Photo by Jularat Damrongviteetham

บทเพลงเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่สะท้อนความคิดความรู้และไห้ความบันเทิงกับผู้ฟัง การพิจารณาว่าบทเพลงใดมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดนั้น เนื้อเพลงจะบอกได้แต่เพียงการสื่อความหมายที่ดีหรือไม่ แต่เพลงที่ดีที่จะปลุก เร้าอารมณ์ผู้ฟังได้จะต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมาก นอกเหนือไปจากเนื้อเพลงที่ให้คุณค่าทางความคิด หากแต่ยังต้องมีการเรียบเรียงดนตรีที่งดงามชวนฟังเป็นองค์ประกอบให้เกิดความรู้สึกด้วย

เนื่องจากบทเพลงมีคุณค่าต่อการรับรู้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง เพลงจึงเป็นสื่อสำคัญตั้งแต่อดีตกาลมาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะปัจจุบันเพลงเป็นสื่อในการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ทั้งปลุกระดมให้ผู้ฟังเชื่อ เช่น การโฆษณาสินค้า การปลุกใจให้รักชาติ รักสถาบันการศึกษา แสดงความเป็นหมู่คณะพวกเดียวกัน เป็นต้น

เพลงที่มีคุณค่าหรือมีบทบาทต่อคนฟังได้มากนั้น น่าจะเป็นเพลงที่มีจุดสำคัญในรูปแบบหรือโครงสร้างของเพลงหลักคือ จังหวะและท่วงทำนอง เพราะโสตประสาทของคนเราจะสามารถรับรู้เสียงดนตรีได้เป็นอันดับแรก ความประทับใจจะอยู่ที่ส่วนนี้ ส่วนเนื้อเพลงจะสามารถบ่งบอกถึงแนวความคิดของผู้แต่งหรือให้เข้าใจบริบทของสังคมไทยในยุคนั้นได้ ดังนั้นภาษาที่สื่อถ่ายทอดออกมานั้นผู้ฟังจะเข้าใจได้รวดเร็วลึกซึ้งเพียงใด ก็ต้องมีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบหลายประการ

เนื้อเพลงเพื่อชีวิตสามารถสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมซี่งแวดล้อมผู้แต่งเพลง ออกมาในรูปของความจริงและจินตนาการ ดังต่อไปนี้คือ

  1. สะท้อนปัญหาของชาติ ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา เอกราชอธิปไตย ความเดือดร้อน ความทุกข์ยากอันเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบของนายทุน ภัยธรรมชาติ ปัญหาการคอร์รัปชั่น การปราบปราม ปัญหา แรงงาน ความไม่เสมอภาค เป็นต้น
  2. สะท้อนความคิดและอุดมการณ์ ได้แก่ การสร้างเป้าหมายในการดำเนินการไปสู่ความหวังใหม่ ค่านิยมใหม่ อันได้แก่ เสรีภาพทางการเมือง อิสระภาพของความเป็นไทย ความใฝ่ฝันในสันติภาพการสร้างสังคมใหม่ เป็นต้น
  3. แสดงถึงวิถีทางการต่อสู้ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์อย่างมีเป้าหมาย ได้แก่ การเรียกร้องให้ผู้ฟังสนใจปัญหา ต่าง ๆ ที่เป็นจริงในสังคม ให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มคนโดยไม่จำกัดชนชั้น ต่อต้านอำนาจรัฐโดยเรียกร้องให้แก้ปัญหา ด้วยวิธีจับอาวุธขึ้นต่อสู้
  4. การย้ำหรือการแสดงเจตนารมณ์อันมีจุดยืนร่วมกัน เช่น การเสียสละชีวิต
  5. กล่าวยกย่องกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เช่น ผู้ที่เสียชีวิตทางการเมือง ชาวนา กรรมกร ปัญญาชน สตรี เยาวชน ข้าราชการ ครู แม่ ประชาชน
  6. อื่น ๆ ได้แก่ ความรัก ความแค้น ความสิ้นหวัง ปัญหาท้องถิ่น

เนื้อเพลงจึงเป็นกระจกสะท้อนแนวความคิดและอุดมการณ์ บางประการของนักศึกษาได้ ดังนั้นลักษณะเนื้อเพลงจะลึกซึ้งกินใจเป็นที่นิยมกันนั้น จะต้องมีลักษณะดังนี้คือ

