
เสวนา “วิกฤติเด็กรุ่นใหม่… ภายใต้การครอบงำของระบบทุนนิยม”
งานวันเราอาสา ครั้งที่ 7
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC หัวหมาก)
วิทยากร
- สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน) อดีตนักศึกษา นักกิจกรรมด้านสังคม / เจ้าหน้าที่ศูนย์กิจกรรมและกีฬา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
- ชูวิทย์ จันทรส (อั๋น) ปริญญาตรี รามคำแหง / ผู้ช่วย ส.ว, เป็นที่ปรึกษาหลาย ๆ ด้าน ทั้งบริษัทเอกชน / ทำงานอยู่กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุมชนของวุฒิสภา
- คีคนางค์ สุวรรณทัต (ฟ้า) ปริญญาตรีบริหารธุรกิจ ม.รามคำแหง / อดีตยุวชนแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ ยุวชนเดือนตุลา เข้าป่าเมื่อ พ.ศ. 2520
- ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน (กุ๋ย) ปริญญาตรีรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง / กลุ่มไม้ขีดไฟ ทำงานด้านการเขียนบทละคร ด้านการกำกับละครเกี่ยวกับเรื่องของการสะท้อนปัญหาสังคม เช่น การศึกษา เพศศึกษา ความรุนแรงในครอบครัว
สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน)
ก่อนอื่นอยากจะอธิบายในเรื่องของการเสวนาในวันนี้ อยากให้เป็นเรื่องของการตั้งคำถามขึ้นมาจากผู้เข้าร่วมเสวนาด้วย พี่ ๆ หรือพวกเราบางคนในวงอยากร่วมแสดงความคิดเห็นก็ได้ยินดีมาก เพราะถือว่าวันนี้วงของเราเป็น วงแห่งการเรียนรู้ร่วมกันแลกเปลี่ยนร่วมกัน
ก่อนอื่นคำถามแรกที่อยากจะถาม หัวข้อเราเป็นเรื่องวิกฤติเกี่ยวกับทุนนิยมและคนรุ่นใหม่ ก็เลยอยากถาม… หลาย ๆ คนนี้พูดถึงเรื่องทุนนิยมบ่อยมาก ว่าเป็นทุนนิยมอย่างนั้น…อย่างนี้ อยากรู้เหลือเกินว่า ทุนนิยมมันคืออะไร และมันมีที่มาอย่างไร คำว่าทุนนิยม ก็ขอเชิญถ้าใครสะดวกจะตอบได้
คีคนางค์ สุวรรณทัต (ฟ้า)
พี่ต้องขอออกตัวไว้นิดนึงว่า พี่รู้ตัวล่วงหน้าก่อนมาที่นี่ประมาณ 1 ชั่วโมง เนื่องจากว่าพี่ที่จะต้องมาเป็นวิทยากรต้องไปประชุมอีกที่หนึ่ง ที่นี้…อย่างที่ทราบจากประวัติพี่เอง พี่ ๆ เขาจึงมอบหมายว่าให้ลองมาแลกเปลี่ยนความคิดกับน้อง ๆ ดูนะค่ะ
หัวข้อนี้พี่ได้ยินครั้งแรกสะดุดหูมาก เป็นเรื่องที่พี่หวั่นวิตกในสภาพสังคมปัจจุบันมาก เนื่องจาก…เราต้องยอมรับอยู่อย่างว่า ที่ใดที่มีการพัฒนา ที่นั้นย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกับคำว่า “เทคโนโลยี” และ “ทุนนิยม” จริง ๆ เทคโนโลยีมันก็เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยม นั้นเอง วันนี้เราคงไม่พูดความหมายว่าทุนนิยมคืออะไร แต่อยากให้เห็นความแตกต่าง….คำว่าทุนนิยมกับสิ่งที่ไม่ใช่ทุนนิยม
ทุนนิยม มักจะพูดเรื่องผลประโยชน์ ตัวเลข กำไร ขาดทุน มากกว่าการพูดถึงคำว่าจิตใจหรือวิถีชีวิต หรือความเป็นธรรมชาติ เพราะเนื่องจากว่า คำว่าวิถีชีวิตธรรมชาติ มันจะไม่มีการบวก ลบ หรือคูณ หาร แล้วประเมินค่าออกมาได้ แต่คำว่าทุนนิยมสามารถประเมินค่าออกมาได้ เพราะเรากำลังพูดถึงผลประโยชน์ พูดถึงกำไร เพราะฉนั้นมีตัวเลขที่ค่อนข้างชัดเจน ถ้าเราไม่ได้กำไรก็คงขาดทุน
ทุนนิยม มักจะสอดคล้องกับคำว่า “วัตถุนิยม” จะเห็นชัด ทุนนิยมจะเป็นเรื่องของตัววัตถุที่ไม่ได้เน้นเรื่องสภาพจิตใจ สภาพสังคมเป็นเรื่องของโลกโลกาภิวัตน์ ที่มีการเน้นการพัฒนาทางเทคโนโลยีหรือเน้นทางวัตถุ นั้นก็คือการเน้นทางด้านทุนนิยม ที่มุ่งการประกอบการ มากกว่าการที่จะสร้างสรรค์ทางด้านความคิด ทางสภาพจิตใจ เราจะเห็นว่าสภาพสังคมของเด็กวัยรุ่นทุกวันนี้ …ปัญหาในเรื่องความก้าวร้าว ความรุนแรงในเด็ก อาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นั้นเป็นผลกระทบมาจากคำว่าทุนนิยม
ทุนนิยมมันอยู่ค่อนข้างรอบตัวเรา มันอยู่กับการพัฒนาที่พี่บอกว่า พอมันพัฒนาทางด้นเทคโนโลยีปุ๊ป มันก็จะพูดเรื่องของผลกำไร ผลประโยชน์กันซะมากกว่า สิ่งหนึ่งที่เราได้รับหรือกระทบโดยตรงก็คือเรื่องสถาบันครอบครัว ความที่ทุนนิยมเข้ามาแทรกแทรงกับเรามากในเรื่องของการพัฒนาทางด้านเศษฐกิจ การพัฒนาทางเทคโนโลยี การแข่งขันที่มันสูงขึ้น ทำให้สถาบันครอบครัวมันด้อยไป คุณพ่อ คุณแม่ คุณลูกที่โตแล้ว เรียนจบแล้วทำงาน ทุกคนมีต่างหน้าที่ที่จะต้องออกไปประกอบอาชีพ เพื่อหาปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยซึ่งปัจจุบันนี้มากกว่าปัจจัย 4 แล้ว เดิมทีปัจจัย 4 เรา จะมีเรื่องที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อาหาร วันนี้…เรามีเรื่องของโทรศัพท์มือถือ มีเรื่องของรถ มีเรื่องของแฟชั่น
จริงๆ แล้วพี่ไม่โทษว่า…สิ่งที่วัยรุ่นรับทุกวันนี้ นั้นไม่ใช่ความผิดของวัยรุ่นหรือไม่ใช่ความผิดของเด็กที่ได้รับและเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ จริง ๆ แล้วมันเป็นผลกระทบจากการพัฒนานั้นแหละ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นห่วงก็คือว่า วันนี้ถ้าเราจะต้องอยู่กับทุนนิยม…เราจะอยู่อย่างไร…ให้เราไม่ถูกกลืน ให้เราไม่เป็นเครื่องจักร ให้เราไม่ขาดชีวิตจิตใจของความเป็นมนุษย์ ไม่ขาดวิถีธรรมชาติ ซึ่งดั้งเดิมเราก็เกิดจากวิถีธรรมชาติ มีการพัฒนามาทางสังคม จาดธรรมชาติแท้ ๆ เพราะฉะนั้น วันนี้…พี่อยากเน้นถึงการสร้างความคิดให้เราอยู่ได้กับทุนนิยม
เพราะฉะนั้นในส่วนของพี่…อยากจะเน้นในเรื่องตรงนี้ แต่นี่พี่ถือว่าเกริ่นนำก่อน แล้วพี่ ๆ อีก 2 คนน่าจะมีแนวคิด อาจจะแตกต่างไปหรือคล้ายๆ กัน อยากให้น้องๆ ฟังหลายๆแนว แล้วหลังจากที่ฟังพวกพี่ๆ คุยกันพี่ก็อยากให้น้อง ๆ เสริมได้ หรือโต้แย้งในสิ่งที่พวกพี่พูดไป…ค่ะ
สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน)
ขอบคุณมากครับ… พอดีพี่พูดมาถึงประเด็นเรื่องของสถาบันครอบครัว เป็นเรื่องของการยกตัวอย่างปัญหา ประเด็นปัญหา พอดีผมได้คุยกับพี่อั๋น พี่อั๋นได้บอกว่าได้เตรียมข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ เกี่ยวกับปัญหาหลากหลายมาก ให้พวกเราได้ดูกัน แล้วเดี๋ยวผมอาจเรียนเชิญพี่อั๋น ลองพูดต่อเนื่องจากตรงนี้เลยนะครับผม
ชูวิทย์ จันทรส (พี่อั๋น)
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพวกเรานะครับ ที่พยามจัดงานที่…มันเหมือนกับว่าสวนกระแสภายใต้ของเท็จจริง แต่ประเด็นก็คือว่า…จะทุนนิยมหรือไม่ทุนนิยมอย่างไรก็แล้วแต่ ขอให้เรารู้ว่านั้นมันคือข้อเท็จจริง อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เดินเข้ามา ABAC ผมเข้าทางประตูตรงนั้น…ผมเห็นเวทีคอนเสิร์ตและผมก็เดินมาอีกนิดผมก็มาเห็นเวทีเล็กๆ ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะถูกมองว่า บ้าหรือเปล่า!!!… คนพวกนี้บ้าหรือเปล่า!!!…. ทำไมมา…นั่ง..อะไรกันก็ไม่รู้ .. มาพูดถึงเรื่องสังคม มาพูดถึงการไปสร้างโรงเรียน ….บ้าหรือเปล่า ตรงโน้นมันส์กว่าเยอะเลย…โดนใจด้วยครับ ….นี้คือข้อเท็จจริงที่เป็นความต่าง น้องๆ หลายคนเชื่อว่าเวทีตรงนี้ทำให้หลายๆ คนได้ยินเสียง ทางผู้จัดบอกมาอย่างนั้น ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีคนมานั้นตรงนี้เต็มไปหมด แต่เราคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุดแล้ว…การพูดคุยในวันนี้จะมีเสียงเข้าไปสัมผัสกับเพื่อนๆ ของเราบ้าง เพื่อนๆ อาจจะได้ยินความคิดของกลุ่มคนแปลกๆ ซึ่งเรียกว่าเดินสวนกระแสอยู่ ณ ทุกวันนี้นะครับ….ก็ไม่เป็นไร
