เสวนา “เพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันยังรับใช้สังคมอยู่….จริงหรือ?”
งานวันเราอาสา ครั้งที่ 6 โดย ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC หัวหมาก)

วิทยากร

  • จักกฤษ ศิลปชัย (ดีเจอ๊อด)
  • กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว คาราบาว)
  • อ.ยงยุทธ ดำศรี (วงด้ามขวาน)
  • อรรณพ นิพิทเมธาวี (ผู้ดำเนินรายการ)

อรรณพ นิพิทเมธาวี 

ในช่วงแรกนี้… ผมอยากให้พี่ ๆ เล่าประวัติความเป็นมาของเพลงเพื่อชีวิต ว่าจริงๆ แล้วเพลงเพื่อชีวิตนี่ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และที่สำคัญคือเพลงเพื่อชีวิตมันรับใช้สังคมยังไง… ในอดีต… อาจจะเริ่มจากการเมืองในอดีต ซึ่งก็คงมีส่วน อย่างที่เรารับรู้กันว่าหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก็จะมีนักศึกษา ปัญญาชน กลุ่มหนึ่งที่เข้าไปในป่า ซึ่งในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็จะมีศิลปะเกิดขึ้นมาก ผมเข้าใจว่าความเป็นศิลปะเพื่อชีวิตเกิดขึ้น ณ ช่วงนั้น แต่เท็จจริงยังไง…ผมไม่มีความรู้ทางด้านนี้ลึกมากนัก อยากให้พี่เล่าให้ฟัง… เริ่มจากพี่อ๊อด ดีไหมครับ… 

อ๊อด จักรกฤษ

ก่อนอื่น สวัสดีพี่น้องชาว ABAC ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทนะครับ ขอบคุณท่านผู้ดำเนินรายการ…

พอได้ยินว่าจะมีการคุยกันเรื่องเพลงเพื่อชีวิต ปัจจุบันยังรับใช้สังคมจริงหรือนี่… ตื่นเต้นมาก และดีใจมาก แต่น่าทึ่งอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่า หัวข้อสัมมนานี่เนี่ย มันเกิดขึ้น ณ สถาบันนี้ จึงน่าสนใจทีเดียว มากเป็นอันดับทวีคูณขึ้นไปอีกว่า ดีใจที่เพื่อนๆ น้องเอแบคสนใจเรื่องราวอย่างนี้นะครับ

พอได้ยินหัวข้อนี้ก็ไปนั่งคิดว่า เอ…เราจะนำเสนออะไร เราจะพูดอะไรว่า เพลงเพื่อชีวิตนั้นรับใช้..เพลงเพื่อชีวิตปัจจุบันด้วยนะครับ เค้าระบุว่าปัจจุบันยังรับใช้สังคมจริงหรือนี่… เราก็ต้องไปดู ไปแยกคำมันออกมาก่อน คำว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ เป็นคำแรกที่เราจะให้โจทย์ไว้ก่อนว่า ในหัวใจของทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้นี่ ในความหมาย ในนิยาม ในความรู้สึกของตัวเอง เพลงเพื่อชีวิตมันคืออะไร.. ในนิยามของตัวเองนะครับ ให้กรอบของมันอยู่ประมาณขนาดไหน ยังไงถึงเป็นเพื่อชีวิต..นะครับ นั่นคำหนึ่ง อีกคำก็คือคำว่า ‘รับใช้’ นะครับ จริงๆ บทเพลงหรือศิลปะทุกแขนงในโลกนี้นี่ผมว่ามันรับใช้อยู่แล้ว แต่เป็นการรับใช้อะไร ยังไง เป็นอะไร ตรงไหนบ้าง… ที่นี่เค้าก็ระบุต่อว่า ‘สังคม’ สังคมก็กว้างมากเหมือนกัน ก็ต้องดูอีกว่าสังคมในที่นี่เนี่ย ผู้ที่ตั้งหัวข้อนี่ต้องการตีโจทย์ลงไปที่สังคมตรงไหนด้วย..

กลับไปที่คำว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ นะครับ ในขณะเดียวกันในปัจจุบันนี้ แม้กระทั่งไปถามต้นตำนานในยุค 14 ตุลา อย่างน้าหงา (สุรชัย จันทิมาธร) – น้าหงาเองก็ยังไม่ได้ฟันธงชัดๆ เหมือนกันว่า เพลงของคาราวานที่แกเล่นมานี่ เป็นเพื่อชีวิตหรือปล่าว.. หรือทำไมเป็น… แต่ที่นี่คำนี่มันเกิดขึ้นแล้วค่อนข้างมีลักษณะพิเศษ มีลักษณะเฉพาะ มากกว่าประเทศอื่นในโลก และแทบจะเป็นประเทศเดียวในโลกด้วยซ้ำไปว่ามีเพลงอย่างนี้เกิดขึ้น คือ เพลงเพื่อชีวิต ไปมองเพลงอย่างประเทศอเมริกาอะไรต่างๆ นี่ เค้าอาจจะมีเพลงอย่าง Bruce Springsteen, Bob Marley, Bob Dylan อะไรก็แล้วแต่ เค้าก็ไม่ได้บอกว่าเค้าคือเพลงเพื่อชีวิตเหมือนกัน เค้าเป็นรูปแบบของ Rock, Jazz หรือ HipHop เป็น Blue อะไรต่างๆ

คำๆ นี้มันเกิดขึ้นอย่างนี้ครับ… จริงๆ บทเพลงที่สะท้อนสังคม หรือเอาเรื่องราวของสังคมมาตีแผ่ หรือมาเล่าให้ฟังนี่ มันเกิดขึ้นมานานละ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคศ.2490กว่าๆ ในบ้านเราเท่าที่จะค้นหาเจอในขณะนี้ นั่นก็คือ อาจารย์ ‘แสงนภา บุญราศรี’ เป็นท่านแรก ที่ค้นเจอในปัจจุบันนะครับ ที่ร้องสะท้อนภาพปัญหาของชีวิต และปัญหาสังคมในขณะนั้น ไม่ว่าเป็นเรื่องราวของความทุกข์ยากของ ‘คนปาดตาล’ วันนี้มานั่งคุยกันตรงนี้ หลายคนก็ยังงงว่า คนปาดตาล คือคนแบบไหน?? คนอะไร.. แต่ในอดีตเมื่อปี 2490 กว่าๆ นี้ คนปาดตาลเป็นอาชีพหนึ่งที่ทุกข์ยาก คนปาดตาลมีหน้าที่ปีนต้นตาลขึ้นไปปาดเอาน้ำตาลลงมาแล้วมาทำน้ำตาล ก็มีเพลงสะท้อนความทุกข์ยากของคนปาดตาล คนถีบสามล้อ ต่างๆเหล่านี้ที่อาจารย์แสงนภาสะท้อนภาพออกมา ฉนั้นก็เพลงอย่างนี้ต่อเนื่องกันไปตั้งแต่ช่วงนั้นนะครับ ต่อมาถึง ครูคำรณ อ.เสน่ห์ ใครต่อใครต่อเนื่องกันมา แม้กระทั่งศิลปิน ‘ลูกทุ่ง’ ก็ตามที เพลงลุกทุ่งในยุคที่ผ่านมา พอขุดค้นแล้วจริงๆ เพลงอย่างของทูล ทองใจ เพลงของเพลิน พรหมแดน ที่เราอาจจะนึกว่าเพลิน พรหมแดน เป็นคนร้องเพลงสนุกสนาน แต่ก่อนหน้านี้นี่ เพลิน พรหมแดน ร้องเพลงสะท้อนภาพสังคมชนบท อย่างเพลง ‘ชมทุ่ง’ ก็ตามทีในขณะนั้นก็เป็นเพลงสะท้อนภาพสังคมชนบทให้เราได้เห็นกัน หรือเพลงพื้นบ้านต่างๆ อย่าง เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงโนราห์ เพลงต่างๆ เหล่านี้นะครับ มันก็สะท้อนภาพชนบทในขณะนั้น ในมุมมองต่างๆ ที่ศิลปินจะนำเสนอ

จนกระทั่งมาถึงเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 14 ตุลาคม 2516 มันก็มีบทเพลงบทแรกเกิดขึ้น ในขณะนั้นนี่ก่อนหน้าขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญนี่ จะมีขบวนการในการเรียกร้องให้รับนักศึกษา 9 คนในมหาวิทยาลัยรามคำแหง กลับเข้าเรียนหนังสือต่อ เพราะว่ามีคำสั่งของอธิการบดี ‘ปลด’ นักศึกษา 9 คนออกจากมหา’ลัย เพราะนักศึกษา 9 คนนี้ ไปเอาเรื่องราวของรัฐบาล โดยให้คำจำกัดความในหนังสือของรามคำแหงในขณะนั้นที่ตีพิมพ์ออกมานี่ ว่าเป็น “รัฐบาลสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย” ก็เป็นเพราะว่า อยู่ๆ วันหนึ่งมีเฮลิคอปเตอร์ตก แล้วปรากฎว่าในซากเครื่องที่ตกในทุ่งใหญ่นเรศวรนี่ มีซากสัตว์เต็มไปหมดเลย กลุ่มรัฐบาลในขณะนั้นมีการล่าสัตว์ มีการทำร้ายสัตว์ป่าอย่างมากมายเหลือเกิน นักศึกษา 9 คนนี้ ในฐานะคนทำหนังสือก็ตีแผ่ ก็เลยโดนอาจารย์ ดอกเตอร์ศักดิ์ ซึ่งเป็นอธิการบดีในขณะนั้นนี่ ปลดออกจากการเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เลยมีกลุ่มเพื่อนๆ สถาบันอื่นๆ ไม่ว่าเป็นธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ตามทีรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง รับนักศึกษา 9 คนนั้นกลับเข้าเป็นนักศึกษาปกติ.. แล้วขบวนก็ขยายต่อไปหลังจากที่รับเข้าไปแล้ว เลยกลายเป็นแปลขบวนไป ไปเป็นเรียกร้องรัฐธรรมนูญด้วย

ในระหว่างการไฮปาค การพูดคุยบนเวทีเพื่อเรียกร้องให้รับนักศึกษา 9 คนนี่ บรรยากาศมันตึงเครียด ข้างล่าง อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาเนี่ย ก็บทเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง ชื่อเพลง “สู้ไม่ถอย” นับว่าเพลงนี่น่าจะเป็นเพลงเพื่อชีวิตในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 เพลงแรก – เท่าที่บันทึกเอาไว้นะครับ เพลงนี้เขียนไม่เสร็จครับ.. เขียนได้ท่อนหนึ่ง..

“สู้เข้าไป อย่าได้ถอย
มวลชนคอย เอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู
พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม”

ประมาณนี้นะครับ เขียนขึ้นมาท่อนนึง แล้วก็ส่งขึ้นไปให้เพื่อนร้องบนเวที ในที่สุดเพลงนี้เสร็จจริงๆ เป็นเพลงเสร็จ แล้วก็ใช้เป็นเพลงในการปลุกเร้ามวลชนในขณะนั้น ในยุคการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 14 ตุลาคม 2516 ที่ธรรมศาสตร์ มันเกิดขึ้นระหว่างคุยกันบนเวที หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ไฮปาค’ เพื่อบอกข้อมูลกับมวลชนนั้นนี่บรรยากาศมันตึงเครียด มันก็สลับด้วยการแสดงดนตรี ขณะนั้นก็คือกลุ่มนักศึกษาสลับกันขึ้นไปเล่น แล้วหนึ่งในนั้นก็มี ‘คาราวาน’ ซึ่งไม่ได้เป็นนักศึกษา แต่ก็ได้ขึ้นไปเล่นแจม ตอนแรกเลยของ สรุชัย จันทิมาธร ก็คือเล่นกับ วีระศักดิ์ สุนทรศรี ในนามของ ‘ท.เสนสัญจร’ ก็เล่นฮะ เล่น… ยังไม่มีคำจำกัดความว่านี้เพลงเพื่อชีวิต แต่ก็เพลงมา…

