ฉันเพิ่งไปเยือนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ของอดีตชาวพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่จังหวัดยะลา ไปรู้ไปเห็นแล้วกลับมาครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมหลังจากพังพ่ายแล้วพรรคฯ มลายา จึงยังรวมกันติด สามารถอยู่ด้วยกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม ร่วมกันสร้างบ้านสร้างถิ่นที่อยู่ของตัวเองเป็นปึกแผ่น มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร ในหมู่บ้านมีทั้งอนุสรณ์แห่งการต่อสู้ มีที่เก็บกระดูกสหาย มีพิพิธภัณฑ์เก็บศาสตราอาวุธที่เคยใช้ในการต่อสู้กับรัฐบาลมลายา มีพิพิธภัณฑ์เลขาธิการพรรคฯ มีหนังสือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ฉันเฝ้าแต่ถามว่า ทำไมเราไม่มีอย่างนั้นบ้าง แล้วหนังสือ “ถังแดง ฯ” เล่มนี้ ก็แก้ความเข้าใจผิด ๆ ของฉัน
หลังจากสหายชาวพัทลุง โดยเฉพาะคนบ้านนาและลำสินธุ์ กลับจากการร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย พวกเขาได้ช่วยกันสร้าง “เครือข่ายสินธุ์แพรทอง” ที่เข้มแข็งทุกด้านขึ้นมาในชุมชน
หนังสือสรุปไว้สั้น ๆ ว่าองค์กรนี้ “ใช้วัฒนธรรมและวิธีคิดแบบ พคท. อันได้แก่ การทำงานทางความคิด การวางแผน การทำงานอย่างเป็นระบบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบชัดเจน มีการวางยุทธศาสตร์ มีเข็มมุ่งอันเดียวกัน รวมไปถึงการประเมินการทำงานและการถอดบทเรียน ผสมผสานทางวัฒนธรรมวิธีคิดแบบเอ็นจีโอ แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง และวัฒนธรรมของชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอำนาจรัฐและให้ประชาชนพึ่งตนเองได้”
“ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์ และความทรงจำหลอนในสังคมไทย” มาจากวิทยานิพนธ์ของ จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ศึกษาความทรงจำกรณี “ถังแดง” ในชุมชนลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เมื่อปี 2552 วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ได้รับรางวัลวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ในฐานะวิทยานิพนธ์เพื่อคนจนประจำปี 2553 ผู้เขียนได้ลงไปอยู่ในชุมชนนี้ถึง 2 ปี ได้คลุกคลีสัมภาษณ์สังเกตความเป็นไปของผู้คนอย่างถ่องแท้แน่ใจ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวิชาการ ผู้เขียนพูดถึงกระบวนการเกิดประวัติศาสตร์จากความทรงจำ ซึ่งมีทั้งความทรงจำหลักความทรงจำปัจเจกและความทรงจำร่วม ประวัติศาสตร์บาดแผลของถังแดง มีความทรงจำหลายรูปแบบ ผู้ที่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในเหตุการณ์ มีทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ และมีกระบวนการสร้างความทรงจำหลักให้เป็นความทรงจำร่วมนำไปสู่การจดจำหรือประวัติศาสตร์ด้านเดียวผ่านองค์กรของชุมชนที่นำเอาหลักการทำงานและวิธีคิดแบบ พคท. มาใช้
ผู้เขียนปูเรื่องให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองที่มีผลสำคัญต่อพื้นที่พัทลุง ตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่พัทลุงถูกรัฐส่วนกลางเข้ามามีอำนาจ สร้างความขัดแย้งในชุมชนอย่างกว้างขวาง การเกิดชุมโจรระหว่างปี 2455-2465 สภาพบ้านเมืองที่กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เจ้าหน้าที่จับมือกับโจร กดขี่ข่มเหงปล้นชิงชาวบ้านจนเดือดร้อนแสนสาหัส การเข้ามาของ พคท. เมื่อปี 2503 ที่โฆษณานโยบายขจัดความไม่เป็นธรรมจากอำนาจรัฐและปราบโจร อันนำมาซึ่งค่ายทหารในปี 2509 และการจับกุมปราบปรามอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกิดถังแดงระหว่างปี 2514-2516
ถังแดง ที่คนทั่วไปรู้กันก็คือ ทหารจับชาวบ้านที่สงสัยว่าจะเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ไปฆ่าแล้วเผาอย่างทารุณโหดร้ายป่าเถื่อนในถังน้ำมันที่ค่ายเกาะหลุง เขตตำบลลำสินธ์ุ จำนวนมากถึง 3,008 คน ตัวเลขนี้ผู้เขียนก็ไม่ค่อยแน่ใจ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดนอกจากรายงานของศูนย์นิสิตฯที่เข้ามาเก็บข้อมูลหลัง 16 ตุลา 2516 ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจรวมเอาตัวเลขยิงทิ้ง ถีบลงจาก ฮ. ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ในช่วงระยะเวลาเดียวกันเข้าไปด้วย
เหตุการณ์นี้มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย มีทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ มีทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายอำนาจรัฐ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ และชาวบ้านที่ไม่ใช่พวกทหารตำรวจ และไม่ใช่พวกคอมมิวนิสต์ มีทั้งผู้อยากจะจำและผู้อยากจะลืม มีความเจ็บปวดขมขื่นซับซ้อนหลายมิติ
งานวิทยานิพนธ์เป็นงานวิเคราะห์ศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ มีรายละเอียดมากมายในประเด็นต่าง ๆ เป็นเรื่องที่น่ารู้ น่าศึกษา สำหรับผู้ที่สนใจปัญหาสังคม โดยเฉพาะเพื่อนมิตรชาวอดีต พคท. อยากให้ได้อ่านกัน เผื่อมีโอกาสจะได้แวะไปศึกษาดูงานของ “เครือข่ายสินธุ์แพรทอง” แล้วเอามาปรับใช้กับชุมชนของตัวเองบ้าง
หนังสือเล่มนี้หาซื้อยาก ไม่ได้วางขายตามร้านหนังสือทั่วไป อาจเพราะเป็นวิทยานิพนธ์และพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัย จึงมีขายเฉพาะที่ ฉันได้มาจากการอนุเคราะห์ของ คุณอากร ภูวสุธร แห่งร้านหนังสือดาวแดง ที่จัดหามาให้ ขอขอบคุณอย่างมาก
Rattanaporn Taecharachkit
https://www.facebook.com/rattanaporn.taecharachkit/posts/10220238620146728