“ประเทไท รั้วะเลือเนื้อชาเชื้อไท” เด็กปกาเกอะญอไร้สัญชาติแข่งกันตะเบงเสียง แสดงความเคารพต่อแผ่นดินที่พวกเขาเกิดและเติบโต
บ่ายของวันที่ 13 ตุลาคม 2548 นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้นั่งเรือทวนน้ำสาละวิน ขึ้นไปยังจุดหมายปลายทาง ขวามือคือรัฐไทย ส่วนฝั่งซ้ายเป็นพม่า ระยะเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงบนเรือต่างควาย (ขนควาย) ลำนั้นจากจุดเริ่มต้นจนถึงที่หมาย ฝั่งขวาปกครองด้วยรัฐบาลเดียว การปกครองแบบเดียว และดูจะเป็นอันหนึ่งอันเดียว ขณะที่ฝั่งซ้ายเหล่าผู้มีอิทธิพลทางทหารกลับแบ่งเขตกันคุม และเต็มไปด้วยความขัดแย้งตลอดเวลา
จุดหมายของเราคือ “หมู่บ้านแม่ดึ๊” อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านเล็ก ๆ นอกแผนที่ประเทศไทย (ดินแดนฝั่งขวาที่ดูเป็นหนึ่งเดียวที่ว่า) ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำสาละวิน และแน่นอนฝั่งตรงข้ามคือพม่า ชาวบ้านที่นี่เป็นชาวปกาเกอะญอไร้สัญชาติ ตกสำรวจ ที่สำคัญอยู่นอกความรับรู้ของรัฐไทย ไร้ที่ทำกิน (เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณที่รัฐจัดเป็นเขตอุทยาน) ไม่มีสถานีอนามัย ไม่มีโรงเรียน
สมบัติของรัฐไทยชิ้นเดียวที่มีคือแผ่นกระดานไม้แผ่นใหญ่เรียงเป็นตับและตอกหรากลางหมู่บ้าน บนเนื้อไม้นั้นมีตัวอักษรภาษาไทยที่ชาวบ้านอ่านไม่ออกเลยสักตัว ความว่า…
กฎระเบียบหมู่บ้าน
- เราต้องพัฒนาหมู่บ้านของเรา
- เราต้องรักษาประเทศชาติให้มั่นคง
- เราอยู่ด้วยความสามัคคีซึ่งกันและกัน
- ห้ามลักเล็กขโมยน้อย
- ห้ามมีสิ่งผิดกฎหมายในหมู่บ้าน
- ห้ามมียาเสพติด
โดย ร้อย ทพ.3603 ทพ.36
10 วัน ในแม่ดึ๊ การสะพายกระเป๋ากล้องเดินไปมาในหมู่บ้าน ทำให้ต้องกลายเป็นหมอจำเป็น ด้วยลักษณะของกระเป๋ากล้องที่ดูคลับคล้ายกระเป๋ายาที่คุณหมอตามชายแดนหิ้วคู่กาย หลายครั้งที่เดินผ่านชาวบ้านจะเรียกให้ไปดูคนเจ็บในบ้าน บ้านแรกลูกชายป่วยเป็นไข้มาหลายวันแล้ว แต่โชคดีที่ยาพาราฯ ของเราทำให้เขาออกมาเดินเล่นได้ในวันรุ่งขึ้น แต่โชคร้ายที่อีกหลายบ้าน มีหลายคนป่วยมากเกินกว่าเพียงลำพังยาของเราจะช่วยได้ แม่คนหนึ่งเจ็บตา ส่วนพ่อก็เป็นแผลน้ำร้อนลวก อีกบ้านแม่แก่ ๆ ปวดเข่า พ่อเฒ่าอีกคนปวดขาเดินไม่ได้ ส่วนบ้านอีกหลังลูกน้อย 3 ขวบตัวเหลืองตาเหลือง ผอมแกร็น (รู้ทีหลังว่าเป็นธาลัสซีเมีย)
ความโชคร้ายประการแรก คือ การที่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ความโชคร้ายประการที่สองที่หนักหนากว่าอันแรกนัก คือ การเป็นคนไร้สัญชาติ ไร้บัตรประจำตัว อย่าว่าแต่โครงการ 30 บาท ที่ควรจะได้แม้แต่การเหยียบเข้าไปในผืนแผ่นดินไทยก็ผิดแล้ว
ชาวบ้านในหมู่บ้านหลายคนเคยถูกจับหลังจากเข้าไปในเมือง (ด้วยข้อกล่าวหาเป็นพม่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย) ทำให้ชาวบ้านอีกหลายคนไม่กล้าที่จะออกจากหมู่บ้านอีกเลย ความเป็นไปของชาวบ้านเลยกลายเป็นเรื่องโชคชะตาที่รัฐเป็นคนขีดให้ ที่สุดแล้วเรื่องความป่วยไข้ก็คงเป็นไปตามยถากรรม
