“คีตกวี” เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางมาก ผมคงไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด จึงขอย่อส่วนลงมากล่าวถึงเฉพาะในเรื่อง “เพลง” เท่านั้น และแม้แต่ในเรื่อง “เพลง” เองก็เช่นกัน ยังคงครอบคลุมปริมณฑลที่กว้างขวางใหญ่โตเกินกว่าที่ผมจะรอบรู้ไปได้ทั้งหมด ผมก็จะจำกัดตัวเองแสดงความเห็นเฉพาะเท่าที่ตนรู้เท่านั้น ส่วนที่ตนเองไม่รู้ รู้ไม่จริง รู้ไม่ครบถ้วนขออนุญาตที่จะไม่พูดถึง
“เพลง” เป็นนวัตกรรมที่สำคัญหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับมนุษย์เลยทีเดียว หากเรายอมรับกันว่ามนุษย์เป็นวานรเผ่าพันธุ์หนึ่ง บรรพบุรุษวานรย่อมสามารถที่จะแสดงออกซึ่งอารมณ์ต่างๆ ของตนเองได้ภายในขอบข่ายของพัฒนาการทางด้านอวัยวะเปล่งเสียง และพัฒนาการทางสมองของตนเอง พร้อมๆ ไปกับพัฒนาการทางภาษา ดังนั้นตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์วานรคนแรก เขาคนนั้นก็แสดงออกซึ่งอารมณ์ โกรธ เกลียด เศร้า กลัว รัก ต่าง ๆ ได้เกือบจะใกล้เคียงกับเราท่านในวันนี้ เพียงแต่ว่าเสียงสำเนียง วิธีการ กระบวนการในการแสดงออกในระยะต้นก็เป็นไปอย่างหยาบดิบเถื่อน ไม่ละเอียดพิถีพิถันเท่ากับมนุษย์ในยุคหลัง ที่เริ่มก่อเกิดเป็นอารยธรรมและพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้
“เพลง” เป็นผลิตผลในระดับที่สูงขึ้นของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของสมอง และรวมไปถึงจิตวิญญาณหรือสำนึกในระดับสูงของมนุษย์ด้วย ด้วยความจำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะใหญ่ ๆ เพื่อต่อสู้ให้อยู่รอดได้ในธรรมชาติ มนุษย์จึงจำเป็นที่จะต้องสร้าง “ภาษา” ขึ้นเพื่อสื่อสารกันและเป็นการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์กันระหว่างกลุ่มเผ่าและรุ่นต่อไป การสื่อสารนอกจากจะใช้ภาษากันแล้ว ยังใช้ “สัญญาณเสียงที่มีจังหวะ มีความเป็นระเบียบกฎเกณฑ์” กันอีกด้วย “เพลง” จึงน่าจะได้กำเนิดขึ้นไล่เลี่ยกับการกำเนิดภาษาของมนุษย์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “เพลง” นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ผลิตหรือสร้างขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการ “รวมตัวกันเพื่อใช้แรงงาน” “รวมตัวกันในการต่อสู้กับชนเผ่าอื่น หรือสัตว์ร้าย หรือเอาชนะภัยพิบัติธรรมชาติ” หรือกระทั่งแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกต่อบุคคลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก เศร้าอาลัย โหยหา ความโกรธเกลียด ทำลายล้าง การโหมปลุกเร้าในการต่อสู้ต่าง ๆ เป็นต้น
ดังนั้น “เพลง” จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมีจุดมุ่งหมาย ไม่ว่าจะโดยสำนึกหรือไม่ก็ตามของผู้สร้างสรรค์ “เพลง” นั้นขึ้นมา จุดมุ่งหมายดังกล่าวจึงอาจจะแบ่งโดยอาศัยผลสะเทือนของ “เพลง” นั้น ที่มีต่อมนุษย์ว่าเป็นไปเพื่อบรรลุจุดประสงค์ในขอบเขตที่กว้างขวางใหญ่โต หรือขอบเขตแคบ ๆ ในเรื่องระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเล็กๆ เท่านั้น
ตรงนี้เองที่ศัพท์บัญญัติของคำว่า “จิตสาธารณะ” จึงเกิดมีขึ้น และเข้ามามีบทบาทในเรื่องของ “เพลง” หรือคีตศิลป์ กล่าวคือ เป็น “เพลง” หรือคีตศิลป์ ที่ถูกสร้างสรรค์เป็นผลิตผลมาจาก ‘จิตสาธารณะ’ หรือเป็นไปเพื่อผลักดัน ก่อให้เกิดมี ‘จิตสาธารณะ’ ขึ้นในมวลหมู่มนุษย์ที่เสพรับผัสสะจาก “เพลง” หรือคีตศิลป์ นั้นๆ หรือไม่