ในที่สุดเมื่อประชาชนเป็นฝ่ายชนะ ได้รัฐธรรมนูญมาแล้ว… ผู้ปกครองตอนนั้นต้องออกจากประเทศไป ก็มีคอลัมนิสต์ท่านหนึ่ง ผมจำชื่อท่านไม่ได้แน่ๆ แต่เข้าใจว่าเว็บไซต์เพลงประชาชนผมเคยเขียนลงไปอยู่… เข้าไปเปิดดูในเว็บไซต์เพลงประชาชนได้ ท่านเนี่ย…ก็เป็นคนหยิบเอาข้อเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นมาทบทวน อาจารย์จิตร ภูมิศักดิ์ เคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งก็คือ ‘ศิลป์เพื่อชีวิต – ศิลป์เพื่อประชาชน’ นะครับเล่มนี้ เมื่อมันมีศิลป์เพื่อชีวิต เค้าก็บอกกันว่าบทเพลงอย่างนี้ ถ้าจะเป็นไปได้ บทเพลงในรูปแบบนี้เนี่ย.. น่าเรียกกันว่าเป็น บทเพลงเพื่อชีวิต…. รูปแบบนี้คืออะไร… รูปแบบนี้คือรูปแบบที่นำเสนอปัญหาของสังคม ปัญหาของการเมืองในขณะนั้น ซึ่งแน่นอนนะครับ ปี 2516 เทคโนโลยีไม่เป็นอย่างที่เราอยู่ในสภาพปัจุบันในปี 46 อย่างนี้นะครับ มือถือไม่มี ดาวเทียมไม่มี เว็บไซต์ไม่มี เพราะฉนั้นการสื่อสารมันผ่านไปในขบวนการของศิลปะ ศิลปิน โดยเฉพาะเพลง… การเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ต ณ จุดหนึ่ง แล้วประสบกับปัญหา เจอปัญหา แล้วนำเอาปัญหาจากชุมชนตรงนั้น ไปเล่าให้อีกชุมชนหนึ่งฟัง.. ว่าชุมชนนั้น เพื่อนเรา พี่น้องเรามีปัญหานะ.. ชาวนาโดนแบบนี้นะ.. กรรมกรเป็นอย่างนี้นะ… ก็มาเล่าให้อีกกลุ่มฟัง ดังนั้นคาราวานจึงได้ชื่อว่าเป็น ‘ผู้สื่อข่าวจากแดนไกล’ นั้นก็เป็นนิยามหนึ่งของคาราวาน…ในขณะนั้นการรวมตัวระหว่าง ‘ท.เสน สัญจร’ กับ ‘บังคลาเทศแบน’ จนเป็นคาราวาน สุรชัย จันทิมาธร เป็นคนไปชวนบังคลาเทศแบน ก็คือ มงคล อุทก กับ ทองกราน ทานา ซึ่งเป็นนักศึกษาเทคนิคโคราช.. สองท่านก็ถามว่าแล้วเราจะเล่นเพลงอะไร… สุรชัยจันทิมาธร ก็บอกว่า ก็เล่นเพลงอย่างที่เราเล่นกันนี่แหละ… ยังไม่มีคำว่าเพลงเพื่อชีวิตเลย แต่ในที่สุดมันก็เกิดขึ้น…นะครับ เป็นการเรียกจากสังคม จากคอลัมนิสต์ จากสื่อสารมวลชนในขณะนั้นมากกว่า ตัวศิลปินจริงๆ ก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่า.. ฉันเป็นเพื่อชีวิตหรือปล่าว.. หรือไม่ได้เป็น… แม้กระทั่งปัจจุบันเองก็ตามที หลาย ๆ ท่านก็บอกว่า ‘ไม่รู้’ ว่าเป็นเพื่อชีวิตหรือไม่ แต่ว่าฉันอยากจะนำเสนอเรื่องเหล่านี้… อย่างอาจารย์ยงยุทธ ก็ตามที ก็ไม่รู้ว่าอาจารย์ยงยุทธเรียกตัวเองว่าเป็นเพื่อชีวิตหรือไม่.. แต่อาจารย์ก็อยากจะเล่าว่า.. อิไซกุนิ… เรื่องของสังคมในภาคใต้ วัฒนธรรมเรื่องเพลง ภูมิปัญญา การให้เงินมาทดลอง ทดสอบเรื่องเกษตรต่างๆ แล้วก็เอาภูมิปัญญาไทยออกไป เหล่านี้ให้เราหันมาสน ไม่รู้ว่าแกจะเรียกตัวเองว่าเป็นเพื่อชีวิตหรือปล่าว แต่ว่าในวงนอก ๆ เราบอกกัน… เพลงอย่างงี้.. คือเพลงเพื่อชีวิต… นะครับ เอาแค่นี้ก่อนว่า คืองี้เป็นเพลงเพื่อชีวิต…

ทีนี่เพลงเพื่อชีวิตในขณะนั้นน่ะ ที่ผมเล่าก็คือมันรับใช้… มันรับใช้ตรงที่… รับใช้สังคมการเมืองเพราะเราต้องการการเปลี่ยนแปลง เพราะในตอนนั้นเราเรียกว่าเป็น ระบอบเผด็จการ คือปกครองโดยคนกลุ่มเดียวเท่านั้นเอง รัฐธรรมนูญไม่มี มีมาตราต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถจะยิงใครก็ได้ ยัดข้อหาแดง ยัดข้อหาคอมมิวนิสต์เข้าไป อะไรต่างๆ เหล่านี้นะครับ… เพราะงั้นเราก็พยายามจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพลงอย่างงี้ก็รับใช้ให้มวลชน ให้สังคมมีสติ มีมุมมอง มีความคิด มีทัศนคติต่อการเมืองต่างๆ นั่นคือภาวะหนึ่งของบทเพลงอย่างนี้ที่เกิดขึ้น แล้วเราเรียกว่าเพลงเพื่อชีวิต มันก็รับใช้สังคม รับใช้ประเทศชาติ เพื่อให้ประชาชนมีความกล้าขึ้น ปลุกระดมให้ฮึกเหิมขึ้น กล้าที่จะต่อรองกับผู้ปกครองได้มากขึ้น รัฐบาลในขณะนั้นได้มากขึ้น มันก็เดินทางของมันมาเรื่อย… จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการล้อมปราบ หลังจากประชาชนชนะเมื่อ 2516 สามปีเท่านั้นเอง… ประชาชนก็เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ หนีหัวซุกหัวซุนกันไปอยู่ในป่า ขณะที่บางคนก็ตาย.. ในการล้อมปราบจากรัฐบาลในขณะนั้น จริงๆ ถามหลายๆ คนว่ารู้จักลัทธิคอมมิวนิสต์ไหม? ทุกคนบอก ไม่รู้วะ.. เพียงแค่มันอยู่ไม่ได้ อยู่ในเมืองมันตาย.. นั้นเป็นทางรอดเดียวที่จะเข้าไปอยู่กับเค้า แล้วทำงานโดยเห็นว่า ในที่สุดแล้วต้องปลดปล่อยประเทศชาติด้วยวิธีการนี้แหละ คือเข้าไปอยู่ในป่าเขา เพราะงั้นเพลงก็เกิดขึ้นในเขตป่าเขาอีกยุคหนึ่งก็คือ ยุค 2519 ไปจนถึง 2522 โดยประมาณ เพลงอย่างนี้จึงเกิดขึ้นมากมายในป่าเขาเป็นเพลงแรงๆ แล้วส่วนใหญ่ก็คือเพลงที่เขียนขึ้นเพื่อรับใช้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในขณะนั้น มีการปลุกเร้าอย่างมากมายเหลือเกิน พูดถึงเรื่องราวที่ให้มวลชนมีกำลังเข้มแข็งที่จะต่อสู้ ในทิศทางที่ถูกต้อง.. อะไรก็ตามที.. เพลงเหล่านี้เกิดขึ้นมาก เป็นพันเพลงนะครับ แล้วเพลงในขณะนั้นเองน่ะ ไม่ได้ตีรูปแบบว่า รูปแบบของดนตรีจะเป็น Rock เป็น Jazz เป็นอะไรต่างๆ ซิมโฟนีก็มี ถ้าคุณลองรื้อฟังเพลงปฏิวัติ… เพลงซิมโฟนีก็มี… บรรเลงกันอย่าง… โอ้โห.. ชิ้นใหญ่ๆ 60 – 70 ชิ้น เค้าก็ทำกัน… เค้าก็มีเพลงอย่างนี้เกิดขึ้น.. นั้นก็เป็นอีกยุคหนึ่ง

จนรัฐบาลพลเอกเปรม มีนโยบาย 66/23 เปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ว่างั้นเถอะนะครับ กลับเข้าเมืองมาเป็นผู้อาสาพัฒนาชาติ ยุคนี้แหละ ผมว่าจริงๆ เป็นยุคเฟื่องฟูของเพลงเพื่อชีวิตจริงๆ จังๆ ทุกคนกลับเข้ามา คาราวานกลับเข้ามาแล้วยังคงทำงานต่อเนื่อง คอนเสิร์ตแรกคือ “คอนเสิร์ต for UNICEF” ประสบความสำเร็จมาก คนดูเยอะ กลับมาหลั่งน้ำตากันกันอีก เพราะว่าไม่ได้เห็นคาราวานกันมานาน บรรยากาศเก่าๆ มันกลับมา เค้าก็ตามมาเยอะมาก จนกระทั่งเกิดวงดนตรีอีกวงหนึ่งที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว อย่างที่ท่านพิธีกรบอกไปแล้ว นั่นก็คือ “คาราบาว” เดี๋ยวพี่เขียวคงจะเล่าว่ามันกำเนิดยังไงอะไรต่างๆ ก็ตามที …ก็กำเนิดขึ้น แล้วก็มีวงมากมายฮะ คนด่านเกวียน อะไรต่อมิอะไรตามออกมาเต็ม เป็นยุคเฟื่องฟูยุคหนึ่ง…นะครับ แล้วก็เดินทางมาถึงปัจจุบัน เอาแค่นี้ก่อน เอาประมาณอย่างเนี่ยนะครับ ถ้าสงสัยตรงไหน แล้วเล่าไม่ละเอียดตรงไหนนี่ อยากรู้ตรงไหนอีก เราจะเล่ากันต่อ เดี๋ยวท่านอื่นจะไม่ได้พูดนะครับ…

อรรณพ นิพิทเมธาวี 

กำลังฟังเพลินเลยนะครับ… พี่อ๊อดก็ทิ้งเรื่องราวไว้นะครับ ถึง คาราบาว ตอนนั้นไม่ทราบว่า พี่เขียว มีส่วนร่วมในขบวนการในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญแค่ไหน แล้ว คาราบาว เรียกตัวเองว่าเป็นเพื่อชีวิตหรือปล่าว… หรือว่าคิดอะไรถึงได้ทำเพลงแบบนั้น อยากให้พี่เล่าให้ฟังต่อครับ

เขียว คาราบาว

ขอบคุณมากครับ หวัดดีครับ ก่อนอื่นก็ขอขอบคุณชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ABAC

เมื่อกี้คุยกับคุณอ๊อดนิดนึงว่า เรามาทำกันวันนี้ มาคุยกันตรงเนี่ย เออ..ที่น้องๆ ติดต่อผมไปว่าจะมีการสัมมนา พูดคุยกันที่เอแบคนี่ ผมยังถามว่า.. เฮ้ย ผิดที่ปล่าว… ตรงนี้มีด้วยหรือที่จะมีคนสนใจเรื่องราวตรงนี้ ก็ค่อนข้าง งง นิดนึง จนกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าใช่หรือปล่าวจนมีการติดต่อยืนยันไป ก็เกือบผิดพลาด… ยังไงก็มานั่งตรงนี้จนได้…

เออ… ต้องขอบคุณคุณอ๊อดนิดนึงนะครับ ผมเพิ่งได้ข้อมูลหลายอย่างจากคุณอ๊อดเป็นประวัติศาสตร์ เป็นบันทึกที่เล่าให้เราฟัง เพิ่งได้ข้อมูลหลายอย่าง แล้วในฐานะที่เป็นวงดนตรีวงหนึ่ง เป็นสมาชิกส่วนร่วมของ คาราบาว ที่ว่าก่อตั้งกันมานี่ ผมอยู่ในฐานะคนทำงานตรงนั้น คุณอ๊อดอยู่ในฐานะคนสังเกตุการณ์ด้านนอกแล้วก็เฝ้าติดตามพวกเรา หรือว่าขบวนการนักดนตรีในแนวนี้มาตลอด เราเองไม่ค่อยได้รู้หรอกว่าตัวเองทำอะไรไป พวกเราทำอะไรไป เพราะเราทำไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ คือผมไปเรียนที่ฟิลลิปปินส์ไปเจอกับแอ๊ด ซึ่งแอ๊ดเนี่ยมีพื้นฐานเบื้องหลังที่เค้าก็คลุกคลีอยู่กับคนในวงการนี้… หมายถึงว่าเราก็ยังไม่รู้หรอกว่าเป็นวงการเพื่อชีวิต ยังเรียกว่า..กลุ่มต่อสู้ นักต่อสู้ที่ต่อต้านความอยุติธรรมในการเมือง คือหมายถึงรัฐบาลในสมัยนั้นที่ค่อนข้างที่จะไม่ให้สิทธิ์ แล้วก็ปิดปากของประชาชน ปิดปากของคนที่โวยวาย เราไม่สามารถที่จะมายืนร้องได้อย่างงี้ เป็นอย่างนี้..เราทำไม่ได้นะครับ โดยเฉพาะวงคาราวานหรือพี่ๆ รุ่นก่อนวงคาราวานที่ทำกันมา ไม่สามารถจะยืนเต้นแร้ง เต้นกา โวยวายว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ รับรอง ‘หาย’ ไปแน่นอน หายเข้ากลีบเมฆไปเฉยๆ โดยไร้สาเหตุหาตัวไม่เจอ

ฉนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ในสมัยนั้น ผมไปเรียนอยู่ที่โน้น แล้วได้พบกับแอ๊ด ผมก็แค่นักดนตรี… นักดนตรีที่เล่นอาชีพมา แล้วก็เบื่อวงการ เพราะว่าแต่ก่อนนี้ดนตรีบ้านเราไม่ได้พัฒนาขนาดนี้ นักดนตรีไทยไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเล่นในสถานที่ดีๆ ในโรงแรมที่ดีๆ ไม่มีนักดนตรีไทยแน่นอน ไม่รู้ว่าฝีมือไม่ถึงหรือปล่าว แต่ว่าเราไม่มีสิทธิ์ เราต้องอยู่ตามบาร์แถวๆที่ทหารจีไอสมัยที่ยังมีสงครามเวียดนามอยู่.. เรายังหลบเล่นอยู่แถวนั้น..นะครับ ก็ผิดหวังตรงนั้นก็ไปเรียนที่โน้น ก็ไปเจอกับแอ๊ด แอ๊ดก็ชวนมาเล่นดนตรี ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาทำงานในด้านนี้ รับใช้สังคม หรือเป็นเพลงต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมในสังคม ..ไม่ใช่ เราเกิดขึ้นตามธรรมชาติก็ว่ากันมา …แต่ที่นี่คุณแอ๊ดเองนี่มีอิทธิพลจากพี่หงา คาราวาน เพราะว่าใกล้ชิด ก็เอาตรงนี้มาเล่าสู่กันฟัง

