นกเขาไฟ
คำร้อง – ทำนอง : พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่ นกเขาไฟ พาใจเรามา
ดอกไม้ มาแซมเสียบผม เด็ดดม ชมทั่วภูผา
เรียงร้อย เป็นถ้อยมาลา โปรดมา รับมาลัยแห้ง
ดอกไม้ มาลัยห้อยคอ แก้มหนอ ก็ทาสีแดง
ผ้าถุง นั้นอีหล้าฮักแห้ง เสื้อแดง แต่งแต้มลายดอก
ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่ นกเขาไฟ บินร่ายเริงลม
เจ้าฟ้อน ไม่อ่อนแต่สวย ผ้ามวยโพกสวยสุดสม
ผิวคล้ำ ผมดำ ตาตม เอวกลม ฟ้อนรอบกองไฟ
สูบยา พันด้ายสีแดง ลงแรง ถางดงพงไพร
ดอกเหงื่อ มันหอมหวลนวลใย สุขใจ ไร่ข้าวหอมกรุ่น
ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่ นกเขาไฟ ลงไร่ปลายนา
ดอกไม้ มาแซมเสียบผม เด็ดดม ชมทั่วภูผา
เรียงร้อย เป็นถ้อยมาลา โปรดมา รับมาลัยแห้ง
ดอกไม้ ซ่อนในรวงข้าว หนุ่มสาว เจ้าช่วยออกแรง
ตีข้าว เอาดอกไม้แดง ญาติแย่ง ไปรอบลอมฟาง
ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่ นกเขาไฟ ดวงใจชาวดอย
ภูผา เวลาเย็นย่ำ ถิ่นถ้ำ เสียงน้ำตกย้อย
หนุ่มสาว คลอเคล้าใจลอย เกี่ยวก้อย นกน้อยละเมอ
ภูผา เวลาย่ำค่ำ ถิ่นถ้ำ เสียงน้ำตกเพ้อ
นกน้อย ใจลอยละเมอ เกี่ยวเธอ ฟ้อนรอบกองไฟ
เกี่ยวเธอ ฟ้อนรอบกองไฟ
พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หรือที่ใคร ๆ เรียกว่า น้าหมู เจ้าของสมญานาม “กวีศรีชาวไร่” ที่ ลุงไฟ (นายผี หรือ อัศนี พลจันทร์) เป็นคนตั้งให้ สมาชิกคนหนึ่งของวงดนตรีเพื่อชีวิต คาราวาน ยุคเริ่มต้น ร่วมทั้งได้ “เข้าป่า” ไปพร้อมกับคาราวาน และนักศึกษาใน ยุค 6 ตุลา 2519 แต่ความเป็นศิลปินเพลงของเขา เริ่มต้นเมื่อกลับออกมาจากป่าแล้ว เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้ พงษ์เทพ มากที่สุด เห็นจะเป็น ตังเก เพลงสามช่า สนุก ๆ ที่อยู่ในอัลบั้มคนจนรุ่นใหม่
แต่เพลงที่จะนำเสนอ ณ ที่นี้ เป็นเพลงในชุดแรก ช่วงแรก ๆ ของชีวิตนักดนตรีของเขา นั่นคือเพลง “นกเขาไฟ” เพลงที่หลาย ๆ คนบอกว่านี่คือ เพลงที่ดีที่สุด ลุ่มลึกที่สุดของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
หลังจากกลับออกมาจากป่า น้าหมู พงษ์เทพ ก็ไปพักอาศัยอยู่กับ วิสา คัญทัพ ที่แฟลตการเคหะ คลองจั่น โดยใช้เวลาที่ไม่มีอะไรทำ หัดเล่นกีตาร์ (ตอนเล่นกับคาราวาน เล่นตำแหน่งเพอร์คัสชั่น) โดยแกะทำนองเพลง ซอล่องน่าน อันเป็นเพลงของคนชนเผ่าลัวะ ในจังหวัดน่าน ที่ได้ยินติดหูมาจากในป่า นำมาเป็นทำนอง แล้วแต่งเนื้อร้องใส่ลงไป ซึ่งก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในป่าเช่นกัน