ผมเชื่อว่าทุนนิยมนั้น…ในตำราก็บอกกันอยู่ อาจารย์ก็สอนกันอยู่ แต่ ณ วันนี้ผมเชื่อว่าประเทศไทยเลือกที่จะเจริญรอยตามทุนนิยม เพราะฉะนั้นไม่ว่าที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าคุณเลือกที่จะเดินตามวิถีอย่างนี้ คุณก็จะปรากฏภาพอย่างนี้ครับ เดี๋ยวผมจะฉายภาพให้ฟัง ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างภายใต้ทุนนิยมซึ่งเหมือนกันหมด
Website ของ คมชัดลึก เมื่อวันที่ 4 ที่ผ่านมา บอกว่า 3 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม นายเอ นามสมมุติอายุ 17 ปี เด็กหญิงบี นามสมมุติ อายุ 14 ปี และอีกหลายๆ ท่าน ในข้อหาร่วมกับพวกที่ปล้นแล้วหลบหนี ก่อนหน้านั้นไปรุมโทรมผู้หญิงโดยมีอาวุธปืน ….นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไข ภายใต้ประเทศที่เลือกระบบทุนนิยม ยังมีอีกครับ….มีรายละเอียดอีกเยอะแยะแต่ผมไม่อยากเล่าเพราะกลัวจะกินเวลา ว่าวิธีการเขาไปทำอย่างไรกันบ้าง …ต่อไปครับ 3 นักเรียนสาวหนองคายถูกฉุดไปข่มขืนยับ ชื่อก็ไม่บอกหรอกครับว่าเป็นใคร แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน …ต่อไปครับ จับ 5 โจ๋พระประแดงข่มขืนสาววัย 14 ปี หลายคนอาจจะงง เสียงอะไรก็ไม่รู้…อยู่ๆมาพูดถึงเรื่องการข่มขืนในรั้วเอแบค ข่าวต่อไปครับ…แก๊งวัยรุ่นบางระกำตึบหนุ่มฉุดสาว ซึ่งมันก็จะมีรายละเอียดเยอะแยะมากกมาย มีวิธีการที่แตกต่างกัน แต่จะเห็นว่าพฤติกรรมแทบจะไม่แตกต่างกัน ..กระแสความนิยมหรือความเชื่อ มันถูกสร้างขึ้นมาให้กลายเป็นเหมือนกับแฟชั่น…อะไรซักอย่าง…การรุมโทรม เมื่อเช้า ส.ว ท่านหนึ่งก็ออกมาพูด ครูมนตรี สุนทรวิชัย ก็พูดถึงเรื่องนี้ว่า “เป็นประเด็นที่เราจะอยู่นิ่งเฉยกันไม่ได้แล้ว”
ยังมีอีกเยอะทีเดียว ผมเตรียมมาพอสมควรเพื่ออยากให้เราได้เห็นภาพ ไม่ใช่่ผมหยิบขึ้นมาลอยๆ นี่ผมคีย์เข้าไปใน Web แค่เฉพาะเกี่ยวข้องเฉพาะวันเดียว
มาดูอีกข่าว ตะครุบนักศึกษาสาวค้ายาบ้า บ้านแตก หาเงินช่วยแม่ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น เป็นนักศึกษาของมหาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ถูกจับพร้อมของกลาง…ยาบ้า 650 เม็ด โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง
เป็นไงครับ นี้คือข้อเท็จจริง นี่คือเรื่องราวที่มันเป็น ผมคงไว้แค่นี้ละครับ ถ้าใครสนใจผมจะทิ้งข้อมูลไว้ให้ ถ้าเราสนใจตามข่าวสารบ้านเมืองแล้ว จะประเมินได้เลยว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับประเทศ ผมอยากจะตีกรอบให้มันแคบลง คำว่าคนรุ่นใหม่ในที่นี้ จริงแล้วความหมายมันกินไปถึงคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนด้วย แต่เราคุยกัน ณ ที่นี้อยากจะดึงให้มันแคบลงมา เอาเฉพาะส่วนที่เป็นนิสิตนักศึกษาก็คือ พวกเราตรงนี้ ภาพที่เกิดขึ้นน่าจะอธิบายได้ชัดว่า…มันเกิดขึ้นเพราะอะไร นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังที่จากที่บ้านเมืองเราเลือกใช้ระบบทุนนิยม
สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน)
ขอบคุณครับ..มีใครมีคำถามอะไรเพิ่มเติมไหมครับ ฟังมาถึงช่วงหนึ่งแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้น…อาจจะยัง..ไม่ชัดเท่าไร และจริงๆ แล้วทุนนิยมมาแล้ว มีความรุนแรงแล้ว ที่ทิ้งประเด็นไว้ว่าเมื่อกี่มีการพูดถึงคดีที่เกิดขึ้น มันเริ่มมีภาพมา…ทุนนิยมเป็นอย่างนี่นะ แล้วเราจะอยู่อย่างไร จากตรงนี้มาปุ๊ปเสร็จ นักศึกษาละครับ…เรามีส่วนผลกระทบอะไรกับทุนนิยมบ้างไหมครับ ลองให้ พี่กุ๋ย บอกให้เราฟังนิดหนึ่ง
ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน (พี่กุ๋ย)
จริง ๆ ผมเรียนรัฐศาสตร์มานะ หนักใจนะให้มาพูดเรื่องทุนนิยมเพราะผมไม่ได้จำละ..ว่ามันคืออะไร
ผมตั้งคำถามกับประเด็นที่ตั้งมาว่าครอบงำ ผมไม่แน่ใจคนรุ่นใหม่ถูกครอบงำหรือเราพร้อมที่จะเข้าหามัน เข้าไปอยู่กับมัน ผมว่าน่าจะเป็นประเด็นหลังซะมากกว่า ซึ่งผมว่า…เดี๋ยวค่อยไปว่าจะอยู่อย่างไร ผมว่ามันน่ากลัวตรงที่ว่า คือทุกคนมันอยากจะไป ส่วนหนึ่งมาจากนโยบาย ส่วนหนึ่งมาจากพวกเราที่รับสื่อ รับอะไรกันมา
ระยะเวลาที่ผ่านมาผมทำงานกับเด็ก เราพยามใช้กระบวนการในการให้เด็กตั้งคำถาม ทำไม? ทำไม? กับชีวิต เอะ…เขาเกิดมาทำไม เอะ…ทำไมต้องไม่ลอดผ้าถุง ทำไมลอดขาผู้ชายไม่ได้ มันจะมีค่านิยมอะไรต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น และจะให้เขาตั้งคำถาม เพื่อจะถามว่าเขาจะอยู่อย่างไรดี ทำไมผู้หญิงผู้ชายต่างกัน คุณค่าเหล่านี้มันเกิดจากที่ไหน อะไรเหล่านี้นะครับ แต่ปัญหาตอนนี้ที่น่าสนใจก็คือว่า…ผมไม่แน่ใจว่า พวกเราเองตั้งคำถามการมีชีวิตอยู่แค่ไหน คือพอเรา…เกิดความไม่มั่นใจกับชีวิตของตัวเองในเรื่องของ….เราต้องจบไปมีงานทำที่ดีเพื่อจะเลี้ยงครอบครัวได้ แต่วันนี้เองเราได้รับเงินทางบ้านมา 6,000 เราก็ใช้ 6,000 และก็จบปริญญาตรี Start ประมาณหกพันกว่า ๆ จะมีเงินกี่บาทกันเชียวเหลือถึงทางบ้าน ถามถึงพฤติกรรมที่เราใช้สตางค์ เราใช้ไปกับค่าอะไรบ้าง เราใช้ไปกับ…ความสนุกที่มันเกิดขึ้นที่มันแบบฉาบ ๆ มันไม่ใช่ความสุขที่มันยั่งยืนอะไร ระยะหลังอ่านงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ดี…งานแกจะเขียนแบบอ่านง่ายๆ หน่อย เข้าใจง่ายๆ บางทีเราหาความสุขในชีวิตไม่เจอ เรามองไปที่ดอกไม้เราไม่เห็นความงาม เรามองไปที่เพื่อนฝูงเราไม่เห็นความสดใส ความสุขมันอยู่ในร้านเหล้า ความสุขมันอยู่ในการคุยโทรศัพท์ มันถูกดึงไปหมดเลย ผมว่าที่สุดแล้ว…เราเอาชีวิตเราไปผูกไว้กับมันเสียแล้ว เราจะปลีกตัวมายังไง แล้วเราจะอยู่กับมันยังไง…
ที่ผ่านมาเราพูดเรื่องเสรีภาพกับเด็ก ๆ มีเสรีภาพไหม …ทรงผมยาวมันเกี่ยวกับการศึกษาไหม มันเกี่ยวกับมันทำให้เราเรียนดีขึ้นไหม เอาชายเสื้อยัดในกางเกง แต่งตัวเรียบร้อย มันทำให้เราเป็นคนดีขึ้นไหม เราพูดกับเด็กเรื่องนี้ เด็ก ๆ มัธยม ก็มาเจอว่ามันต้องตั้งคำถามเยอะ ๆ กับเรื่องพวกนี้ ที่สุดแล้วถ้าเราไม่ตั้งคำถาม เราก็จะหลุดไปกับกระแสที่มันเกิดขึ้นกับกระแสใหญ่ ๆ วันนี้เองเสรีภาพมันเกิดจาก การกินกาแฟยี่ห้ออะไรซักอย่าง…ที่บอกว่าชีวิตของคุณ …ไปซื้อรถสักคันขี่ต่างประเทศ มันมีอิมเมจ …เสร็จเขาแล้ว เราพูดเรื่องเสรีภาพ 4-5 ปีที่แล้ว วันนี้สื่อโฆษณาไปแล้ว
วันนี้…คุณจะเป็นตัวของตัวเองได้คุณต้องใช้โทรศัพท์ยี่ห้อนี้ เอออะไรแปลกๆ ในขณะที่เราคุยกับเด็กๆ เสรีภาพมันเกิดขึ้นในใจก่อน ไม่ใช่เหรอ…แล้วมันก็ออกมา คุณไม่ต้องไปรอดีไซน์เนอร์มาดีไซน์เสื้อผ้าให้มันโทรมๆ แล้วบอก “เราเป็น ตีส” ไปถักผมเปีย ผมว่าศิลปะอยู่ข้างใน มันเกิดข้างในแล้วมันค่อยออกข้างนอก แต่ตอนนี้เราถูกหลอกว่ามันอยู่ข้างนอกแล้วเอามาใส่เราแล้วเราจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งผมว่าเราต้องหยุดก่อน ใคร่ครวญก่อนว่าเราเป็นใคร