ความหมายของ จิตสาธารณะ อย่างกว้างน่าจะหมายถึง
- อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด จิตสำนึกที่เป็นไปเพื่อเป็นประโยชน์ เกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุน สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนคนหมู่มาก
- ให้กำลังใจ ให้ความอบอุ่น ให้แรงบันดาลใจ แก่ผู้คนในการต่อสู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคในชีวิตของตน เพื่อจะได้ดำรงตนอย่างปกติสุขในสังคมชุมชน และเข้าร่วมในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่ชนในวงกว้าง
- ในขณะเดียวกันกอาจจะหมายรวมถึง บทบาทในการลดทอนอำนาจของกิเลสตัณหาต่างๆ ที่เพิ่มความยึดมั่นถือมั่น ในเรื่อง ตัวกูของกู โลภะโทสะโมหะ ของปัจเจกชนให้มากมายยิ่งขึ้นไปด้วยก็ได้ เพราะหากเพลงหรือคีตศิลป์เป็นไปในทำนองเชิดชู ส่งเสริม เรื่องกิเลสตัณหาต่างๆ มนุษย์ก็จะถูกมอมเมาให้หลงหัวปักหัวปำในกองกิเลสต่าง ๆ แล้วก่อให้เกิดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ซึ่งก็คือสังคม หรือสาธารณชนให้เกิดความเดือดร้อนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
- ในขณะเดียวกันก็อาจจะกล่าวขวัญถึงสังคมอุดมการณ์ หรือสภาพอันเป็นที่พึงปรารถนาร่วมกันของมนุษยชาติโดยรวม ซึ่งสำหรับชาวพุทธเราอาจจะเรียกว่า ‘สังคมพระศรีอาริย์’ หรือศาสนิกอื่นก็อาจจะเรียกกันในชื่ออื่น แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็มีความหมายตรงกันคือ มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีการเบียดเบียนกัน มีความอุดมสมบูรณ์ในโภคทรัพย์ ทุกคนต่างมีจิตสำนึกที่สูงส่ง
หากเราย้อนไปดูความเคลื่อนไหวของวงการ “เพลง” ในรอบประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมา เราจะพบเห็น “เพลง” ที่กล่าวได้ว่าเป็นไปเพื่อ “จิตสาธารณะ” หรือแต่งขึ้นมาจากพื้นฐานจิตสำนึกที่เป็น “จิตสาธารณะ” จำนวนมาก ซึ่งผมไม่สามารถที่จะกล่าวให้ครบหมดทุกเพลงได้ แต่อาจจะขอยกมากล่าวถึงเพียงบางเพลงเท่านั้น
ทางด้านเพลงสากล
กลุ่มเพลงที่อาจจะจัดได้ว่าเป็นกลุ่มเพลงที่มีลักษณะเป็นเพลง “จิตสาธารณะ”
- เพลงที่เปิดโปงความเลวร้ายของสภาพสังคม และอาจจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุในบางแง่มุมด้วย เช่น เพลง House of the rising sun ของวงดนตรี The Animal
“There is a house in NewOrlene
They calles the rising sun
And it’s been the ruin, of many a poor boy
And God I know I’m one…” - เพลงที่ให้กำลังใจในการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า สังคมที่มนุษย์มีสันติภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เช่น เพลง Imagine ของ John Lennon หนึ่งในวงดนตรี The Beatles
“Imagine no Possesion no Country to die for
No Hell below us, above us only Sky
Imagine all the people sharing a love with me” - เพลง The Impossible Dream ประกอบหนังเรื่อง A Man of La Mancha
“….To dream the impossible dream
….To fight the unbeatable foe
….To bear the unbearable sorrow
