เพลงเพื่อชีวิตที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2517-2519 นั้น เป็นช่วงที่กระแสการเมืองเปลี่ยนแปลงมาก ภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา เพลงเพื่อชีวิตยังคงมีบทบาทในหมู่นักศึกษามาก ถึงแม้กระแสการเมืองจะถูกรัฐบาลชุดนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ปิดกั้นก็ตาม เนื้อเพลงนั้นมีมากกว่าช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาด้วยซ้ำไป เนื้อหาของเพลงก็เป็นการปลอบใจ ให้ความหวัง มีพลังในการต่อสู้ไม่ท้อถอย
ตัวอย่างเช่น เพลง อยากเห็นเธอ, โอ้อดีต, อีสานเฮา, อีสานคนยาก, ก้อนหินกับดอกไม้, อยากให้ความรักแก่คนทั้งโลก, ขอเพื่อนจงยืนหยัด, ขอชีวิต, ความรัก ความหวัง ความฝัน ความจริง, ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน, ครูบ้านนา, จุดมุ่งหมาย, จากชาวนาสู่กรรมกร, จากบ้านชีวี, ชีวิตอับจน, ที่นี่ไม่มีครู, ทางแยก, ทางสร้างสรรค์, เธอคือความหวัง, นกพิราบ, นางนวล, นี่หรือสัญญา, บินหลา, ผู้แพ้, แผ้วทางมวลชน, ฝ่าพายุ, ฝนใหม่, พิราบขาว, พิราบแดง, เพื่อรัก, พรุ่งนี้, ฟ้างาม, มหาวิทยาลัยต้องมีเสรีภาพ, มาร่วมกันพลิกฟ้า, ยามห่างไกล, ร่วมยืนหยัด, รุ่งนภา, ตะวันกับดอกไม้และเมฆสีขาว
เพลงต่าง ๆ เหล่านี้จะเสนอความคิดการเน้นอุดมการณ์ บ่งบอกถึงความผิดหวังย้ำอุดมการณ์เพื่อต่อสู้ไปอย่างลับ ๆ มีเพลงเกิดขึ้นจำนวนมากทั้งแต่งขึ้นมาเอง และรับมาจากป่า ขณะนั้นกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่หนีเข้าป่ามีจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนหนีเข้าไปเพราะความกลัวภัยจากการปราบปราม บางส่วนเข้าไปเพราะมีความมุ่งมั่นพอใจอุดมการณ์ของสังคมนิยมใหม่ ที่คิดว่าเป็นสิ่งที่จะนำมาแก้ปัญหาของประเทศชาติได้
เพลงในยุคหลัง 6 ตุลาคม 2519 – 2523 นี้จึงเป็นเพลงที่ทั้งแต่งใหม่และรับจาก “สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย” ซึ่งวง คาราวาน กรรมาชน คุรุชน โคมฉาย และวงต่าง ๆ ได้เข้าไปเป็น “หน่วยศิลป์ของ พ.ค.ท.” ได้ผลิตผลงานเป็นจำนวนมากดังได้กล่าวมาแล้วว่า วงคาราวาน ได้ร่วมกับ วงโคมฉาย เป็นวงเดียวกัน และผลิตผลงานออกมารวมทั้งหน่วยศิลป์คนอื่นของ พ.ค.ท. เองที่มีเพลงอยู่แล้วมากมาย
เพลงเพื่อชีวิตได้มีส่วนเข้ามาในการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ เพราะคนในรุ่น 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองและสังคมต่าง ๆ ได้กลายเป็นนักดนตรีวงต่าง ๆ แนวความคิดต่าง ๆ ที่ผ่านยุคสมัยมา ทำให้ผลงานเพลงของนักร้องนักดนตรีพวกนี้ กลายเป็นกระแสวัฒนธรรมใหม่ที่ต่อเนื่อง เนื้อเพลงจะกล่าวถึงเรื่องที่มีสาระ มีความจริงใจในสังคม บ่งบอกถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่อย่างตรงไปตรงมาแฝงด้วยแนวปรัชญา
เพลงเหล่านี้ได้กลายเป็นเพลงสะท้อนวิถีชีวิตของคนกลุ่มต่าง ๆ ปัญหาต่าง ๆ ของชาติ ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาการเมือง ถึงกระนั้นก็ตามถ้าผู้ฟังเข้าใจถึงสาระของเนื้อเพลงก็จะเข้าใจว่า “การเมืองเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของประชาชน” นั่นเอง