ตอบคำถามเลยว่า “วิกฤติไหม? ผมว่าวิกฤติ” ส่วนตัวผมที่ทำงานสังคม ผมรู้จักองค์กรอยู่เยอะแล้วก็ “กุ๋ย มีคน รึเปล่า อยากได้คนทำงาน” ถามว่าพวกเรามีเงินเดือนไหม…พวกเรามีเงินเดือน เป็นวิชาชีพหนึ่งเหมือนกัน ทำงานเหมือนหมอที่รักษาคนไข้ เรารักษาสังคม เราทำงานเป็นวิชาชีพเหมือนกัน ทีนี้…มันมีคนหางาน คนตกงานเยอะมาก แต่ทำไมคนที่เรารู้จักต้องการคนไปทำงานเยอะมาก เราตั้งคำถาม…หรือว่าเราไม่พร้อมที่จะทำงาน ผมเจอคนหลายคนเข้ามาหา
“พี่มีงานให้ผมทำไหมครับ”
“มีครับ…อยากทำอะไร ผมทำละคร ผมทำอบรบ ทำงานเทรนนิ่ง คุณทำอะไรได้บ้างอะ”
“ผมทำไม่ได้เลย แต่ผมต้องได้สตางค์นะพี่ ผมควรเริ่มที่ 6,000-7,000 นะครับพี่”
…เหรอ อย่างนั้นเหรอ… ซึ่งเราเจอเยอะกับองค์กรต่าง ๆ เขาก็เล่าให้เราฟังว่าคนรุ่นใหม่ไปเสนอตัวไปทำงาน แล้วก็พูดเรื่องเงินก่อน ที่จะพูดว่าตัวเราเองมีอะไร ซึ่งผมว่ามันต้องกลับมาถามตัวเองว่าเรามีอะไร
กิจกรรมนักศึกษาเหล่านี้ …ไอ้วงเล็กๆ พวกนี้ ผมก็ชื่นชมนะครับ พวกเราเติบโตมากับงานนักศึกษา มาพบกันในมหาลัย หลายๆ คนที่นั้งอยู่แถวนี้เจอกันในมหาลัย แล้วก็มีวงพูดคุยได้มีโอกาสได้พัฒนาตัวเองจากกิจกรรมเหล่านี้ แล้วก็มีคนพร้อมที่จะเอา เฮ้ย…มีความสามารถนี่ ไปทำงานกับพี่ เรื่องเงินว่ากันทีหลัง เพราะเรารู้สึกว่าเราอยากทำงานมากกว่า อะไรเหล่านี้…แต่ว่าคุณค่าเหล่านี้มันไปไหน ตอนนี้เราทำงานเพราะ…เงินเดือนวันที่ 30-31 มากกว่าทำงานเพราะ…ทำงานวันนี้ นี้คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น…พอเราไปผูกกับคุณค่าตรงนั้นแล้ว มันตกไปอยู่ในวังวนแล้ว เราต้องหยุดแล้วก็กระโดดออกมาก่อน กระโดดออกมาวางชีวิตใหม่แล้วก็ค่อยไปเล่นกับมันใหม่ ไม่งั้นลำบาก …ไม่งั้นเห็นเพื่อนกินเป็ปซี่ ก็จะไปโกรธเพื่อนอีกว่าเป็นทุนนิยม เพื่อนเข้าเซเว่นกินสโมกี้ไบท์ ก็ไปโกรธเพื่อนว่าเพื่อนเป็นทุนนิยม ลำบากใจจังเลย… ผมว่าเราต้องโดดออกมาก่อน …ถึงวันนี้เองเพื่อนกินเป็ปซี่ ผมก็ถอนใจ…เออ…ไม่เห็นเป็นไรเลย…คิดอะไรมาก …มันมีอะไรต้องใช้อีกเยอะแยะ…อะไรทำนองนี้…เอาไว้ประมาณนี้ก่อน
สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน)
พี่กุ๋ยทิ้งประเด็นนะครับ อย่างแรกคือว่า..เรื่องของการยึดติดกับกระแสที่มันเป็นอยู่ ใครเป็นคนกำหนดว่าเรียนจบ 4 ปี ทำงานต้องได้เงินเดือน 10,000 ขึ้นไปหรือว่าอย่างไร พี่อั๋นจะเสริมเลยไหมครับ…เชิญครับ
ชูวิทย์ จันทรส (พี่อั๋น)
ผมรู้สึกมันส์กับประเด็นคุณกุ๋ยมากเลย เพราะผมเองก็อยู่ในช่วงวัยเดียวกับพวกเรา ก็รู้สึก…ยังมีกลิ่นวัยรุ่นอยู่นิดหน่อย เข้าใจความรู้สึกกันง่ายหน่อย เข้าไปเซเว่น ก็…รับสโมกี้ ไบท์เพิ่มไหมค๊ะ ประเด็นใกล้เคียงกัน
ที่นี้ผมอยากให้กลับมาตรงนี้ครับ …ใส่เสื้อผ้าอย่างนี้ …ถือหนังสืออย่างนี้ …ไม่ได้ถือสปอร์ตพูล …ไม่ได้ถือแม็กกาซีนที่มันราคาแพง ๆ เป็นคำจำกัดความของคำว่านักศึกษารึเปล่า? ผมอยากจะให้กลับมาดูก่อนว่า ให้เราสโคบ ตีกรอบให้มันแคบลง คำว่าคนรุ่นใหม่นั้นให้เราพูดถึงนิสิตนักศึกษา ที่นี้กลับมาดูต่อว่า ไอ้คำว่านิสิต นักศึกษา นั้นมันคืออะไร เคยตั้งคำถามไหมครับว่า นิสิตนักศึกษามันคืออะไร หรือว่า ไม่เป็นไร…พ่อแม่บอกให้หนูมา หนูก็มา พ่อบอกให้เอ็นฯ หนูก็เอ็นฯ พ่อบอกให้เรียนหนูก็เรียน พ่อบอกให้ไปมีเงินเดือน 20,000 หนูก็ไปมีเงินเดือน 20,000 เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ที่นี้ผมอยากให้กลับมาดูไอ้คำว่านิสิตนักศึกษา
ผมมีข้อมูลอยู่ว่า…คำว่านักศึกษานั้น…ตั้งแต่ปี 2400 มาก็มีนักคิดคนสำคัญ ๆ เยอะแยะมากมาย ให้คำจำกัดความไว้ค่อนข้างใกล้เคียงกัน เขาบอกว่า นักศึกษาคือผู้ที่มีปัญญาที่ยังไม่ได้เป็นบันฑิต ยุคนั้นเขาว่าไว้อย่างนั้น ย้อนไปไกลกว่านั้นอีก..ในคำภีร์ของศาสนาฮินดูของอินเดีย ให้ความหมายของคำว่านักศึกษาใกล้เคียงกับคำว่าพรมหจารีย์มาก บ้านเราอาจจะเรียกเป็น พรมจันท์ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งอาจจะหมายถึงความบริสุทธิ์ของผู้หญิงก็แล้วแต่การตีความ แต่ในคำภีร์ของศาสนาฮินดูบอกว่า นักศึกษา คือ พรมจารีย์ หมายถึงผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อการวิวัฒน์พัฒนาจิตใจ คือ ผู้ที่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายและรู้จักควบคุมตนเอง คำภีร์เก่าแก่มาก..บอกไว้อย่างนั้น ต่อมา..มหาตมะ คานธี หลายคนคงรู้จัก ผมเห็นน้องๆ ที่นี้ที่เป็นลูกครึ่งที่เป็นคนอินเดีย อาจจะเป็นพื้นเพอยู่หลายคนทีเดียว น้องๆ ที่เรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หลายๆ ท่านอาจรู้จัก หรือไม่รู้จักก็ไม่เป็นไร มหาตมะ คานธี คือ บุคคลสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ในการทำให้อินเดียเป็นเอกราช จากการเข้ามาปกครองของอังกฤษ มหาตมะ คานธี บอกว่านักศึกษา คือผู้แสวงหาสัจจะ เป็นสัญลักษณ์ของการกินง่าย อยู่ง่าย แต่ใคร่ครวญสูง และสุดท้ายทิ้งท้ายไว้ว่า เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจจะดูแล้วยาก ในยุคก่อนนั้นมันมีการคาดหวัง แต่ว่าสถาณการณ์ก็มีความต่าง ยุคปัจจุบันก็มีการคาดหวังกับนิสิต กับนักศึกษาที่แตกต่างกัน
ผมต้องการถามกลับไปยังพวกเราที่เป็นนิสิตนักศึกษาว่า “ณ วินาทีนี้ ปี 2547 นักศึกษาคืออะไร?” เสียงอาจจะได้ยินไปถึงน้อง ABAC หลายๆ ท่าน อาจจะงง ตั้งหลักไม่ถูกเลยพอว่าถามว่านักศึกษาคืออะไร … อยากจะถามน้องๆ ที่อยู่ในวงนี้เหมือนกัน …แล้วเรารู้ตัวเราเองรึเปล่า…ว่านักศึกษาคืออะไร สิ่งที่เราเป็น ที่เราทำ ที่เราเรียน ที่เรา..พยายามอยู่ทั้งหมดนี้ มันคืออะไรกันแน่ แล้วทิศทางนั้นมันจะพาไปสู่อะไร
ผมย้ำประเด็นตรงนี้เพื่อจะให้รู้ว่า ก่อนที่จะพิจารณาถึงว่ามันวิกฤติหรือไม่วิกฤติ ต้องรู้ก่อนเช่นกันว่า เราคืออะไร ไม่งั้นเราตีโจทย์ไม่ถูก ว่าที่สุดมันจะวิกฤติหรือไม่วิกฤติ
ผมเล่าให้ฟังถึงประเด็นที่เป็นข่าวเมื่อซักครู่ไปก่อนหน้านี้ว่าเป็นวิกฤติของนิสิตนักศึกษา ของวัยรุ่นของขาโจ๋ทั้งหลายแหล่ ที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งผมฟันธงว่าวิกฤต แต่พิจารณาจากอะไรต่อไป ผมพิจารณาจากกิจกรรมอย่างนี้นะครับ ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ผมถูกสอนมาอย่างนี้ ผมถูกสอนว่ากิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ที่มันไม่ได้พูดถึงตัวเอง มันพูดถึงคนทุกข์ยาก คนที่ลำบาก มันกำลังบอกว่า ภาษที่คุณได้มาทั้งหมดเนี้ย ในการสร้างอาคารทั้งหลายแหล่ มันมาจากคนยากคนจนด้วยนะ ไม่ใช่มาจากพ่อแม่ของเราคนเดียว เพราะฉะนั้น …ในการที่คุณคิด คุณจะต้องกลับไปคิดถึงประชาชนด้วย ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาทบทวนกัน แล้วก็…ตั้งคำถามกับพวกเราเอง ผมอยากจะแลกเปลี่ยนกันด้วยเหมือนกันว่า คนรุ่นนี้ที่อยู่ตรงนี้ ซึ่งเป็นคนค่ายอาสาพัฒนา มองว่านักศึกษาคืออะไร….ช่วยตอบผมได้รึเปล่า เพื่อให้ผมชื่นใจบ้างก็ยังดี…นะครับ
สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน)
ตรงนี้นะครับ ทางด้านพี่อั๋นก็เชิญชวนพวกเรา…ว่าสนใจไหมครับ ลองแบ่งปันกัน เห็นอย่างไร ในปัจจุบันนักศึกษาคืออะไร มีใครพอมีอะไร อยากแบ่งปันไหมครับ ได้นะครับไม่มีผิดหรือถูกการแสดงความคิดเห็น…เต็มที่เลยครับ
เป็นสิ่งที่ถามเหมือนง่ายนะครับ แต่เวลากลับไปทบทวนไปคิดคำตอบ บางคนใช้เวลาหลายปีกว่าจะค้นพบนะครับ…เชิญครับเชิญ