หลังจากนั้นเราก็กลับมาเมืองไทย ที่นี่เราเล่นกันเพลงสากล เพลงของนักต่อสู้ นักดนตรีต่อสู้ของเมืองนอก เราก็ติดภาพตรงนั้นมา แล้วกลับถึงไทยเราก็ร่วมตัวกัน ใช้ชื่อ ‘คาราบาว’ มาตั้งแต่ที่ฟิลลิปปินส์แล้ว ที่นี่พอมาถึงเมืองไทย แอ๊ดก็เริ่ม ‘ครอบงำ’ ผมเองไม่ใช่เพื่อชีวิต ผมเป็นนักดนตรีหาเช้ากินค่ำไปเรื่อยๆ ตกดึกก็เข้าบาร์เล่นดนตรี เลิกมาประมาณตี 2 หาอะไรทานเสร็จ กลับเข้าไปที่บาร์ซ้อมต่อจนถึงหกโมงกลับบ้านนอน ตื่นเช้ามาก็แวะเข้าโต๊ะบิลเลียด แทงบิลเลียดซะหน่อยก่อนไปทำงานต่อ… ชีวิตจะเป็นอย่างนี้อยู่ตลอด ..แอ๊ดก็มาคุย..เฮ้ย..เราต้องอย่างงี้ พี่หงา คาราวาน ลองฟังผลงานของแกดู..เป็นอย่างงี้ ความอยุติธรรมในสังคมมีมาก เราก็เริ่มคิด..อา..ใช่สินะ.. เริ่มได้ข้อคิดเห็น เริ่มมีแนวร่วม ผมก็เริ่มอะ…เราจะทำเพลงลักษณะนี้บ้าง.. แบบคาราวาน แต่ว่าคาราวานเป็นวงดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เป็นกีตาร์โปร่ง เป็นอคูสติก แล้วก็มีกลอง…สมัยก่อนจะมีน้าหมู พงษ์เทพร่วมอยู่ด้วย พื้นฐานเราคือนักดนตรี แอ๊ดก็เป็นนักดนตรีที่เล่นบ้างตามร้านบ้าง ก็จนกระทั่งเรารวบรวมนักดนตรีได้ เพราะฉนั้นนักดนตรีสมาชิกของคาราบาว เป็นนักดนตรีที่เคยผ่านการเล่นอาชีพมา ส่วนมากเล่นเพลงสากล เพลงฝรั่ง เพราะฉนั้นพื้นฐานของการเล่นดนตรีของเราจึงไปบวกอยู่กับเครื่องดนตรีสากล วงคาราบาวจึงเกิดขึ้นในลักษณะของวงดนตรีที่เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ ของนักต่อสู้ เล่าเรื่องความไม่ยุติธรรม เป็นวงดนตรีที่นำข่าวสารมาบอก โดยใช้เครื่องดนตรีสากลเข้ามาร่วม เพื่อที่จะดึงให้กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มอนาคตของชาติรับตรงนี้ได้มากขึ้น เพราะเพลงในลักษณะนี้ถูกต่อต้านจากคนของรัฐบาลมากที่สุด เราไม่มีสิทธิ์ที่จะเล่นเพลงนี้เผยแพร่ออกไป ก็เลยหาวิธีการ ทำยังไงให้กลุ่มคนฟังเพลงแนวนี้มากขึ้น เพราะฉนั้นก็คือต้องนำเสนอความสนุกเข้าไปด้วย ความมันส์เข้าไปด้วย คือมีการนำดนตรีสากลเข้ามา ผสมเข้าไป ก็เลยกลายมาเป็นวงดนตรีคาราบาว… ที่ออกงานมาชิ้นหนึ่งแล้วเราก็จะตระเวณแสดงไปทั่วประเทศไทย การที่เราเดินทางไปทั่วประเทศ ไปพบปะผู้คนเรายิ่งได้เห็นแก่นแท้ของบ้านเมือง..นะครับ ได้เจอเรื่องราวที่เค้ามาเล่าให้ฟัง ความทุกข์ยากของเค้า ความไม่ยุติธรรมในสังคม ความเอารัดเอาเปรียบของนายทุน เราได้ข้อมูลตรงนี้ เรากลับเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็เอาข้อมูลตรงนี้มาแต่งเป็นเพลง บวกกับความเป็นไปของ…ความไม่สมดุลย์ของการปกครองของผู้ใหญ่ในบ้านเรา ปิดกั้น ยิ่งมันส์ใหญ่…นะครับ เราเริ่มมันส์ละ.. เฮ้ย..อย่างนี้มันส์ดีเหมือนกัน ไปแล้วก็มีเรื่องราว ก็นำเรื่องราวนี้บวกกับเรื่องราวต่างๆ ที่เราไปเจอมา ผสมโรงเป็นข้อมูลวัตถุดิบแต่งเพลงขึ้นมา แล้วเราก็ตระเวณแสดง ออกไปแสดงทัวร์อีก ก็ได้ข้อมูลกลับมา วัฏจักรจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ วนไปวนมา

ที่นี่…จะเล่าตรงนี้ว่า.. ทำไมจึงกลายเป็นเพื่อชีวิต? พวกผมเองไม่เคยรู้ตัวเองว่าพวกเราเป็นเพื่อชีวิต เราก็เป็นแค่กลุ่มดนตรีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีแม่แบบที่สำคัญ คือ พี่หงา คาราวาน นะครับเป็นแม่แบบ สังเกตุจากชื่อวง… ‘คาราวาน’ ของเรา ‘คาราบาว’ นะครับ.. ใกล้เคียงกัน ยอมรับแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ว่านั้นคือ ‘อาจารย์ใหญ่’ ของเรา แม่แบบในการสร้างวงขึ้นมา แต่ว่าเพิ่มความมันส์เข้าไป เราทำเพลงลักษณะนี้..อย่างที่คุณอ๊อดบอกเมื่อกี้นี้..สื่อมวลชนต่างๆ หรือผู้ชมผู้ฟังเป็นคนกำหนดเรียกพวกเราว่า ‘เพื่อชีวิต’ พวกเราโดนตีกรอบว่า ‘เพื่อชีวิต’ คนเป็นเพื่อชีวิตต้องเป็นอย่างนี้ ต้องแต่งเครื่องแบบแบบนี้ ใส่กางเกงยีนส์ แว่นเลแบนด์สีดำ ผมยาวไว้หนวดรุงรัง ใส่เสื้อกั๊กยีนส์ แถมเข้ามาหน่อย..ขี่มอเตอร์ไซต์ สมัยก่อนคงไม่ใช่ฮาร์เลย์ฯ อาจจะเป็นชอปเปอร์หรืออะไรสักอย่างก็ได้ ทำตัวให้มันดูดุ-เหี้ยมโหดหน่อย ก็เข้าทางวัยรุ่นค่อนประเทศของบ้านเรา บ้านเรารู้อยู่แล้วนะครับ..โดยเฉพาะพวกเด็กช่างกล เด็กอาชีวะ พวกนี้นักบู๊อยู่แล้ว เพราะงั้นตรงนี้เป็นกระแสที่กระตุ้นพวกเขา ก็เลย..เราถูกตีกรอบว่าพวกเราเพื่อชีวิตต้องแต่ง “เครื่องแบบ” จะถอดเครื่องแบบไม่ได้ แม้กระทั่งไปเที่ยวชายทะเลก็ต้องใส่เครื่องแบบ กางเกงยีนส์ รองเท้าบูธ ผมยาว ใส่แว่นตาดำ หน้าขรึม…อันนี้เราโดยตีกรอบเสียมากกว่า ที่นี่…แฟนเพลงต่างๆ ก็เริ่มให้ความสนใจ สื่อต่างๆ ก็เริ่มตีกรอบพวกเราว่าเพื่อชีวิต เราก็…เอาว่ะ เพื่อชีวิตก็เพื่อชีวิต เพราะฉนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับความเป็นเพื่อชีวิต “พวกเราโดนตีกรอบ” ผมในฐานะคนที่คลุกอยู่กะตรงนั้น ขอสารภาพ ณ วันนี้เลยว่าพวกเราโดนตีกรอบว่าเพื่อชีวิต

สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดงานตรงนี้ขึ้นมากมาย ก็คือ ความสนุก วัยรุ่นของบ้านเราโดยมากแล้วสมัยก่อนนี่ ก็หนักไปทางชอบความมันส์ซะมาก โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดนะครับ นิยมความเป็นนักบู๊ ความเท่ห์ มาดขรึมของคุณแอ๊ด.. อย่างน้อยๆ คุณแอ๊ดเองก็จบทางอุเทนฯ ก็อาชีวะเหมือนกัน ก็เหมือนกับว่าเป็นพระเอก เป็นฮีโร่ในดวงใจของพวกเขา เด็กตีกันระหว่างเล่นคอนเสริต์ ถ้าเป็นคนอื่นห้ามไม่อยู่ แอ๊ดชี้คำเดียวทุกคนหยุด.. หมายถึงว่าเขารัก เขาให้ความรู้สึก เขานิยม.. ก็ย้อนกลับไปว่าเราโดนเรียกว่าเพื่อชีวิต เพื่อชีวิตต้องใส่เครื่องแบบ ต้องเป็นอย่างนี้ แนวเพลงจะต้องอย่างนี้ จะต้องพูดถึงปัญหาสังคมในจุดต่างๆ ก็เลยกลายเป็นความต่อเนื่อง เกิดปู เกิดน้าหมู เกิดคนด่านเกวียน ละก็ตามมาอีกมากมาย กลายเป็นแนวทางเดียวกัน คือ แต่งเครื่องแบบเหมือนกัน เพลงในลักษณะเดียวกัน ซึ่งผมมีความรู้สึกว่าเราโดนตีกรอบไงครับ ฉนั้นวงเพื่อชีวิต หรือวงที่นำเสนอเพลงต่อสู้ของสังคมบ้านเมืองเรา มันจะต้องเดิน.. เข้าแถวเรียงเดินตามกันมา แนวเดียวกันตลอด เพราะฉนั้นความหลากหลายในเรื่องของดนตรีค่อนข้างที่จะน้อยมากนะครับ อย่างที่คุณอ๊อดบอกว่าความจริงความเป็นเพื่อชีวิต มีหลายแบบเป็น Jazz ก็ได้ เป็นขนาดซิมโฟนี่ ออร์เคสตร้า ก็น่าจะเป็นไปได้ อยู่ที่เนื้อหาของการนำเสนอมากกว่า สำหรับผมแล้วคิดว่าน่าจะเป็นตรงนั้น แต่อย่างที่ว่าเราโดน..สร้างมา หรือว่าถูกกำหนดมา เราก็เลยต้องเดินกันไปตรงนี้ กลายเป็นวงเพื่อชีวิตที่ต้องเดินไปทางนี้ จนปัจจุบันสถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปนะครับ ความเป็นเพื่อชีวิต ก็เลยไม่รู้จะพูดถึงเรื่องอะไร เพราะงั้นทุกอย่างก็เลยค่อยๆ หายไป หรือว่า….เค้าเรียกว่า….ส่วนร่วมในสังคมค่อนข้างที่จะน้อยลง เพราะว่าลักษณะต่างๆ ของบ้านเมือง ความเจริญ สื่อต่างๆ ที่ได้เห็นเปลี่ยนแปลงไปหมด ตรงนี้ก็มาถึงปัจจุบันนะครับ นี่คือความเป็นเพื่อชีวิตที่ผมสัมผัสมา ปัจจุบันผมอาจจะไม่ได้เป็นเพื่อชีวิตแล้วก็ได้ เพราะว่าไปทำอย่างอื่น อาจจะเป็นคนที่ยังมองอยู่ตรงนี้เท่านั้นเอง…นะครับ ขอประมาณนี้ก่อนแล้วกัน…

อรรณพ นิพิทเมธาวี 

ผมฟังดู… จับได้อย่างหนึ่งก็คือว่า พี่อ๊อดกับพี่เขียวนิยามคำว่าเพื่อชีวิต คือสะท้อนเรื่องราวของสังคม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ตรง จากที่ได้ไปสัมผัสมา ส่วนคำว่า ‘เพื่อชีวิต’ คงจะเป็นศัพท์ที่สังคมตั้งขึ้นมา เพื่อจะใช้เรียกเพลงลักษณะอย่างนี้ให้ตรงกัน..นะครับ

ถ้าอย่างงั้น..มาถึงอาจารย์ยงยุทธ เพลงอาจารย์ยงยุทธจะนิยามว่ายังไงฮะ ผมฟังดูก็จะเป็นเรื่องราวของภาคใต้ซะเยอะ เพราะอาจารย์เป็นคนใต้ ลักษณะของคนใต้นี่ จะเป็นคนค่อนข้างจะสนใจการเมือง เรามีภาพอย่างนั้น แต่ผมสังเกตุว่าเพลงที่เกี่ยวกับ เล่าเรื่องทางการเมืองจากวงดนตรีภาคใต้จะมีน้อย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นมุมมองทางด้านความรักบ้าง เป็นเรื่องของศิลปะซะเยอะ ตรงนี้อาจารย์คิดยังไงครับ หรือว่าเพลงของอาจารย์จะนิยามตัวเองว่ายังไง…

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

ขอสวัสดีทุกท่านนะครับ.. ขอบคุณชมรมอาสาฯ นะครับ ผมยงยุทธ ด้ามขวาน ดีใจมากครับที่ได้มาที่นี่ครับ

ผมเรียกว่าเพลงเพื่อชีวิตนะครับ เพลงเพื่อชีวิตมีจริง มีนิยามมากมายแต่ผมว่าไม่ต้องไปเถียง… มีเพลงเพื่อชีวิตละกัน อ้า…ผมอยู่ในเพลงเพื่อชีวิตละกัน.. ชัดไหม.. (ฮา) ไม่ต้องเถียงนะว่าเพลงเพื่อชีวิตมีหรือไม่ แต่ที่ต้องตกลงกันคือ ‘เพลงเพื่อชีวิตต้องมีร่วมสมัย’ ร่วมสมัยเมื่อปี ’16 กับร่วมสมัยเมื่อปี ’46 ผมว่าแตกต่างกันนะ ลุกทุ่งเมื่อก่อนผมเกิด กับเมื่อผมเกิดมาแล้ว โตมาแล้วก็ต่างกันนะครับ