  1. ใช้คำหรือภาษาง่าย ๆ ได้ความหมายชัดเจน ผู้ฟังสามารถจดจำได้ทันทีที่ได้ยินมีความหมายกินใจ ตรงกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในขณะนั้น
  2. เนื้อเพลงที่ดีจะต้องสะท้อนอารมณ์ที่มาจากเหตุการณ์จริง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนั้น ซึ่งผู้ฟังจะเข้าใจ เห็นด้วยกับข้อมูลหรือเนื้อร้องซึ่งมักจะเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ที่เห็นได้ในสังคม และเหตุการณ์นั้นกระทบต่อผลประโยชน์หรือความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในขณะนั้น
  3. เนื้อเพลงควรจะเหมาะกับจังหวะและท่วงทำนอง เพื่อเรียกร้องอารมณ์ของผู้ฟังให้คล้อยตาม เช่น ถ้าเป็นเพลงปลุกใจให้ฮึกเหิม คึกคัก ก็จะต้องใช้จังหวะเร็วทำนองเพลงมาร์ช เป็นต้น
  4. เนื้อเพลงควรมีโครงเรื่องหรือสาระในเพลง ตรงกับชื่อเพลงและเรื่องที่กล่าวถึงในเพลง ควรเป็นเรื่องที่ผู้ฟังเข้าใจได้ดีอยู่แล้ว เช่น ความกล้าหาญของชาวบ้านบางระจัน อยุธยา จิตร ภูมิศักดิ์ ความแห้งแล้งของภาคอีสาน ความรักชาติ เป็นต้น

ถ้าเปรียบระหว่างทำนองกับจังหวะนั้น ท่วงทำนองจะเปรียบเป็นตัวเนื้อของดนตรี มีเสียงตามตัวโน้ต เช่น โด เร มี ฟา ซอล ลา ที แต่จังหวะจะเปรียบเหมือนโครงร่างที่คอยบังคับให้เพลงมีทำนองสม่ำเสมอตลอดเพลง เช่น เพลงมาร์ช หรือ เพลงพื้นบ้าน ซึ่งเพลงเพื่อชีวิตหรือเพลงประเภทปลุกใจมักจะใช้ทำนองเพลงมาร์ชและเพลงพื้นบ้าน ที่มีท่วงทำนอง 2 จังหวะ ทำให้จังหวะเร็วมีทำนองสนุกสนานเร้าใจ ทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์คึกคักเสียงกลองเร่งจังหวะทำให้หัวใจ เต้นแรง เกิดความฮึกเหิม สง่างามเร้าอารมณ์ให้อยากเดินทางไปต่อสู้ ลุกขึ้นต่อสู้ตามเสียง เรียกร้องของเนื้อเพลง

ข้อสังเกตเพลงเพื่อชีวิตของนักศึกษา ส่วนมากจะมีทำนองเพลงพื้นบ้านของชาวเอเชีย มักจะใช้ทำนองเพลง 5 จังหวะ เป็นพื้นฐานของจังหวะชาวเอเชีย คือมีทำนองเพียง 5 ทำนอง คือ โด เร มี ซอล ลา และมี 2 จังหวะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้กระชับปลุกเร้าอารมณ์ ดังนี้พื้นฐานการรับรู้จังหวะและท่วงทำนองเพลงเพื่อชีวิตจึงเข้าถึงอารมณ์การฟังได้ดีและรู้สึกประทับใจ

เพลงเพื่อชีวิต มีวงดนตรีที่นับว่าประสบความสำเร็จในการแสดงขณะที่มีการประท้วงหรือขณะที่มีเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกัน เช่น ชาวนากับรัฐบาล หรือ นายทุนกับกรรมกร เป็นต้น วงดนตรีที่มีบทบาทจริงๆ ตามลักษณะการเกิดและสถานภาพของนักดนตรีได้ ดังนี้

  • วงดนตรีเพื่อชีวิตของปัญญาชนนอกมหาวิทยาลัย เช่น คาราวาน
  • วงดนตรีเพื่อชีวิตของนักศึกษาที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย ได้แก่ กรรมาชน กงล้อ คุรุชน โคมฉาย ต้นกล้า ลูกทุ่งสัจจธรรม รวมฆ้อน ฯลฯ