นักศึกษาผู้เข้าร่วม
สำหรับนักศึกษา…ในความหมายโดยทั่วไป คือ…คนที่จะต้องเรียนเพื่อให้จบปริญญา …ปริญญาตรีอย่างน้อยเป็นอย่างต่ำ สำหรับหนูก็คือ…เหมือนกันคะ เพื่อที่จะเรียนจบรับปริญญา แต่สังคมสอนให้หนูเรียนเพื่อเอาไปใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพ อันนี้คือ…หนูก็คิดว่ามันก็วิกฤตินะคะ คือถ้าสมมุติ…อย่างแบบถ้าเราไม่มีความรู้ ไม่มีใบปริญญา ไม่มีงาน ไม่มีเงิน เงินเท่ากับระบบทุนนิยมคะ
ก็….ถ้าสำหรับนักศึกษาสมัยนี้ บางคนเรียนเอาโลโก้ บางคนนะค่ะ…ก็เอาโลโก้ไปทำอย่างอื่น พอไปทำอย่างอื่นเสร็จมันก็จะได้เงิน เงินก็เอามา …เหมือนกัน เข้าสู่ระบบทุนนิยมเหมือนกัน อันนี้ถ้าพูดในแนวของทุนนิยมนะค่ะ บางคนก็เรียนเพื่อตามใจพ่อแม่ ตามใจพ่อแม่ปุ๊ป…ได้ของตอบแทน รถ นาฬิกา มือถือ ไม่ว่าจะเป็นเงินรายเดือนที่ได้เพิ่มขึ้น แล้วก็….บางคน….ก็อาจจะเรียนเพื่อที่ว่าให้มันจบ ๆ ไปงั้น ๆ แหละจะได้ไปเรียนต่อ ไปต่างประเทศ…อะไรอย่างงี้ค่ะ
นักศึกษาผู้เข้าร่วม
จริง ๆ แล้ว…ประเด็นวันนี้ผมเตรียมคำถามมาล่วงหน้า มันไม่ใช่คำถามที่ตัวผมเองสงสัยแต่มันเป็นคำถามที่เจอบ่อย และก็….คือผมคิดว่าชีวิตผม…คนนี้…มี 2 ภาค ผมรู้สึกผมมี 2 ภาค ก็คือภาคหนึ่งที่เป็นนักกิจกรรม…ที่ถูกสอนอย่างที่พี่อั๋นอธิบายไว้ แต่อีกภาคหนึ่ง…ผมก็รู้สึกว่าผมมีส่วนหนึ่งที่มันเป็นตัวแทนวัยรุ่นเหมือนกัน นะ ก็คือวิธีคิดแบบนั้น…อะไรประมาณนี้
ถ้าถามว่านักศึกษาคืออะไร ผมตอบได้เลยครับว่า….ไม่รู้ครับ และก็ไม่เคยคิดว่าจะหาคำตอบ และผมก็เชื่อว่านักศึกษาส่วนใหญ่ก็คิดอย่างนี้ ไม่รู้จะถามทำไม ไม่รู้จะตอบทำไม แล้วในขณะเดียวกันอีกซีกของตัวผมเองมันก็ถามว่า อย่างที่ถูกสอนมา…การที่พูดถึงผู้ที่ทุกข์ยาก พูดถึงสังคม คุณเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เป็นปัญญาชนนะ คุณต้องสร้างสรรสังคมซิ…อย่างนั้นอย่างนี้ คำถามที่ผมเจอบ่อยมาก ก็คือ เราจะทำอะไรได้ เราดูแบตัวเองก็จะไม่รอดอยู่แล้ว ทำตัวเองให้ดีก่อนซิ ก่อนมี่จะไปช่วยสังคม คดีข่มขืนต่าง ๆ นานา แล้วหนูจะทำยังไงละ….ประมาณนี้ครับ
สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน)
อันนี้น่าสนใจครับ…
ที่นี้…เนี้ยพอดีประเด็นมันโยงมาพอดีเลย ตอนแรกคือว่าพี่เขาบอกว่าแรกๆ แกว่งเหมือนกันอยู่ในสังคม เพื่อนซื้อของในเซเว่นแล้วเราจะทำอย่างไร เราจะวางตัวอย่างไร แล้วก็มีการยิงคำถามกลับไปคุณคือใคร…ปุ๊ป ก็มีเพื่อน ๆ เราสะท้อนมา….ตอนนี้ถามมา…ก็ยังไม่รู้เป็นใคร แค่ในสังคมที่พาเราไป เรายังไม่รู้เลยจะวางตัวอย่างไรดี พอดีทางด้านพี่ฟ้าได้บอกว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่พี่อยากจะเตือนมา อยากจะขอเชิญเลยนะครับ
คีคนางค์ สุวรรณทัต (พี่ฟ้า)
พี่เข้าใจนะ จริงๆ แล้วในช่วงที่พี่เรียน…แม้กระทั้งพี่เองซึ่งผ่านการเข้าป่ามาแล้ว ในช่วงของการอยู่ในวัยศึกษา อยู่ในมหาลัย พี่ก็ตอบคำถามตัวเองไม่ได้นะว่านักศึกษาคืออะไร เรารู้แต่ว่า…หน้าที่ของเรา ก่อนที่จะไปทำอะไรมากมายให้แก่สังคมและตัวเอง เราจะต้องผ่านขั้นต้นก่อน คือการมีการศึกษา พี่รู้แต่ว่าการศึกษามันให้อะไรกับเรา
วันนี้พี่เรียนหนังสือด้วยวัตถุประสงค์เดียว คือการศึกษาสอนให้คนเรารู้จักกระบวนการคิด รู้จักนำไปใช้ เพื่อให้เราคิดเป็น คิดแบบมีขั้นตอน มีระบบ มีระเบียบมากขึ้น จริง ๆ พี่ไม่อยากเน้นตรงนั้นมากนัก เพราะพี่ก็เข้าใจเหมือน ๆ ทุก ๆ คนว่าเราไม่ค่อยได้รู้หรอก…ว่าความหมายของนักศึกษานั้นมันคืออะไร
พี่อยากเล่าท้าวความนิดหนึ่ง อยากให้เห็นชีวิตของนักศึกษาเมื่อสมัยก่อน เพราะพี่คิดว่าน้อง ๆ หลายคนอาจจะยังไม่ได้สัมผัสหรือก็เป็นส่วนน้อย
ในสมัยก่อนที่พี่จะเข้าป่า สภาพครอบครัวของพี่ในสมัยนั้นค่อนข้างจะเป็นไปตามกระแส พี่เองไม่รับรู้อะไรมาก เนื่องจากตอนนั้นอายุประมาณ 6-7 ขวบ รู้แต่ว่าทุกครั้งที่นึกภาพออก….จะอยู่กับพ่อแม่ตลอด แล้วก็อยู่ที่หน้าม๊อบตลอด ไม่ว่าเป็นสวนลุม ธรรมศาสตร์ หรือสนามหลวง สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นก็คือเห็นนักศึกษา
ในสมัยก่อนนักศึกษา…การแต่งตัวแบบ private จะน้อย จึงเน้นการใส่ชุดนักศึกษา แม้ว่าอาจจะรองเท้าจะเป็นรองเท้าผ้าใบบ้าง รองเท้าฟองน้ำ รองเท้ายางบ้างก็ตาม แต่เน้นการใส่ชุดนักศึกษา พี่จะเรียก พี่ๆ นักศึกษาเหล่านั้นว่า อา ๆ เพราะถือว่าเป็นรุ่นน้องของคุณพ่อ ซึ่งจะรู้จักกันในหมู่ของการเคลื่อนไหว เขาบอกว่า….เขาเล่าให้ฟังถึงชุดนักศึกษา ซึ่งบางทีผู้หญิงนุ่งกระโปรง สมัยก่อนนุ่งสั้นกว่านี้ แฟชั่นสมัยก่อนก็มีนะ นักศึกษาก็ยังนุ่งสั้น ผมยาว มีแฟชั่นตามสมัย แต่ถามว่าทำไมชุดเหล่านั้นยังมาเคลื่อนไหว ยังอยู่ในกลุ่มของม๊อบของการเคลื่อนเคลื่อนไหวมวลชน หรือในกระแสสังคมได้ คำตอบที่พี่ได้รับก็คือว่า การแต่งกายมันเรื่องของภายนอก มันเป็นเรื่องของ หนึ่ง ชุดนักศึกษาต้องแต่งเพราะระเบียบมหาลัยในสมัยก่อนค่อนข้างเข้มงวด สอง มันมีแฟชั่นที่มันเป็นส่วน องค์ประกอบที่ทำให้บางครั้งก็ต้องตามบ้าง นักศึกษาสมัยนั้นก็วัยรุ่นเหมือนกัน แต่ด้วยจิตสำนึก ด้วยกระแสที่มันบีบให้เราต้องสนใจบ้านเมือง สภาพสังคมบ้านเมืองสมัยก่อนมีภาวะความกดดัน ความเอารัดเอาเปรียบสูงกว่าสมัยนี้มาก มันเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนใช้แรงงานและก็ชาวไร่ชาวนา นักศึกษาสมัยก่อน…สนใจการเมืองมาก เพราะโดยส่วนใหญ่ข่าวคราวมันก็จะออกในเรื่องข่าวการเมืองมาก ละครหรือวาไรตี้โชว์ เกมโชว์ มันจะไม่ค่อยมี พอหลังจากที่เรียนแล้วนักศึกษาก็จะอาศัยฟังข่าว ดูข่าว แล้วก็ในสมัยก่อนอาจจะเป็นที่กระแสของคอมมิวนิสต์ค่อนข้างแรง มาจากทางรัสเซียด้วย จีนด้วย มันจะมีสถานีวิทยุของคอมมิวนิสต์ เรียกว่า ส.ป.ท ที่จะคอยออกอากาศ เล่าถึงการต่อสู้ในจีน เล่าถึงการต่อสู้ในรัฐเซีย นักศึกษาสมัยก่อนนั้นเขามีกระแสเหมือนกันนะ กระแสนอกจากแฟชั่นแล้ว เขาก็มีกระแสว่า นักศึกษาที่จะก้าวหน้าหรือเป็นปัญญาชนอย่างแท้จริง ต้องเป็นคนที่สนใจการเมือง และใครตกข่าวการเมือง ใครไม่รู้ว่าวันนี้ ถนอม ทำอะไร ใครไม่รู้อะไร ทหารเคลื่อนไหวไปถึงไหน ถือว่าเป็นเรื่องเชย ก็ต้องยอมรับอยู่อย่างว่ากระแสก็มันเป็นส่วนหนึ่ง
แล้วก็มหาวิทยาลัย …อาจารย์เองในสมัยนั้น ซึ่งถ้าเทียบกับสมัยนี้แล้วก็มีจำนวนไม่ได้มาก น้อยกว่าเดี๋ยวนี้อยู่แล้ว อาจารย์สมัยก่อนเหมือนจะเป็นตัวกระตุ้น ที่ให้ความรู้ในด้านการเมือง หรือการศึกษาทางด้านนี้แก่นักศึกษาด้วยส่วนใหญ่ จะบอกว่าอาจารย์สมัยก่อนก้าวหน้าและอาจารย์สมัยนี้ไม่ก้าวหน้า…ก็ไม่ใช่นะ อย่างที่เรารู้ว่ากระแสมันบีบ มันบีบคั้นให้ทุกคน นักศึกษาอาจารย์หรือข้าราชการ มันเป็นความหวังของชาวไร่ชาวนา เป็นความของพี่น้องกรรมกรที่เขาด้อยโอกาส เพราะฉนั้นพอเราเริ่มรู้สึกว่าเราเป็นความคาดหวังของคนหมู่มาก เรามีโอกาสทางสังคม เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เลยที่เขาต้องสนใจการเมือง ที่เขาต้องออกหน้ามาในการต่อสู้ไม่ใช่แค่เพื่อเขาแต่กำลังทำเพื่อทุก ๆ คน เพราะวันนี้ถ้าสังคมมันดีขึ้น สังคมมันเปลี่ยนแปลง นั้นหมายความว่า เราหรือพี่น้องเราที่อยู่ในประเทศก็คือได้รับส่วนของความเปลี่ยนแปลงตรงนั้น เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น…พี่เข้าใจอยู่ว่าเนื่องจากสมัยก่อนนักศึกษามีกระแสตรงนี้ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นในการบีบคั้น ให้ต้องสนใจในเรื่องการเมือง หรือมี วิถี มีการเรียนการศึกษา มีความคิดที่ต้องเน้นเรื่องการเมืองหรือความเป็นส่วนรวม ทำให้สมัยก่อนจะไม่ค่อยมีเรื่องของมลภาวะ พี่เรียกว่ามลภาวะนะ เพราะว่าจริง ๆ แล้วมันก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้นะในเรื่องของพฤติกรรมทางสังคม