คิดว่าเพลงคาราบาวเป็นเพลงเพื่อชีวิตครับ ถึงแม้ว่าจะมี “คาราบาวแดง” (ฮา) ..คาราบาวเขียว.. (ฮา) จริงๆ ประเด็นคาราบาวที่ออกเครื่องดื่มยาชูกำลังมาหรือปล่าว เลยทำให้เกิดประเด็นนี้ขึ้นมา.. เพราะว่าเมื่อไม่ค่อยมีกระแสนี้เท่าไหร่..นะครับ ช่วงแรกมีตราโลโก้ “โค้ก” นะครับ ขึ้นบนปกคาราบาว ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มหัดเล่นกีตาร์ ก็ถกเถียงกันเยอะเหมือนกัน หนังสือพิมพ์ก็ลงเหมือนกันว่า..คาราบาวไม่ถูกต้องแล้ว เดี๋ยวเยาวชนก็จะกินโค้กเยอะนะ พอผ่านไปโค้กก็เป็นธรรมดา ผ่านไป ‘เบียร์ช้าง’ ก็เป็นธรรมดา มาถึง ‘คาราบาวแดง’ ซึ่งเป็นสินค้าตัวใหม่ ก็ขออุดหนุนนะครับพี่เขียว.. เพราะว่า…แม้ไม่เกี่ยวกับพี่เขียว แต่ว่าคนดูคอนเสิร์ตคาราบาวสามารถที่จะซื้อนี้เข้าไป แล้วดูได้ใช่มะ ไม่ต้องเสียบัตรที่สองสามร้อย (ฮา) อันนี้แค่คาราบาวแดงขวดเดียว เราก็สามารถที่จะดูคอนเสิรต์คาราบาวได้แล้วนะครับ ยุคนี้มันเป็นยุคของนายทุน ธุรกิจมันต้องมาอุดหนุนเพลงเพื่อชีวิตนะครับ สมัยก่อนที่พี่อ๊อดเล่าไปคนอุดหนุนเพลงเพื่อชีวิต ก็คือพรรคคอมมิวนิสต์ ตอนนี้พรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีแล้วก็นายธุรกิจก็จะมาอุดหนุนเพลงเพื่อชีวิต เพลงเพื่อชีวิตที่ไม่มีคนอุดหนุนก็จะอยู่ยาก เช่นพวก Indy ก็ทำกันเอง ขายกันเอง ช่วงนี้บอกว่าขายลำบาก..นะครับ ขนาดคาราบาวมีคำว่า ‘แดง’ เป็นของตัวเองก็..เค้าบอกว่ายังขายลำบาก บางคนมีคลื่น (วิทยุ) ก็ถูกยึดคลื่นไป (ฮา) ตอนนี้ก็ต้องไปหาคลื่นใหม่ เป็นธรรมดาของ..เพลงเพื่อชีวิตนะครับ… นะพี่เขียวนะ… ขอเชิญต่อครับ..

(เสียงจากคนดู) : จบแล้วเหรอ

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

…ยังไม่จบครับ แต่ว่าถ้าคุณถามผมต่ออีก (ฮา) มีอะไรสงสัยไหมครับ….

อรรณพ นิพิทเมธาวี 

…เออ.. ผมยังอึ้งอยู่.. (ฮา) ก็เดี๋ยว ยังไงเพื่อนๆ ลองช่วยกันตั้งประเด็น หรือว่าถามก็ได้นะครับ ตอนนี้ผมมีคำถาม… มาจากประเด็นที่อาจารย์ยงยุทธพูด… นั่นหมายความว่าศิลปะหรือว่าเพลงที่เรียกว่าเพื่อชีวิต ถ้ามองในแง่ร้ายคือมันถูกใช้เครื่องมือใช่ไหมครับ มันถูกรับเป็นเครื่องมือของระบบทางสังคมที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการ หรือระบบทุน หรือเรามองในแง่ดีว่า..มันเป็นคล้ายๆ ‘กลอนพาไป’ คือสังคมเป็นยังไง เราก็เล่าไปตามนั้น… ยังไงฮะ?

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

คือ…ถ้าสังคมเป็นยังไง เพลงเพื่อชีวิตก็จะเป็นไปตามอันนั้น ใช่ไหมครับ…. ถูกต้องครับ…เป็นคำตอบที่ถูกต้อง (ฮา)

สังคมเป็นอย่างไร งานศิลปะก็จะสะท้อนไปแบบนั้น ถ้าธุรกิจเจริญ… กลุ่มธุรกิจก็จะมาสนับสนุนศิลปะ ถ้าวัด..ศาสนาเจริญ ศาสนาก็จะมาสนับสนุนศิปะเหมือนกัน ตรงนี้อาจจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาสนับสนุนเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมา.. ก็ต้องเป็นคู่แข่งกับนักธุรกิจ…

แสดงว่าผมตอบไม่ตรงใช่ไหม (ฮา)

เดี๋ยว..ผมอยากจะตอบให้ตรงนะ… ถามใหม่ครับ (ฮา)

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ครับ…อา… คือผมหมายถึงว่า ถ้าในกรณีที่เราเล่าเรื่อง.. สมมติอย่างที่พี่อ๊อดเล่ามาก็คือ คาราวานไปเจอเรื่องอะไร แล้วหยิบเรื่องนั้นมาเล่า ผมเชื่อว่ามันไม่ใช่การรายงานข่าว มันต้องบวกกับ ‘ทัศนคติ’ ที่คิดว่านี่คือความไม่ยุติธรรม และนี่คือสิ่งที่เราจะต้องต่อสู้ พี่แอ๊ดก็มีตรงนั้น สะท้อนมาในเพลงเยอะ แล้วค่อนข้างจะแรงกว่างานของคาราวาน แต่ที่นี่ถ้าเกิดศิลปะมันรับใช้สังคม โดยที่ไม่มีทัศนคติ หรือไม่มีแนวคิดนี่ มันจะกลายเป็น คำว่า..เป็นเครื่องมือของระบบหรือปล่าว? นั่นคือประเด็น..

ระบบธุรกิจ ระบบทุนดีแล้วมาหนุนศิลปะ อา…นั่นหมายความว่าถ้าระบบมันไม่ดีศิลปะจะไม่เกิดใช่ไหมครับ? อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้นะ ผมอาจจะพูดแย้งกันในคำพูดตัวเอง ในสังคมบางสังคม ในประเทศบางประเทศ ที่ย่ำแย่ ที่ระบบไม่ดี พม่าเป็นต้น นั่นหมายความว่าศิลปะเพื่อชีวิต เพลงเพื่อชีวิตในพม่าจะไม่ดี จะไม่ได้คุณภาพหรือ? นั่นคือคำถาม หรือในทางตรงกันข้าม ในบรรยากาศที่ยิ่งกดดัน ยิ่งลำบาก ยิ่งยากแค้น ศิลปะจะยิ่งงดงามหรือปล่าว? อันนี้พี่หงาเป็นคนพูดนะครับประโยคนี่…

ประเด็นก็คือว่ามันอยู่ตรงไหนครับ ความเป็นศิลปะกับระบบของสังคม

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

ครับ…เรื่องนี้นะครับ ต้องยกไปให้พี่อ๊อดนะฮะ (ฮา) ทราบดีมากเลย… เชิญพี่อ๊อดครับ

อ๊อด จักรกฤษ

(ฮา) โยนเลยเหรอ… โอ้โห.. ขอบคุณครับอาจารย์…

จริงๆ เป็นคำถามที่ค่อนข้างจะหนักมาก แล้วบรรยากาศในวันนี้นี่ ใจผม…ผมอยากจะตอบประเด็นเดียวนะครับ คำว่า “มันเป็นเครื่องมือหรือไม่” จริงๆ แล้วผมว่าบทเพลงนะครับ เอาที่เพลง..ไม่ต้องคุยถึงงานศิลปะ เผอิญคุยกับ อ. ยงยุทธ ก็เลยคุยเรื่องศิลปะซะเยอะนะครับ.. บทเพลงเนี่ย มันเป็นเครื่องมืออยู่แล้ว ไม่ว่าเป็นเครื่องมือสร้างอะไร.. ในกลุ่มเป้าหมายไหน.. สุดแท้.. แล้วแต่.. มันอาจจะเป็นเครื่องมือเติมไฟให้คนที่มีความรัก มีมุมมองความรักที่สวยงามต่อเนื่องกันไป ก็เป็นไปได้.. เราคุยที่ว่าเป็นเครื่องมือนะ เราไม่พูดถึงว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตหรือไม่ เราพูดถึงเพลง เพราะงั้น…หรือจะไปรับใช้เป็นเครื่องมือในการปลอบโยนคนที่อกหัก ผิดหวัง มันก็เป็นเครื่องมือ.. หรือแม้กระทั่งอย่างที่บอกว่าเพลงเกี่ยวข้าว… เพลงเกี่ยวข้าวของชาวบ้าน วัฒนธรรมพื้นบ้านเนี่ย มันก็เป็นกุศโลบาย และเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ ผู้ใช้แรงงานขณะเกี่ยวข้าว ขณะนั้น..ชาวนาเนี่ย ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการทำงาน นะครับ…มันก็เป็นเครื่องมือ เพราะงั้นเพลงมันเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งละ แต่ว่ามันจะเครื่องมือ หรือว่าไปรับใช้อะไรต่างหากที่เราจะมองไป อย่างที่คุยกันตั้งแต่ต้นว่า เพลงเพื่อชีวิตนี่จุดกำเนิดมันจริงๆ นี่ มันเป็นแต่เพียงเพลงที่สะท้อน “ปัญหาของสังคม” และทัศนคติในขณะนั้นก็คือไม่ยอมที่จะอยู่ใต้การปิดปาก ปิดหู ปิดตา ของผู้ปกครองในขณะนั้น เพราะฉนั้นเพลงเพื่อชีวิตก็เป็นเครื่องมือในขณะนั้นในการปลุกเร้าให้มวลชนกล้าที่คิด กล้าที่จะพูด กล้าที่จะนำเสนอ อย่างที่พี่เขียวพูดถึงเมื่อสักครู่นี้ด้วย …มันเป็นเครื่องมือ…

แม้กระทั่งในที่สุดเพลงเพื่อชีวิตต้องระเห็จเข้าไปอยู่ในป่าอย่างที่ผมบอกถึง.. ก็ไปรับใช้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สร้างทุกอย่างขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวจิตใจมวลชนในขณะนั้นให้เห็นด้วยกับนโยบายพรรค แลัวเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลายภายใต้นโยบาย 66/23 แล้วกลับเข้าสู่เมืองที่ผมพูดค้างเมื่อสักครู่นี่ “คาราบาว” ก็ใช้เพลงเพื่อชีวิตเป็นเครื่องมือเช่นเดียวกัน อิทธิพลจะมาจากน้าหงา หรือจะมาจากไหนก็แล้วแต่ หรือจะมาจากชาวบ้านที่ตัวเองได้ประสบต่างๆ ก็ใช้เป็นเรื่องราวที่ให้สติกับมวลชน เรื่องราวของ “เมดอินไทยแลนด์” ปลุกเร้าให้มวลชนเข้ามาเห็นว่าการใช้สินค้าไทยเป็นเรื่องจำเป็นในภาวะการณ์นั้น ในยุคสมัยอย่างนั้น การเรียกร้อง “ทับหลังนารายณ์” คืนจากอเมริกาเป็นเรื่องสำคัญในขณะนั้น การพูดถึงมุมมองของการท่องเที่ยวของต่างชาติที่เข้ามาในเมืองไทยเพื่อเที่ยวแค่ พัทยา พัฒน์พงษ์? นั่นก็เป็นเครื่องมือที่ให้ความคิด่อมวลชนเช่นเดียวกัน หรืออย่าง “คนด่านเกวียน” เกิดเพลง “เด็กปั๊ม” เพลงแรกของคนด่านเกวียนเนี่ย.. ก็คุยถึงคนใช้แรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพ ในฐานะเด็กปั๊มที่มาจากอีสานแล้วมาทุกข์ยากลำบากอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ตามที… มันก็เป็นเครื่องมือ… ในการรับใช้มุมมองในขณะนั้น ผมคิดว่าเป็นนะครับ…ฟันธงตอบประเด็นนี้ก่อน 

อรรณพ นิพิทเมธาวี 

มีเพื่อนๆ คนไหนอยากจะเสนอประเด็น หรือว่าจะต่อประเด็นนี้ไหมครับ… ถ้าไม่มีจะได้กลับ…

อ๊อด จักรกฤษ

กลับบ้าน… (ฮา)

อรรณพ นิพิทเมธาวี 

กลับมาสู่หัวข้อการสัมมนา…

อ๊อด จักรกฤษ

ครับ… เรื่องเครื่องมือและอะไรต่าง ๆ คิดว่าใครมีความเห็นต่างไหมครับ.. หรือยังไง..ถกกันได้

อรรณพ นิพิทเมธาวี 

ถ้างั้นผมขอต่อประเด็นเครื่องมือไปอีกนิดนึง… เป็นความสงสัย… เมื่อกี้ก็ฟังมา..พี่อ๊อดคุยถึงเครื่องมือในแง่ของ..มันเป็นเรื่อง ‘ดี’ นะฮะ ผมกำลังพูดถึงเครื่องมือที่มันจะมีผลกระทบที่ ‘เสีย’ ต่อสังคม เป็นเครื่องมือของระบบทุนที่เอาศิลปะมารับใช้เพื่อให้คนมาซื้อของ.. หรือว่าเพลงเพื่อชีวิตถุกใช้เป็นเครื่องมือของ… อา….อะไรสักอย่างที่วัตถุประสงค์มันไม่ใช่สิ่งดี มันเป็นการหาเงินแล้วสร้างผลกระทบสังคม ผมหมายถึงเครื่องมือแบบนั้น ไอ้เครื่องมือ…การปลอบประโลม การให้กำลังใจนั่น ผมก็เชื่อ เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น… แต่ว่าเดี๋ยวนี้ ณ ปัจจุบันนี้เนี่ย ระบบทุน ระบบอะไรมันก็ซับซ้อน เงินมันก็ใหญ่ขึ้นทุกวันๆ แล้ว..เพลงเพื่อชีวิตจะสู้กับมันได้แค่ไหน หรือเดี๋ยวนี้มันไม่มีตัวตน…