….To run the unreachable star
….This is my quest
To follow the sun
No matter how hopeless no matter how far…” - เพลงต่อต้านสงครามรุกรานที่ไม่เป็นธรรม เช่น เพลงของ Bob Dylan หลายเพลง Where have all the flowers gone, Blowing in the wind เพลงทั้งหมดจากละครเพลงเวทีบรอดเวย์เรื่อง The Sound Of Music ซึ่งต่อมาได้สร้างเป็นภาพยนต์ นำแสดงโดย จูลี่ แอนดรูว์ ซึ่งในละครและภาพยนต์ชุดนี้มีเพลงที่มีคุณค่าหลายแนวรวม ๆ กันอยู่ รวมไปถึงเนื้อหาที่ต่อต้านสงครามรุกรานด้วย
- เพลงที่มีสีสันทางการเมืองที่ชัดเจน เช่น เพลงประกอบหนังเรื่อง Evita Peron ชื่อ Don’t cry for me Agentina ซึ่งสนับสนุนการปกครองของ เปรอง โดยตีความว่าเป็นระบอบประชานิยมหรือสวัสดิการสังคม
- เพลงที่มีสีสันทางด้านศาสนาโดยตรง (โดยเฉพาะศาสนาคริสต์) ได้แก่ เพลงประกอบหนังเรื่อง Brother Son Sister Moon ซึ่งพูดถึงเรื่องของคนที่อุทิศตนเองให้แก่ภาระกิจของสังคม โดยมีศาสนาหรือพระเจ้าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ทำให้สามารถทุ่มโถมทำงานที่คนทั่วไปทำได้ยาก อาทิเช่น การทำงานในนิคมโรคเรื้อนในระยะแรกๆ
- เพลงที่ให้กำลังใจ ให้ต่อสู้กับชีวิต เช่นเพลงของ Simon Garfungel ชื่อ Bridge Over Trouble Waters, He ain’t heavy He is my brother, Boxers, เพลง Hey Jude ของ The Beatles , เพลง American Pie ของ John Mclean
- กลุ่มที่เจ็ด เพลงที่ให้นัยทางปรัชญาชีวิต เช่น เพลง Sunrise Sunset ในภาพยนตร์เรื่อง Feddlers On The Roof , เพลง Sound of Silence ของ Simon Garfungel ในภาพยนตร์เรื่อง The Graduate , เพลง Let it be ของ The Beatles , เพลง Starry Nights ของ John Mclean
- เพลงที่บรรยายความงดงามของธรรมชาติ ความบันดาลใจที่จะช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น เพลง Elderwisse The Sound of Musics ในภาพยนตร์เรื่อง The Sound Of Music
กลุ่มเพลงที่น่าจะ “ไม่ใช่จิตสาธารณะ” กระทั่งบางเพลงน่าจะเป็นเพลงประเภท “จิตทราม” ซึ่งอาจจะแยกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้
- เพลงที่บรรยายท่วงท่าการสัมพันธ์ทางเพศอย่างละเอียด รวมทั้งสอดใส่สรรพเสียงสำเนียงของการร่วมเพศด้วย ซึ่งไม่น่าจะเหมาะที่จะทำเป็นเพลงเผยแพร่ต่อสาธารณะ
- เพลงที่บรรยายสรีระร่างกายของสตรีเพศ ในลักษณะกระตุ้นความรู้สึกทางกามารมณ์อย่างรุนแรง
- เพลงที่บรรยายการเป็นชู้กันระหว่างชายสองหญิงหนึ่ง หรือหลายชายหลายหญิง หรือหญิงสองชายหนึ่ง พร้อมสรรเสริญในความเสียสละ กล้าหาญของการกระทำดังกล่าว
- เพลงที่บรรยายสรรพคุณของยาเสพติดชนิดต่าง ๆ เกือบจะทุกชนิดว่าเมื่อเสพเข้าไปแล้วจะเกิดอาการจิตหลอนอย่างไรบ้าง และพรรณาให้หลงชื่นชมไปว่า ภาวะจิตหลอนดังกล่าวก็คือการเข้าสู่วิมุติสุข
- เพลงบรรยายสรรเสริญการใช้กำลังรุกราน ครอบครอง ของมหาอำนาจที่กระทำต่อประชาชาติอื่น
ส่วนเพลงพรรณนาความรักระหว่างชายหญิง หากไม่ได้ก้าวพรมแดนที่ทำให้สังคมยุ่งเหยิงก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เสียหายแต่ประการใด อาทิเช่น เพลง Love Story จากภาพยนตร์เรื่อง Love Story เพลง Where is the Youth จากภาพยนตร์ โรมิโอ จูเลียต เมื่อยุค 1960