เนื่องจากเป็นเพลงลักษณะเพลงพื้นบ้าน เพลงชุดนี้จึงไม่มีความถูกต้องในแง่ของหลักทฤษฎีเพลงสากล หรือหลักการเขียนเพลงทั่ว ๆ ไป เช่น จังหวะไม่ครบห้อง ไม่มีท่อนแยก ไม่มีท่อนหุก ไม่มีท่อนร้อง 1 ร้อง 2 เป็นต้น และที่ว่าเป็นชุด ก็เพราะ น้าหมู พงษ์เทพ นำทำนองนี้แต่งเป็นเพลง 3 เพลง ได้แก่ นกเขาไฟ, ลิงทะโมน และจูบฟ้าฝากดิน
เพลง นกเขาไฟ พูดถึงประเพณีการหาคู่ของคนลัวะ ซึ่งเขียนบรรยายไว้ค่อนข้างละเอียด และโดดเด่นทางวรรณศิลป์ ด้วยภาษาที่เข้าใจยาก บวกทำนองเพลงพื้นบ้าน เพลงจึงไม่ได้รับความนิยมในช่วงแรก ๆ ที่เทปออกวางแผง แต่เมื่อเวลาผ่านไปศิลปะที่แท้จริงที่ย่อมมีคุณค่าในตัวเอง ก็แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของมัน
มาติดตามเรื่องราวของ นกเขาไฟ ที่น้าหมูเคยเล่าไว้กันครับ
“ผมกลับออกมาจากป่าปี 2524 เข้าไป 2519 ได้เจอเรื่องหนึ่งที่ผมเขียน แล้วก็ได้การยอมรับพอสมควรในเรื่องเพลง นั่นก็คือ นกเขาไฟ
ไปทำไร่อยู่จังหวัดน่าน ตอนนั้นพี่หงาอยู่น่านใต้ ผมอยู่น่านเหนือ คือ…ผู้หญิงที่นั้น เป็นคนแข็งแรง แข็งแรงมาก ๆ เลย แบบ…ข้าวเป็นถัง ๆ ใหญ่ ๆ เป็นเปอะ ใส่หน้าผาก แล้วก็เดินขึ้นภูสูง ๆ ๆ แข็งแรงจริง ๆ ทำไร่ ฟัดไร่ ปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว เป็นผู้หญิงที่แข็งแรง ความแข็งแรงทำให้รู้สึก…รู้สึก มีอารมณ์ (ฮา) คือ..อารมณ์ที่จะมองว่าเธอทำไมถึงแข็งแรง (ฮา) ก็ได้ดู ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจเธอว่า เธออยู่ได้เพราะความรัก เธออยู่ได้ด้วยความรัก รักตรงนี้ รักห้วยนี้ รักป่าผืนนี้ รักต้นไม้ที่ให้ประโยชน์ต่อชีวิต ให้เป็นยาเป็นอะไร และรักคน ๆ หนึ่งที่ทำไร่อยู่ข้าง ๆ ทีนี้ไร่ของชาวบ้านมันอยู่ไกลกันนะครับ เป็นลูกเขา ลูกภูเลย ไอ้จะไปวิ่งจีบกันเหมือนศูนย์การค้าพลาซ่านั้นไม่ได้แน่ ๆ ก็ใช่วิธีของธรรมชาติ ก็คือ เอาใบไม้ไปหักขวางทางไว้ให้รู้ว่า…มาน่ะ อย่างเงี๊ยะ ทำอะไรทุกวิถีทางที่เกี่ยวกับธรรมชาติเอามาสื่อความหมาย การเคาะไม่ไผ่เรียกกัน การอะไรต้องใช้ธรรมชาติทั้งหมด จนกระทั่งมีประเพณีอันหนึ่งที่น่ารักคือ ผู้หญิงบอกรักผู้ชาย …สวยงามจริง ๆ ผมขออนุญาตย้อนเล่า ผมเคยเล่าเมื่อสักปี 2525-2526 มาแล้ว
คนลัวะจะบอกรักกัน วิธีที่ผู้หญิงบอกรักผู้ชาย คือการมวนบุหรี่ให้ บุหรี่ของเธอนี่จะต้องปลูกยาสูบเอง ในไร่ที่เธอฟัดเอง แล้วเก็บยาสูบที่แก่แล้วมาห่อใบตองตึงไว้ หมักด้วยน้ำผึ้ง ในมุมหนึ่งในห้องนอนของเธอ พอหมักน้ำผึ้งได้ที่ ก็ต้องเอามาตากน้ำค้างอีก เมื่อตากน้ำค้างเสร็จก็จะสอย สอยยาเอง สอยสวย ๆ สอยงาม ๆ พอสอยเสร็จ ยามวนจะต้องห่อด้วยใบสลอเปรา สลอเปรานี่เป็นต้นไม้ยืนต้นที่อยู่บนภูเขา ที่แข็งแรง ใบสลอเปราจะร่วงในขณะที่ยังเหลืองอยู่ ยังไม่แก่ ไม่แห้ง พอเหลือง ๆ ร่วงลงมาสักขณะหนึ่ง 2-3 วันก็จะนุ่ม มวนบุหรี่ได้พอดี แล้วมันจะมีความหอมของไม้ตัวนี้