อ๊อด จักรกฤษ

จริงๆ ผมจะไม่ตอบว่า คำว่า ‘เครื่องมือ’ ในขณะนี้นี่มัน..ให้คุณหรือให้โทษ ไม่ทราบพิธีกรกำลังคิดถึง “คาราบาวแดง…คาราบาวแดง” หรือปล่าว..ไม่รู้นะฮะ ต่อจากอาจารย์ยงยุทธเมื่อกี้นะ (ฮา) พิธีกรไม่รู้ว่าจะหมายถึงอย่างนี้หรือปล่าวนะครับ

ที่นี่พอคุยอย่างนี้ มันกลายเป็นเรื่องอีกอย่างนึง แต่ว่า…ผมยกตัวอย่างให้สั้นๆ อันนึง เช่น สมมุติคุณเป็นข้าราชการตำรวจ คุณพกปืนอยู่เนี่ย ปืนเนี่ยคือเครื่องมือในการพิทักษ์สันติราษฎร์ ในการดูแลสาระทุกข์สุกดิบของมวลชน กำจัดคนเลว อภิบาลคนดีอะไรประมาณอย่างนี่นะครับ แต่ถ้าไอ้ปืนกระบอกนี้.. บังเอิญตำราจคนนี้ไปยิงคนดีเข้าละ… มันก็เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง… เหมือนอย่าง….ทำไมต้องยกตัวอย่างคาราบาวแดงก็ไม่รู้ แต่ขออนุญาตพาดพิงบ่อยๆ นะฮะ ถ้าพี่แอ๊ดอยู่ตรงนี้ คงโดนเตะก้านคอหรืออะไรก็ว่าไป แต่ว่ายกตัวอย่างนี้จะชัดมากครับ… คาราบาวแดงก็ตามทีนี่ มันก็ต้องกลับไปดูอีกเหมือนกันว่าเครื่องมือที่เค้าใช้แล้วเนี่ย สติและพื้นฐานของมวลชนในประเทศเนี่ย สมาธิหรือจิตใจหรือวิญญาณแข็งแกร่งขนาดไหน.. พื้นฐานของมวลชนเป็นอย่างไร.. เราจะไปมองอีกด้วยซ้ำไปว่าในขณะนี้ เทสโก โลตัส , คาร์ฟู ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นห้างสรรพสินค้าที่กำลังเอาเงินคนไทยออกไปต่างประเทศ กำลังทำลายระบบโชว์ห่วยของเมืองไทย ของประเทศไทยตอนนี้ โชว์ห่วยตามตรอกซอกซอยตายลงไป แล้วจิตวิญญาณความเป็นไทยเสื่อมสลายไป

ผมเสริมนิดเดียว เมื่อมีใครคุยถึงเรื่องนี้แล้วผมสะเทือนใจ แล้วผมอยากจะขยายความตรงนี้นิดเดียว ผมกำลังบอกว่าต่างกันตรงไหน…การเข้าไปซื้อใน Lotus แล้วมันถูกด้วย แล้วซื้อของได้ครบถ้วนด้วย ก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะว่าถึงเงินจะออกไปต่างประเทศ โชว์ห่วยบ้านเราเองหรือธุรกิจอื่นๆ ก่อนหน้านี้มันก็อยู่ในมือคนจีนตั้งเยอะ.. เราจะกลัวอะไรถ้าฝรั่งเข้ามา แต่คำตอบของคนที่ผมสนทนาด้วยเค้าให้ทัศนคติที่ดีมาก ฟังแล้วแบบน่าสนใจมาก… จริงๆ คนจีนในเมืองไทยไม่ได้เงินออกไป เงินน่ะมันอยู่ตรงนี้…นะครับ อีกอันหนึ่งเค้าบอกว่า…จิตวิญญาณโชว์ห่วยในตรอกซอกซอยที่เป็นอยู่เนี่ย มันส่งเสริมความรู้สึกของคนไทยในระบบชุมชนได้ดีมาก

…..วันนี้ ‘ตามี’ เป็นคนปั่นสามล้อถีบ หารายได้ไม่ได้เลยเพราะว่าไม่มีคนนั่งสามล้อเลย เหนื่อยมากทั้งวันตั้งแต่เช้ายันเย็น แดดเปรี้ยงลงมาเนี่ย… กลับเข้าบ้านอยากจะนอน อยากจะพักผ่อน แวะร้าน ‘ยายซิ้ม’ สมมติอย่างนี้นะครับ… ลงเหล้าขาวเป็กหนึ่ง เดี๋ยวพรุ่งนี้จ่าย.. ยายซิ้ม “ให้” นะครับ… แล้วตามี หรือตาอะไรนี่… ก็มีวิถีชีวิตในการเยียวยาชีวิตตัวเองกับเหล้า 1 เป็ก แล้วนอนหลับฝันเพื่อที่พรุ่งนี้จะมีแรงกลับมาทำงานปั่นสามล้อต่อได้.. หรือแม่บ้านสักคนนึงไปซื้อแฟ้บยี่ห้อ ‘บรีส’ ให้ลูกวิ่งไปเอา… ไปบอกป้าเค้าเอาแฟ้บยี่ห้อบรีสซองนึง เดี๋ยวพรุ่งนี้แม่ไปจ่าย…ทำได้ แต่ที่ Discount Store ทำไม่ได้นะครับ นั่นคือเราอยู่อย่างชุมชนไทย อยู่กันในชุมชนที่เอื้ออาทร ถึงแม้ว่ายายซิ้มปากจะร้ายสักหน่อยนึง หยิบไปบ่นไปด่าไปก็ตามที แต่เขาหยิบให้ เขารินเหล้าให้… อีตาปั่นสามล้อก็มีความสุขที่ได้ดื่มเหล้าแล้วพรุ่งนี้ก็หาเงินมาใช้เขา แต่ในจิตวิญญาณของห้างใหญ่ไม่มี…ไม่มี มันหายไป…

อย่างไรก็ตาม.. เครื่องมือเหล่านี้มันก็กลับไปตอบว่า ในที่สุดแล้วความแข็งแรงในวิญญาณของความเป็นคนไทยมีแค่ไหน.. แต่เราก็ยังห่วง พอวาเลนไทน์ทีนึง..โทษนะครับน้องๆ ผู้หญิงก็เยอะ โรงแรมเต็มไปหมดเลยอย่างนี่ แล้วพ่อแม่ก็ห่วง.. อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันอยู่ที่วัคซีนที่เราฉีดเข้าไปในลูกหลานไทยว่ามันแข็งแกร่งขนาดไหน ถ้าแข็งแกร่งแล้ว ไม่ต้องว่าเครื่องมือนั้นมันจะดี หรือเลว หรืออะไรต่างๆ… เครื่องมืออะไรก็ทำลายตรงนี้ไม่ได้ ผมว่าผมตอบตรงนี้ตรง.. หรือเล่าออกนอกเรื่องมากไปหรือปล่าว แต่ว่าผมคิดว่าอย่างนี้นะครับ…

เขียว คาราบาว

เป็นปัญหาที่ค่อนข้างที่จะตอบยากนะครับ อย่างที่เหมือนกี้นี้บอกว่าสัญลักษณ์ของความเป็นเพื่อชีวิตได้ถูกนำไปใช้ในเรื่องของการค้า ไม่ทราบเป็นเรื่องจริงหรือปล่าว… มีคนบอกผมว่า แอ๊ด คาราบาว เคยออกรายการ มีการสัมภาษณ์แล้วก็พูดออกมาตรงๆ ว่า ‘เดี๋ยวนี้ผมไม่ใช่เพื่อชีวิตแล้ว ผมนักธุรกิจ’ อันนี้จริงหรือปล่าว…. มีใครเคยได้ยินหรือปล่าว… เพราะฉนั้นแอ๊ด… ปัจจุบันนี้ยอมรับแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนไปนะครับ ในสังคมบ้านเรา ที่นี่ความอยู่รอดขององค์กรที่แอ๊ดรับผิดชอบ ความเข้ามาเกี่ยวพันของคนรอบข้าง การที่แอ๊ดยืนอยู่ตรงจุดนี้ได้มาเพราะสิ่งใด อดีตเราต่อสู้มา…ครับ การต่อสู้ของเราเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ วันนี้ผมสารภาพ ณ ตรงนี้เลยนะครับ สิ่งรอบข้างเป็นสิ่งที่พาพวกเราไปตรงนั้น เราทำงานของเรา เราคือกลุ่มคนดนตรีกลุ่มหนึ่งที่มีแนวทางดนตรีประมาณนี้ เราจับทางได้ว่าจังหวะสามช่า หรือที่บางคนเรียกว่าจังหวะรำวง หรือฉิ่งฉับทัวร์เป็นจังหวะที่คนไทยชื่อชอบ เราจึงจับจังหวะนั้นเข้ามาบวกในบทเพลง เพื่อให้ทุกคนสามารถซึมซับบทเพลงเหล่านี้ไปได้โดยอัตโนมัต หมายถึงว่าฟังเพลงไปด้วย แล้วก็เห็นว่าอย่างน้อย 10% มีคนคิดตาม เราถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว อีก 90% เสพอย่างเดียว มันส์อย่างเดียว เมาไปเรื่อย ไม่สนใจละ ขอจังหวะมันส์ตีกัน มั่วไป อันนี้…ไม่เป็นไร…นะครับ

ฉนั้นเพลงของเราไปตามสถานการณ์ เราทำงานไปก็มีสิ่งรอบข้างเข้ามาเกี่ยวพัน วงการทหารเข้ามาเกี่ยวพัน เอ้า…น้องไปทำคอนเสิรต์ให้พี่หน่อย… เพื่อภาคใต้ เพื่อสวัสดิการทหารชนผู้น้อย หางบให้ทหารสักล้านนึง ..เราบอก..ได้ครับพี่ พี่ก็จัดมาละกันเดี๋ยวผมเล่นให้ฟรี ค่าใช้จ่ายก็ดูแลให้ผมด้วย ที่เหลือผมไม่เอาค่าตัว ทหารพาเราเข้าไปในค่าย ยิงปืน…ที่มีกระสุนเหลือ …ช่วยยิงให้หมดทีเถอะเพราะว่าเดี๋ยวในปีหน้าเบิกงบไม่ได้ เราก็ใส่กันละ M16 ยิงกันเป็นชุด ใส่กันไป…. อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้าง เราก็ได้ข้อมูลอันนี้ เราก็มา…อ้า..รู้ละ..ระบบบ้านเราเป็นอย่างนี้ เพลงต่อไปของเรา เราก็ใส่เข้าไปนะครับ เสริมความมันส์เข้าไป

อย่างที่คุณพิธีกรว่า บทเพลงของคาราบาวค่อนข้างรุนแรงกว่าพี่หงา ผมว่าอาจจะไม่ใช่…. วิธีสื่อความหมายของคาราบาว สื่อตรง เข้าใจง่าย ได้ยินได้ฟังแล้ว get เลย เพลงพี่หงาบางเพลงแรง แต่เพลงแรงต้องคิดหน่อย… ว่าแรงตรงไหน บางทีซ่อนเอาไว้ บางทีแรงคาราบาวด้วย..นะครับ เพลงเดือนเพ็ญ มีคนเคยตีความหมายว่าแรงมาก ไม่ใช่คิดถึงบ้านอย่างเดียว.. โหมไฟอะไรอย่างเนี่ย เป็นการปลุกระดมด้วยซ้ำไป คิดไปต่างๆ นานา แล้วแต่คนคิด ..ที่นี่…คำว่าเราตกเป็นเครื่องมือหรือเปล่า? อยู่ที่เราโดนคนรอบข้างนะครับ โดยความสุจริตของพวกเรา หรือว่าจริงใจของพวกเรา เราทำงาน เราดูแลปากท้องของเรา ของคนรอบข้าง เรามองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำหรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือ ณ ตอนนั้นว่าไม่ถูกต้อง เราก็ไม่อยูเฉยๆ เราลุยเลย ผมเองไม่ได้เป็นคนเขียนเนื้อ ผมเองเป็นคนที่..ค่อนข้างยุยง ใส่ไฟนิดหน่อย เล็กทำทำนองเล่นกีตาร์ แอ๊ดเป็นคนเขียนเนื้อ เพราะฉนั้นแอ๊ดทำหน้าที่หนัก ..มึงไปศึกษามาว่ามันจริงหรือปล่าว.. เรื่องราวเป็นยังไง.. เพราะว่าแอ๊ดจะรู้จักคนเยอะ เข้าหาผู้ใหญ่ นักการเมืองคนนี้รู้จัก นายทหารรู้จัก แล้วก็มาสรุปข้อมูล บวกกับความรู้สึกของพวกเรา ความรู้ของพวกเราน้อยนิดที่มีอยู่ผสมกันไป ก็แต่งเพลงออกมาในความรู้สึกของพวกเรา อาจจะมีการใส่ไฟเข้าไปนิดหนึ่งว่า เพราะเรามีความรู้สึกว่าทางด้านนี้ไม่ถูกต้อง เราก็เพิ่มให้น้ำหนักทางด้านนี้อีกนิดหนึ่ง เพราะฉนั้นก็เกิดการลำเอียงเล็กน้อย เราก็เข้าข้างคนด้อยโอกาสซะมากกว่า ที่จะไปเข้าข้างคนที่มีอำนาจ บทเพลงก็ออกมาเป็นอย่างนั้น…ครับ

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ถ้าอย่างนั้นกลับมาที่ เพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ ตามหัวข้อว่า ในปัจจุบันยังรับใช้สังคมอยู่จริงหรือ? ถ้าอย่างนั้นเพลงเพื่อชีวิตรุ่นเก่ารุ่นใหม่ มันมีความแตกต่างกันไหมครับ มันต่างกันตรงไหน หรือว่าเมื่อกี้พี่ๆ ก็บอกว่าสังคมเป็นอย่างไง เพลงก็สะท้อนอย่างนั้น สังคมเดี๋ยวนี้กับเมื่อก่อนคงแตกต่างกันแน่นอน นั้นหมายความว่าเพลงเพื่อชีวิตก็น่าจะแตกต่าง แต่มันต่างกันอย่างไร แล้วรุ่นใหม่มันยังรับใช้สังคมอยู่จริงๆ หรือ

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

ยังรับใช้อยู่สำหรับคนที่ซื้อเทปและซีดี ส่วนคนที่ไม่ได้ซื้อก็ไม่ได้ฟัง เพราะสถานีวิทยุไม่มี ก็ไม่รู้ว่าจะสื่ออย่างไร

เช่นเพลงสมัยก่อน “คนกับคน…คนทำนาประสานคน คนกับควายทำนาประสาควาย” นั้นคือเพลงเพื่อชีวิตสมัยก่อน ถ้าเป็นเพื่อชีวิตสมัยนี้

“โอ้กระหรี่ปั๊ป นับเป็นขนมชั้นยอด
ใช้อบใช้ทอด ไปตามกรรมาวิธี
ใช้สูตรเหมือนต่างกัน บางท่านมันหร่อยดี
กระหรี่ปั๊ปนี้ ขายดีมีคนชอบทาน”

อย่างนี้เป็นเพลงเพื่อชีวิตไหมครับ เพลงกระหรี่ปั๊ป (ปรบมือ)

อรรณพ นิพิทเมธาวี

เป็นการเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง ……น้องเขาถามว่าเพลงใคร

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

เพลงของผมเองครับ ….เป็นเพื่อชีวิตไหม….