แต่ทุกวันนี้อย่างที่เรารู้ว่าทุนนิยมมันเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่ได้รู้ตัว เนื่องจากมันก็เป็นแค่คำนาม ….มันเหมือนเป็นคำสรรพนาม มันเป็นตัวกำหนด เหมือนเราตั้งชื่อ วันนี้เราชื่อธนา วันนี้เราชื่อสมชาย วันนี้เราชื่อสมศรี มันสามารถเปลี่ยนได้ มันเป็นแค่สรรพนาม มันไม่มีชีวิต ถ้าเราไม่ได้เข้าไปอยู่ในวังวนตรงนั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตรงนั้น…มันก็จะไม่มีชีวิต แต่เอาละ ในเมื่อมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับความพัฒนาทางสังคม ทางวัตถุ ทางเทคโนโลยีอะไรก็ตาม มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้ามีสิ่งเหล่านี้
นี้คือส่วนหนึ่งที่พี่เอง…ในสมัยพี่เรียน พี่ได้ไปสอนนักศึกษารามปี 1 เคยตั้งคำถามเหล่านี้เหมือนกัน ถามว่าน้องรู้ไหมคะว่านักศึกษาคืออะไร น้องรู้ไหมว่าน้องเรียนไปเพื่ออะไร คำตอบก็มี 2 ประเด็นเท่านั้น คนที่ตอบได้จะตอบว่า เรียนเพื่อทำงานมีเงิน มีปัจจัยต่างๆ กับอีกคนก็คือว่า ไม่รู้เรียนไปเพื่ออะไร ก็เรียนๆ ไปยังงั้นๆ แหละ ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่คิดจะเรียน ส่วนใหญ่จะมีประเด็นอยู่แค่สองประเด็น
สิ่งที่พี่เล่ามาพี่เพียงอยากจะให้ได้สบายใจกันนะ เพื่อว่าคนสมัยนี้จะเป็นคนไม่รู้ความหมายที่แท้จริง แต่เนื่องจากก็มีกระแสส่วนหนึ่ง เป็นตัวบังคับในด้านความคิดเราเหมือนกัน พี่คิดว่าพี่กุ๋ยอาจจะมีคำเสริมจากพี่ด้วย
ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน (พี่กุ๋ย)
ผมก็ตอบไม่ได้นะครับ….ว่านักศึกษาคืออะไร
ต้องตอบไหมอ่ะ (หัวเราะ)

คือผมคิดอย่างนี้นะ ผมว่าไม่ต้องสนใจหรอกว่านักศึกษา…ที่เขาว่ากันมันคืออะไร แต่ผมว่าต้องกลับมาตอบตัวเองให้ได้ว่า เรียนทำไม? แล้วเอาให้มันชัด…เรียนทำไม ถ้าตอบได้ชัดก็ทำไปเลย ลุยไปเลย มันจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน
เมื่อซักสองปีที่แล้ว ผมทำงานกรณีนักศึกษาอาชีวะทะเลาะวิวาท ในย่างนี้ ช่างอุตฯ ย่านๆนี้ สิ่งหนึ่งที่เจอก็คือว่า เขาไม่รู้ว่าเขาเรียนทำไม เรียนช่าง เรียน ปวช. 3 ซ่อมอะไรไม่เป็นซักอย่าง เรียนทำไม… มันพร้อมทุก ๆ เมื่อที่จะกระโดดเข้าใส่ไปโรงเรียนอื่นที่ผ่านมา พร้อมทุกเมื่อที่จะชักปืนยิง เพราะไม่รู้จะ…อะไร…ทำไม ไม่มีคำตอบให้กับตัวเอง ผมว่าที่สุดแล้วเราต้องหาเป้าของเราให้เจอว่าเราจะไปไหนกัน ชีวิตเราจะอยู่กันทำไม
คือบางทีถ้าเราคิดมากเกินไป มันก็อาจจะแย่ อย่างเช่นว่า ฉันยังอยู่ไม่ได้เลย ฉันต้องอยู่ให้ได้ก่อน ต้องไปหาความมั่นคงก่อน วันหนึ่งฉันรวยก่อน แล้วฉันถึงจะทำโน้น..ทำนี้ ผมว่าส่วนนี้บางทีก็คิดมากเกินไป บางทีก็อย่าเชื่อมั่นนักว่าชีวิตเราจะยืนยาวขนาดนั้น ลองคิดเล่นๆ สิ ลองตั้งคำถามเล่นๆ ว่า ถ้าพรุ่งนี้ฉันตายละ มีอะไรบ้างที่ฉันยังไม่ได้ทำเอาแค่ประเด็นเล็กๆ กอดแม่บ้างหรือยัง… อะไรเล็กๆ ที่เราต้องเริ่มตอบตัวเอง ต้องเริ่มหาตัวเองให้เจอ
ที่สุดแล้วเรามาพูดเรื่องมั่นคงมากไป มันก็ทำให้เราต้องสะสมอะไรไว้เยอะแยะ เราก็ต้องขวนขวายทุกอย่าง เพื่อจะให้ได้มาเพื่อจะให้ได้เป็น ที่สุดแล้ว…ถ้าเราไม่ตั้งคำถาม ไม่ตอบกับตัวเอง เราก็จะหลุดอยู่กับแม่น้ำสายใหญ่ที่กำลังเชียว ๆ เราก็ไม่สามารถตะกายขึ้นมาข้างบนได้ คือถ้าเราตะกายขึ้นมาข้างบนได้ เราก็จะมองเห็นกระแส เออไปเหอะ…เราก็จะไม่เหนื่อยแล้ว เพราะว่าเรารู้ว่าแค่ไหนจะพอ
คือศาสนามันสอน…. แต่อย่าไปพูดถึงเลยนะ… (หัวเราะ)
คือ….กลับไปอ่านงานทางศาสนานีี เมื่อก่อนมันน่าเบื่อนะ พอกลับมาอ่านช่วงหลังๆ เออ…มันเป็นคำตอบได้เหมือนกันนะ ว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร
ที่สุดแล้ว…บางทีเราก็ไปแยแสกับคนอื่นมาก ว่าเขาจะคิดกับเราอย่างไร ในขณะที่เราไม่สนใจเลยว่า เราคิดกับตัวเองยังไง เราสนใจแต่ว่าเขาจะคิดกับเราอย่างไรถ้าเราใช้โทรศัพท์รุ่นเก่า มันตกรุ่นไปแล้ว ที่สุดแล้วเราก็กลายเป็นอยู่ในวังวนที่เราต้องบริโภคสิ่งของเดิมๆ ปีหนึ่งเราซื้อโทรศัพท์สามเครื่อง เราจ่ายของเดิมอยู่นะ เราไม่ได้จ่ายของใหม่ ปีหนึ่งเราใส่เสื้อจริง ๆ ประมาณ 5-6 ชุด แต่ว่าเราต้องซื้อเสื้อใหม่เพราะมันตกรุ่น นี้คือเราบริโภคสิ่งเก่า แต่จ่ายเงินเพิ่มขึ้น เราไม่ได้ข้ามพ้นเพื่อจะไปทำอย่างอื่น คือมันไม่หยุด ที่สุดแล้ว เราถูกหลอกล่อว่ามันไม่พอ เท่านี้ไม่พอ ต้องเท่านี้ ๆ พรุ่งนี้มีโฆษณาตัวใหม่ออกมาว่ามันเป็นอย่างนี้ ๆ
เมื่อวานไปงานแถลงข่าว Nokia เรื่องผลกำไร ยอดธุรกิจปีนี้ โอ…เขาร่ำรวยมาก ซึ่งน่ากลัวมาก
ที่ผ่านมาเราหวั่นกลัวเรื่องธุรกิจที่ผูกขาด ในเรื่องของ GMO เรื่องของเมล็ดพันธ์ เราบอก …อุ้ยไม่ได้เดี่ยวนี้เขาตัดตอนเรา แม่เราเอาผักไปปลูกเก็บได้ครั้งเดียว มันเก็บเมล็ดปลูกไม่ได้แล้ว นั้นเราเพิ่งคิดได้นะ เขาทำเรื่องนี้มาสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนนี้ CP เขาคุยเรื่องอื่นแล้ว เราตามเขาไม่ทัน ปัญหาคือเราจะอยู่อย่างไร เราสู้เขาไม่ได้แล้ว แต่เราจะอยู่อย่างไรที่ไม่อยู่ในเกมเขา เราต้องออกนอกเกม คือเกมสนามนี้ถ้าเราลงไปเล่นเราแพ้แล้ว เพราะเราไม่แข็งพอ ในสนามการบริโภคเราสู้ไม่ได้ แต่ถ้าเราจะไปเล่นก็สนุกดี เอาเถอะ… แต่สนุกมันวูบๆ ต้องทำให้เราขวนขวายวิ่งแข่งกับเขาเพื่อจะได้สตังค์เยอะ เพื่อจะทำงานเยอะๆ แต่ถามว่า…ถ้าอยู่ในกระแสทำงานได้ มีคนทำงานได้เป็นแสน ก็มีนะ..ผมเคยเจออยู่ แต่เขาก็ไม่เห็นพอนะ และมันเท่าไรถึงจะพอกันแน่ แต่ตะกี้เล่าเรื่องลุงตกปลา ก็พอแล้วตกปลาคนเดียว นั่งตรงนี้ก็มีความสุข ไม่เห็นต้องหาเรือไปตกข้างนอกเลย…อะไรทำนองนี้
ทำอย่างไรที่เราจะกลับมาหยุดอยู่กับปัจจุบันได้
สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน)
ประเด็นนี้น่าสนใจมาก ความพอดี…ความพอเพียงของคนนะครับ
หลังจากพี่เขาบอกเรื่องการอยู่ร่วมกัน จริงๆ แล้วนักศึกษาบางครั้งก็เจอภาวะที่เรียกว่า ‘แกว่ง’ เหมือนกัน
ตอนแรกมีการพูดถึงเรื่องทุนนิยมขึ้นมาก่อน จากนั้นพี่เขาก็ให้ภาพว่า ทุนนิยมมันก่อให้เกิดเรื่องของกำไรและผลประโยชน์ มันมีอยู่สองอย่าง พูดถึงเรื่องขาดทุนไม่ก็ได้กำไรแค่นั้นเอง สิ่งที่ตาม ก็คือเกิดการแข่งขันสูง เกิดการแข่งขันกันในสังคมมันรามมาถึงใครครับ พอเราโยงมาถึงนักศึกษา นักศึกษาเราเองก็มาแข่งขันกัน เริ่มตั้งแต่ตอนเอ็นทราน ต้องแข่งกันเข้ามหาลัยที่ดีๆ เพราะเป้าหมายเราไปขึ้นอยู่กับ เศรษฐกิจหมด เป้าหมายเรามันคืออนาคตที่ดี เงินเดือนที่ดี ก็มาถึงเรื่องที่ว่าเป้าหมายเชิงธุรกิจมากกว่าเป้าหมายเชิงคุณค่า มันก็ทำให้เด็กหลายๆ ครั้งเมื่อเราตั้งคำถามมา เด็กหรือนักศึกษารู้สึกว่ามันแกว่าง แกว่งและจะวางตัวอย่างไรดี ผมจะยืนจุดไหนดี ผมไปอย่างนี้ก็ไม่ได้อย่างนั้นก็ไม่ได้ เมื่อกี้พี่เขาเสนอทางออกมา
