ถนนดินลูกรังสีแดงระยะทางประมาณ 30 กิโลฯ แต่ตลอดสองข้างทางยังมีภูเขาเล็ก ๆ พร้อมต้นไม้เขียวสดใส คงเป็นเพราะกลางเดือนพฤษภาคมแบบนี้ ที่เพิ่งผ่านฝนมาระยะหนึ่ง ไม่เหมือนตอนต้นปีที่ผมเข้ามาที่นี่ ช่วงหน้าแล้งอย่างนั้นมีแต่ฝุ่นเต็มไปหมด

ใครจะเชื่อว่าเรากำลังอยู่ ใน จ.สุพรรณบุรี ที่มโนภาพของคนในเมืองเช่นเรา จะเข้าใจว่าจังหวัดนี้น่าจะเจริญหูเจริญตา เพราะมีนักการเมืองที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี (ในตอนนั้น) นำเงิน นำงบประมาณมาพัฒนาถนนหนทางมากมาย เรายังประทับใจกับถนนจากเมืองสุพรรณไปอำเภอดอนเจดีย์ เป็นถนนที่สวยและสะอาดสุด ๆ แต่ที่นี่…. อำเภอด่านช้าง ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรีประมาณ 50-60 กิโลเมตร กับเป็นดินแดนชนบทที่พูดง่าย ๆ ก็คือ กันดารสิ้นดี แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีโรงเรียนประจำอำเภอ ที่ใหญ่ที่สุดชื่อ “บรรหาร-แจ่มใส วิทยา” แล้วตามด้วยตัวเลขเบอร์ 4 หรือ 5 ผมจำไม่ได้ ซึ่งหมายถึงจำนวนสาขาที่อยู่ทั่ว จ.สุพรรณบุรี

ตอนผมมาสำรวจหาโรงเรียนที่นี่ ผมขับรถส่วนตัวมาเอง รถเปอร์โยต์ 305 สีขาว อายุกว่า 10 ปี ที่ผมพามันไปแถบทั่วประเทศในเวลาต่อมา – ผมได้ข้อมูลโรงเรียนบ้าน (ละว้า) กกเชียง จากสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอด่านช้าง ที่ต้องมีวงเล็บ “ละว้า” เป็นเพราะว่าในชุมชนละแวกนี้ เป็นชาวละว้าอพยพมาแต่โบราณ ซึ่งชาวละว้าก็คือ คนลาว ประเภทหนึ่ง

โรงเรียนบ้าน (ละว้า) กกเชียง มีอาคารเรียน 2 หลัง แต่มีหลังหนึ่งที่กำลังจะพัง

นี่คือ ค่ายฯ แรก ของผม – ของเด็กวัยรุ่นบ้าฝันกลุ่มหนึ่ง

เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ผมร่าง โครงการค่ายอาสาพัฒนาชนบท (ในนามสโมสรนักศึกษา) เสนอให้ศูนย์กิจกรรมฯ พิจารณา ผมเขียนโครงการโดยใช้ โครงการค่ายฯ ม.หอการค้า (ที่พี่ชู รุ่นพี่คนหนึ่งเขียนไว้) เป็นต้นแบบ แล้วปรับรูปแบบ ปรับกิจจกรมให้เข้ากับพวกเรา แล้ว Present กับสโมฯ กับอาจารย์ เป็นสิบๆ เที่ยว กว่าเค้าจะอนุมัติเงิน 76,000 บาท ให้พวกผมมาออกค่ายฯ สร้างอาคารเอนกประสงค์ ขนาด 4X12 เมตร

ค่ายแรกในฐานะ “ประธานโครงการ” ที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยออกค่ายฯ ไม่เคยรู้เลยว่า ในค่ายฯ เขาต้องทำอะไรกันบ้าง ผมก็ได้เพื่อนอีกละครับ…ที่ช่วย สมรักษ์ชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ จากชมรมค่ายฯ ม.หอการค้า มาช่วยจำนวนหนึ่ง ทั้งค่าย 33 คน เป็น เด็ก ABAC 11 คน เป็น เด็กหอการค้า 22 คน !!!

บอกตามตรงว่าผมไม่มีอะไรจะพูดถึงค่ายสุพรรณฯ เลย เพราะสำหรับผมมันเป็นการเริ่มต้น ผมจำได้แต่ความรู้สึก จำได้แต่สิ่งที่ผมคิดตอนนั้น ส่วนบรรยากาศและเหตุการณ์ผมนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ผมไปค่ายนั้นด้วยหน้าที่ส่วนหนึ่ง ด้วยการเรียนรู้ส่วนหนึ่ง

13 วัน – 10 วัน รวมเตรียมค่าย 3 วัน มันเป็นการออกต่างจังหวัดที่นานที่สุดในชีวิตตอนนั้น

แต่มันทำให้ผมเริ่มเข้าใจค่ายฯ นะ ก้าวแรกของผมอาจจะไม่สวยงาม เหมือนน้อง ๆ ที่ส่วนมากจะประทับใจกับ “ค่ายแรก” ตัวเอง แต่การเริ่มต้นที่แตกต่างของผม ทำให้ความรู้สึกของผมต่างออกไป

ผมคิดว่าสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการเริ่มทำค่ายฯ ในตอนนั้น คือ สถานการณ์กดดันที่ ABAC มากกว่า มีคนจำนานมากทีเดียวที่ดูเหมือนจะไม่สนับสนุนการก่อเกิดของกลุ่มพวกเรา การตรวจสอบเข้มข้น คอยดูแล (หรือจับผิด) ทุกขั้นตอน มีอยู่สม่ำเสมอ และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อค่ายที่ 2 -3 สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ละครับ ที่มันสอนผมให้เข้มแข็ง และมุ่งมั่นลบคำสบประมาทเหล่านั้นให้ได้

ก้าวแรก ของผม ผมจึงอยากเรียกมันว่า “ก้าวที่กล้า” 

ไม่ใช่จะมาชื่นชมตัวเองให้ฟังนะครับ เพียงแต่ว่ามันเป็น “นิยาม” ที่ค่อนข้างชัดเจนในทัศนะผม

จากวันนั้น…วันที่ผมปีนลงจากรถปิคอัพของครูใหญ่ ในฐานะ “ชุดเตรียมค่ายฯ” ที่กลับมาถึงโรงเรียน จากการที่ออกไปรับ “ค่ายใหญ่” ซึ่งหมายถึงเพื่อน ๆ ที่ตามมาค่ายฯ …..วันนั้น วันที่ 18 พฤษภาคม 2538 วันที่เราถือว่าเป็นวันก่อตั้ง ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วันที่ตำนานเกิดขึ้น ตำนานเล็ก ๆ ของกลุ่มเด็กหนุ่ม-สาวที่ไล่ล่าตามหาความฝันของตัวเอง ฝันที่ไม่ได้มีแต่ “ตัวเอง” แต่เป็นฝันในการรับใช้สังคม

พวกเราเพิ่งจะเริ่มต้นเดินตาม “เส้นทางแห่งศรัทธา” เท่านั้นเอง

อรรณพ นิพิทเมธาวี