มีเพลงในยุค 1960 บางเพลง เช่น เพลงเมโลดี้แฟร์ ที่บรรยายส่งเสริมให้เด็กที่อายุไม่เกิน 10 ปี หนีโรงเรียนเพื่อไปมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกัน โดยสร้างเรื่องราวโน้มน้าวจูงใจให้มีเหตุผล มีน้ำหนักน่าฟัง น่าคล้อยตาม ก็น่าจะไม่ใช่เป็นเพลงประเภท “จิตสาธารณะ”
ทางด้านเพลงไทย
ในกรณีของประเทศไทยเราในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีเพลงที่น่าจะจัดเข้าอยู่ในประเภท “จิตสาธารณะ” หลายกลุ่มดังต่อไปนี้
- เพลงเพื่อชีวิตและเพลงปฏิวัติทั้งหมดที่แต่งขึ้นในช่วงที่นักศึกษาปัญญาชนเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายหลังเหตุการณ์ฆ่าหมู่กลางเมือง “6 ตุลาคม 2519” รวมไปถึงเพลงปฏิวัติทั้งหมด ที่แต่งขึ้นในระหว่างปี 2514-2519 ด้วย กล่าวคือ ก่อนหน้า 14 ตุลา ไปจนถึงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519ในช่วงนี้พลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ของคีตกวีไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเยาว์หลั่งไหลออกมาอย่างเชี่ยวกราก ถาโถมใส่อำนาจรัฐเผด็จการทรราชย์อย่างองอาจกล้าหาญ ด้วยพลังที่เข้มแข็งเกรียงไกรเหลือคณานับ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งประวัติศาสตร์ที่ยากที่จะเกิดขึ้นได้อีกแล้วในอนาคตอันยาวไกลข้างหน้าก่อนหน้า 14 ตุลา จนถึง 6 ตุลา ก็จะมีเพลงจำนวนมาก (น่าจะร่วมพันเพลง) อาทิเช่น คนกับควาย ข้าวคอยฝน เปิปข้าว ตายสิบเกิดแสน กรรมาชน เพื่อมวลชน คนทำทาง คุรุชน ฟ้าใหม่ ฯลฯ หลัง 6 ตุลา 19 เมื่อนักศึกษาปัญญาชนเข้าร่วมต่อสู้ในป่าเขา ก็จะมีเพลงจำนวนมาก (น่าจะหลายร้อยเพลง) อาทิเช่น จากภูพานถึงลานโพธิ์ ถั่งโถมโหมแรงไฟ อรุโณทัย สามปอย นกหวีดปฏิวัติ ลูกจะกลับพร้อมกับชัย ฯลฯ
- เพลงของ “จิตร ภูมิศักดิ์” จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น แสงดาวแห่งศรัทธา เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ มาร์ชชาวนาไทย มาร์ชกรรมกรไทย เทอดสิทธิมนุษยชน ทะเลชีวิต รำลงวันเมย์เดย์ ฯลฯ เพลงรุ่นก่อนจิตร ภูมิศักดิ์ ของ ครูคำรณ และครูอื่น ๆ เช่น กลิ่นโคลนสาบควาย แดนตาราง ฯลฯ ซึ่งจะสะท้อนชีวิตของคนยากจน อาชีพต่าง ๆ และการถูกรัฐเผด็จการทรราชย์รังแกข่มเหง
- เพลงที่ชมความงามธรรมชาติ ที่ทำให้จืตใจสงบสันติ อาทิ บัวขาว เขมรไทรโยค วิหคเหินลม หงส์เหมราช ฯลฯ
- เพลงสรรเสริญคุณธรรม จริยธรรม อาทิเช่น ค่าน้ำนม ฯลฯ
- เพลงที่มีนัยทางปรัชญาชีวิต ให้กำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคชีวิต ไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสเพียงไหน เช่น โลกนี้คือละคร เย้ยฟ้าท้าดิน
- เพลงสะท้อนชีวิตของชนกลุ่มน้อย เช่น เพลงของ จรัล มโนเพ็ชรจำนวนมาก เช่น อุ๋ยคำ มิดะ เพลงของวง คาราบาว เช่น วณิพก
- เพลงปลอบโยนแสดงความเป็นเพื่อน เช่น เพลงของ ธงไชย แมคอินไตย์
- เพลงเพื่อชีวิตในเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา และต่อเนื่องจนถึงเพลงของนักศึกษาที่เข้าป่า ออกจากป่ามาสร้างสรรค์ เช่น เพลงของ วงฟ้าสาง วงแฮมเมอร์ วงสองวัย ฯลฯ และเพลงปลุกจิตสำนึกชาตินิยม ในการต่อสู้กับโลกาภิวัฒน์ของ แอ๊ด คาราบาว หลายเพลง เช่น เมดอินไทยแลนด์