สุดท้ายก็อยากให้ เป็นเป้าหมายที่ว่าเราก็ต้องมีจิตสำนึก และเรื่องของความคิดในเชิงคุณค่าไปด้วย ในการใช้ชีวิตในสังคม ทำอย่างไร ให้เกิดการเอาเปรียบกันน้อยที่สุด ทั้งๆ ที่สังคมปัจจุบันมันก็พูดง่ายว่ามันเกิดการเหยียบกันพอสมควร หลังจากนั้นมาพอเป้าหมายเชิงธุรกิจ มากกว่าเป้าหมายเชิงคุณค่า มันก็ไม่พูดเรื่องจิตใจ ไม่พูดเรื่องจิตใจคนมันก็หยาบขึ้น พอคนเราหยาบขึ้นปัญหาสังคมมันก็ตามมา
สุดท้ายครับ เราจะยืนอยู่จุดไหนกันแน่…ระหว่างที่แกว่ง เราควรจะวางตัวกันอย่างไรดีครับ ก็ตั้งคำถาม….เอะ…จะเชิงคุณค่าดีไหมและจะอยู่กันได้อย่างไรครับ
ชูวิทย์ จันทรส (พี่อั๋น)
จริงๆ ก็เป็นคำถามที่ตอบอยากในแง่การปฏิบัติ หรือจะเอาอะไรเป็นหลักคิดภายใต้จุดที่มันมีอยู่สองภาคด้วย มันแกว่งๆ ไป เราจะทำอย่างไรกันดี
สำหรับผมเอง ผมเป็นคนที่ไม่เชื่อในสิ่งที่ระบบทุนนิยมบอกว่า “ทุนนิยมเท่านั้นจะพาโลกนี้ไปได้” และผมก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่า “ระบบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมเท่านั้นจะพาโลกไปได้” เพราะผมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันจะต้องมีจุดที่สมดุล อะไรก็แล้วแต่…มันดำรงอยู่ได้ด้วยความหลากหลาย นี้เป็นทฤษฎีดีที่ผมยึดอยู่ตลอด ผมนับถือศาสนาอยู่ศาสนาหนึ่ง ผมก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่าศาสนาที่ผมนับถืออยู่ จะต้องเป็นศาสนาเดียวเท่านั้นที่นำพาโลกนี้ไปได้ ผมไม่เชื่อ…. แต่ผมเชื่อว่าทุกศาสนาที่มันดำรงอยู่ ณ ชั่วโมงนี้ มันจะมีจุดสุมดุลหรือมันจะมีจุดที่…เป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เชิงเดี่ยว หรือเหมือนการพืชผักอะไรก็แล้วแต่ เหมือนที่คุณกุ๋ยพูดมาเมื่อสักครู่
ถามว่า ณ วันนี้…ปลาทับทิม…คุณเพาะเองได้ไหม ไม่มีทางครับ… และเกษตรกรค่อย ๆ ตายลงไป ค่อย ๆ ตายลงไป เพราะอะไรครับ เพราะมันเป็นเชิงเดี่ยวหมด ถึงที่สุดถามว่าใครรวย… มือที่มองไม่เห็น ทฤษฎี อดัมม์ สมิท เป็นคนพูดถึงเรื่องนี้ ใครเรียนเศรษฐ์ศาสตร์ …คงจะเคยได้้ยิน เศรษฐ์ศาสตร์ได้บอกอะไรกับพวกเราบ้าง
ผมจบบริหารโฆษณา บริหารประชาสัมพันธโฆษณา ผมเรียนมาตั้งเจ็ดปี แตกฉานมากในรามคำแหง ถึงที่สุดคืออะไรรู้ไหมครับ เรียนจบแล้วผมถึงรู้ว่า อ๋อ..โฆษณามันสอนให้เราหลอกนี้เอง นี้คือความคิดผมนะครับ แต่ว่าถึงที่สุดแล้วหลายคนอาจคิดต่างกัน ไม่เป็นไร…เราเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน แต่ในขณะที่อาจารย์สอนๆ อยู่ อาจารย์ลืมบอกไปคำหนึ่งครับ คุณต้องไปหลอกเขา ผมถามว่ามีนักโฆษณากี่คนที่จะมีจิตสำนึก รับผิดชอบต่อสังคม พูดถึงเด็ก พูดถึงคนทุกข์ยาก ก็มีอยู่บ้างในงานที่มันเป็นแคมเปญ
แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับทางพวกเราว่าเราจะดำรงอยู่อย่างไร ผมคิดว่ามันจะต้องหาจุดที่สมดุล มนุษย์มันก็จะมีอยู่สองด้านอยู่เสมอ แต่สำหรับผมช่วงที่ผมทำกิจกรรม ผมบอกว่ากิจกรรมของผมคืออะไร…กิจกรรมของผมคือผมจะต้องค้นหาสมดุลให้ได้ระหว่างโลกส่วนตัว กับโลกส่วนรวม
โลกส่วนตัวคืออะไรครับ โลกส่วนตัวก็คือว่าพ่อแม่บอกให้จบ พ่อแม่บอกให้มาเรียน พ่อแม่บอกว่าจะต้องมีงานทำ นั้นโลกส่วนตัว เป็นเรื่องของ ‘เรา’ ทั้งนั้นเลย แต่ถามว่าส่วนรวมละคืออะไร ส่วนรวมคือคนรอบข้าง คือสังคม คือเด็กทุกข์ยาก คือประชาชน…เต็มไปหมดเลย ซึ่งไม่ใช่โลกส่วนตัว แต่เราจะทำอย่างไร หาจุดที่มันสมดุลกันได้ บางครั้งโลกส่วนตัวอาจจะมากกว่าโลกส่วนรวมก็ได้ ผมว่าไม่ใช่เรื่องแปลก สมมุติว่า ณ วันที่เราจะไปออกค่ายกัน พ่อแม่ผมรถคว่ำ ผมไม่เลือกหรอกครับที่จะไปออกค่ายอาสาพัฒนา ที่จะไปบอกตัวเองทำงานเพื่อสังคม เพระพ่อแม่ผมลำบากอยู่ เช่นเดียวกันครับ…เพราะอะไรครับ ผมถูกสอนว่า พ่อแม่คือประชาชนที่ใกล้ตัวที่สุด จำคำนี้ไว้นะครับพวกเรานักกิจกรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้นคุณจะต้องรักษาสมดุลตรงนี้ให้ได้ระหว่างภาวะส่วนตัวกับภาวะส่วนรวม อาจจะเหลือมล้ำกันบ้าง หรืออาจจะมาอยู่ระดับมันพอดีกัน ซึ่งก็ค่อนข้างยากในทางปฏิบัติ
ผมอยากจะทิ้งท้ายเพราะเท่าที่ฟัง ๆ ดูหลาย ๆ คน บอกว่า หนูทำงานเพื่อที่จะมีงานทำคะ แต่ในขณะเดียวกัน โลกที่ผมออกไปเจอในความเป็นจริง ณ วันนี้ ผมอยู่ในสายการเมือง สส. สว. รัฐมนตรี ผู้หลักผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านที่เราได้สัมผัสมา บ่นเป็นเสียงเดียวกัน อะไรรู้ไหมครับ น้องๆ หลายคนที่เรียนอาจไม่รู้เลย เขาอยากจะได้คนไปช่วยงาน อยากจะได้คนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเกียรตินิยม แต่เข้าใจสังคม ตามประเด็นได้ รู้ว่าสังคมไปถึงไหน ข่าวสารไปถึงไหน…
ปัญหาของคนหนุ่มสาวยุคนี้ประการหนึ่งก็คือว่า ไม่ตามเลยครับ…เรื่องราวสังคมถึงไหน ข่าวสารบ้านเมืองไปถึงไหน และผมถามว่า ตำแหน่งหน้าที่การงานที่มันดีๆ เขาจะเอาคุณเหรอครับ… เอารึเปล่า สิ่งหนึ่งที่ผมเล่าสะท้อนให้ฟังว่า บางครั้งเกียรตินิยมไม่ใช่จุดถึงที่สุดของมัน สิ่งที่เราจะไขว่คว้าแสวงหาได้ในยุคที่..เขาบอกว่า คนหนุ่มสาว เราอิสระ เสรีชน ไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก เราใช้จุดแข็งตรงนี้สิครับ ในการแสวงหาอะไรเข้ามาในองค์ความรู้ ในความคิดของเรา ถึงที่สุดแล้วคุณต้องเชื่อมโยงกับสังคมให้ได้ด้วย ว่าสังคมมันเดินทางไปยังไง ไปถึงจุดไหน ไม่ใช่ว่า…พอเขาให้วิเคราะห์อะไร…ไม่ได้ พอเขาให้เขียนโครงการ…ไม่ได้ พอเขาให้จับไมค์พูด…ไม่ได้ แต่คุณเรียกร้องเอาเงินเดือน 20,000-30,000
ผมเคยเข้าไปที่สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งหนึ่ง เข้าไปคุยกับนักเรียนที่เพิ่งจบมาใหม่ๆ ประมาณ 40 กว่าคน เขาก็มีเกมส์ให้เล่น ให้ทุกคนเลือก เลือกทีละข้อๆ จากมากไปหาน้อย ผลเป็นอย่างไรรู้ไหมครับ นักศึกษาแต่ละคน…เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในสี่สิบกว่าคนนั้น มีแค่คนเดียวที่ต่างจากคนอื่น ทุกคนจะเลือกเงินเดือนสูงๆ สวัสดิการดี อะไรก็แล้วแต่เต็มไปหมดที่ดีๆ แต่พอมาถึงข้อที่ทุกคนจะต้องทุ่มเท ทุกคนจะต้องเสียสละเพื่อองค์กร ไม่มีใครเลือกข้อนี้ครับ น่าตกใจไหม…. มันเป็นข้อเท็จจริง…คุณเรียกร้องเอาทุกสิ่งทุกอย่าง เอาเงินเดือนสูง เอาอะไรสูงๆ เต็มไปหมดขอให้ข้าได้มาเหอะ แต่ข้อเท็จจริงแล้ว แต่พอเขาบอกให้ทำงานเต็มทีนะ…..ไม่เอาอ่ะ
เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่า….ให้ทำก่อน อย่าพึ่งไปคุยอย่าเพิ่งไป ..ผมกังวลเหลือเกินที่หลายคนบอกว่าอยากออกไปเพื่อที่จะทำงาน อย่าเพิ่งไปพูดถึงเรื่องเงินซะก่อน เป็นตัวตอบโจทย์ทั้งหมด แต่มันก็พูดยากจะไม่ปฏิเสธมันก็ไม่ใช่ ผมก็บอก…ไม่ใช่บอกปฏิเสธ มันก็เข้ามาจุดสมดุลนั้นแหละ แต่จะหาอย่างไรก็ไม่รู้ก็ต้องหากันดูละกัน ค่อนข้างหายากทีเดียว
สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน)
ก็ขอทบทวนนิดหนึ่งนะครับ สิ่งที่พี่ฝากไว้เรื่องของความหลากหลาย สังคมที่หลากหลาย ความสมดุลสอดคล้องกัน น่าจะทำให้สังคมเราพาผ่านพ้นไปได้จากตรงนี้