“ทางโรงเรียนขอให้นักเรียนทุกคนกลับบ้านได้และโรงเรียนจะปิดไปอีกหลายวัน ขอให้นักเรียนนำจดหมายของโรงเรียนมอบให้ผู้ปกครองอ่านด้วยนะค่ะ” เสียงประกาศของโรงเรียนตะโละหะลอ ก้องกังวานของยามบ่ายวันที่ 28 ธันวาคม 2547
“ตะโละหะลอ” เป็นชื่อโรงเรียนชั้นประถมถึงระดับมัธยม ที่ตั้งอยู่ระหว่างทางจากยะลาถึงนราธิวาส หลังการถูกลอบวางเพลิงบางส่วน เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2547 และวันนี้ครูคนหนึ่งในยะลาก็ถูกยิงเสียชีวิต ทำให้โรงเรียนต้องประกาศหยุดเรียนชั่วคราว และให้เด็กนักเรียนกลับบ้าน ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในโรงเรียนวันนั้น ทำให้ครูหลายคนรู้สึกหวาดระแวงไม่น้อยที่จะคุยกับคนแปลกหน้า
“ซากีร์ อาแว” ชั้น ม.1 เป็นเด็กชายคนเดียวในโรงเรียนที่ยอมพูดคุยกับเรา เล่าว่า “รู้สึกกลัวมากและไม่อยากได้ยินเสียงระเบิดอีก” เขาพูดพร้อมแววตาที่อัดแน่นไปด้วยความกลัวและแม้น้ำตาจะไม่เอ่อนอง แต่ก็พาลจะทำให้น้ำตาของคนที่คุยด้วยยั้งไว้แทบไม่อยู่ เราอยากซ่อนอารมณ์นี้ไว้จึงแสร้งขอซากีร์ถ่ายรูป แต่มันกลับทำให้หนุ่มน้อยตระหนกมากขึ้น เพื่อความสบายใจของเด็กเราเลยไม่ได้เก็บภาพแววตาพรั่นพรึงคู่นั้น
หากแต่สิ่งที่ได้เก็บไว้เป็นภาพซึ่งฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ในห้วงคำนึงทุกครั้ง ยามได้ยินเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ทุกวันบนหน้าหนังสือพิมพ์
จากริมฝั่งสาละวินถึงริมรั้วตะโละหะลอ
ทั้งเหตุการณ์ที่ชาวบ้านแม่ดึ๊ ต้องประสบพบเจอกับปัญหาไร้สัญชาติ อันทำให้เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ ชาวบ้านไปหาหมอไม่ได้และต้องเจอะเจอกับความอยุติธรรมเมื่อเข้าเมือง และปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องพบเจอกับความรุนแรงรายวันซึ่งหาสาเหตุไม่ได้ รวมไปถึงการที่เด็กในสามจังหวัดต้องประสบกับเหตุการณ์ที่ชีวิตวัยเด็กอย่างพวกเขาไม่น่าจะต้องพบเจอ
“…ทำให้การมองปัญหาเหล่านี้เพียงผิวเผินหรือเฉพาะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่พอ เราจำต้องมองปัญหาเหล่านี้ด้วยการวิเคราะห์ไปที่โครงสร้างของสังคม เพื่อจะนำไปสู่การเข้าใจปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย จุดสำคัญต่อการพิจารณาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือ การใส่ใจกับสาเหตุต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่และประสานร้อยรวมกันเป็นโครงสร้างที่แวดล้อมตัวผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ” (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, สันติทฤษฏี/วิถีวัฒนธรรม, กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2539, น.25)