- เพลงที่พรรณนาความรักระหว่างหนุ่มสาวที่ซื่อตรงจริงใจ ก็น่าจะจัดเข้ากลุ่ม “จิตสาธารณะ” ได้เพราะเป็นการสนับสนุนความสัมพันธ์ทางสังคมที่ถูกต้องดีงาม ทั้งทางโลกและทางธรรม โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่โลกาภิวัฒน์ทางเพศกำลังหลั่งบ่าท่วมท้นทั่วทั้งโลกและประเทศไทย (อาทิเช่นมีการวิจัยกันว่า เด็กไทยเริ่มมีการร่วมเพศตั้งแต่อายุ 12-13 แล้ว และนักเรียน นักศึกษาหญิงไทยกว่า 72% สนับสนุนการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะสร้างปัญหาให้แก่สังคมมากกว่าที่จะทำให้สังคมไทยแข็งแรงยิ่งขึ้น)
ส่วนกลุ่มเพลงที่ “ไม่น่าจะเข้าข่ายประเภทจิตสาธารณะ” ได้แก่
- เพลงสองแง่สามง่าม เพื่อส่อแสดง ยั่วยุให้มีความต้องการทางกามารมณ์
- เพลงที่เชิดชูการคบชู้สู่สาว ความสัมพันธ์หลายเส้า หนึ่งหญิงสองชาย หนึ่งชายสองหญิง หลายชายหลายหญิง เป็นต้น
- เพลงที่พรรณนาความดีงามของเครื่องดองของเมา ยาเสพติดต่าง ๆ บรรยายภาวะจิตหลอนของเครื่องดื่ม หรือยาต่าง ๆ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวส่วนเล็ก ๆ ในการพูดถึงการจุดประกายคีตกวีเพื่อจิตสาธารณะเท่านั้น ผู้พูดซึ่งไม่ได้มีอาชีพเป็นนักดนตรี ไม่ได้ชำนาญการในแวววงดนตรี และมีเวลาในการเตรียมการจำกัดมาก จึงยังมีข้อบกพร่องมากมาย และทัศนะที่แสดงออกไปทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว จึงอาจจะมีผู้เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ได้ทั้งสิ้น และอาจจะถูก อาจจะผิดในความเห็นของคนอื่น ผู้พูดยินดีที่จะน้อมรับไว้พิจารณาทั้งสิ้น
ภาระหน้าที่ของพวกเราในปัจจุบัน
ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ อารยธรรมวัฒนธรรมของทุนครอบโลกไหลบ่าท่วมท้นโลกอย่างรุนแรงเชี่ยวกราก สังคมไทยก็อยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับสังคมอื่น ๆ อารยธรรมวัฒนธรรมที่ไม่สอดคล้องกับทุนครอบโลกถูกกวาดล้างอย่างรวดเร็ว รุนแรงยิ่ง เพื่อทำให้การรุกรานยึดครองทางเศรษฐกิจประสบผลสำเร็จอย่างสูงสุด เราจึงพบว่าสังคมไทยปัจจุบัน วิถีชีวิตแบบทุนครอบโลกกลายเป็นวิถีชีวิตปกติของคนโดยทั่วไปอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการครอบงำทางแนวความคิดจากศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลก เพื่อให้สามารถที่จะขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการบันเทิงทั่วโลก ซึ่งแสดงชัดเจนที่สุดในรูปแบบของวิถีชีวิตแบบ “บริโภคนิยม” ที่เน้นการแสวงหาความสุขทางวัตถุโดยไม่มีขอบเขต โดยจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือ ความร่ำรวยแบบฉับพลันทันที ค่านิยมต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วสิ้นเชิงในเกือบจะทุกด้าน
สังคมเริ่มคลายความยึดมั่นในเรื่องศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัว ความสัมพันธ์ชายหญิงกลายเป็นเรื่องการหาความสำราญใจแบบชั่วครั้งคราว ความสุขกายสบายใจในความหมายดั้งเดิมไม่เพียงพอเสียแล้ว จึงต้องแสวงหาความสุขจากสิ่งมอมเมาต่างๆ ภายในสังคม เช่น ยาเสพติดและความบันเทิงในรูปแบบสุดขั้วต่างๆ อุดมการณ์ในการรับใช้ประชาชน รับใช้ผู้อื่น กลายเป็นเรื่องที่น่าเย้ยหยัน ฯลฯ ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการแสดงออกในแวดวงทางด้านศิลปวัฒนธรรมกระแสหลักต่าง ๆ ที่มีบทบาทครอบงำสังคมอยู่
การแสดงดนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทำเงินรายได้นับล้านต่อการแสดงแต่ละครั้ง ล้วนเป็นการแสดงดนตรีที่ต้องมีแดนเซอร์ และการร่ายรำยักย้ายส่ายเรือนร่างของผู้ร้อง ผู้แสดงในลักษณะของการเชิญชวนทางกามารมณ์ หรือแสดงท่วงท่าของการสัมพันธ์ทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง โดยปราศจากความละอายใจ ดังจะเห็นได้จากรายการแข่งขันชิงชนะเลิศกีฬาอเมริกันฟุตบอล ระดับประเทศของสหรัฐอเมริกา (ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ซุปเปอร์โบล) ที่ถ่ายทอดไปทั่วโลก มีผู้ชมทุกเพศทุกวัย ทุกชาติภาษา จำนวนนับพันล้านทั่วโลก ก็จะเห็นภาพที่ผู้ร้องและแสดงฝ่ายชาย กระชากเปลื้องผ้าผู้ร้องและผู้แสดงฝ่ายหญิง จนเปิดเผยอวัยวะพึงสงวนออกมาอย่างสด ๆ ชัดแจ้ง แม้จะการแถลงอธิบายแก้ต่างว่าไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้จงใจแต่ก็เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น แก้ตัวไม่พ้น เพราะหากไม่ต้องการให้ปรากฎภาวการณ์ดังกล่าว ผู้แสดงย่อมสมควรแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่แน่นหนามั่นคง แม้จะฉุดกระฉากอย่างไรก็ไม่หลุดออกมาอย่างง่าย ๆ เว้นเสียแต่ว่าจะใช้มีดหรือกรรไกรมาตัด แต่นี่เพียงมือคว้าก็ติดมือไปอย่างง่ายดาย เท่ากับเป็นการจงใจที่จะให้ภาพดังกล่าวปรากฎอย่างไม่อาจจะเป็นอื่นไปได้ การแสดงครั้งนั้นเป็นหลักฐานอย่างแน่นหนาของการแพร่กระจายและครอบงำของวัฒนธรรมกามารมณ์นิยม ซึ่งเป็นสุดยอดของบริโภคนิยม ในนั้นก็จะเคลือบแฝงไปด้วย เรื่องของยาเสพติด เรื่องของอบายมุขนิยมทุกแขนง ฯลฯ
วัฒนธรรมอารยธรรมของทุนครอบโลกที่มีความเสื่อมทราม ได้ทำลายความเป็นมนุษย์ให้ตกต่ำลงไปยิ่งขึ้นทุกที ย่อมเป็นวัฒนธรรมอารยธรรมที่ไม่ถูกต้อง และไม่อาจจะอยู่ยืนยาวไปชั่วฟ้าดินสลายได้ ต้องพังทลายลงไปพร้อมกับเศรษฐกิจทุนครอบโลกโลกาภิวัฒน์ เมื่อประชาชนชาวโลกสามัคคีกันปฏิเสธและช่วยกันสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอให้พวกเราทุกคนรวมพลังกัน ช่วยกันสร้างกระแสวัฒนธรรมอารยธรรมที่ยกระดับมนุษยภาวะอันสูงส่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนทั้งหลายในโลก โดยอาจเริ่มต้นที่ประเทศไทยก่อน เฉพาะอย่างยิ่งจากเยาวชน เพราะเยาวชนเป็นกลุ่มที่สามารถรับและเปลี่ยนแปลงได้ง่าย และมีพลังในการช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
พวกเราสามารถช่วยกันสร้างผลงานทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ดนตรี การแสดง และละครแบบต่าง ๆ ภาพยนต์ ศิลปะงานเขียนหรืออื่น ๆ ไปในทางที่ทวนกระแสกามารมณ์นิยม บริโภคนิยม ไปสู่จริยธรรมนิยม ธรรมชาตินิยมได้ พวกเราอาจจะช่วยกันสร้างงานคีตศิลป์ที่…
- ให้ความสำคัญกับความรักในธรรมชาติ ช่วยกันจรรโลงธรรมชาติ ช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ บรรยายให้เห็นความสมดุลธรรมชาติ ความสวยงามธรรมชาติ
- ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างมนุษย์ กล่าวในด้านทั่วไปคือ ให้มนุษย์รักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์อื่นก็เป็นความทุกข์ยากของเรา ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในซอกมุมไหนของโลก มีความเชื่อทางศาสนาหรือเผ่าพันธุ์ ต่างกันอย่างไร
- ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงในครอบครัว ความรักระหว่างหนุ่มสาวนั้นเป็นสิ่งที่สูงส่งสำคัญ ต้องให้ความเคารพ ต้องรับผิดชอบ การจะเลื่อนระดับจากความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมิตรธรรมดาไปสู่ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว ครอบครัวควรทำด้วยความพิถีพิถัน รับผิดชอบ มีเพลงจำนวนไม่น้อยที่บรรยายความสำคัญของความรักระหว่างหนุ่มสาวได้อย่างงดงาม ประทับใจและสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นแก่หนุ่มสาว ที่กำลังจะย่างเข้าสู่ระยะครองเรือนได้อย่างถูกต้อง ควรส่งเสริมให้เข้าแทนที่เพลงที่ชักนำให้มีความสัมพันธ์ทางเพศแบบฉาบฉวย ชั่วคราวและทำลายรากฐานสำคัญเบื้องต้นของความเป็นครอบครัว หากอณูที่เล็กที่สุดของมนุษย์คือครอบครัวถูกทำลายอย่างแหลกละเอียดแล้ว มนุษยชาติก็ยากที่จะดำเนินต่อไปอย่างสงบสุขได้อีกต่อไปพวกเราคงได้อ่านข่าว “แม่ใจยักษ์ฆ่าลูกอายุสามวันบ้าง หนึ่งเดือนบ้าง หนึ่งปีบ้าง เอาลูกไปทิ้งถังขยะให้ตายบ้าง ปล่อยตากแดดให้ตาย หรือให้มดกัดตายบ้าง” แน่นอนในชั้นผิวเผินหรือฉาบฉวย หญิงผู้เป็นแม่ต้องได้รับการประณามและลงโทษโดยสังคมอย่างรุนแรง แต่ถามว่ามี “ผู้เป็นแม่” แท้จริงใดในโลกนี้บ้างที่ตั้งใจและต้องการให้ทำเช่นนั้น สิ่งเหล่านี้เกิดจากความเหลวแหลกของสังคมทั้งสิ้น รวมทั้งผู้ชายบางส่วนด้วย เพลงมีบทบาทสำคัญมากที่ก่อให้เกิดค่านิยมหรือภาวการณ์เช่นนี้เราคงต้องช่วยกันทำให้ความรักระหว่างหนุ่มสาวเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องให้ได้ เพื่่อไม่ให้เกิดสภาพเช่นนี้ระบาดใหญ่โตยิ่งไปกว่านี้
- ให้ความสำคัญในการปฏิเสธยาเสพติด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้นำเสนออย่างตรง ๆ ทื่อ ๆ ไร้ศิลปะ ไร้พลัง ในการโน้มนำใจผู้ฟังให้เห็นอย่างคล้อยตาม ซึ่งอาจจะเริ่มจากยาเสพติดที่ร้ายแรงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น โคเคน ยาบ้า ไปจนถึงเฮโรอีน แอล เอส ดี
- ให้ความสำคัญกับการเสียสละเพื่อผู้อื่น การมีน้ำใจเพื่อผู้อื่น ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ จนเรื่องใหญ่ พวกเราหลายคนคงเคยอ่านงานของ ศรีบูรพา เรื่อง ขอแรงหน่อยเถิด อะไรทำนองนั้น อันที่จริงเรื่องน้ำใจช่วยผู้อื่นของคนไทยเราเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติของเราอย่างหนึ่งเลยทีเดียวในตอนที่เกิดเหตุ “สึนามิ” ที่ภาคใต้นั้น บรรยากาศเช่นนี้อุดมสมบูรณ์และสูงส่งมาก ผมคิดว่านอกจากเพลงจำนวนหนึ่งที่ประพันธ์กันออกมาในช่วงนั้นแล้ว น่าจะมีศิลปินท่านอื่น ประพันธ์เพลงโดยอาจจะหยิบยกเอาตัวอย่างในกรณีของ ภัยพิบัติธรณีพิโรธ ในคราวนั้นมาแสดงให้เห็นความงดงามสูงส่งของความมีน้ำใจต่อผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ รวมไปถึงเราจะเห็นความรักระหว่างหนุ่มสาวที่ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นในระหว่างช่วยผู้ประสบภัย หรือประสบภัยด้วยตนเอง ต่างฝ่ายต่างช่วยกันหรือช่วยผู้อื่น จนตกลงสร้างครอบครัวขึ้น ก็น่าจะเป็นเนื้อหาให้ขับขานกันออกมาเป็นเพลงที่บอกเล่าอย่างสวยงาม ไพเราะจับใจได้เช่นกัน