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ถ้างั้นอาจารย์ คำว่า “เพื่อชีวิต” อาจารย์กำหนดอย่างไร หรือตีความอย่างไร

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

ผมกำหนดว่า คาราวาน คาราบาว แฮมเมอร์ เป็นเพื่อชีวิต

อรรณพ นิพิทเมธาวี

เพลงของอาจารย์ก็ได้รับอิทธิพลมา?

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

ได้รับอิทธิพลมา และก็คืออยู่ในประมาณนั้น

อรรณพ นิพิทเมธาวี

มาลีฮวนน่า เป็นเพื่อชีวิตไหมครับอาจารย์

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

เป็นเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ เพิ่งเกิด อันนี้มาใหม่เลย ไม่เหมือน คาราวานนะ ไม่ได้เล่นตามแถวพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน และก็ไม่ได้เล่นตามผับมาก่อน เป็นนักศึกษา ออกค่ายอาสาแล้วแต่เพลงใหม่ขึ้นมา อุดมการณ์ก็ยังนึกไม่ออก….ก็รับไว้ก่อน (ฮา) ก็ออกมาประมาณนั้น ประมาณมาลีฮวนน่า ….คิดไม่ถึงว่าจะเป็นเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ เป็นไง…งงไหม ไม่ต้องเถียงนะ (ฮา)

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ประเด็นนี้ท่านอื่นว่าอย่างไรครับ เพลงเพื่อชิวิตรุ่นเก่ารุ่นใหม่ต่างกันอย่างไร พี่เขียว มีมุมมองไหมครับ

เขียว คาราบาว

อย่างที่ผมบอกตั้งแต่แรก โดนกำหนดว่าเป็น “เพื่อชีวิต” นะครับ นักดนตรีต้องมีสูตรสำเร็จ ใส่ “เครื่องแบบ” อย่างที่ผมบอก คำว่า “เครื่องแบบ” นี่ตีความกว้างๆ นิดหนึ่ง

สำหรับตัวผมเองแล้ว ผมจะอยากเรียกว่า “เพลงสร้างสรรค์สังคม” ด้วยซ้ำไป ไม่อยากเรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ถ้าจะกำหนดว่าเราจะต้องเป็นแบบนี้ กลุ่มคนพวกนี้ กลุ่มคนที่ค่อนข้างติดดินหน่อย หรูติดดินไม่ได้ ต้องติดดินจริงๆ มาแกล้งติดดินไม่ได้ อย่างที่ผมเคยไปเป็นกรรมการประกวดเพลงเพื่อชีวิตที่เคยจัดกัน ผมไปมานี่…ก็เจอนักดนตรีที่เข้าประกวดเพลงเพื่อชีวิต มีการสร้างสรรค์เอาต้นฉบับไปแปลงซักหน่อย กฏของเขาคือเอาหนึ่งเพลงไป โคเวอร์ ไปทำใหม่ แล้วก็แต่งเพลงตัวเองหนึ่งเพลง ก็ไปเป็นกรรมการ พี่ก็ดู…. เออดี ทำออกไปในแนวเป็น soul เป็น Jazz เป็น blue ก็ได้ ว่ากันไปเรื่อยตามทาง ที่นี่….แต่นักดนตรีส่วนมากแล้วใส่เครื่องแบบ คือต้องนุ่งกางเกงยีนส์ใส่แว่นดำ ผมยาว….ก็ว่าไป พอรางวัลที่หนึ่งวงที่ได้จะได้รับการติดต่อจากบริษัทหรือค่ายเทปให้มาทำเพลงเพื่อชีวิต พอดีตรงนั้น…..ก็ได้มีการทาบทามว่า “พี่เขียวช่วยดูแลวงหน่อยได้ไหม” ผมก็บอก “ได้” ผมก็เชิญนักดนตรีที่ได้รางวัลมาเจอกัน คำถามแรกผมถามเลยว่า “ทำไมคุณถึงเล่นเพลงเพื่อชีวิต สิ่งที่ได้รับคำตอบก็คือ “ผมต้องเล่นเพราะผมเล่นดนตรีอยู่บาร์เพื่อชีวิต” “แล้วคุณชอบเพลงเพื่อชีวิตรึเปล่า” “ผมก็ชอบ….ผมฟัง”

นักดนตรีบ้านเรารุ่นใหม่ที่ผ่านมา ร้อยละ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เคยผ่านการเล่นเพลงคาราบาวมา….ถูกไหมครับ เพลงคาราบาวถูกนำไปเล่นแม้กระทั่งวงเหล้าข้างทาง ผมเห็นนักดนตรีแจ๊สบางคนที่เล่นอาชีพปัจจุบัน พอไปนั่งทานเหล้าเข้าจริงก็หยิบกีตาร์ร้องเพลงคาราบาวเหมือนกัน ตรงนี้มันเป็นเหมือนภาคบังคับ…เพลงเราดันไปดังอะ เด็กก็เอามาเล่น เพราะมันติดหูชินหูก็เล่นกัน เพราะฉะนั้นกลายเป็นเพลงบังคับ

ก็ถาม “แล้วเรามีทัศนคติอะไรเกี่ยวกับบ้านเมืองบ้างไหม มีความรู้สึกอย่างไร ตัวเองมีความรู้สึกว่าจะต้องต่อสู้ไหม ความไม่ยุติธรรมต่างๆ” “พี่ผมไม่ค่อยสนใจหรอกพี่ ผมหากินไปวันๆ” “งั้นก็กลับบ้านไปละกันนะครับ ไปตั้งสติใหม่ ก่อนที่ทำเพลงเพื่อชีวิตออกขาย ก็ไปคิดก่อนว่าเราเป็นเพื่อชิวิตจริงรึเปล่า” อันนี้คือสิ่งที่ผมบอก…กลับไปทบทวนตัวเองว่าตัวเองมีอุดมการณ์จริงหรือเปล่า เพราะฉนั้นคนทำงานเพลงในแนวนี้ต้องเป็นคนที่มีอุดมการณ์จริงๆ มีความรู้สึกว่าความไม่เสมอภาคในสังคมเป็นอย่างไร ปัจจุบันสถานการณ์ไม่ใช่เรื่องนั้นเสมอไป มันจะมีเรื่องอันตรายต่างๆ มากขึ้น

เคยคุยกับคุณอ๊อดว่า ปัญหาต่าง ๆ มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องความสมดุลความรวยความจนแล้ว มันเป็นปัญหาจากประเทศเพื่อนบ้านต่างหาก ประเทศต่างๆ ที่เข้ามาสูบกินบ้านเรา ตรงนี้คือปัญหาหนักที่เราจะต้องร่วมกันสู้

เพราะฉะนั้น ก็คงตอบอยากเพราะสถานการณ์คงจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คำว่าเพื่อชีวิตถูกจำกัด ผมเองยังมองว่าเพลงของ บิลลี่ โอแกน เพลงของ โจอี้ บอย บางเพลงเป็นเพลงเพื่อชีวิต และผมอยากจะได้นักร้องซักคนในแนว Hip Hop ร้องเพลงเพื่อชีวิต กำลังฝันกับคุณอ๊อดว่าจะหาซักคน ไม่รู้จะหาเจอเปล่า เพื่อมาเป็นฮีโร่ของกลุ่มเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบในแนวนี้แต่รู้จักคิดเพื่อสร้างสรรเพื่อสังคมบ้านเรา

อรรณพ นิพิทเมธาวี

พี่เขียวคงอยากเปลี่ยน เครื่องแบบ ให้มันลึกขึ้นกว่ายั้ย เครื่องแบบของเพลงเพื่อชีวิตน่าจะหมายถึงสิ่งที่เขาคิด ไม่ใช่สิ่งที่เขาแต่งออกมา

เขียว คาราบาว

น่าจะอยู่ข้างใน จากหัวใจเขาคิดมากกว่า ไม่ใช่ว่าจะต้องแต่งตัวแนวไหน ใส่สูท ร้องเพลงนิ่ม ๆ เพรา ะๆ แต่เนื้อเพลงสร้างสรรสังคม น่าจะเป็นเพลงเพื่อชีวิตได้เหมือนกัน

สำหรับผมกำลังชวนคุณอ๊อดและกลุ่มคนบางคน ต่อสู้ตรงนี้อยู่ สร้างกลุ่มใหม่ พลังใหม่ ….นะครับ

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ถ้าอย่างนั้นก็สนับสนุนหัวข้อสัมมนาสิครับ เพลงรุ่นใหม่เพลงในปัจจุบันรับใช้สังคมได้จริงๆ หรือเปล่า อย่างพี่เล่ามาว่าคนที่เล่นเพลงเพื่อชีวิตก็เล่นไปอย่างนั้น ไม่ได้มีความเชื่อ ไม่มีแนวคิดทางสังคม ไม่ได้ติดตามเหตุการณ์ในสังคมว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วรุ่นใหม่อยู่ตรงไหนครับ เพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ที่จะมารับใช้สังคมเนี่ย…ยังไงครับพี่

เขียว คาราบาว

ผมว่ากำลังขาดตลาด (หัวเราะ) เราก็กำลังมองหานะฮะ มองหาคนๆ หนึ่งที่จะเป็นตัวแทนสืบสาน พยายามจัดคอนเสริต จัดประกวดเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมา เพื่อจะหา หาตัวจริงตรงนี้ขึ้นมาซักคน เขากำลังหาอยู่ แต่ว่าเขาอาจจะไปซ่อนเร้นอยู่ไม่ยอมเผยตัวนะครับ ผมเจอหลายคนแต่ว่าพอคุยกับเขาแล้ว เขาบอก “พี่ผมถอยก่อน” “ผมไม่อยากเป็นอย่างนั้น” “ผมอยากทำงานของผมไปเรื่อยๆ ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ผมไม่อยากที่จะขึ้นมาเป็นตรงนี้” ผมก็บอก“เฮ้ย…ที่เราทำอยู่ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแรกก่อนที่เราจะไปสามารถช่วยคนหมู่มากได้ เราต้องขึ้นไปข้างบนก่อน หมายถึงว่าเราต้องทำตัวเองให้ขึ้นไปบนนั้นให้ได้” อย่างคาราบาวเองเราเคยคุยกัน แอ๊ดก็บอกว่าก่อนที่เรากลับมาช่วยสังคมในหมู่มาก เราต้องกระโดดขึ้นไปก่อน ขึ้นไปยืนสูงๆ ก่อน แล้วเราถึงจะหันกลับมาช่วยสังคมได้ ในขณะที่เราเรี่ยอยู่กับดินเราช่วยอะไรเขาไม่ได้แน่นอน ถ้าเราจะคิดช่วยในหมู่มาก

อรรณพ นิพิทเมธาวี

พี่อ๊อดละครับ เรื่องเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ ?

