ช่วงนี้มีเรื่องดี ๆ เข้ามาอยู่หลายเรื่อง เลยถือซะว่าเป็นรางวัลการใช้ชีวิตในเดือนพฤศจิกายน…

สำหรับฉัน การได้มารู้จักกับเด็กค่ายกลุ่มหนึ่ง ที่ จ.สกลนคร ในค่าย “เพลงค่ายฯ เพลงชีวิต และจิตรภูมิศักดิ์” คือเรื่องดี ๆ อีกเรื่องหนึ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในชีวิตประจำวัน แม้แกนนำจัดค่ายในครั้งนี้ จะเป็นน้อง ๆ คนที่เคยทำงานร่วมกันมาบ้างแล้ว อย่าง กลุ่มคนสร้างฝัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ยังมีอีกมากหน้าหลายตาที่เพิ่งรู้จักกันวันนี้

ค่ายนี้มีที่มาอย่างไร? คำอธิบายที่พอเข้าใจได้คือ… มีคนบอกเอาไว้ว่า “ฅนค่ายฯ” มักจะเป็นอะไรที่โรแมนติก… ฅนค่ายฯ ส่วนใหญ่มักจะมีแนวคิด อุดมการณ์มาจากวีรบุรุษในดวงใจ และถ้ามาออกค่ายที่เกี่ยวกับวีรบุรุษของเขา ที่เป็นนักเขียนเพลงแล้วล่ะก็ เขาจะถอดเอาความโรแมนติกในหัวใจออกมาได้มากเพียงใด ลองคิดดู

แต่แวบแรกที่ได้เห็นหน้าคร่าตาสมาชิกกว่า 40 ชีวิต ก็ได้แต่แอบภวานาในใจว่า ภายใต้หนวดเครา และผมเผ้าที่รุงรัง คงจะเป็นคนที่มีหัวใจที่โรแมนติกนะ

นักศึกษาที่มาร่วมค่ายส่วนใหญ่มาจาก ม.สารคาม ม.ราชภัฎสกลนคร และ ม.ขอนแก่น ไม่รู้ว่าแต่ละคนจะมาเหตุผลเดียวกันด้วยหรือไม่ หลายคนอาจมาที่นี่ เพราะความหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของค่าย หลายคนเดินทางมาเพราะสนใจเรื่องราวของเพลงค่าย หรือ ไม่เช่นนั้น ก็คงจะเป็นวิญญาณดวงหนึ่งที่สถิตย์อยู่ ณ แห่งนี้ “จิตร ภูมิศักดิ์” นักปฎิวัติ ผู้ไม่เคยตาย…

มีนักกิจกรรมคนไหนบ้างเล่าที่ไม่รู้จัก “เขา”

มีใครบ้างเล่าที่ปฏิเสธว่า “เขา” มิใช่นักปฏิวัติเพื่อประชาชน

สำหรับฉัน… บทเพลงของ “เขา” ที่มีชื่อว่า “แสงดาวแห่งศรัทธา” นำพาฉันมาที่นี่

เสียงจากชาวบ้านเล่าว่า เมื่อปี 2509 “จิตร” กลายเป็นร่างที่ไร้วิญญาณ ณ จุดนี้ (บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ต่อมาจึงสร้างเป็นอนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์) ผ่านไปกว่า 40 ปี เด็กค่ายฯ รุ่นหลานอย่างเราๆ ได้กลับมาเดินตามรอยของวีรบุรุษท่านนี้อีกครั้งหนึ่ง

ได้มานอนในที่ ๆ วีรบุรุษเคยสิ้นลม

ได้คุยกับ สหายสวรรค์ (สหายพิทักษ์ จิตร ภูมิศักดิ์) ผู้เคยติดตามวีรบุรุษ ทุกฝีก้าว ราวกับได้เห็นความเป็นไปเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ในป่า กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ได้เดินป่าไปเขียนเพลงที่ภูผาลม ที่ๆ จิตรเขียนเพลง ภูพานปฏิวัติ เดินไปในที่ ๆ เขาเคยย่างเหยียบ บางครั้ง อาจมีใครคนหนึ่งในที่นี้เผลอนั่งซ้ำลงซ้ำรอยที่ จิตร เคยนั่ง เหยียบตรงรอยเท้าที่เคยเหยียบ ซึ่งก็มิอาจรู้ได้ (และบางที จิตร อาจจะเดินหลงป่าเหมือนกับพวกเราก็ได้ เนอะ)

แม้ว่าเราไม่อาจวัดดีกรีความโรแมนติกในหัวใจของใครได้ แต่อย่างน้อยตลอดระยะเวลาที่อยู่ด้วยกันในค่าย เราก็ได้เรียนรู้จินตนาการของกัน และกันผ่านบทเพลงที่เขียนขึ้นในเช้าวันหนึ่ง

ได้รู้ว่า..

  • หนึ่ง โรแมนติกเพียงไหน ผ่านบทเพลง “มาลัยหิ่งห้อย” (เฮ้อ!… ช่างไม่เข้ากับความห้าวหาญที่มีอยู่ในตัวเลยให้ตายเถอะ)
  • มิก เขียนจินตนาการที่โลดแล่นไว้ในหนังสือทำมือ ซึ่งที่ไม่เคยหยุดทำการตลาด กระนั้นยังไม่มีคนซื้อ
  • ความใส่ใจในรายละเอียดของกุ้ง กับบทเพลงค่ายที่เขียนบรรยายบรรยากาศของค่ายได้อย่างน่าฟัง (เก็บซะทุกรายละเอียด)
  • มุมมองความรักของพี่เวช ในบทเพลงที่มีชื่อว่า “ความรัก”
  • พี่กบ กับความรักที่มีต่อทุกคนในบทเพลง “แขวนรัก”
  • เพลงรวงข้าวสีทอง ของ อาร์ และ มาตร ศิลปินเพื่อชีวิตแห่งท้องทุ่งสารคาม ทำให้โลกได้รู้ว่า ยังมีนักศึกษาที่ไม่ลืมบุญคุณของชาวนา
  • และใครทุกคนในค่ายที่ไม่สามารถระบุได้หมด ณ ตรงนี้ แต่เชื่อว่า ความรู้สึกที่เคยมีของทุกคนคงยังไม่จางหายออกจากใจ…

บรรยากาศ ที่สายลมหนาวไม่อาจแหวกแนวรั้วของความอบอุ่นที่เรามีให้แก่กันได้ (ใครว่าล่ะ หนาวเกือบตาย แต่อุ่นหัวใจดีนะ) บรรยากาศที่เราไม่ได้ถามไถ่แนวความคิด ไม่เคยรื้อดูในย่ามของเพื่อนว่ามีอะไร หรือแอบอ่านบันทึกของกันและกัน แต่เรารู้จักตัวตนและมุมมองของเขาได้ในบางบทเพลง…

โอกาสที่จะได้พบกันมีอยู่ไม่บ่อยนัก หวังว่าน้อง ๆ ทุกคนจะยังคงฝัน และเดินไปตาม อุดมการณ์อย่างมุ่งมั่นต่อไป

ถนนบางสายอาจมีคนเลือกเดินไม่มาก แต่มันมันก็ไม่เคยหยุดเลื่อนไหล แม้อาจดูร้างไร้ผู้คนในวันนี้ แต่วันหนึ่งข้างหน้ายังมีคนเดินตามรอยเท้าเรามาไม่ขาดสาย… เหมือนอย่างที่เราออกเดินตามรอย จิตร ภูมิศักดิ์ ในวันนี้

“ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”

ธิดามนต์ พิมพาชัย
ขอบคุณ ทุก ๆ คนที่มาทำให้เดือนพฤศจิกายน มีความหมาย
แด่สหายทุกผู้นาม, พฤศจิกายน 2550 ภายใต้สายลมอิเล็คทรอนิกส์ ที่แสนหนาว ที่มูลนิธิกองทุนไทย