อีกส่วนหนึ่งเรื่องของ พ่อแม่คือประชาชนที่ใกล้ชิดเราที่สุด น่าสนใจมากครับ มันสอดคล้องกับคำที่ว่ารากฐาน รากฐานสังคมที่จะแข็งแรงได้มันจะต้องมาจากสถาบันครอบครัวนั้นเองนะครับ
อีกอันหนึ่งนะครับ คือเรื่องของการรู้เท่าทันสังคมของนักศึกษา การติดตามสังคม เป็นสิ่งที่พี่อั๋นค่อนข้างจะเป็นห่วง พวกเรามักจะไม่ค่อยรู้กัน การเชื่อมโยงปัญหาสังคมเข้ากับตัวเรา ตรงนี้ก็น่าสนใจมาก สามประเด็นหลักที่ได้พูดไว้
ขอเชิญพี่กุ๋ยครับ ในเรื่องของประเด็น…แล้วเราจะวางอย่างไรดี
ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน (พี่กุ๋ย)
อยู่ยังไงดี….. มันไม่มีสูตรสำเร็จนะ ว่าเราจะอยู่ยังไง จะปฏิเสธหรือจะไม่ปฏิเสธมันก็อยู่ที่เรา จะถอยหลังเข้าป่ามันก็มีคนทำมาแล้ว เดินออกไปเลยจากสังคมก็มี หรือถ้าจะอยู่ให้มันสุดโต่งไปเลย ให้เป็นเจ้าพ่อทุนนิยมไปเลย ก็อยู่ที่เราเลือก แต่ผมว่าประเด็นสำคัญเราต้องกลับมาหาความสุขให้เจอ กลับมาหาความสุขข้างในให้เจอ หาความงามให้เจอที่ไม่ต้องซื้อ ที่สุดแล้วถ้าเราเอาเงินเป็นตัวตั้งซะทุกอย่าง
ผมว่าสังคมนี้คงไม่น่าอยู่ ถ้าเจอใครก็พูดแต่เรื่องเงิน ผมว่าจังหวะชีวิตคนหนุ่มสาวที่อยู่กันตรงนี้มันมีจังหวะที่เราจะ ตั้งคำถาม ใช้ชีวิต หาคุณค่าให้กับตัวเอง มันได้เยอะมาก คือสังคมข้างหน้า…ความรู้เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะได้มาซึ่ง….ซึ่งจะทำเงินให้เราได้ อะ ความรู้มันจะนำพาซึ่งเงินมาให้เราได้ ความรู้มาจากไหน…ความรู้ไม่ได้มาจากตำราอย่างเดียว ความรู้มาจากการใช้ชีวิตจริง จากการทดลองใช้ชีวิต จากตั้งคำถาม จากการแสวงหาคำตอบ อย่าตั้งคำถามอย่างเดียวนะ เพื่อนผมหลายคนตั้งคำถามอย่างเดียว ทุกวันนี้ ยังตั้งคำถามอยู่เลย ยังไว้ผมยาวรุงรัง “ทำไมชีวิตกูไม่ไปถึงไหนซักที” ก็ต้องตั้งคำถาม แล้วก็ต้องหาคำตอบกับชีวิตให้เจอ ต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเรียน ผมว่าตอนนี้เอง…มันมีอะไรอื่นๆ นอกมหาลัยอีกเยอะ ผมว่ากิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เราเจอคุณค่าของเรา ซึ่งสำคัญมาก นั่งอยู่เฉย ๆ มันไม่เจอหรอก ว่าเราทำอะไรได้บ้าง เราอยากทำอะไร
สมัยเรียนเราเคยทำอะไรที่มันสะใจบ้างไหม คือสำเร็จ….สะใจตัวเองมาก มันเป็นงานที่เราตั้งเป้าแล้วอยากเห็น แล้วทำได้ แล้วเห็น มันสะใจ นั้นแหละ…เอาความรู้สึกนั้นใช้ในชีวิตไปเรื่อยๆ มันจะทำให้เราเจอว่าเราจะอยู่ยังไงกับสังคมนี้ ผมคิดว่าเราอย่าไปแคร์มากกับคนอื่นๆ เขา เขาจะมองเราอย่างไรก็ช่าง แต่เรามองอย่างไรต่างหากซึ่งผมว่าสำคัญกว่า ต้องหนักแน่น ต้องหนักแน่นในความเป็นตัวเรา เราจะมอม เราจะเลอะ เราจะเทอะ อะไรของเรา….เรามองเราอย่างไรซึ่งสำคัญกว่า ถ้าเราไปผูกกับคนอื่น ๆ มากไป มันจะถูกเขาฉุดลงไป เราต้องการจะตะกายออกมา มันก็ต้องสลัดอย่างอื่นทิ้งไปอีกเยอะ

มันต้องอาศัยผู้รู้ด้วยนะ ต้องหาวงแลกเปลี่ยน ได้แลกเปลี่ยนกับคนอื่นบ้าง หาหนังสือดีๆ มาเติมให้ตัวเองบ้าง ดูหนังบ้าง แล้วก็ตั้งคำถาม แล้วก็พูดคุยกัน
ไม่รู้พี่อั๋นได้ดู The Last Samurai รึยัง มันเป็นเรื่องการปะทะกันทางวัฒนธรรม ที่มีอเมริกาเข้ามาเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง คนในญี่ปุ่นก็บอกว่า เอาละ…เราจะเป็นอย่างคนในโลกที่พัฒนาแล้ว เหมือนกับประเทศไทยย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 5 ที่บอกว่าเราจะพัฒนาโลกตะวันตก เหมือนกัน มันมีการปะทะกัน ที่สุดแล้วเอาไง….มันอยู่กันได้กับหลายความคิดได้ มีบางคนที่ชูว่าไม่เอา ก็ขาหัก….อะไรกันไป
คือที่สุดแล้วก็คือความหลากหลาย จริงๆ แล้วอยู่ได้อยู่กับมัน วันนี้มันมาถึงตรงนี้แล้ว ใครจะถอยเข้าป่าก็ถอยไปก็จัดการชีวิตตัวเอง เราจะอยู่ตรงนี้ยังไง เราจะจัดการยังไงที่มันไม่มากไปนัก มันไม่จำเป็นต้องอาทิตย์ละหนัง 5 เรื่อง หรือว่าต้องโทรศัพท์รุ่นใหม่ต้องมาถึงมือก่อนเพื่อน ซึ่งมันไม่จำเป็น แต่ว่านั้นก็แล้วแต่ ผมคิดของผมอย่างนั้น
ชูวิทย์ จันทรส (พี่อั๋น)
ผมเห็นด้วยทุกประการ แต่ผมไม่ค่อยดูหนังหรอก ผมอ่าน The Last Samurai ผมยังอ่านเป็น Lord Samurai เลย ติดมาจาก Lord of the Rings ยังไปคุยกับเพื่อน…โคตรอายเลย
สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินมาบ่อยๆ ก็คือว่า “เราสร้างตัวเองก่อนสิ เรารวยก่อนสิ ถึงจะค่อยช่วยเหลือคนอื่น” เคยได้ยินอย่างนี้ไหมครับ “กิจกรรมอย่าไปทำเลย เรียนให้จบแล้วก็ทำงาน ให้ตัวเองพร้อมก่อน หลังจากนั้นคุณจะช่วย คุณจะไปสร้างโรงเรียน เอาเงินให้เขาซิ” ใช่ไหมครับ
แต่ผมเป็นอิสลาม ผมกลัว ผมไม่รู้ว่าผมจะตายเมื่อไร ผมกลัวถ้าเกิดว่าผมไม่ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคมบ้าง ไม่ทำความดีอยู่บ้าง ณ วันนี้ ผมกลัวว่าวันหนึ่งเกิดผมตายไป ผมไปตอบโจทย์กับพระเจ้าของผมไม่ได้หรอกครับ อิสลามมีพระเจ้า ทุกศาสนามีพระเจ้า ผมก็เชื่อว่าพุทธก็มีแหละ ทุกคนจะต้องกลับไปตอบโจทย์ตรงนั้นหมด ผมก็ต้องไปตอบโจทย์ แล้ววันนั้นผมจะไปตอบพระเจ้าผมได้อย่างไรว่า
“โทษทีครับพระเจ้าครับ ผมไม่มีเวลา ตอนนั้นอยากรีบทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน๊อตเลย เพื่อจะทำเงิน” อย่างนั้นเหรอครับ… เวลาของคุณหมดแล้วครับ….หมดแล้ว
นั้นคือสิ่งที่ผมอยากจะฝากบอกกับพวกเราว่า ให้ทำซะถ้ามีโอกาส แต่ก็ว่าไม่ใช่รอจน….แล้วก็มานั่งอธิบายว่า “ฉันไม่มีโอกาสเลย ฉันยังลำบากอยู่เลย ฉันอย่างนั้น….อย่างนี้” อธิบายเพื่อให้ตัวเองมีความชอบธรรม อย่างนั้นไม่เอา แต่ให้มันเป็นข้อเท็จจริงครับว่า มีโอกาสแล้วได้แสดงน้ำใจ เดินสะพานลอยเห็นคนลำบาก เห็นผู้หญิงท้องแก่ขึ้นรถเมล์แล้วหลับอย่างนี้มันก็ใช้ไม่ได้
เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้อยากให้่สั่งสมเอาไว้ ในเรื่องของการเสียสละเพื่อส่วนรวม ทำความดีเอาไว้เพื่อจะไปตอบพระเจ้าในโลกหน้า เหมือนผมรึเปล่า…ไม่ทราบ ขอบคุณครับ
สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน)
ขอบคุณครับผม ย้อนประเด็นอีกนิดหนึ่งนะครับ ในเรื่องความสุขความงามของชีวิต ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามของให้เป็าหมายของชีวิต อยู่บนนี้นะครับ ความสุขความดีงาม รู้จักตั้งคำถามแล้วต้องออกไปแสวงหา อย่าอยู่เฉย ๆ ความหมายของชีวิตครับ ออกไปนอกมหาลัย ออกไปดู
เมื่อก่อนเคยมีเสื้อค่ายฯ อยู่ตัว มีเขียนโลโก้ไว้เป็นรูปกบ…เปิดกะลาออกมา เขียนว่า “เปิดกะลา” อันนี้ก็น่าสนใจ แล้วก็อย่าลืมเวลาของคุณมีแค่ไหนก็ใช้เวลาที่มีอยู่ให้มันคุ้มดีกว่า
คีคนางค์ สุวรรณทัต (พี่ฟ้า)
สิ่งที่คุณอั๋นกับคุณกุ๋ยพูดในความหมายที่ดีมากนะ พี่อยากให้น้องจดจำ แล้วก็เอาไปดัดแปลงกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา
ในเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก เวลาจริง ๆ แล้ว มันก็ 24 ชั่วโมงเท่ากันหมดแหละ แต่ของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน ในเรื่องที่ว่ามันจะมากจะน้อยมากกว่ากัน แต่โดยภาพรวมแล้วพี่เชื่อว่าเวลามันไม่มากมายนัก ถ้าเราปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยที่ไม่รีบไขว่คว้าบางสิ่งบางอย่างที่เรายังไม่เคยทำ ไม่เคยสัมผัส หรือยังไม่เคยได้เรียนรู้ ฉนั้นเริ่มซะ เริ่มคิดหรือเริ่มลองหาอะไร…ใหม่จากเดิมที่เราดำรงอยู่ ลองเปลี่ยนมุมมอง ลองหาอะไรบางอย่างที่เรายังไม่เคยทำ แล้วรีบทำซะ