อ๊อด จักรกฤษ

……แตกต่างจากรุ่นเก่าไหมเหรอ อาจจะนั่งอนู่แถวเนอะ…พี่เขียว อาจจะอยู่แถวนี้ (หัวเราะ)

มีอยู่หลายทีที่เรานั่งคุยกัน ….ถ้าใช้คำอังกฤษว่า แต่ละ Generation ถ้าเทียบว่า คาราวาน เริ่มต้นขึ้นมา แล้วก็มี คาราบาว แล้วก็มี พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ เป็น 3 Generations จนกระทั่ง คุณวินิจ (เลิศรัตนชัย) เอามาทำ 3 ตำนานอะไรก็แล้วแต่ อาจจะมีคำถามว่า น้าเผือก ไปไหน น้าซู ไปไหน ผมว่าก็คงเหมารวมๆ ว่าใน คาราวาน นั้นมี วงคุรุชน ต้นกล้า กงล้อ รวมฆ้อน อยู่ตรงนั้น ใน คาราบาว ก็มี คนด่านเกวียน มี…อะไรต่างๆ มี ซูซู อยู่ตรงนั้น แล้วก็มาถึงรุ่น พงษ์สิทธิ คัมภีร์ ก็คงมีคนอื่นๆ อยู่ตรงนั้นด้วยนะครับ

ยังหาไม่เห็น Generation ที่ 4 เลย คนรุ่นที่ 4 ที่จะขึ้นไปยืนเทียบเท่ากับ ปู พงษ์สิทธิ เอาแค่ปูนะ ไม่ได้มองพี่ๆ อย่าง คาราวาน คาราบาว หายากจังเลย

แล้วพื้นฐานก็อย่างพี่เขียวว่า จริงๆ แล้วนักดนตรี ไม่ได้บอกว่าต้องกลับไปมองดูสังคม เพราะจริงๆ เขาก็ทำเพื่ออยู่รอด เล่นดนตรีตามผับเพื่อที่จะเยียวยาครอบครัว เยียวยาชีวิตตัวเอง แต่บางคนก็ไม่ได้เยียวยานะครับ พอเล่นดนตรีเสร็จก็กินเหล้า ตื่น 1 ทุ่มแล้วก็มาเล่นต่อ 2 ทุ่ม กลับมานอน 7 โมงเช้า ตื่นทุ่มหนึ่ง…..เป็นอย่างนี้ แม้กระทั่งเพลงที่เล่นอยู่ทุกคืน ยังไม่ค่อยได้ซ้อมเลยเล่นผิดเล่นถูกบนเวทีในผับด้วยซ้ำ จะบอกว่าคุณเป็นนักดนตรีก็กระไรอยู่

อีกอันที่มองเห็นมากๆ ก็คือว่า น้องๆ รุ่นใหม่ๆ ที่บอกว่าตัวเองอยากจะเล่นเพลงเพิ่อชีวิต ขาดการค้นคว้า เมื่อซักครู่นี้พี่เขียวเองก็บอกว่าแม้กระทั้งพี่แอ๊ดเอง จะเขียนเพลงขึ้นมาเพลงนึง…ต้องค้นคว้า ต้องอ่านหนังสือ ต้องถามข้อมูลจริงจากแหล่งข่าวจริงๆ แล้วเชื่อว่าอาจารย์ยงยุทธ์เอง…เวลาเขียนเพลง อย่างเพลง “กระหรี่ปั๊ป” เหมือนกัน…งั้นไม่รู้หรอกว่ามีทั้งอบ ทั้งทอด มันต้องมีข้อมูล เป็นคนกินกระหรี่ปั๊ปอยู่แล้ว…เขียนได้ อะไรต่างๆ เหล่านี้

คนรุ่นใหม่…เด็กรุ่นใหม่..บางมีนี่…. ก็ไม่อ่านหนังสือด้วย ลองไปถามเขาดูว่าหนังสือหลักๆ ที่พี่ๆ เขาเคยอ่านมา แล้วฝั่งอุดมการณ์ในใจ เพื่อมองสังคม มองมิติทางสังคมได้หลายมิติ ซับซ้อนมากขึ้นไหมเนี่ย เปล่า….เขาไม่มอง รู้สึกว่าฉันเขียนได้แล้วฉันก็เขียน กลอนพาไปอย่างที่ว่าตอนแรกเท่านั้นเอง ไม่ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วมิติทางสังคมที่ควรจะมองเป็นอย่างไรๆ บ้าง มันมีกี่มิติ มันซับซ้อนขนาดไหน ขาดการติดตาม ขาดการอ่านหนังสือ แล้วก็ขาดการปลูกฝังข้อมูลให้กับตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องอันตราย แล้วก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วงทีเดียว

แต่ผมเชื่อว่าไม่สิ้นหวังหรอกครับ ถ้าพี่เขียวขึ้นมาเป็นแกนสำคัญคนหนึ่งที่จะช่วยกันผลัก

อย่างไรก็ตามที ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเอามาพัฒนาอนาคตต่อไป….มันทำได้ แล้วยิ่งประวัติศาสตร์ รอยต่อ ที่เริ่มต้นจาก คาราบาว เป็นประวัติศาสตร์ใหญ่ ประวัติศาสตร์หนึ่งของวงการเพลงเพื่อชีวิต

การที่พี่เขียวบอกว่า “มีเครื่องแบบ” บ่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องจริง ถ้าเราเทียบตั้งแต่แรกเลยว่าเพื่อชีวิตมันมาอย่างไร แล้วมาจนถึง คาราบาว นี่ ก่อนหน้านั้นไม่มีนะฮะ เขาก็แต่งตัวกันตามสบาย คือทุกอย่างมันสบายเท่าที่จะหาได้ เพราะมันต้องเคลื่อนย้ายบ่อยและต้องเคลื่อนย้ายเร็ว แม้กระทั้งเครื่องมือในการเล่นดนตรีก็ตามทีต้องเคลื่อนย้ายเร็ว เพราะว่าอันตรายถูกยิงถึงตายได้บนเวที เพราะฉะนั้นต้องย้ายเร็ว ก็เลยต้องสบาย

แต่พอมาเป็น คาราบาว ปั๊ป เขาเริ่มมีการวาง….ภาษาอังกฤษเขาเรียก Look หรือ รูปแบบ ให้เห็นว่า เฮ้ย….เสื้อแขนกุด มีสักหัวควาย ….ใช่เลย …ผมยาว มีหนวด ใส่แว่นดำ …..มันสร้างรูปแบบ แล้วก็เป็นรูปแบบขึ้นจริงๆ ในยุคนี้ ยุคคาราบาว เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่ก็เลยไม่คลี่คลาย ไม่เห็นจุดยืนของตัวเอง หาตัวเองไม่เจอ นึกว่าใส่แขนกุดแล้วกูเพื่อชีวิตละ ไม่รู้ละ ใส่แขนกุดแล้วกูใช่เลย… ไว้ผมยาวกูก็เป็นเพื่อชีวิตแล้ว มันไม่คลี่คลาย จะไปยึดติดรูปแบบตรงนั้น มันไม่มีทางหรอกที่จะเกิดรุ่นใหม่ๆ มาต่อไปได้ ถ้าคุณยึดติด คุณก็ไม่มีวันจะเป็น “คนข้างบน” อย่างที่พี่เขียวว่าได้ คุณก็กลายเป็น “บาว” คนเบอร์ 2 ไม่มีทางเป็นคนเบอร์ 1 ได้อยู่แล้ว ชี้นำสังคมไม่ได้อยู่แล้ว เพราะภูมิคุณก็ไม่แข็งพอ

เพราะฉนั้นตอบตรงนี้ว่า….รุ่นใหม่ มีหวัง ไหม..ก็ มีหวัง แล้วถามว่ารุ่นใหม่ รับใช้ ไหม……ก็ก็….ก็ยังห่วงอยู่พอสมควร เข้าไปดูในหลายๆ เพลงของเด็กรุ่นใหม่ๆ แล้วก็น่าเป็นห่วงอยู่พอสมควร …สำหรับผมนะ …เป็นห่วงอยู่พอสมควรในหลายเพลงที่หยิบออกมา หรือว่าบางทีมันสะท้อนภาพสังคมที่เป็นอยู่จริงในยุคปัจจุบันหรือไม่…เราก็ไม่รู้ การยุยงส่งเสริมให้เป็นชู้กัน…อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันน่ากลัว มันอันตรายมากทีเดียว…เหมือนกัน

อรรณพ นิพิทเมธาวี

จริง ๆ ผมก็ยังมีคำถามนะครับ แต่อยากจะให้เพื่อนๆ แลกเปลี่ยน เพื่อนคนไหนอยากจะชวนคุยเรื่องอะไร หรืออยากแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไร เชิญครับ

ผู้เข้าร่วมสัมมนา

ผมอยากถามพี่ ๆ ว่า คำว่า “เพื่อชีวิต” กับ “อุดมการณ์” ไปด้วยกันได้ไหมครับ เพื่อชีวิตมันจำเป็นต้องมีอุดมการณ์ไหมครับ …มากน้อยแค่ไหนครับ รุ่นหนึ่งมีอุดมการณ์ รุ่นต่อมาอาจมีอีกอุดมการณ์หนึ่ง แต่ว่าอุดมการณ์จริงๆ แล้ว ที่ตั้งไว้แล้วมันอยู่ตรงไหน

เขียว คาราบาว

ผมว่านานาจิตตัง….แล้วแต่บุคคล แต่อันดับแรกผมว่าถ้าจะทำเพลงในแนวนี้ หรือว่าเป็นคนเพลงในแนวเพลงสร้างสรรสังคม ผมไม่ยอมเรียกเพลงเพื่อชีวิตละ (หัวเราะ) แนวเพลงสร้างสรรสังคม…น่าจะมีอุดมการณ์ซักอย่าง อุดมการณ์ที่จะตอบเรื่องสิ่งนี้ อุดมการณ์ที่จะสร้างสรรค์ตรงนี้ อุดมการณ์ที่จะทำอะไรซักอย่าง มันน่าจะมีก่อนทำเพลงสร้างสรรสังคม…ไม่ใช่เพื่อชีวิตละ

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

อุดมการณ์ต้องมีครับ ถ้าไม่มีอุดมการณ์ทำได้แต่ไม่สำเร็จครับ อุดมการณ์ไม่ได้หมายถึงว่าทำเพลงเพื่อชีวิตอย่างเดียวต้องมีอุดมการณ์ ขายผ้าก็ต้องมีอุดมการณ์ ก็คือ…เอาจริงเอาจังกับมัน ก็ต้องมีอุดมการณ์ในการขายผ้า อุดมการณ์ในการขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง…ต้องมีครับ ถ้าไม่มีอุดมการณ์ทำไม่ได้ครับผม

อรรณพ นิพิทเมธาวี

มีอีกไหมครับ เชิญครับ

ผู้เข้าร่วมสัมมนา

มีข้อคิดเห็นนิดหนึ่งนะครับ ….ผมมาจากธรรมศาสตร์เห็นทางนี้ชวนไปก็เลยมา คือความคิดเห็นข้อแรก เริ่มตั้งแต่ชื่อหัวข้อ “เพลงเพื่อชีวิตยังรับใช้สังคมอยู่ต่อไปหรือเปล่า?” ต่อจากนั้นจะเห็นคุณพิธีกรพูดประมาณว่าเมื่อรับใช้แล้วจะเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะในทางบวกหรือในทางลบ แล้วในทางลบมันจะกลายเป็นเครื่องมือของทุนหรือเปล่า กลุ่มนายทุน..บราๆๆ อันนี้เป็นข้อคิดเห็นนะครับ ผมเห็นว่าเพลงมันเป็นได้ที่จะรับใช้อะไร….แต่มันไม่จำเป็นที่จะต้องรับใช้ คือผมไม่เชื่อว่าศิลปะ ดนตรี มันมีหน้าที่เพื่อรับใช้อะไรแต่เพียงอย่างเดียว คือมันทำเพื่อสุนทรียะ มันทำเพื่อความสวยงามในจิตใจ ถ้ามันจะรับใช้อย่างเดียวผมก็คิดว่ามันก็รับใช้อุดมการณ์หรือภาพที่อยู่ในหัวของนักดนตรีคนนั้นแหละ เพราะถ้ามันออกมาจากหัวก็เรื่องหนึ่ง ถ้าออกมารับใช้สังคมนะ แล้วสังคมเป็นอย่างไงถึงต้องรับใช้แล้ว เขาจะสั่งให้เป็นอย่างไง แล้วใครเป็นคนสั่ง นายทุนเหรอ…เป็นนายทุนมันไม่ดีเหรอ มันไม่มีตรงไหนว่ะ อะไรอย่างนี้… แต่ถ้ามองว่ามันเป็นเรื่องที่ออกมาจากหัวนะ ถ้ารับใช้ก็รับใช้หัวคน ออกมาเพื่อพยายามจะสื่อให้คนอื่นเห็น ถ้าไม่สนก็สื่อให้ตัวเองรู้ก็ได้ แต่ถ้าอยากสื่อออกมาให้คนอื่นเห็น มันก็เห็นชัดเจน ถ้าเขาเป็นคนดี เขามีอุดมการณ์ มันก็ออกมาเอง มันก็ไม่ได้รับใช้ใคร เมื่อมันไม่ได้รับใช้ มันก็ไม่มีปัญหาเรื่องว่าเป็นเครื่องมือของใคร ถ้านายทุนเขาอยากให้ทุนมา แล้วเราต้องทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ ให้เขาเพื่อให้เรา..มันอยู่ได้ ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเสียหายตรงไหนครับ ผมว่าถ้ามันเป็นเรื่องรับใช้มันก็มีปัญหาเยอะ เพราะเรื่องอุดมการณ์มันก็นานาจิตังอย่างที่พี่ว่านะครับ

อย่างเรื่องนายทุนอย่างงี้ ถ้าเพลงเพื่อชีวิตยุคหลังๆ ผมเห็นมากเลย ตอนนี้แบบ….คอมมิวนิสต์ก็ไม่มีแล้ว อะไรที่ไปด่าก็ไม่มีแล้ว กลายเป็นเรื่องนายทุน เรื่องโลกาภิวัฒน์ ซึ่งผมเห็นว่าผมอนาถจิตมากเลย คือลองคิดดูนะ แม้แต่เรื่องเทสโก้โลตัส ร้องออกมาไปด่าเขา สักพักก็มีคนเอาไปเขียน แต่แบบ…..แล้วมันไม่ดีตรงไหนอะ แบบว่าเทสโก้โลตัสเนี้ย ที่พี่บอกว่ามันจะเอาทุนออกไปนอกประเทศอันนี้ผมก็พูดว่ามันก็จริง แต่มันไม่จริงทั้งหมดแล้วมันจริงน้อยด้วย เพราะว่าเงินส่วนใหญ่มันก็จ้างคนในประเทศไทย กำไรที่มันออกไปเป็นมาร์จิ้นก็ออกไปนิดเดียว …คือผมเรียนเศษฐศาสตร์ (หัวเราะ) คือเงินส่วนใหญ่ที่ได้ก็ได้กับคนไทย

ส่วนที่สองอย่างที่บอกว่า….เฮ้ย..แล้วชุมชนละ ไอ้ความเป็นจิตวิญญาณของชุมชนมันก็จะหายไป แต่ผมว่าอะไรก็ตามมันขึ้นอยู่กับบริบทนะครับ ถ้าเกิดสังคมตรงนั้นมันไม่สามารถที่จะรองรับ ไอ้ตัวโชว์ห่วยได้ต่อไป มันเป็นสังคมที่กว้างใหญ่ขึ้น มันยากที่โชวห่วย จะอยู่ได้ แล้วมันต้องสูญสลายไปมันก็เป็นวิถีของธรรมชาติ เพียงแต่ถ้าถามว่าคนจนจริงๆ ละ ถ้าชุมชนที่เป็นชุมชนเล็กๆ โชว์ห่วยจะหายไปได้ไหม มันจะทำลายวิถีไทยไหม มันไม่มีทางทำลายได้ เพราะว่าถ้ามันเป็นชุมชนเล็กๆ เป็นเงินนิดเดียว พวกเทสโก้ ก็ไม่มาเอาอยู่แล้ว

