นับตั้งแต่ชมรมเรา ถูกยื่นคำขวด “ถ้าไม่ถึง 20 คน ยุบชมรมฯ” เมื่อตอนก่อนออกค่ายที่ 19 (อุบลราชธานี) จนถึงวันนี้ก็กว่า 5-6 เดือนผ่านมาแล้ว สถานการณ์บ้านเมืองก็ร้อนระอุราวจะย้ำเตือนถึงบริบทและนโยบายของ พณฯ ท่าน ไม่ว่าก่อนหรือหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคไทยรักไทยชนะอย่างถล่มทลาย อีกทั้งเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ การก่อการร้ายทางภาคใต้ก็ยังเกิดขึ้นไม่เว้นวัน แม้จะมี “คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ” ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี นับเป็นก้าวย่างที่น่าชื่นชมต่อความเข้าใจในปัญหาการแบ่งแยกดินแดนไม่น้อยทีเดียว

บางคนว่า บ้านเมือง…กำลังลุกเป็นไฟ แต่ที่ค่ายอาสาฯ ABAC ที่นี่…ไฟกำลังจะดับลง

วันที่เราแบกความภูมิใจและประสบการณ์ (ครั้งท้ายสุด) ขึ้นรถไฟจากอุบลฯ กลับกรุงเทพฯ สิ่งหนึ่ง…ที่ผมรู้สึกว่า “พวกเรา” ลืม (ไม่ก็ตั้งใจทิ้งไว้ที่นั้น) เอากลับมาด้วยก็คือ “ความมุ่งมั่น” 

ตั้งแต่วันนั้น ค่ายฯเราเงียบเหงาลงมาก แม้จะมีเรื่องเฮฮากัน อกหัก รักคุดบ้างตามประสาหนุ่มสาว แต่ไม่มีนัยะของ “ความมุ่งมั่น” อีกเลย เวลายิ่งผ่านไป ทุกคนหันหลังให้ค่าย หันหน้าดำเนินชีวิต ตามแบบแผนของสังคมเมืองที่ระบบทุนออกแบบไว้เราใช้ชีวิต บางคนเรียนหนักขึ้น บางคนตั้งใจทำงาน ประกอบสัมมาชีพสนองชีวิตที่ปรารถนาความมั่นคง

แม้ เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ จะปลุกกระแสนักกิจกรรม อาสาสมัคร ได้อย่างงงงัน แต่มันก็แค่ชั่วอึดใจเดียว ที่นี่…ก็นิ่งสงบ เช่นเดิม

ทำไม…นะหรือ? ไม่รู้เหมือนกัน….ครับ แต่ผมเดาเอาว่า….มันคงมีสาเหตุหลาย ๆ ประการ ประกอบกันมากมาย

9 ปีครึ่ง….เราผ่านอะไรมาเยอะครับ ด้านหนึ่ง…มันสอนเรา อีกบางส่วนมันก็ทำร้ายเราเหมือนกัน เพราะพวกเราไม่ได้ทำแค่กิจกรรมนักศึกษา แต่ชมรมค่ายฯ นำเอาหลักการและอุดมคติผูกติดไว้กับชีวิตและแนวทางการใช้ชีวิต ซึ่งโดยธรรมชาติของอุดมคติ (ที่งดงาม) มัน “เพ้อฝัน” มากเกินไปสำหรับสังคมทุน

ข้างใน – น้อง ๆ หลายคนอยากเรียนให้จบ (ตามคำสั่งหรือไม่ก็ตามจารีต) มากกว่าจะเดินทางลงพื้นที่ 6 จังหวัดเพื่อเยียวยาเพื่อนร่วมชาติที่ประสบภัย เพื่อนๆ หลายคนอยากทำงาน เก็บเงิน ใช้ชีวิตชนชั้นกลางเต็มรูปแบบ มากกว่าที่จะนั่งลง พร่ำสอนเด็กรุ่นใหม่ถึงประสบการณ์ที่ตนเคยได้รับ พี่ๆ บางคนอยากเป็นผู้ทำลายคน มากกว่าผู้สร้างสรรค์คน

ข้างนอก หรือครับ – สถาบันที่เราสังกัดเป็นองค์กร “ขี้เล่น” ที่ชอบ “ล้อเล่น” กับความฝัน (ลม ๆ แล้ง ๆ) ของเด็กรุ่นใหม่ บางครั้งบางหนก็ยังนึกสนุก ชอบจับเราเปลี่ยนโน้นเปลี่ยนนี้ เหมือนเราเป็นตุ๊กตาใส่เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ธนาคาร เมืองที่สังกัด ก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วย “สิ่งเร้า” นานาชนิด เซ็กส์ พนัน ยาเสพติด บันเทิง เงินทอง อำนาจ ฯลฯ ทั่วบ้านทั่วเมือง สังคมที่เราสังกัด ก็ให้คุณค่ากับคำว่า “นักศึกษา” แบบเพี้ยนๆ – “ความดี” ถูกสัมปทานไว้สำหรับดารานักร้องของค่ายใหญ่ ๆ พร้อมด้วยโล่รางวัล การันตีความดีงามของเขาเหล่านั้น พร้อมกันนั้นก็ลดงบประมาณกิจกรรมนักศึกษาด้านสังคมลง และพยายามผลักสถาบันการศึกษาเข้าสู่ระบบธุรกิจเต็มตัว นัยว่าจะได้มีการแข่งขันกันตามกลไกลตลาด อีกไม่นานเรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะซื้อหุ้นของมหาวิทยาลัยไว้รอเงิน (ค่าเทอม) ปันผลบ้างก็เป็นได้

เราตั้งใจจะเลิกทำค่ายฯ จริง ๆ นับตั้งแต่เราไม่สามารถทำตามกฎที่กำหนดไว้ได้ แต่เขาก็บอกว่า “ล้อเล่น… ทำเถอะ เดี๋ยวออกตังค์ให้” ตอนนั้นเราไม่อยากเลิกทำค่ายฯ หรอกครับ เรารักมัน เรารักค่ายฯ แต่เราผิดหวังและน้อยใจกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น แต่เราให้เกียรติสถาบันและให้เกียรติตัวเอง จึงตัดสินใจ….จะล้มตัวเอง ณ วันนั้น

แต่เชื่อไหมครับ ตอนนี้….หลาย ๆ คนพูดออกมาแทบจะพร้อมกันแล้วละครับว่า “เลิกเถอะ”

จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ส่วนตัวผม….มีข้อตกลงไว้กับพรรคพวกทางภาคใต้ (เกาะพระทอง) ว่าจะพาพวกเราไปออกค่ายฯ ที่เกาะทองกันให้ได้ และเนื่องจากมันเป็นเกาะ ต้องนั่งเรือ ซึ่งผิดระเบียบของมหาวิทยาลัยเต็ม ๆ ที่ห้ามเดินทางทางน้ำเด็ดขาด แต่คราวนี้….สถาบันอนุญาติให้เราเป็นกรณีพิเศษ นับเป็นโอกาสอันดี แต่ด้วยสถานการณ์ของพวกเราเองที่จะทำให้เสียโอกาสนี้ไป

ผมเขียนบทความนี้แค่อยากจะบันทึกประวัติศาสตร์ของชมรมเอาไว้

ก็ดีเหมือนกันครับ…..พร้อมใจกันเลิก ก็ตอนที่เราเริ่ม….เรายังพร้อมใจกันสู้นี่น่า…..

อรรณพ นิพิทเมธาวี
11 เมษายน 2548 – 01.45 น.