ในส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่พี่อยากจะบอกว่า ในสังคมนักศึกษาในสมัยนี้ ในวัยรุ่นสมัยนี้ เป็นโอกาสที่ดีมาก อย่างที่พี่ฟ้าเล่าตั้งแต่ต้นว่า ในสังคมนักศึกษาสมัยก่อนทุกอย่างถูกปิดกั้นเยอะ โอกาสและเสรีภาพไมได้่มีมากเท่าทุกวันนี้
ข้อดีของโลกาภิวัฒน์หรือทุนนิยมก็มีบ้างนะ อย่างน้อยส่วนหนึ่งคือในเรื่องเสรีภาพ ที่มันเปิดโอกาสให้ทุกคนทำอะไรก็ได้ คิดอะไรก็ได้ วันนี้ไม่มีใครมายัดเยียดอะไรให้กับคุณ เป็นสิทธิ์ของคุณ ไม่มีใครหลอกคุณได้ แต่คุณจะต้องเน้นย้ำให้ในอยู่ในสามัญสำนึกของตัวเราเองเลยว่า เราต้องไม่มีใครหลอกเราได้ แล้วเราก็ไม่ควรที่จะอาศัยโอกาสที่เราเหนือกว่าหลอกเขาเหมือนกัน
จริงๆ แล้วปัญหาของคนเราในส่วนใหญ่ พี่จะเสริมต่อจากพี่อั๋น พี่กุ๋ยพูดในเรื่องความไม่รู้ในตัวเองมากกว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้สังคมเป็นยังไง วันนี้พี่เชื่อว่าทุกคนรู้หมดแหละว่าเพื่อนเป็นยังไง พ่อแม่เป็นยังไง คนนั้นเป็นไง เรื่องความสนใจในตัวคนอื่นมีมากกว่าการใส่ใจในตัวเอง วันนี้สิ่งที่เราจะยืนอยู่ได้ในสังคมทุกวันนี้ ในโลกาภิวันฒนี้ ในยุคอนาคตที่มันไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงไปดีหรือร้ายหนักหนาสาหัสแค่ไหน หรือมันอาจจะไม่หนักเลย แต่มันต้องประกอบด้วยเรา ซึ่งให้รู้ว่าเรานั้นเป็นอะไร คิดอะไร ทำอะไรอยู่
วันนี้พี่จะบอกว่าบทบาทของเราไม่ได้มีอยู่แค่ 2 บทบาท วันนี้ไม่ใช่เราเป็นแค่ลูกของคุณพ่อคุณแม่ หรือเป็นพี่ชายหรือน้องสาว วันนี้ที่เรารู้เสมอว่า หนึ่ง…วันนี้เราดำรงอยู่ในฐานะเป็นลูกใช่ไหม ทำหน้าที่ของความเป็นลูกหรือยัง วันนี้เราเป็นเพื่อนนักศึกษาเป็นเพื่อนมิตรของเพื่อนคนหนึ่ง วันนี้เราเป็นเพื่อนมิตรเป็นกัลยามิตรที่ดีหรือยัง ไม่ต้องร้อยเปอร์เซ็นต์แต่มีบ้างไหม วันนี้ในฐานะพี่สาวหรือพี่ชายหรือน้องชายหรือน้องสาว…เราเป็นได้ยัง เราได้สำนึกไหมว่าวันนี้เราเป็นพี่เป็นน้องอยู่ วันนี้ในฐานะที่เราทำงาน เราคิดหรือเปล่าว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน เรากำลังทำงานอยู่ รู้บทบาทหน้าที่ของการทำงาน ของเพื่อนร่วมงานไหม แล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้…บทบาทของเราที่มีต่อสังคม อย่าลืมว่าสังคมรวมถึงเราด้วย ไม่ได้หมายถึง นาย ก. นาย ข. เขาคนนั้นเธอคนนี้ แต่หมายถึงเราด้วย ถ้าวันนี้เราจะเรียกร้องให้สังคมเปลี่ยนแปลง ต้องเปลี่ยนแปลงจากตัวเราเอง ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการที่จะเปลี่ยนแปลง พร้อมสำหรับการที่จะเรียนรู้และรู้จักคิด
พี่มองว่าปัญหาทั้งหมดเลย…มันอยู่ที่ปัญหาทางด้านความคิดทั้งหมด ในฐานะที่พี่ทำงานด้านการเกษตร พี่พยายามมากเลยในเรื่องของการลงพื้นที่ ไม่ได้หวังจะเอาเงินไปให้ ไม่ได้หวังจะให้เขาฟื้นฟูพัฒนาด้วยเงิน วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกษตกรขาดก็คือความคิด ไม่ใช่เขาคิดไม่เป็น แต่กระบวนการขั้นตอน ความเข้าใจบทบาท ความเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นอยู่…ว่าเขาขาดอะไร เขามีอะไรพอแล้ว แล้วเขาควรจะเพิ่มเติมอะไร ตรงนี้ต่างหากที่เขาไม่มี ความที่เขาไม่มีตรงนี้มันส่งผลถึงตัวเขา ทุกวันนี้เขากลัวไปหมด นั้นคือสาเหตุที่ตามมาในเรื่องหนี้สิน ที่วันนี้เกษตรเป็นหนี้เป็นแสนล้านเพราะความที่เขาคิดไม่เป็น เขาไม่รู้ เขากลัวไปหมดทุกอย่าง กลัวแม้กระทั่งการที่จะไปพบเจ้าหนี้ กลัวแม้กระทั่งการจะเข้าไปเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองในสถานที่ราชการ กลัวการถูกจับ เพียงแค่คนแปลกหน้าเดินผ่านหน้าเขาก็กลัวแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเขาขี้กลัว แต่นั้นเพราะเขาไม่รู้ สาเหตุเดียวคือความไม่รู้ ไม่รู้ในตัวตนของเขาเอง ไม่รู้ในสิทธิหรืออำนาจหน้าที่ี หน้าที่หรือสิทธิทางสังคมว่าเขาจะได้อะไร แล้วความไม่รู้ ความกลัวตรงนั้นเขาถูกปิดโอกาสทั้งหมด นั้นคือสาเหตุทั้งหมดที่แก้ไม่ได้มานับปีนั้นคือ ปัญหาหนี้สิน ที่เรากำลังบอกว่า…วันนี้รัฐกำลังช่วยเหลือเกษตกร แก้ปัญหาความยากจนภายใน 6 ปี ในฐานะที่พี่ลงพื้นที่ ไม่รู้นะ ไม่ปฏิเสธแต่ว่า…วันนี้เงินแก้ปัญหาไม่ได้ วันนี้จะแก้ปัญหาเขาได้คือความคิดของเขา
เพราะฉนั้นพี่ขอย้ำว่า ในทุกระดับ ทุกชนชั้น ทุกกลุ่มสังคม ทุกวัย ทุกเพศ ทุกสถานที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์เราก็คือ การมีความคิดเป็นของตัวเอง และรู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง
วันนี้สิ่งหนึ่งที่พี่อยากจะบอกว่ายังไงพี่มาที่นี่พี่รู้สึกดีนะว่าอย่างน้อยในอัสสัมชัญ พี่ก็ไม่เคยคิดว่าจะมีค่ายอาสา เพราะอย่างที่เรารู้ ๆ กันว่ากลุ่ม ABAC เป็นกลุ่มของเด็กไฮโซ เด็กมีฐานะ ความใส่ใจทางการเมืองน่าจะน้อย เพราะฉนั้นอย่างน้อยมีสัก 1 กลุ่มอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ เขื่อเถอะคะว่าวันหนึ่ง…จากดินก้อนเล็ก ๆ มันจะขยาย มันจะแทรกซึมเข้าในกลุ่มน้อง ๆ อีกหลายคน…นะคะ
ขอบคุณมากที่วันนี้ให้โอกาสพี่ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วพี่เองก็ได้เห็นงานของน้องๆ ได้เห็นความคิดของน้อง ๆ ถือว่าดีใจมากและคุ้มค่ามาก…ขอบคุณคะ
สหรัช ดาวพิเศษ (ผู้ดำเนินรายงาน)
ขอบคุณมากครับผม ก็อาจถือว่ากึ่ง ๆ ทิ้งท้าย น้อง ๆ คนไหนมีคำถามอะไรอีกไหมครับ ที่อยากถามพี่ ๆ เขาก่อน พี่เขากลับไปแล้ว มีไหมครับ ถ้าตรงนี้ไม่มี ถ้าพี่เขายังไม่กลับก็ไปคุยเป็นการส่วนตัวได้นะครับ
ชูวิทย์ จันทรส (พี่อั๋น)
คงทิ้งท้ายกับสิ่งที่บังเอิญพกติดตัวมาด้วย ที่พูดถึงประเด็นการใช้เสรีภาพ เป็นจุดแข็งจุดดีในระบบทุนนิยม แต่ผมเองต้องฝากไว้กับพวกเราที่เป็นนิสิตนักศึกษาว่า “เราอย่าใช้เสรีภาพแบบเซ็ลล์มะเร็ง” เซลล์มะเร็งใช้เสรีภาพที่ตัวเองอยากจะเติบโต แล้วกินคนอื่น ๆ แต่เซลล์มะเร็งอยู่ในร่างกาย ถึงวันหนึ่งพอกินไปกินไปๆๆ ชีวิตก็ไม่มีรอด ถามว่าตัวเซลล์มะเร็งตัวนี้จะมีชีวิตรอดอยู่รึเปล่า มันก็ตายเช่นเดียวกัน เข้าใจไหมครับ….ลองไปตีโจทย์ตัวนี้ดูนะครับ อย่าใช้เสรีภาพเหมือนเซลล์มะเร็ง
ผมมีประโยคของ “ศรีบูรพา” ทิ้งท้ายไว้ ถ้าจดได้ลองจดดูหรือใครเคยอ่านมาแล้วก็ไม่เป็นไร ลองฟังดู เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ ศรีบูรพาคนเขียนข้างหลังภาพ หลาย ๆ ท่านคงได้อ่านกันอยู่ ศรีบูรพาบอกว่า
“..ฉัน..ไม่คิดว่าการมีชีวิตอยู่เพียงแต่จะกินในวันหนึ่ง..และแสวงหาความสุข สนุกไปวันหนึ่ง ..และก็รอวันเจ็บป่วยและตายนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าอะไร..ชีวิตเช่นนั้นเป็นของว่างเปล่า ..เท่ากับว่าไม่ได้เกิดมาเลยในโลกนี้ ชีวิต..เฉย ๆ ไม่มีความหมายสำหรับฉัน หากฉันอยู่ฉันต้องอยู่ในชีวิตที่ดีงามและมีชีวิตที่ดีงามนั้นต้องมีอะไรมากกว่าการหากิน การแสวงหาความสนุกและรอวันตาย..ชีวิตที่ดีงามมีอยู่ เพื่อจะถูกใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น..” ขอบคุณครับ