ผมว่าท้ายที่สุดแล้ว….ประเด็นสุดท้ายสรุปก็คือ ไม่อยากให้คิดว่ามันเป็นเรื่องรับใช้อะไรหรือไม่ เพราะถ้ารับใช้มันก็จะเป็นปัญหาอย่างนี้ กลายเป็นเรื่องปลุกอุดมการณ์ซึ่งอาจจะมาจากความไม่รู้ของตัวเองรึเปล่า แต่อยากให้พูดว่ามันออกจากหัว… อยากให้สังคมดีขึ้น อย่างเพลงสร้างสรรค์สังคมผมชอบพี่มาก้ลย ไอเดียดีครับ แค่นี้แหละครับ ขอบคุณครับ

เขียว คาราบาว

ผมว่า..ผมเจอแล้วนะครับ เพื่อชีวิตรุ่นใหม่ เนี้ยละครับ…คนที่มีอุดมการณ์ มีความคิดสร้างสรรค์อย่างงี้ กับสถานการณ์ปัจจุบัน ของโลกที่เปลี่ยนไป อย่างที่คุณอ๊อดบอกการเป็นนิวเจนเนอร์เรชั่นใหม่มากกว่า เพลงสร้างสรรสังคมไม่ใช่เพื่อชีวิต.. (หัวเราะ)

อ๊อด จักรกฤษ

ผมถูกพาดพิงโดยตรง ขออนุญาตใช้สิทธิ (หัวเราะ) เดี๋ยวเป็นการเปลี่ยนประเด็น คือเมื่อกี้ยกตัวอย่างสั้นๆ จริงๆ ถ้าจะคุยหัวข้อนั้น….มันยาวอีกครับ เป็นอีกหัวข้อหนึ่งเลยด้วยซ้ำ แต่นิดเดียวครับ…อย่างที่บอกบางทีมันต้องมองหลายมิติ เผอิญยกขึ้นมามิติเดียว ผมไม่ได้อะไรกับเขานะ….ผมก็ยังเดิน เทสโกโลตัส อยู่เหมือนกัน พี่เขียวยืนยันได้เพราะเจอผมเดินในโลตัสบ่อย เพราะพี่เขียวก็ไปด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ว่าเรากำลังบอกว่า ‘ภูมิ’ ของเราจำเป็น ไม่ได้มาปลุกกระแสให้คลั่งชาติแบบเขมร แต่บางอย่างต้องมี ‘ภูมิ’ อย่างที่ผมบอก..บางทีมันสะท้อนภาพภูมิของคนไทย ภูมิของสังคมในขณะนั้นด้วยว่าชุมชนเราเป็นอย่างไร ถ้าคุยไปเดี๋ยวมันจะยาว…เอาสั้นๆ นิดเดียว การที่คุณไปเดินตามส่วนต่างๆ ของโลตัส มันมีสินค้าของเขาเองวางไว้ นี่เป็นเรื่องนึงที่อันตรายมากๆ สำหรับสังคมไทย มันมีอะไรซับซ้อน ซ่อนเงื่อนมากกว่าในตำราเศษฐศาสตร์สอนอยู่ในขณะนี้ และเขาก็เป็นคนเขียนตำราเศษฐศาสตร์ เมื่อกี้เราก็คุยถึงเรื่องบัตรเครดิตเองก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง ไปดูเถอะครับว่าบัตรเครดิตต่างชาติเข้ามาขนาดไหน แล้วมันอันตรายแค่ไหนไหม เราอาจจะยังไม่รู้สึกในขณะนี้ ….ไม่เป็นไร

เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพลงมันรับใช้ไหม ผมเชื่อว่าทุกอย่างมันต้องรับใช้ ถึงแม้ว่า….ท่านใช้คำว่าสุนทรียะ มันก็รับใช้สุนทรียะของคนนั้นแหละ ทุกอย่างมันรับใช้….ผมเชื่ออย่างนั้น ผมเองขอฟันธงว่ามันรับใช้ แต่ประเด็นไหน ยังไง ก็อย่างที่ผมคุยตั้งแต่แรกแล้วนะครับ ขอบคุณครับ

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ใครจะเสนอประเด็นหรือแลกเปลี่ยนในหัวข้อไหนบ้าง…อีกไหมครับ

ถ้าไม่มี ผมอยากจะให้พี่ ๆ สรุป ทิ้งท้ายให้น้อง ๆ หน่อยว่า จากนี้ไปการฟังเพลงสร้างสรรสังคมของพี่เขียว แต่มันเป็นเพลงเพื่อชีวิตของผมจะอยู่ตรงไหน เราอาจจะเลือกฟังยังไง เราจะทำอย่างไรกับบทเพลง จะคิดว่ายังรับใช้หรือว่าเป็นแค่เครื่องปลอบใจเราในบางห้วงขณะ…

อ๊อด จักรกฤษ

ยังยืนยันตรงนี้….จริง ๆ ผมขอยืนข้าง อ.ยงยุทธ์ ที่ว่ายังเป็นเพลงเพื่อชีวิต อย่างไรก็ตามทีผมเชื่อว่าในที่สุดมันก็ต้องมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าเราบอกว่า ปัจจุบันนี้เรื่องราวอย่างที่พี่ๆ เคยเขียนไว้ในการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา มันไม่มีเรื่องราวอย่างนั้นแล้ว แต่เรื่องราวอื่นๆ ในสังคมมันมีเยอะ ที่จะหยิบขึ้นมาเล่าให้ฟังได้ คือไม่ได้รู้สึกว่ารุนแรงอะไร เพียงแต่ผมอยากให้สัดส่วนของบทเพลงที่มันรับใช้สังคมอยู่ในขณะนี้ ในฐานะบทเพลงเพื่อชีวิต มียืนอยู่บ้างในสังคม บทเพลงเพื่อชีวิต…จริงๆ นี่…ผมพูดอยู่หลายทีว่ารากหง้ามันมาจากเพลงพื้นบ้าน….. บทเพลงเหล่านี้ ปัจจุบันเรา เด็กรุ่นใหม่ๆ รู้จักเพลงมาลัยไหม รู้จักเพลงเกี่ยวข้าวไหม รู้จักอะไรต่างๆ เหล่านี้ไหม อีแซว ลำตัด อะไรต่างๆ เหล่านี้เราดูบ้างไหม เราหันไปมองลิเกบ้างไหม วัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ มันควรมีอยู่ในสังคมบ้าง ในสัดส่วนเล็กๆ ก็ยังดี ดีกว่ามันจะหายไปเลย เพราะอย่างน้อยที่สุดบทเพลงเหล่านี้มันก็ให้สติต่อสังคม ต่อมวลชน ถึงแม้…..อย่างพี่เขียวบอกว่า ทำไปแล้วจะมีคนฟังสัก 10% อีก 90% หรือ 80% นั้น…เต้นระบำสนุกสนาน มันก็ยังถือว่าได้บ้าง ก็ขอมีสัดส่วนอย่างงี้….ในสังคมเพลงบ้านเราบ้าง ไม่ใช่ให้มันล้มสลายหายไป แล้วผมไม่รู้ว่าในที่สุดแล้ว มันจะไปยืนอยู่ตรงไหน ถึงแม้ว่าจะมีน้องๆ เพื่อนๆ นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่าง Loso หลายเพลงผมว่าเป็นเพลงที่น่าสนใจทีเดียว อย่างวง Fly หลาย ๆ เพลงน่าสนใจทีเดียว ก็ไม่จำเป็นหรอกครับ ว่าจะต้องเป็นเพื่อชีวิตหรือไม่ อย่างนี้นะครับ ถ้ามันมีติดอยู่ในวัฒนธรรมดนตรีของไทยบ้าง ผมว่ามันจะดี สิ่งที่เรียกร้องก็คือขอให้มีสัดส่วนบ้าง ในฐานะนักจัดรายการวิทยุ….คุณไปฟังสิครับ ในหน้าปัดวิทยุเนี่ย คุณแทบจะหาบทเพลงแบบนี้ฟังไม่ได้เลย แทบจะไม่มีซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง ….สำหรับผม…ห่วงว่าผมจะตกงานด้วยส่วนหนึ่ง..จะไม่มีอาชีพทำ (หัวเราะ) บทเพลงอย่างนี้ มันน่าจะมีสัดส่วนเล็ก ๆ ให้เกิดขึ้นบ้าง ก็คงสรุปทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ …ขอบพระคุณครับ

เขียว คาราบาว

สำหรับผมก็…เข้าเรื่องเดิมก็คือ ฝากเอาไว้กับคนรุ่นใหม่แล้วกัน ผมกำลังหาอยู่ว่าใครที่จะเป็นตัวแทน หรือมีความคิดสร้างสรรค์ อาจจะเป็นการปฏิวัติวงการดนตรี เพลงเพื่อชีวิตสร้างสรรสังคม ผสมด้วยเลยดีกว่า จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันนะครับ ให้เกิดขึ้นอีกลักษณะหนึ่ง หรือว่าเปลี่ยนรูปแบบไปเลย ผมฝันเอาไว้ตรงนั้น และก็มีความรู้สึกว่าตัวเองอยากจะมีส่วนร่วมในการผลักดันตรงนี้ บอกกับคุณอ๊อดว่า…มีอะไรให้ช่วยก็บอก… เราอาจจะจัด…..ขบวนการขึ้นมาเป็นกลุ่มของคนตรงนี้ แนวเพลงสร้างสรรค์ตรงนี้มาทำ ไม่จำกัดแนวว่าจะต้องเป็นแนวไหน อย่างน้อยขอให้มี ก็กำลังรออยู่นะครับ …ตอนนี้กำลังขาดตลาด ฝากไปด้วยครับ ขอบคุณมาก…

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน 

ขอบคุณครับ… พี่เขียวอยากให้เรียกเพลงสะท้อนสังคม สะท้อนชีวิตได้ไหมครับ สร้างสรรด้วย สะท้อนด้วย… ผมว่าเรียกยากนะพี่นะ เรียกเพื่อชีวิตดีกว่า ….คือมันติดแล้วอะครับ เราเรียกมือถือ พอเขาจะประยุกต์ออกมาเป็น ‘แหวน’ เคยเห็นไหม ที่เขาประยุกต์ออกมาเป็นแหวน ผมก็ยังไม่เคยเห็นอะนะ แต่ผมว่ามันต้องมีอะนะ …เราจะเรียกว่า ‘แหวนถือ’ ดีไหม (เสียงหัวเราะ) เรียกเพื่อชีวิตนี้แหละ

เมื่อกี้มีประเด็นอื่นที่ถาม …..ลืมไปแล้วจริงๆ อยากจะตอบ ถามอะไรนะ

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ประเด็นไหนครับ…อาจารย์ …เรื่องเครื่องมือหรือเปล่าครับ..

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

เรื่องเครื่องมือตอบไปแล้ว อ้อ…เรื่อง ‘ทำไมเพลงเพื่อชีวิตสมัยนี้ขายไม่ได้’ อันนี้ใช่ไหม ที่เป็นปัญหาอยู่

อรรณพ นิพิทเมธาวี

อาจารย์อยากพูดเรื่องนั้นก็ได้ครับ (เสียงหัวเราะ)

อ.ยงยุทธ ด้ามขวาน

ได้นะ…(หัวเราะ) มันขายยากครับ ผมว่าถ้าจะไปทำธุรกิจเพลงเพื่อชีวิตทำยาก ไปทำอย่างอื่นดีกว่า แล้วก็ทางพี่อ๊อดและพี่เขียวก็จะหา ที่เรียกว่า เพื่อชีวิตรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังขาดตลาด ผมว่าพี่หาไม่เจอหรอกครับพี่ …หายาก ไม่มีพี่ เวลา ปู พงษ์สิทธ์ิ คัมภีร์ เขาจะเกิดไม่เห็นมีใครไปหาเลย….เกิดเอง คาราบาวเกิดมา คาราวานไม่ได้เที่ยวไปหา ใช่มะ คาราวานเขาก็เกิดของเขาเอง พงษ์สิทธ์ก็ิเกิดของเขาเอง ทุกคนเกิดมาเอง บางทีอาจจะหลายปีหน่อยจะเกิดขึ้นมาอีก ก็ให้ คาราบาวขายไอ้นี่…ให้หมดก่อน (หัวเราะ) อาจจะมีคนเกิดก็ได้..นะครับ ขอเชิญพิธีกรครับ (หัวเราะ)

อรรณพ นิพิทเมธาวี

ขอบคุณครับ ผมไม่ขอสรุปละกันนะครับ ว่าจริงๆ มันจะรับใช้ หรือมันไม่รับใช้ยังไง แต่ทุกครั้งที่เราไปออกค่ายกัน ทุกครั้งที่รอบกองไฟ ทุกครั้งที่เล่นกีตาร์ หลังจากที่เราทำงานเสร็จ….เราก็เล่นเพลง คนสร้างบ้าน คนหนังเหนียว หลังจากที่เราไปสอนเด็ก เราไปเห็นสภาพโรงเรียน สภาพเด็กนักเรียน….เราเล่นเพลง โรงเรียนของหนู และเราจะร้องเพลง กรรณิการ์ ผมไม่รู้ว่าการทำกิจกรรมค่ายฯ จะมีความหมายอะไร ในเมื่อในขณะเวลานั้น ในชั่วโมงเหล่านั้น ไปร้องเพลงฮิต ๆ รักใคร่ ๆ ที่พูดถึงแต่ตัวเองแล้วละทิ้งสังคมและผู้ทุกข์ยากไว้เบื้องหลัง และนี่คือเหตุผลที่เกิดเวทีนี้ขึ้นมา ต้องขอขอบคุณ วิทยากรทั้งสามท่านนะครับ