- ให้ความสำคัญกับการปฏิเสธหรือประณามกล่าวโทษเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชั่นโกงกินบ้านเมือง การกดขี่ข่มเหงโดยใช้อำนาจรัฐ การใช้ความรุนแรงไม่ว่าฝ่ายก่อการร้ายหรือฝ่ายรัฐ เรื่องนี้น่าจะมีวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กรือเซะ ตากใบ การถล่มรถไฟใต้ดินที่ลอนดอน การปราบปรามประชาชนที่อำเภอจะนะ การเผาโรงเรียน การฆ่าครู ฆ่าผู้พิพากษา ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องด้วยของผู้ก่อความไม่สงบ กรณี CTX อันอื้อฉาว
- ให้กำลังใจผู้คนที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น
- อาจจะเป็นงานสร้างสรรค์ที่ชวนผู้คนให้ช่วยกันสร้างสังคมในอุดมคติที่งดงาม คล้ายกับเพลง Imagine ของ John Lennon ที่ซึ่งผู้คนเป็นพี่น้องกัน ไม่มีการกดขี่ขูดรีด ทุกคนไม่เห็นแก่ตัว สังคมมีความอุดมสมบูรณ์ทางโภคทรัพย์ มีพลังการผลิตมหึมาที่ทุกคนสามารถใช้แรงงานเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้สังคมได้ และขณะเดียวกันก็ตักตวงดื่มกินจากสังคมได้อย่างพอเพียง โลกสวยงามไม่มีมลภาวะ ไม่มีสงคราม ไม่มีการก่ิอการร้าย โรคร้ายต่างๆ ของมนุษย์ถูกทำลายไปจนหมดสิ้น
พวกเราจำนวนมากมีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวได้ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการเผยแพร่ การตลาด หรืออาจจะท้อถอย เนื่องจากเห็นความใหญ่โตของวัฒนธรรมกระแสหลัก จนอาจจะรู้สึกท้อถอย หมดพลังสร้างสรรค์ไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและเข้าใจได้
แต่ขอเรียนว่าในวันนี้ เราสามารถหาช่องทางที่จะเผยแพร่งานเหล่านี้ได้ แม้เราจะมีกำลังเงินสู้ยักษ์ใหญ่เหล่านั้นไม่ได้ แน่ละเราก็เริ่มจากแวดวงใกล้ตัว ในห้องเรียน ในโรงเรียน ในบ้าน ในหมู่บ้าน ในจังหวัด ในงานโรงเรียน งานหมู่บ้าน งานจังหวัด งานในคณะ งานในภาควิชา งานในชมรม งานในมหาวิทยาลัย ตลอดจนหาทางเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ในวิทยุชุมชน ซึ่งในแวดวงดังกล่าวทั้งหมดหากงานของเรามีคุณภาพ กระทบใจของผู้คนในแวดวงดังกล่าวได้ งานได้รับการยอมรับอย่างอบอุ่นจากแวดวงดังกล่าวได้เมื่อไร โอกาสที่จะขยายตัวออกไปในวงกว้างย่อมเป็นไปได้อย่างไม่ต้องห่วง เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูการเจริญเติบโตของแวดวงศิลปวัฒนธรรม ก่อน 14 ตุลาเรื่อยมา จนไปถึงเมื่อเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในป่าเขา ก็ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นอย่างนี้ทั้งสิ้น เริ่มจากไม่มีไปสู่มี
เริ่มจากเล็กไปสู่ใหญ่ เริ่มจากพ่ายแพ้ไปสู่ชัยชนะ จากชัยชนะเล็ก ๆ สะสมจนเป็นชัยชนะที่ใหญ่หลวงขึ้นเรื่อย ๆ ขอเพียงแต่ให้เราอยู่ในกระแสธารหรือเส้นทางที่ถูกต้องของมนุษยชาติเท่านั้น
แต่ในทางตรงกันข้าม หากอยู่ในกระแสธารหรือเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง ที่ชนะก็จะเปลี่ยนเป็นแพ้ ที่ใหญ่โตอยู่แล้ว ก็จะเล็กลงและพังพินาศหายไปในที่สุด
นพ.เหวง โตจิราการ
ปาฐกถาเรื่อง “จุดประกายคีตดนตรีเพื่อจิตสาธารณะ” ในการสัมมนาระดมความเห็นพัฒนาและขับเคลื่อน โครงการคีตดนตรีเพื่อจิตสาธารณะ วันที่ 23 ก.ค. 2548 ณ ศูนย์การเรียนรู้ สนง.ปฏิรูปที่ดิน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา