Photo by Annop Nipitmetawee

วันก่อนสั่งซื้อกางเกงยีนส์ผ้าดิบ แบรนด์คนไทยชื่อ Rough & Tough ในราคา 990 บาท หลังจากที่ได้แรงบันดาลใจจากการติดตามช่อง tiktok ที่ชื่อ HAKU’s ทำให้ความหลงใหลในอดีตมาทักทาย จนเกิดความอยากกลับมาใส่กางเกงยีนส์ปั้นเฟดอีกครั้ง หลังจากเลิกราไปกว่า 20 ปี

ปั้นเฟด (Fade) ก็คือ การใส่กางเกงยีนส์ผ้าดิบ อันมีสีฟ้า หรือที่เรียกกันว่า Blue Jeans (เอาจริง ๆ แล้วสียีนส์คือสีน้ำเงินคราม อันเกิดจากการย้อมคราม หรือ Indigo) ใส่ไปเรื่อย ๆ จนสีจาง ซีดลง (Fade) ทำให้เกิดลวดลายบนตัวกางเกง อาจจะใช้เทคนิคและวิธีการต่าง ๆ ประกอบ อาทิ ต้องไม่ซัก (ยิ่งนานยิ่งดี) การเย็บตะเข็บให้เกิดลายที่ต้องการ การลงเทียน ฯลฯ ทั้งนี้ลายบนตัวกางเกงที่เกิดจากการเฟดนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม การเคลื่อนไหว หรือกิจวัตรของผู้ใส่ ซึ่งแน่นอน คนแต่ละคน กางเกงยีนส์แต่ละตัว จะไม่เหมือนกัน

การใส่ยีนส์ผ้าดิบ จึงให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการใส่ยีนส์ที่ฟอกแล้ว เพราะมันเหมือนกับเราต้องมีกิจกรรมกับยีนส์ตัวนั้น ๆ ของเราตลอด มิใช่เพียง ใส่-ซัก-ตาก

ย้อนเวลากลับไปตอนที่ผมใส่ยีนส์ผ้าดิบช่วงนั้นกำลังเรียนมหาลัย สมัยนั้นยังไม่มีแบรนด์กางเกงยีนส์หลากหลายเท่าตอนนี้ สื่อออนไลน์ก็ไม่มี ผมเริ่มต้นจากญาติผู้พี่พาไปซื้อ LEVI’s 501XX (Capital E) ผ้าริม (Selvedge) หรือที่คนเรียกว่า “Big E ริมแดง” เป็นของใหม่มือ 1 จากร้านขายกางเกงยีนส์ในห้างมาบุญครองในราคา 9,500 บาท จากนั้นผ่านมาอีก 5 ปี ก็มีตัวที่ 2 ไปซื้อเองที่ร้านขายเสื้อผ้านำเข้าในห้าง The Mall บางกะปิ ในราคา 15,500 บาท ตัวที่ 3 ก็มาในระยะเวลาและสนนราคาใกล้เคียงกัน

สมัยนั้นยังไม่มีศัพท์เรียกว่า Line Product แบบนี้ว่า Levi’s Vintage Clothing หรือ LVC อันหมายถึงยีนส์รุ่นที่ผลิตเลียนแบบยีนส์รุ่นเก่า ๆ ในอดีต เช่น ย้อนยุคปี 1947 หรือ ปี 1954 ซึ่งมีรูปแบบในการผลิตไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ตามบริบทประวัติศาสตร์ของสังคมอเมริกัน อันคนรักยีนส์ต่างต้องศึกษาโดยละเอียด

ตัวผมเองก็ใส่ ๆ ไปตามปกติ ไม่ได้จะตั้งใจปั้นเฟดอะไร เพราะตัวเองชอบให้กางเกงยีนส์เฟดแบบธรรมชาติที่สุด และไม่ชอบให้มีลวดลายเยอะแยะ

ปัจจุบันวงการเปลี่ยนไปมาก Levi’s เข้ามาทำการตลาดเองในประเทศไทยโดยตรงไม่ผ่านตัวกลางอีกแล้ว นอกจากนั้น เกิดการนำเข้ากางเกงยีนส์แบรนด์ญี่ปุ่น รวมถึงแบรนด์จากประเทศต่าง ๆ แล้วก็เกิดแบรนด์คนไทยเก่ง ๆ ขึ้นมากมาย ดังนั้นกางเกงยีนส์ในตลาดจึงมีเยอะแยะไปหมด

ขณะเดียวกันเดี๋ยวนี้การปั้นเฟดกางเกงยีนส์ก็เป็นผลงานทางศิลปะ มีการประกวดปั้นเฟดกางเกงยีนส์ เป็นเรื่องเป็นราว ข้อมูล เทคนิคต่าง ๆ ก็พัฒนาหลากหลาย มีช่องสื่อออนไลน์ให้เรียนรู้มากมาย

ตอนนี้ตัวผมเองก็ต้องมาเริ่มศึกษาใหม่ เหมือนกลับไปเริ่มจากศูนย์เลยทีเดียว

แค่อยากเล่าให้ตัวเองฟังถึงความรู้สึกสนุก ๆ คลู ๆ ในอดีตกับกางเกงยีนส์ตัวโปรด ที่ ณ เวลานั้นคนมากมายรอบตัวล้วนไม่เข้าใจ…

กางเกงยีนส์อะไรตัวเป็นหมื่น…. !
แพงขนาดนี้ ใส่แล้วเหาะได้หรือไง!
หา! ใส่กางเกงไม่ซักเป็นเดือน ๆ ได้ไงวะ!
ทำไมต้องแขวนกางเกงทิ้งไว้แบบนี้! ไม่พับเก็บ!
ยีนส์สีตกเปื้อนรองเท้าผ้าใบเละหมดแล้ว!
บลา บลา บลา

แต่ ณ ปัจจุบัน ผมพบว่าคนพันธุ์นี้มีเยอะแยะเลยจ้า

อรรณพ นิพิทเมธาวี
6 กรกฎาคม 2567

ปล. ชื่อบทความเอามาจากคำร้องเพลง “ไปนะ ไปนะ” ของ วง XYZ ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนื้อหาบทความ