การป้องกันปัญหาความมั่นคงของรัฐด้วยการไม่ให้สัญชาติกับชาวบ้าน ทั้งที่บางคนเห็นแผ่นดินไทยมาแต่อ้อนแต่ออก ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นอื่นจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ การก่อกำเนิดของรัฐชาติและการใช้แม่น้ำเป็นเส้นกั้นความเป็นเขาเป็นเรา รวมไปถึงการสร้างความรู้จากการเขียนประวัติศาสตร์ พม่าเป็นผู้ร้ายและไทยเป็นวีรบุรุษ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ อันเป็นปัญหาทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ก่อความรุนแรงที่ต่างก็เลือกใช้ความรุนแรงเป็นวิธีแก้ปัญหาโดยไม่ได้นึกถึงปัญหาที่ตามมา
และแม้ว่าความรุนแรงทางตรงอาจจะถูกแก้ไขได้ แต่สิ่งที่น่าวิตกกังวลมากกว่าคือ ร่องรอยของความรุนแรงทั้งทางตรงเหล่านี้ อาจจะกลายร่างเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อชีวิตผู้คนมากมาย และอาจจะเป็นซุงท่อนใหญ่ที่ขวางสายธารแห่งสันติภาพในอนาคต
ปัญหาของเด็กไร้สัญชาติซึ่งไม่ได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเท่าเทียมกับผู้คนที่ได้ชื่อว่าเป็น “พลเมือง” อาจทำให้พวกเขาเติบโตมาด้วยความหวาดกลัว ไร้ที่ทางในการดำรงชีวิต ขณะเดียวกันการเติบโตมาท่ามกลางห่ากระสุนและเสียงระเบิด อาจทำให้เด็ก ๆ หลายคนในสามจังหวัดภาคใต้ ผลิตซ้ำความรุนแรงได้ในวันข้างหน้า เพราะการต้องพบเจอกับเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน ทำให้ชีวิตวัยเด็กถูกบดบังและแทนที่ด้วยภาพความรุนแรงที่อาจก่อเป็นความเคียดแค้น โกรธ เกลียด เป็นผลทางอารมณ์ที่อาจสะสมและชินชาต่อภาพความรุนแรงที่เห็นตรงหน้า จนมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงในอนาคต
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงไม่เพียงแต่เป็นผลมาจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างเดิมที่มีอยู่เท่านั้น แต่ยังอาจตอกย้ำและผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงโครงสร้างแบบเดิม แบบใหม่ๆ และยังเป็นปุ๋ยชั้นดีในการบำรุงให้เมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงทางวัฒนธรรมหยั่งรากลึกลงมากขึ้นในสังคมไทย
“ตั้งแต่หนูเกิดมา ไม่เคยเห็นแผ่นดินไหนนอกจากแผ่นดินไทย” – มึดา นาวานารถ เด็กปกาเกอะญอที่ต่อสู้เพื่อให้ได้สัญชาติมาหลายปี
“ผมไม่รู้หรอกครับว่าเป็นใครที่ทำแบบนี้ ถ้าทำได้ผมอยากจับโจรพวกนี้ให้หมด” – ซากีร์ เด็กชายชาวมลายูมุสลิมจากตะโละหะลอ
แล้วรัฐไทยยังทำกับพวกเขาเหล่านี้ได้ลง…เชียวหรือ?
“ไทย นี้ ระสะโงะ แต ทึ๊โระ ไมขละ เอ กะระ จะไมใหไคโขะขี่” แล้วเพลงชาติก็ยังคงบรรเลงต่อไป
จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม
*บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นในเดือน พฤศจิกายน 2548 แต่ด้วยเหตุผลบางประการที่ทำให้บทความชิ้นนี้เผยแพร่ล่าช้า จนถึงขณะนี้เด็กน้อยวัย 3 ขวบที่กล่าวถึงในบทความ ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อเดือน พฤษภาคม 2549 ผู้เขียนจึงขอไว้อาลัยและเสียใจอย่างยิ่งกับการจากไปของหนึ่งชีวิต ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่กับสิ่งที่รัฐได้กระทำ