออกค่ายฯ ใหญ่กับที่ชมรมฯ ส่วนเอบ่าย ก็คงจีบใครสักคนอยู่

สมรักษ์ได้ไปออกค่าย กับชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าฯ เป็นค่ายปลูกป่า ที่ จ.นครสวรรค์ และค่ายฯ ใหญ่ที่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ พอกลับมาก็มาเล่าถึงบรรยากาศและกิจกรรมให้ฟัง โดยส่วนตัวของเราที่อยากจะนิยามตัวเองว่าเป็น “คนที่ทำเพื่อสังคม” ก็ชอบเรื่องราวแบบนี้อยู่แล้ว ภาพพจน์ของเด็กค่ายฯ ที่ดูเท่ห์ ดูลุย ๆ ดูง่าย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากภาพยนตร์โฆษณาเครื่องดื่มเป๊ปซี่ ที่มีนักศึกษาไปออกค่ายฯ ภาพของนายพีชที่นั่งบนหลังคาอาคารที่กำลังสร้างในยามเย็น ยกกระป๋องเป๊ปซี่เข้าปาก ในขณะดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า มันช่างเท่ห์จริง ๆ

หลายครั้งในการพูดคุยเรื่องค่ายฯ เรื่องราวต่างๆ จากปากสมรักษ์ไม่ได้แสดงถึงความเท่ห์ หรือความใฝ่ฝันเล็ก ๆ ของเด็กหนุ่มเท่านั้น หากแต่สาระสำคัญของความรู้สึกของผมเองก็คือ “คำยืนยัน” จากปากเพื่อนว่าสังคมแบบนั้นมันมีจริง สังคมแบบที่ผมเรียกร้อง…มานานในใจ – สังคมที่อยู่รวมกันโดยไม่มองคุณค่าคนที่ทรัพย์สิน หน้าตา หรือผลประโยชน์ทางการศึกษา – สังคมที่เกิดขึ้นจากอุดมคติในการเสียสละ การทำเพื่อสังคม – สังคมที่เพลงเพื่อชีวิตถูกให้คุณค่าไว้อย่างงดงามและสูงส่ง เป็นบทเพลงแห่งการเรียนรู้ เป็นบทเพลงที่บ่งบอกประวัติศาสตร์ของสังคมไทย สังคมแห่งการอาทรกันทั้งเพื่อนเราและคนด้อยโอกาส ถ้าผมเป็นส่วนหนึ่งตรงนั้น ผมคงจะภูมิใจมาก ๆ

ผมเป็นนักดนตรี เอาจริงเอาจังกับการเล่นดนตรี แต่อาจพูดให้ชัดลงไปอีกนิดนึงได้ว่า ผมชอบศิลปะ โดยเฉพาะ ศิลปะเพื่อชีวิต เพลง, กวี, เรื่องสั้น, หนัง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนตั้งคำถามกับชีวิตผมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร คำถามที่ตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางคำถามก็แกล้งๆ ตอบไม่ได้ แต่ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเสียสละเพื่อสังคมอะไรมากมายหรอก แต่ผมอยากเป็นคนที่มีเป้าหมาย ผมอยากมุ่นมั่นเพื่ออะไรสักอย่าง ที่จะบอกกับจิตวิญญาณตัวเองว่า “เรามีคุณค่า” มิใช่แต่ฟังเพลงเพื่อชีวิตหรือด่านักการเมืองโกงกิน

การออกค่ายฯ ที่เพื่อนเล่าให้ฟัง ทำให้ผมรู้สึกว่าผมถูกพาเข้าใกล้สิ่งนั้น

แล้วสมรักษ์ก็ถามผมว่า “ที่ ABAC มีชมรมค่ายอาสาฯ ไหม”

ผมก็ตอบตามที่ผมรู้ก็คือ “ไม่มีนะ มีแต่ชมรม XXX ที่ออกค่ายฯ เหมือนกัน แต่ชมรมค่ายฯ ไม่มี”

มันก็เลยว่า “มึงตั้งชมรมค่ายฯ สิ มึงจะได้เป็นรุ่นแรก เท่ห์ดี กูจะปรึกษาพี่ ๆ ที่ชมรมฯ ให้เค้าช่วย”

ผมตัดสินใจว่าจะทำตามที่เพื่อนยุ โดยไม่ใส่ใจอะไรมากไปกว่า “ความอยากลอง” เท่านั้น มันเป็นโอกาสในการสร้างสังคมใน ABAC สังคมแบบที่ผมปรารถนา ผมไม่รู้หรอกว่านับตั้งแต่วันนั้นมันจะทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปตลอดกาล

อรรณพ นิพิทเมธาวี