แล้วเธอก็รู้อีกว่าเมื่อมวนใบสลอเปราแล้ว บุหรี่ถ้าถือไว้มันก็จะคลี่คลายออก ต้องเอาด้ายแดงมามัด คือ สีแดง เป็นสีที่สุดยอดที่สุดของคนภูเขา แล้วด้ายสีแดงเนี๊ยะ ต้องทำมาจากต้นกัญชา ซึ่งคนบนเขาเรียกว่า กัญชง คือเขาจะปลูกคนกัญชา หรือกัญชงไว้เยอะ ๆ เพื่อทำเสื้อผ้า เพื่อถักทอเป็นธรรมชาติ แล้วก็เอาไอ้เปลือกของต้นกัญชง หรือกัญชาน้อยนี่ ลอกจากต้นที่แก่แล้ว มัดเป็นมัด ๆ ปล่อยยาว ๆ ไปทิ้งไว้ในสายน้ำ ในห้วย เอาหินทับไว้ ให้น้ำในห้วยมันพัด พัดขัดเกลาเส้นใยที่อ่อนแอหลุดไปกับสายน้ำ เหลือเส้นที่แข็งแรงสู้กับน้ำได้ เป็นเส้นที่เหนียวที่สุด นุ่มที่สุด ขึ้นมาแล้วถักเป็นเสันด้าย ฟั้นเป็นเส้นด้าย แล้วไปเอาเปลือกไม้ฝาด มาทุบ ๆ ๆ ยอมสี เป็นสีแดง แล้วก็พันบุหรี่ ยื่นให้ผู้ชาย โดยไม่ต้องพูดอะไร เขาก็จะรู้ว่า ฉันรักเธอ
อืมฮืม…ทำไมเธอมีเวลาขนาดนั้น (ฮา) คือถ้าคนบ้านเราน่ะ ตายห่าไปก่อนแน่ ไม่ได้รักกัน ตายแน่ ๆ เลย ถูกฉุดไปหมดแล้วป่านเนี๊ยะ (ฮา) แต่นั่นหมายถึงความนุ่มนวล ความลึกซึ้งที่จะทำความรักให้เป็นเรื่องของสังคม เรื่องของครอบครัว ถ้าเธอสามารถอดทนได้ ทำได้ขนาดนี้ ผู้ชายรับรู้และเข้าใจตรงนี้ได้ ครอบครัวนี้ต้องมีความสุขแน่ ๆ เลย ผมคิดอย่างนะ
เมื่อเวลาตีข้าว ก็จะซ้อนฟ่อนข้าว สาว ๆ ก็จะเอาดอกไม้แดง ก็คือ ดอกหงอนไก่ ซ่อนไว้ที่ฟ่อนข้าว ที่นี่พอผู้ชายคนไหนตีข้าวไปแล้ว ไปเจอดอกไม้แดง ก็จะเอาดอกหงอนไก่ไปให้ผู้หญิงที่อยู่ในวงตีข้าวนี่ นั่นก็หมายความว่า มีจิตใจผูกพัน อยากพูดด้วย อยากคุยด้วย แล้ววันนั้น เป็นประเพณี ก็คือถ้าผู้หญิงคนไหน ได้รับดอกไม้หรือดอกหงอนไก่จากผู้ชาย ผู้หญิงคนนั้นก็จะทำตัว ทำอารมณ์เข้าร่วม เหมือนกับจะแฟนกัน อะไรอย่างนี้ เพียงแต่วันนั้น วันต่อไปก็ค่อยสืบสาวราวเรื่อง หาที่อยู่ที่กินกันไปแล้วแต่ เป็นประเพณีที่สวยงามจริง
เพราะงั้นเขาถึงเปรียบผู้หญิงที่นั่นว่าเป็น นกเขาไฟ เป็นนกที่แข็งแรง ปราดเปรียว เข้าใจภูเขา อดทนเมื่อมีความรัก…“
อรรณพ นิพิทเมธาวี
เขียนลงจุลสารค่ายฯ ปลาเป็น-ปลาตาย เล่มที่ 6 ประจำเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2545
ชอบผลงาน ของ น้าหมู มาก ๆ มีเวลาก็มาเที่ยวเกาะลันตา กระบี่ บ้างนะครับ ยินดีต้อนรับ
น้าหมูเป็นแบบอย่างที่ดีของนักดนตรีครับ……….. ผมได้………วิชาลักจำมาจากแกพอสมควร……….สุดยอดครับ…… .ถ้าเคยอ่านหนังสือที่แกเขียน…………คำตอบอยู่ที่ตัวคุณเอง………. ต้องนั่งอมยิ้มหรือหัวเราะเอาง่ายง่ายรับรอง.. โดยเฉพาะเสือกะบาก….กับพญาช้างมหากัน……. สุดยอดครับ
พุชอบมากอ่ะครับ น้าหมูอ่ะ
ชอบเนื้อเพลงที่สละสลวย ทำนองที่พริ้วไหว
น้ำเสียงที่เคลิบเคลิ้ม .. สุดสุดอ่ะ ชอบครับชอบ
หุหุหุ …